การศึกษาศิลปะด้วยปรัชญาศิลปะตะวันตกยุคสมัยใหม่ที่ผ่านมา มักมีแนวคิดว่า “ศิลปะ” คือสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางการจิตรกรรม ประติมากรรม หรือภาพพิมพ์ หลังจากนั้นเมื่อโลกเข้าสู่ศิลปะร่วมสมัย วงการศิลปะได้ถูกท้าท้ายด้วยศิลปะนอกกรอบรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น conceptual art, performance art, public art, activism, deconstruction, interactive, mixed media, land art, installation ฯลฯ ศิลปะในยุค Anthropocene ก็ถือเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางศิลปะที่สำคัญ และท้าทายวงการศิลปะในศตวรรษที่ 21 ไปอีกขั้น เมื่อศิลปะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศิลปินในการสร้างสรรค์อีกต่อไป (Non-human) หมายความว่า วัตถุ (object) มีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทักษะ หรือกระบวนการจัดการทางทัศนธาตุหรือองค์ประกอบศิลป์เข้ามาจัดการกับวัตถุ ฟังดูแล้วอาจไม่ต่างอะไรกับผลงาน “Fountain” ของมาร์แซล ดูชองป์ ที่เพียงแค่หยิบโถฉี่มาเซ็นต์ชื่อก็กลายเป็นผลงานศิลปะ นอกจากนี้ยังเกิดคำถามมากมายว่า ข้อจำกัดของงานศิลปะในยุค Anthropocene คืออะไร มีความแตกต่างจากงาน conceptual art, public art ฯลฯ อย่างไร และการรับรู้ทางสุนทรียศาตร์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถึงอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปะในยุค Anthropocene มีความใกล้เคียงและทับซ้อนกันกับ conceptual art, public art, installation หรืออาจรวมไปถึง performance art แต่สิ่งที่ทำให้ศิลปะ Anthropocene แตกต่างจากศิลปะทุกประเภทที่ผ่านมา คือ แนวคิดการเชื่อมโยงกับผลจากการกระทำที่มนุษย์สร้างขึ้นกับโลกใบนี้ การปลุกเร้ากระตุ้นผัสสะทั้ง 5 ให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนฐานความคิดจากมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) สู่การสร้างความเข้าใจใน วัตถุ (object) ซึ่งไร้ความรู้สึก (unsensing) โดยยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องเล่า แนวคิด หรือสิ่งที่มนุษย์ให้ความหมาย โดยจะสร้างการรับรู้เชิงสุนทรียะ ได้แก่
1. Sensory phenomena
2. Visualization
3. Site + experiment
ศิลปะ Anthropocene มักเผยให้เห็นถึงการศึกษาในตัวของวัตถุ เรื่องราวการเดินทางของวัตถุ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ การพยายามเอาชีวิตรอด การทวงคืน และการตอบสนองที่ธรรมชาติพยายามดิ้นรนต่อสู้กับมนุษย์ โดยไม่ได้เล่นกับการปรากฏอยู่หรือความเป็นปัจจุบัน แต่เดินทางกลับไปหาอดีต เพื่อถ่ายทอดให้เห็นผลของสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุมกับอนาคต
ผลงานของทีมนักศึกษา Hung I-chen, Guo Yi-hui และ Cheng Yu-ti จาก National Taiwan University of Arts ภายใต้โปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า “Polluted Water Popsicles.” ไอศกรีมแห่งมลพิษ อมยิ้มน้ำแข็งที่แสดงเส้นทางน้ำที่ปนเปื้อนของไต้หวัน พวกเขาออกเดินทางเก็บตัวอย่างน้ำ จากแหล่งน้ำเสียที่แตกต่างกันถึง 100 แห่งในไต้หวัน ตัวอย่างทั้งหมดถูกจัดอันดับจากที่สกปรกที่สุดไปจนถึงสะอาดที่สุด โดยตัวอย่างที่มีมลพิษมากที่สุด นั้นทำมาจากน้ำจาก Keelung ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ขึ้นชื่อเรื่องฝนตก ในปี 2558 Keelung พบช่องทางระบายมากกว่า 140 แห่งในบริเวณท่าเรือ โดยมาจากน้ำเสียจากบ้านเรือนและในเมืองมีส่วนทำให้เกิดมลพิษที่เกิดจากเรือและขยะพลาสติก พวกเขารวบรวมตัวอย่างและแช่แข็งเป็นไอศกรีม
