ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย

ประชากรในการทำงานวิจัยนั้นเป็นผู้ให้ข้อมูลที่มีความสำคัญที่ผู้วิจัยจะนำมาตอบจากประชากรเหล่านั้นมาเพื่อตอบคำถามในการวิจัยซึ่งโดยทั่วไปแล้วชื่อหัวข้อวิจัยมักจะเป็นตัวกำหนดว่าประชากรในการศึกษาคือใครหรืออะไรบ้าง โดยที่หน่วยที่จะทำการศึกษานั้น ๆ เรียกว่าประชากร ซึ่งในการทำวิจัยนั้นประชากรสามารถเป็นไปได้ทั้งประชาชนทั่วไป หรือหน่วยของการศึกษาในทางการวิจัยด้านนิเทศศาสตร์นั้น ประชากรในการวิจัยของเราสามารถเป็นไปได้ทั้งกลุ่มผู้รับสาร ผู้ส่งสารช่องทางการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งตัวเนื้อหาสาระที่ปรากฏในตัวสื่อก็สามารถนำมาใช้เพื่อการศึกษาวิจัยได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้การได้มาซึ่งประชากรในการวิจัยหรือกลุ่มตัวอย่างจำเป็นต้องอาศัยเทคนิควิธีการคัดเลือกที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของวงวิชาการ เพราะเมื่อผลการวิจัยออกมาแล้วจะสามารถสร้างการยอมรับหรือความเชื่อถือได้หรือไม่ ผู้อ่านงานวิจัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปตรวจสอบวิธีการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูลได้อีกด้วย

ความหมายของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

นักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ความหมายของคำว่าประชากร (population) และกลุ่มตัวอย่าง (sample) ไว้ซึ่งผู้เขียนคัดเลือกมาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

ความหมายของประชากร

บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (2547 หน้า 97–98) ได้ให้ความหมายว่า ประชากร หมายถึงกลุ่มบุคคล สัตว์ สิ่งของ และปรากฏการณ์ ที่อยู่รวมกันโดยมีคุณลักษณะร่วมกันที่ผู้วิจัยสนใจศึกษา เช่น ถ้าเราวิจัยพฤติกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังนั้นนักศึกษาทุกคนคือกลุ่มประชากร แต่ผู้วิจัยสามารถกำหนดได้ว่า เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร

พรทิพย์ พิมลสินธุ์ (2551 หน้า 64) ได้ให้ความหมายว่า ประชากร หมายถึง ทุกหน่วยในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการศึกษาความคิดเห็นของพนักงาน ประชากร หมายถึงพนักงานทุกคน หรือถ้าต้องการศึกษาลูกค้าก็หมายถึงลูกค้าทุกคนที่เข้ามาขอรับบริการหรือซื้อสินค้าของเรา

จินตนา ตันสุวรรณนนท์ (2551 หน้า 99) ได้ให้ความหมายว่า ประชากร หมายถึงหน่วยทั้งหมดที่นักวิจัยต้องการศึกษาซึ่งอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เอกสาร หรือสถานที่ก็ได้

วิไลลักษณ์ สุวจิตตานนท์ (2557 หน้า 121) ได้ให้ความหมายว่า ประชากร หมายถึงสมาชิกหรือกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดที่ต้องการศึกษาหรือให้ผลการวิจัยสรุปอ้างอิงไปถึง

สุณีย์ ล่องประเสริฐ (2556 หน้า 135) ได้ให้ความหมายว่า ประชากร หมายถึงที่รวมหน่วยของข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการศึกษา เช่น ถ้าต้องการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาของพนักงานในบริษัทซีพี ประชากรก็คือพนักงานทุกคนที่ทำงานในบริษัทซีพี เป็นต้น

จากความหมายที่กล่าวมานี้สามารถสรุปความหมายของประชากรได้ว่าหมายถึงสิ่งที่ผู้วิจัยกำหนดให้เป็นหน่วยในการศึกษาวิจัยซึ่งสิ่งนั้นอาจเป็นได้ทั้งคน สิ่งของ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีคุณลักษณะในขอบเขตที่กำหนดโดยผู้วิจัยอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ประชากรยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท (นิภา ศรีไพโรจน์ อ้างถึงใน วิไลลักษณ์

สุวจิตตานนท์,2557 หน้า 122) ได้แก่

1. ประชากรที่นับได้ (finite population) หมายถึงประชากรที่มีจำนวนสมาชิกที่สามารถนับได้จำนวนแน่นอน เช่น จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาการวิจัยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

