บทบาทผู้สอนระดับอุดมศึกษากับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในศาสตร์ด้านการสื่อสาร

บทคัดย่อ

บทบาทผู้สอนของการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมากในระดับอุดมศึกษา  ผู้สอนนอกจากจะเป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนทั้งในแบบการเรียนรู้แบบสืบสอบและการเรียนรู้ผ่านโครงงาน  ซึ่งในที่นี้ผู้สอนเลือกใช้โครงการ Give Chance Project เป็นส่วนหนึ่งของการสอน  มีเป้าหมายโครงการคือ สร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุนให้แก่โรงเรียนเศรษฐเสถียรซึ่งเป็นโครงการที่ผู้เรียนกำหนดขึ้นเอง  การกำหนดปัญหาให้แก่ผู้เรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการวางแผนการเรียนการสอนของผู้สอน  คำถามที่กำหนดให้แก่ผู้เรียนควรเป็นคำถามปลายเปิดที่กว้าง  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดและแสดงออกซึ่งความคิดเห็น  รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถที่ถนัดภายใต้กรอบที่ผู้สอนกำหนดไว้  ดังนั้น  บทบาทของผู้สอนที่มีต่อผู้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งในด้านของผู้อำนวยความสะดวก  เนื่องจากโครงงานอาจต้องมีการดำเนินการประสานงาน  การอำนวยความสะดวกของผู้สอน  จะช่วยให้ผู้เรียนดำเนินงานได้เร็วขึ้นและไม่รู้สึกเป็นภาระจนเกินไป  ในด้านของที่ปรึกษา  ผู้สอนจำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้ ความคิด ประสบการณ์ผ่านการให้คำปรึกษา  ด้วยการอธิบายถึงที่่มาในการตัดสินใจต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นการปลูกฝังทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล  และรวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่พร้อมกับผู้เรียน  ผู้สอนสร้างบทบาทตนเองในลักษณะของทีมงานมากกว่าอาจารย์  นอกจากนี้ผู้สอนควรมีทักษะการใช้จิตวิทยากับผู้เรียน  เช่น  การสร้างแรงกดดันผ่านการลงโทษ  การกำหนดกติกา  การกำหนดวิธีการประเมิน  การเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด  และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ  การวางตนเองเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้เรียนได้ซึมซับวิธีคิด  การทำงาน  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจจากประสบการณ์  มากกว่าการอ่านหรือค้นคว้า

คำสำคัญ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21, บทบาทผู้สอน, การจัดการเรียนรู้, จิตวิทยาการสอน, การเรียนรู้จากปัญหา

 

บทนำ

          การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุนแก่โรงเรียนเศรษฐเสถียรนี้  เป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้วิชา เทคนิคการสื่อสารองค์การแบบผสมผสานของผู้เรียนชั้นปีที่ 4 ในหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะที่ได้ศึกษามาตลอดหลักสูตรในการปฏิบัติงานจริงและทำประโยชน์เพื่อสังคม  ดังนั้น  การจัดการเรียนการสอนจึงเริ่มจากผู้สอนกำหนดปัญหาให้ผู้เรียนว่า  “เราจะใช้การสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาให้ใคร”

          จากปัญหาที่กำหนดเป็นโจทย์นั้น ผู้เรียนได้ประชุมและหารือกันในกลุ่ม 13 คน ซึ่งเริ่มต้นจากการสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาของสถานที่ต่างๆ และได้เสนอกิจกรรมการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุนให้แก่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน ภายใต้ชื่อโครงการ Give Chance Project และได้กำหนดกิจกรรมการทำงานคือ สร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อระดมทุน และการทำประชาสัมพันธ์ ซึ่งระยะแรกในการดำเนินกิจกรรมผู้เรียนได้เลือกการทำสติ๊กเกอร์ไลน์และทำการประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุน  ร่วมกับการทำคลิปวีดีโอสั้นไม่เกิน 3 นาที ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ซึ่งผู้เรียนและผู้สอนได้ประเมินผลงานในส่วนของสติ๊กเกอร์ไลน์ซึ่งออกแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น พบว่างานที่ได้นั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดและไม่สามารถสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์  อีกทั้งส่วนแบ่งทางการตลาดไม่คุ้มค่าจึงประเมินร่วมกันว่า  ยกเลิกการทำสติ๊กเกอร์ไลน์เพื่อการระดมทุน  และทำเฉพาะคลิปวีดีโอสั้น 3 นาที แบ่งเป็นคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุนจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การศึกษาที่ไร้เสียง 2) ความเสี่ยง  และคลิปวีดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงปัญหาของผู้บกพร่องทางการได้ยินจำนวน 1 คลิป คือเรื่อง ป้าอู๋ และได้ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วนั้น ได้มีการส่งสรุปผลการทำงานและสื่อทั้งหมดให้แก่โรงเรียนเศรษฐเสถียรเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ในส่วนของโรงเรียนต่อไป

          การดำเนินการจัดการเรียนการสอนนี้  ได้สอดคล้องกับการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ภายใต้การเรียนการสอนในรูปแบบการกำหนดกรณีการแก้ปัญหา (Case-base Learning)