ไอศกรีม โมเดลโพลี 1: 1 ห่อด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ซึ่งถูกออกแบบด้วยกระดาษสีสันแตกต่างกันตามแหล่งที่มาของตัวอย่างน้ำเสีย ใช้ความขัดแย้งระหว่างบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามกับน้ำเน่าเสียภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนมองข้าม น่าเกลียดและเป็นปัญหา การรวบรวมน้ำจากพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้คนมักเดินผ่านอยู่เป็นประจำ แต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง น้ำในพื้นที่สาธารณะที่เป็นมลพิษบังคับให้ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาร้ายกาจภายใต้สิ่งที่เห็นว่าไม่เป็นอันตราย เหมือนกับที่เรามักถูกล่อลวงให้เลียไอศกรีมก่อนที่จะพิจารณาถึงสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนอยู่ในไอศกรีม โครงการนี้ได้รับรางวัลและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากไต้หวันมีมลพิษทางน้ำเพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาเทคโนฟอสซิลนี้
นับเป็นผลงานที่ชวนตั้งคำถามต่อผู้คนในสังคม ถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา แนวคิดเรื่องการละเลยความสำคัญของสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานที่มีรูปทรงคุ้นชินและดูไม่มีพิษภัยอย่าง ไอศกรีม ถึงแม่ว่าผลงานนี้จะมีกระบวนการของการจัดการจากมนุษย์ในการสร้างรูปทรงไอศกรีมขึ้นมา แต่สาระสำคัญของงานไม่ได้ให้ความสำคัญกับสุนทรียะเป็นอันดับหนึ่ง แต่คือกระบวนการศึกษาและนำเสนอความเป็นไปของธรรมชาติ ผลงานที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ การบันทึกวัตถุจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงการกลายเป็นสิ่งอื่นของวัตถุ การทำงานของวัตถุที่กระตุ้นเร้าให้เราต้องตระหนักถึงอันตรายจากปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม
ผลงานของ Jasmine Färling “Vanitas of the Anthropocene” ซึ่งแรงบันดาลใจจากภาพวาดสไตล์ Vanitas จากศตวรรษที่ 16 และ 17 ภาพชุดนี้สร้างขึ้นจากเศษซากที่รวบรวมจากชายฝั่งของอ่าว Swansea ในเวลส์ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของ Vanitas เพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำของการตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเราและเมื่อรวมเข้ากับความโลภและความสิ้นเปลืองของชีวิต ศิลปินได้จัดทำชุดชีวิตเพื่อเน้นระดับผลกระทบของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของเรา ด้วยการใช้ขยะพลาสติกและซากสัตว์ป่าชายฝั่งที่ปะทุขึ้นบนชายหาด ศิลปินปั้นสิ่งมีชีวิตและฉากในจินตนาการเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศ ที่มีความเปราะบาง โครงการนี้ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมลพิษทางผลกระทบที่อาจมีต่อสัตว์ทะเล อ่าว Swansea มีช่วงน้ำขึ้นน้ำลงที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและเป็นที่ตั้งของทะเลสาบน้ำขึ้นน้ำลงแห่งแรกของโลก ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของทะเลสาบที่มีต่อสภาพแวดล้อมท้องถิ่นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม
