บอร์ดี้อาร์ต (Body Art)
โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์
สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU
บอร์ดี้อาร์ต (Body Art) ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงปลาย 1970 ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต เป็นศิลปะที่มีลักษณะคล้ายกันคือ บอดี้ อาร์ต ที่เป็นชื่อเฉพาะนี้ใช้เรียกการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่นิยมกันในศิลปินกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียในยุคปลายคริสต์คริสต์ทศวรรษ 1960-1970 เป็นงานศิลปะที่ใช้ร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะใช้ร่างกายของตัวศิลปินเองเป็นสื่อทางศิลปะ และได้กลายเป็นเครื่องมือหรือวัตถุดิบแทนที่จะใช้ไม้ หินหรือระบายสีลงบนผ้าใบ
กระบวนแบบบอร์ดี้อาร์ต การแสดงออกมีความจริงจังขึงขัง ถึงเลือดถึงเนื้อ มีความโน้มเอียงออกไปในทางการแสดงอารมณ์รุนแรงแบบมาโซคิส (masochist พวกที่ชอบทรมานตัวเองให้เจ็บปวด) เช่น ผลงานของ จีนา เพน (Gina Pane) ในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 โด่งดังมากจากการทำงานศิลปะแนวนี้โดยการใช้มีดโกนกรีดหน้าท้องตัวเอง หรือผลงานอีกชิ้นที่ เพน ทำการแต่งหน้าตัวเองหน้ากระจกเงา พร้อม ๆ กับใช้ใบมีดโกนกรีดใบหน้าและลำตัวของตัวเอง งานของศิลปินหญิงคนนี้สอดคล้องไปกับบรรดาศิลปินที่ทำงานเฟมินิสต์ อาร์ต ที่พูดถึงการที่ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายรับและผู้ชายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง งานของเธอทรมานทั้งตัวเองและคนดูที่ต้องทนดูอย่างหวาดเสียว
คริส เบอร์เด็น (Chris Burden) ทำการแสดงแบบบอดี้ อาร์ต โดยการทำให้ตัวเองถูกเตะ ตกบันไดที่งานเดอะ บาเซิล อาร์ต แฟร์ อันโด่งดังในสวิตเซอร์แลนด์ ในผลงานชื่อว่า คุ้นส์ คิค (Kunst Kick ในภาษาเยอรมันแปลว่า (อาร์ต คิค?, Art kick) นอกจากนี้ เบอร์เด็น ยังเคยจัดการให้ตัวเองถูกยิง ถูกไฟเผา ไฟฟ้าดูด ไม่เพียงทดสอบความทนทานของมนุษย์ แต่ยังทดสอบระบบในสังคมที่ห้ามการสร้างประสบการณ์เจ็บปวดเหล่านี้ ผลงานเบอร์เด็น ต้องการเรียกร้องความอื้อฉาวทางศีลธรรม เขาหวังว่าเมื่อเขาทำในสิ่งที่สุดขั้วแบบนี้ เขาจะได้ก้าวข้ามข้อห้ามในสังคมและตั้งคำถามกับการตอบรับทางศิลปะ
ศิลปินอีกคู่ที่ทำงานแนวนี้คือ อูเรย์ และ อบราโมวิค (Ulay & Abramovic) คู่รักชาวยุโรปตะวันออก ทั้งสองเคยนำเอาหางมวยผมมาผูกติดกันเหมือนสายสะดือที่ผูกติดกันระหว่างชายหญิง ทั้งคู่นั่งนิ่งไม่ไหวติง เป็นการแสดงแบบไม่เคลื่อนไหว เป็นงานที่ต้องมีสมาธิสูง เป็นเรื่องราวระหว่าง การติดยึดและการแยกจากกัน ศิลปินคู่รักคู่นี้ท้าทายสูตรสำเร็จของบทบาททางเพศที่ปรากฏในการทำศิลปะแสดงทั่ว ๆ ไป ที่มักจะพูดถึงการเป็นอิสระของปัจเจก ในบางงานของ อูเรย์ และ อบราโมวิค เป็นการแสดงกันแบบท้าความตายอย่างหวาดเสียว เช่น ต่างคนต่างเหนี่ยวลูกศรจากคันธนู แล้วหยุดตรึงหัวลูกศรไว้ที่ตำแหน่งหัวใจของอีกฝ่ายอาศัยแรงโน้มรั้งซึ่งกันและกันไม่ให้ลูกศรพุ่งออกไป หรือบางงานมีการแบ่งปันอ็อกซิเจนจากปากต่อปากของกันและกันในสถานการณ์ที่ความเป็นความตายเท่ากัน ผลงานแนวที่เน้นการใช้ร่างกายแสดงแบบสด ๆ กล่าวได้ว่า บอดี้ อาร์ต จะมีจุดเด่นที่ความสด ความตื่นเต้นและเนื้อหาสาระที่สื่อกันตรง ๆ แต่หากพลาดไม่ได้ดูของจริงสด ๆ ก็ไม่สามารถหาดูได้อีก เว้นแต่บางงานที่มีการบันทึกเป็นภาพถ่ายหรือวิดีโอเอาไว้
ศิลปินที่ทำงานแนวบอดี้ อาร์ต ได้แก่ วีโต แอคคอนซี (Vito Acconci), คริส เบอร์เด็น (Chris Burden), รีเบคกา ฮอร์น (Rebecca Horn), บรูซ นาว์แมน (Bruce Nauman), จีนา เพน (Gina Pane), และคาโรลี ชนีมานน์ (Carolee Schneemann) เป็นต้น
สรุป ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวทางของศิลปะสมัยใหม่เกิดจากแนวความคิดของศิลปินที่ต้องการนำเสนอ ความคิด ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความคิดของสังคมในบริบทใหม่ ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกตามลัทธิหลังสมัยใหม่ ไม่ยึดถือรูปแบบ เป็นแนวคิดที่ศิลปินพยายามแสดงความรู้สึกที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ผลงานศิลปะหลังสมัยใหม่เป็นการบันทึกความคิด ความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อโลกสมัยใหม่ ทั้งในด้านสังคม ธรรมชาติ ความคิด และการกระทำของคนในสังคม มุ่งเน้นสร้างผลงานให้บังเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน+ผลงาน+ผู้ชม เข้าเป็นสิ่งเดียวกัน มิได้แยกศิลปินกับผลงานออกจากผู้ชม หรือบางครั้งก็เน้นแนวความคิดในการแสดงออกให้ผู้ชมตีความต่อจากผลงาน
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. (2552). โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
ไลลัค, มิชาเอล. (2552). แลนด์อาร์ต. กรุงเทพฯ: บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด.
พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาต่างประเทศ
Gina Pane: ensemble. (n.d.). Retrieved May 23, 2015, from http://www.galleriaelefante. com/wordpress/gina-pane-ensemble/