2. ประชากรที่นับไม่ได้แน่นอน (infinite population) หมายถึงประชากรที่มีจำนวนสมาชิกมากจนไม่สามารถนับจำนวนได้หมด เช่น จำนวนผู้จับจ่ายสินค้าในตลาดนัด จำนวนก้อนน้ำแข็งในแก้วกาแฟ จำนวนนกในสวนสัตว์เปิด เป็นต้น

ในการวิจัยนิเทศศาสตร์นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากกลุ่มประชากรทั้งหมด แต่เราสามารถใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแทนก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นส่วนหนึ่งของประชากรนั่นเอง โดยกลุ่มตัวอย่างจะทำหน้าที่เหมือนกับประชากรทั้งหมดในกรณีที่การศึกษาจากประชากรทั้งหมดไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้นการทำวิจัยใด ๆ ก็ตาม เรื่องของการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ลักษณะที่ดีของกลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยมีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นกลุ่มตัวแทนจากประชากรที่ถูกเลือกมาใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ดี (สุณีย์ ล่องประเสริฐ , 2556 หน้า 137–138) มีลักษณะดังต่อไปนี้

1.กลุ่มตัวอย่างที่ดีต้องสะท้อนภาพของประชากรได้อย่างถูกต้อง คือ ตัวอย่างที่สุ่มมานั้นควรสามารถคำนวณค่าสถิติต่าง ๆ ได้

2.การสุ่มตัวอย่างนั้นจะต้องได้มาโดยอาศัยกระบวนการที่ใช้ค่าความน่าจะเป็นหรือโอกาส

ทางสถิติ (probability process) เพราะวิธีการดังกล่าวเท่านั้นที่จะสามารถใช้สถิติบางอย่างในการวิเคราะห์ข้อมูล และอ้างอิงไปถึงประชากรทั้งหมดได้

3.กลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาควรจะมีขนาดเล็กที่สุด (precise) ที่สามารถรักษาเกณฑ์ต่าง ๆ ของประชากรได้ ทั้งนี้จะต้องรวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุดด้วย

คำศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้อง

ในบทนี้มีคำศัพท์สำคัญหลายคำที่เกี่ยวข้องกับประชากรและการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ผู้วิจัยต้องทำความเข้าใจเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา คำศัพท์ที่ควรรู้สำหรับผู้วิจัย มีดังนี้

ประชากร (population) หมายถึง หน่วยของคนหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการศึกษาวิจัย เป็นหน่วยทั้งหมดที่จะให้คำตอบซึ่งจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ผล การเลือกและการกำหนดประชากรที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญมาก

ประชากรเป้าหมาย (target population) หมายถึง กลุ่มประชากรที่ผู้วิจัยตั้งใจจะนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ โดยปกติประชากรที่เก็บข้อมูลกับประชากรเป้าหมายควรเป็นกลุ่มเดียวกัน

กรอบตัวอย่าง (sampling frame) หมายถึงรายการหรือรายชื่อของกลุ่มที่ผู้วิจัยจะทำการเก็บข้อมูล บางครั้งอาจหารายชื่อของหน่วยประชากรทุกหน่วยที่ต้องการทั้งหมดไม่ได้ จึงส่งผลกระทบต่อแผนการสุ่มตัวอย่างหรือการรวบรวมข้อมูล ดังนั้นในงานวิจัยจึงมีแบบแผนต่าง ๆ ให้เลือกใช้ในการดำเนินการวิจัย โดยที่ผู้วิจัยต้องพยายามเลือกแผนการวิจัยที่เหมาะสมกับงานวิจัยของตนมากที่สุด

พารามิเตอร์ (parameters) หมายถึง ค่าต่าง ๆ ของประชากร เช่น ค่าเฉลี่ยล่าความแปรปรวน โดยทั่วไปมักเป็นค่าที่ไม่ทราบมาก่อน ในทางสถิติจึงใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชากรแทน แล้วใช้ค่าเฉลี่ยและค่าความแปรปรวน

ค่าสถิติ (statistic) หมายถึง ค่าคำนวณที่ได้จาก ตัวอย่างเช่น ค่าเฉลี่ย (mean) ค่าความแปรปรวน (standard deviations) ค่าสถิติที่ได้จากตัวอย่างที่สุ่มมาโดยการความน่าจะเป็น (probability) จะมีการแจกแจงความน่าจะเป็นที่นำไปสู่การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือต่อไป

