หลายคนที่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง คงจะได้เห็นการกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการบังคับใช้มาตรา 112 เช่น การที่มีผู้เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112, การฟ้องคดีมาตรา 112 กับบุคคลต่าง ๆ ตลอดจนการพิพากษาคดีความรับผิดตามมาตรา 112 เป็นต้น
.[ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกกล่าวถึงเพราะอะไร ?]หากมีการถกเถียงและตอบคำถามข้อนี้ด้วยเหตุและผล พร้อมกับการนำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน และเปิดใจรับฟังกันอย่างปราศจากอคติ ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นการช่วยทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารสามารถเข้าใจกฎหมายมาตราดังกล่าวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่การถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมักจะพังไม่เป็นท่าตั้งแต่เริ่มอ้าปากถกเถียง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราไม่อาจทราบถึงต้นตอและปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางในสังคม สิ่งนั้น ๆ ก็สมควรที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังว่าประเด็นดังกล่าวมีปัญหาประการใดหรือไม่ อย่างไร
.[ปัญหาของมาตรา 112 คืออะไร ?]แม้จะไม่มีการถกเถียงกันอย่างจริงจังในหมู่ประชาชน แต่ก็มีข้อเสนอมากมายจากหลายกลุ่ม เช่น นักวิชาการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนภาคประชาชน องค์กรระหว่างประเทศ หรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ซึ่งก็มีทั้งที่ เห็นด้วยกับการคงอยู่ของมาตราดังกล่าว – เห็นว่าควรแก้ไขเปลี่ยนแปลง – เห็นว่าควรยกเลิกมาตราดังกล่าวด้วยเหตุผลต่าง ๆ หลากหลายประการ
.
เช่น ในกลุ่มที่เห็นว่าควรยกเลิกก็จะอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง มีบทลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น // ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนก็จะอ้างว่าเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นจะต้องคงอยู่เพราะประเทศต่าง ๆ ในโลกก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐเช่นกัน และหากไม่ได้กระทำความผิดก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเกรงกลัวต่อกฎหมาย // ขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะมองว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวยังบกพร่องในหลายประการ เช่น การรวมเอาความผิดฐานหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายเอาไว้ด้วยกัน หรือการใช้ดุลพินิจในการตีความขยายขอบเขตแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ตลอดจนการจัดให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อแผ่นที่ใคร ๆ ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำได้ เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายมาตราดังกล่าวสามารถแยกออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
.[1. ปัญหาในส่วนที่เป็นเนื้อหากฎหมาย]ประการแรก คือ การกำหนดรวมความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และการอาฆาตมาดร้ายเอาไว้ในมาตราเดียวกัน โดยหากพิจารณาถึงลักษณะของการกระทำทั้ง 3 กรณี จะเห็นได้ว่ามีความหนัก-เบา และระดับความร้ายแรงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อนำความผิดที่มีลักษณะการกระทำแตกต่างกันมารวมไว้ในมาตราเดียวกัน ย่อมส่งผลทำให้เกิดปัญหาอัตราโทษไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของการกระทำความผิด
.
ประการที่สอง คือ ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หรือเหตุยกเว้นโทษ ดังเช่นกรณีการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ที่ยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากผู้กระทำพิสูจน์ได้ว่าเป็นการติชมโดยสุจริต หรือได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้กฎหมายมาตราดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งถูกบัญญัติรับรองไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ
.
ประการที่สาม คือ การกำหนดหมวดหมู่ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรส่งผลให้ไม่ว่าใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำความผิดกรณีดังกล่าวได้ และในบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาการฟ้องคดีที่ไม่ควรจะเป็นคดีความ เช่น การเอ่ยถึงสุนัขทรงเลี้ยง หรือการแต่เพียงการพิมพ์คำว่า “จ้า” เป็นต้น แม้ว่าในท้ายที่สุดศาลจะมีคำสั่งยกฟ้องก็ตาม แต่การนำคดีไปสู่ศาลเช่นนี้ย่อมเป็นการสร้างภาระที่ไม่จำเป็นให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นอย่างยิ่ง
.[2. ปัญหาในส่วนการบังคับใช้กฎหมาย]ประการแรก เป็นปัญหาในด้านการใช้และการตีความกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด แต่จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่ามีการตีความขยายขอบเขตกฎหมายมาตราดังกล่าวออกไปอย่างไม่ถูกต้องตามหลักดังกล่าว เช่น การตีความให้ขยายการคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต หรือตีความเพื่อขยายความคุ้มครองถึงองค์ประกอบอื่นของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มิได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 112 เป็นต้น
.
ประการที่สอง เป็นปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายและคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกับความผิดทางอาญาฐานอื่น โดยเจ้าหน้าที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบและต้องคำนึงอยู่เสมอว่าการทำหน้าที่ของตนอาจให้คุณ ให้โทษแก่ประชาชนได้
.
นอกจากนี้ กฎหมายอาญายังเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิดอย่างมาก ดังนั้น การใช้และการตีความ ตลอดจนจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้
.
จากที่กล่าวข้างต้นเป็นผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาบางส่วนเท่านั้น นอกจากเหตุผลที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีข้อถกเถียงประการอื่นอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากในโลกยุคปัจจุบัน
.
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะชี้นำ หรือต้องการให้เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้นแต่ประการใด หากแต่เพียงนำเสนอแง่มุมทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตราดังกล่าวเท่านั้น และผู้เขียนขอยืนยันหลักคิดที่ว่า หากสิ่งใดถูกตั้งคำถามว่าเป็นปัญหาหรือก่อให้เกิดปัญหา สิ่งนั้นก็สมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังว่าเป็นปัญหาจริงหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นปัญหา ก็เพียงแต่นำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่เหมาะสม แต่หากปรากฎว่าเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาจริง ก็จะได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
.
การด่วนสรุปโดยไม่รับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่ายมีแต่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวคงอยู่ต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข และอาจกล่าวได้ว่าปัญหาแท้จริงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “การไม่ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหา” เสียมากกว่า
-
- HOME
- BSRU
- Check Scholar
- ติดต่อเรา WooCommerce not Found
- Newsletter