และอีกตัวอย่างผลงานของ ศิลปินชาวนอร์เวย์ Per Kristian Nygård กับผลงาน Not Red But Green เขาเติมเต็มพื้นที่ของ No Place gallery ในกรุงออสโล ด้วยทุ่งหญ้าสีเขียวสดใสกวาดเลี้ยวไปทั่วทั้งพื้นที่ ผลงานชิ้นนี้ได้สร้างและขยายภูมิทัศน์ให้เต็มไปด้วยเนินเขาที่ปกคลุมด้วยหญ้า มันถูกสร้างด้วยเมล็ดที่ปลูกไว้ในช่วงฤดูร้อนของนอร์เวย์ งานประติมากรรม installation นี้สำรวจความสามารถและข้อจำกัดของอากาศกับวัตถุ โดยสร้างพื้นรองรับเป็นชั้นดินและใช้เมล็ดพืช 4,500 ลิตร รดน้ำ บำรุงรักษาความชื้น แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นหญ้ามีการเจริญเติบโต ศิลปินสนใจที่จะสร้างพื้นที่ให้ดูเหมือนไร้ความหมาย ไม่สมเหตุสมผล และชวนสับสน กระตุ้นผู้เข้าชมให้ต้องเผชิญกับการตอบสนองทางสัญชาตญาณของตนเองต่อประสบการณ์ในการเข้าสู่พื้นที่ที่ทุกอย่างผิดแต่รู้สึกว่าผิดที่ผิดทาง ท้าทายเส้นกั้นพื้นที่ธรรมชาติและมนุษย์ นอกจากนี้ศิลปินยังท้าทายสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ หรือสถาปัตยกรรม ที่ต้องมีความหมายหรือฟังก์ชั่นในตัวเอง ด้วยสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่มีความหมายและเป็นส่วนตัว
จะเห็นได้ว่าศิลปะในยุค Anthropocene มีการอุปมาอุปไมยและการเล่นด้วยคำพูด/ภาพ การต่อต้านความคิดที่ได้รับมาสู่พื้นที่ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกับมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ หรือ “ความกลัว” ให้เกิดขึ้นได้ในจิตใจของผู้รับชม ความกลัวการสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้ ยังไม่เกิดขึ้น และแน่นอนว่าส่งผลต่อการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสภาพแวดล้อม จากการหยิบวัตถุที่มีเรื่องราวที่แปลกประหลาด น่าสะพรึงกลัว น่าตื่นเต้น หรือชวนขบคิด โดยการคงอยู่ถาวรของผลงานศิลปะนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักสำคัญ แต่เป็นการศึกษาผ่านเรื่องราว กระบวนการ ความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ การแสดงให้เห็นถึงความจริงของปัญหาและความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้กระทำและจำเป็นต้องยอมรับ ความกระขระของร่องรอย เศษซากของชีวิตที่ไร้ลมหายใจ นัยยะของวัสดุจากมนุษย์และธรรมชาติ การเกี่ยวพันของวัสดุ ความดิบของการใช้วัสดุที่ไม่ผ่านการจัดการทางทัศนธาตุ องค์ประกอบศิลป์ หรือแนวคิดในการจัดการใดๆของมนุษย์ ซึ่งศิลปะในยุค Anthropocene หลายๆ โครงการ สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในชุมชนหรือพื้นที่หลายแห่งได้ แนวคิดการใช้ศิลปะเป็นสื่อในการกระตุ้นจิตสำนึกของมนุษย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ จึงเป็นความหวังที่ช่วยผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่โลกในอนาคต
อ้างอิง
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (2561). Conceptual Art ศิลปะแห่งความคิดที่ละทิ้งความงามและต่อต้านความสูงส่ง. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2563, สืบค้นจาก themomentum.co/conceptual-art/
Jasmine Färling. Vanitas of the Anthropocene. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2563, สืบค้นจาก https://www.worldphoto.org/pt/node/4423
Jessica Stewart.(2560). Frozen Popsicles Made From 100 Different Polluted Water Sources. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2563, สืบค้นจากhttps://mymodernmet.com/polluted-water-popsicles/
Jessica Mairs.(2557). Per Kristian Nygård crams a grassy valley into an Oslo gallery. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2563, สืบค้นจาก https://www.dezeen.com/2014/11/28/not-red-but-green-per-kristian-nygard-grass-installation-oslo/
Thanet Ratanakul.(2559). ขอต้อนรับสู่ ‘ยุคแอนโทรโปซีน’ ยุคที่มนุษย์ทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเสมอ. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563, สืบค้นจาก https://thematter.co/science-tech/wellcome-to-anthropocene/8781