ตัวอย่างสุ่ม (random samples) หมายถึง ตัวอย่างที่เลือกมาจากประชากร โดยที่แต่ละตัวจะเป็นอิสระต่อกันและมีการแจกแจงความน่าจะเป็นเหมือน ๆ กัน

การเป็นตัวแทนที่ดี (good representative) หมายถึง ตัวอย่างที่สุ่มมาได้เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร นั่นคือ ประกอบด้วยคุณลักษณะที่ครบถ้วนตามลักษณะของประชากร ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการคือ

1.ความถูกต้อง (accuracy) หมายถึงตัวอย่างต้องปราศจากความลำเอียง (bias) ไม่มีความแปรปรวนที่เป็นระบบ (systematic variance) กล่าวคือ ให้ค่าที่ตรงกับความเป็นจริงนั่นเอง

2.ความแม่นยำต่อการทำนายประชากร (precision) ความแม่นยำนี้วัดได้จากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวประมาณ (standard error of estimate) ยิ่งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าต่ำเท่าใด ตัวอย่างนั้นยิ่งมีความแม่นยำต่อการทำนายมากขึ้นเท่านั้น

สรุป

ประชากรในการวิจัย เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลสำคัญ ประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกประชากรโดยคำนึงถึงคุณลักษณะที่ตรงหรือสอดคล้องกับปัญหาการวิจัย บางครั้งประชากรที่มีขนาดใหญ่มากเราจำเป็นต้องมีวิธีการคัดเลือกตัวแทนผู้ให้ข้อมูลที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงมากที่สุด ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ซึ่งประเด็นสำคัญของการได้มาของกลุ่มตัวอย่าง จำเป็นต้องมีการใช้หลักการที่มีความน่าเชื่อถือ วิธีการที่สามารถนำมาคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างมีหลายวิธี บางครั้งต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการเฉพาะเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างมีผลต่อความถูกต้องแม่นยำของข้อสรุปการเลือกกลุ่มตัวอย่างและขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ดีจะช่วยให้เราสามารถดำเนินการวิจัยได้ตามระยะเวลาที่กำหนดสามารถประหยัดทรัพยากรได้มาก ตลอดจนการนำไปสู่ความน่าเชื่อถือของผลสรุปงานวิจัยด้วย

เอกสารอ้างอิง

จินตนา ตันสุวรรณนนท์. (2551). การวิจัยนิเทศศาสตร์. คณะวิทยาการจัดการ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

จิตราภา กุณฑลบุตร. (2550). การวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร. สหธรรมิก จำกัด.

ทองสง่า ผ่องแผ้ว. (2549). กลุ่มตัวอย่าง. ค้นเมื่อ 2558 กุมภาพันธ์, 3, จาก http://www.gotoknow.org

ธานินทร์ ศิลป์จารุ. (2548). การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร. วี.อินเตอร์พริ้น จำกัด.

บุญธรรม จิตต์อนันต์. (2546). การวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

บุญเลิศ ตั้งจิตวัฒนา. (2555). ระเบียบวิธีวิจัยทางการท่องเที่ยว. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร. ธรรมสาร จำกัด.

พิมพา หิรัญกิตติ. (2552). การวิจัยการตลาด. กรุงเทพมหานคร. ธรรมสาร จำกัด.

ลดาวัลย์ แก้วสีนวล. (2558). การวิจัยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์. โครงการปลูกปัญญา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

วิไลลักษณ์ สุวจิตตานนท์. (2557). ระเบียบวิธีวิจัยสื่อสารมวลชน. คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยราม

คำแหง.

วัชราภรณ์ สุริยาภิวัฒน์. (2548). การวิจัยธุรกิจยุคใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สรชัย พิศาลบุตร. (2547). วิจัยใครว่ายาก. กรุงเทพมหานคร. วิทยพัฒน์จำกัด.

สุณีย์ ล่องประเสริฐ. (2556). ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ. ตำราเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหามงคล.คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี.

อนัญญา ศรีสำอาง. (2551). การวิจัยวิทยุโทรทัศน์. คณะนิเทศศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

ภาษาอังกฤษ

Babbie, Eral. (1995). The Practice of Social Research. (7th ed.) Belmont CA. Wadworth.

Yamane Taro. (1973). Statistic. An Introductory Analysis. (3th ed.) New York. Harper & Row.