การเรียนรู้จากการดำเนินโครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์

          ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่กำหนดลักษณะผู้เรียนมีคุณลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ  ได้แก่  ความสามารถในการคิดเพื่อสร้างองค์ความรู้ ความสามารถในการสื่อสารและความสามารถในการสร้างชิ้นงานบริการสังคม  รวมถึงทัศนคติวิธีคิดในการแก้ปัญหาสังคม   การเรียนการสอนในปัจจุบันจงได้มีการปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้เป็น  5 ขั้นตอน  เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณลักษณะที่พึงประสงค์  โดยผู้สอนต้องมีความเข้าใจและความสามารถในการพัฒนาผู้เรียน  โดยโครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์นี้ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน  คือ

          ขั้นตอนที่ 1.  การเรียนรู้ระบุคำถาม (Learning to question)

                    การเรียนการสอนในรายวิชา เทคนิคการสื่อสารองค์การแบบผสมผสาน  เป้าหมายของรายวิชาและกลุ่มคือ  การใช้การประชาสัมพันธ์หรือการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหา  ซึ่งผู้สอนได้กำหนดโจทย์ไว้ว่า  “เราจะใช้การสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาให้ใคร”  โดยให้เวลาแก่ผู้เรียนในการเลือกและให้คำตอบประมาณ 3-5 วัน  และกลุ่มผู้เรียนได้เลือกการประชาสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมต่อโอกาสของผู้พิการ  จำกัดกลุ่มที่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน  ซึ่งผู้สอนให้ผู้เรียนขยายผลของกิจกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการทั้งต้อสังคมและมหาวิทยาลัยฯ ผู้เรียนได้เลือกโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ เป็นตัวแทนของผู้บกพร่องทางการได้ยินของสังคม

                    ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ระบุคำถามนี้  คือ  การที่ผู้สอนตั้งคำถามปลายเปิดกับกลุ่มผู้เรียน  พร้อมทั้งเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน  เช่น  การทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อชี้นำสังคมต่อปัญหาของผู้ป่วยจิตเวช  หรือการปรับทัศนคติของคนในสังคมต่อคนขอทาน  หรือการทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการระดมทุนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งทางเลือกเหล่านี้  ผู้สอนได้อธิบายมุมมองของเรื่องต่างๆ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้  ข้อมูลเหล่านี้จะได้มาต่อเมื่อผู้สอนได้เก็บรวบรวมเป็นประสบการณ์และถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน  ดังนั้น  การถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าวใช้การสื่อสารแบบสองทาง (Two-way communication) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่างๆ ร่วมกับกับผู้สอน  ส่วนนี้จึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน 

          ขั้นตอนที่ 2.  การเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ (Learning to search)

                    ขั้นตอนนี้ผู้สอนกำหนดไว้ให้ผู้เรียนต้องใช้ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ (Computing Skill) ทั้งในด้านของการเก็บข้อมูลศึกษาโครงการ  และข้อมูลประกอบการดำเนินงานผลิตสื่อประชาสัมพันธ์  ผู้สอนใช้วิธีการชี้แนะ (Coaching) เป็นหลัก  โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง  และรับฟังสิ่งที่ผู้เรียนคิดและแผนงานที่จะดำเนินงาน  โดยผู้สอนทำหน้าที่ชี้แนะปัญหาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น  และขั้นตอนการประสานงานรวมถึงตั้งคำถามจากแผนงานของผู้เรียน  ให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาคำตอบด้วยตนเองและมาอธิบายให้ผู้สอนฟังในภายหลัง  โดยอาศัยวิธีการชี้แนะแนวทางที่เหมาะสมมากกว่าการประเมินคำตอบของผู้เรียนว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด  ดังนั้น  ส่วนนี้จึงเป็นการจัดการเรียนรู้ในแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child – centered approach)

                    ผลที่ปรากฏกับผู้เรียนในกระบวนการนี้คือ  ผู้เรียนได้ดำเนินงานตามแผนงานและจุดประสงค์การทำงานที่กำหนด  โดยที่ผู้เรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นที่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้ในการค้นคว้าหาข้อมูล  สะท้อนถึงทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้เรียน  ทั้งนี้จากการสังเกต  ผู้เรียนเลือกใช้สมาร์ทโฟน (Smartphone) ในการค้นคว้าหาข้อมูลมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์

          ขั้นตอนที่ 3.  การเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ (Learning to construct)

                    การหาความรู้ของผู้เรียนนั้น  ผู้สอนได้เปิดให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายงาน  ซึ่งการอภิปรายนั้น  ผู้สอนได้เฝ้าสังเกตพร้อมทั้งให้คำปรึกษาในบางเรื่อง  พบว่า  การเปิดให้ผู้เรียนได้มีการอภิปรายโดยอิสระ  พฤติกรรมผู้เรียนที่ปรากฏคือ  การค้นคว้าข้อมูล  การประเมินแผนการทำงานและผลกระทบต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสามารถสรุปประเด็นเสนอผู้สอนได้ในเวลาที่กำหนด  โดยสามารถร่วมอภิปรายกับผู้สอนได้อย่างมีหลักการและเหตุผล

                    นอกจากนี้การประสานงานระหว่างผู้เรียนและโรงเรียนเศรษฐเสถียร  จากการสังเกตพบว่า  ผู้เรียนได้นำคำปรึกษาไปปรับใช้ในการดำเนินงาน  และประสานงานในการเก็บข้อมูลได้ตามแผนงานที่วางไว้                  

          ขั้นตอนที่ 4.  การเรียนรู้เพื่อสื่อสาร (Learning to communicate)

                    ด้วยลักษณะของโครงการที่ดำเนินงานนั้น  มีลักษณะเป็นกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)  ผู้เรียนจำเป็นต้องประสานงานติดต่อกับทางโรงเรียนเศรษฐเสถียรเพื่อนำเสนอโครงการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งอาศัยการทำงานตามหลัก 3P ได้แก่ 

                    1.) การวางแผน (Planning) ผู้เรียนทำความเข้าใจโครงการและแผนงานเพื่อการนำเสนอต่อทางโรงเรียนเศรษฐเสถียร โดยมีการแบ่งหน้าที่การทำงาน

                    2.)  ขั้นเตรียม/ซักซ้อม (Preparation) ผู้เรียนได้สรุปข้อมูลและสาระสำคัญของโครงการเสนอต่อทางโรงเรียนเศรษฐเสถียร  ได้แก่  วัตุประสงค์ของโครงการ  กิจกรรมที่จะดำเนินการและสิ่งที่จะขอความอนุเคราะห์จากโรงเรียนช่วยดำเนินการ  คือ นักเรียนร่วมถ่ายทำคลิปประชาสัมพันธ์  อาสาสมัครที่จะสอนภาษามือให้แก่ผู้เรียนและขั้นตอนการขอใช้สถานที่

                    3.)  การนำเสนอ (Presentation) ผู้เรียนได้นำเสนอโครงการต่อโรงเรียนเศรษฐเสถียรตามที่ได้วางแผนและเตรียมการไว้

                    การเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานดังกล่าวผ่านการสังเกตพฤติกรรมการดำเนินงานของผู้เรียนและความคืบหน้าต่างๆ นั้น  พบพัฒนาการที่ดี  กล่าวคือ  ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่องานของตนเองมากขึ้น  คำนึงถึงขั้นตอนการทำงานและการประสานงานที่อยู่นอกขอบเขตตนเองมากขึ้น  ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับกระบวนการดำเนินงานในขั้นตอนการวางแผนผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้กระชับและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานมากที่สุด  โดยเป็นการประชุมกันในกลุ่มและตัดสินใจกันเอง

          ขั้นตอนที่ 5.  การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม (Learning to service)

                    ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้  พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์ใหม่หรือภาระงานอื่นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้เรียนเข้าใจและมีการนำผลงานไปเผยแพร่  ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา เทคนิคการสื่อสารองค์การแบบผสมผสาน  ที่ต้องการให้ผู้เรียนใช้ความรู้ที่ศึกษามาตลอดหลักสูตรในการสร้างประโยชน์ให้สังคม 

          กลุ่มผู้เรียนได้ดำเนินโครงการเพื่อผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนเศรษฐเสถียร  ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน  มีวัตถุประสงค์การสื่อสารคือ  ให้คนในสังคมตระหนักถึงโอกาสทางการศึกษาของผู้บกพร่องทางการได้ยิน  และตระหนักถึงปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางการได้ยิน  พร้อมทั้งการเปิดช่องทางการรับบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนของโรงเรียน  โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม CSR ของหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ฯ

          การจัดการสอนจึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  อาศัยการตั้งคำถามเพื่อกำหนดทิศทางการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน  และให้อิสระผู้เรียนในการคิดและวางแผนดำเนินการด้วยตนเอง  ผู้สอนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน  โดยสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ผ่านการอภิปรายและการสอบถามรายบุคคล  กำหนดกลยุทธ์การสอนให้ผู้เรียนต้องมาพบตามเวลานัดหมาย  โดยกำหนดตารางนัดหมายให้มีความยืดหยุ่นไม่เน้นเวลาที่แน่นอน  เพื่อสังเกตความรับผิดชอบของกลุ่มผู้เรียน  นอกจากนี้ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนนั้น  จะไม่วางบทบาทตนเองในสถานภาพอาจารย์ (ผู้สอน)  แต่วางบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาการทำงานเป็นแบบอย่างและปลูกฝังทัศนคติการทำงานให้แก่ผู้เรียนได้นำไปใช้

          ผู้สอนในยุคใหม่ควรมีวิธีสอนในรูปแบบสืบสอบ (Inquiry teaching method) ร่วมกับวิธีสอนแบบโครงงาน (Project teaching method) แม้ว่าตามหลักการแล้ววิธีการสอนทั้ง 2 รูปแบบมีวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์คอยกำกับ  แต่ด้วยลักษณะโครงการที่ผู้เรียนเสนอนั้นเป็นเรื่องของการสื่อสารหรือนิเทศศาสตร์  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปศาสตร์ส่งผลให้กระบวนการจัดการสอนมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โดยหวังผลที่ประสบการณ์ผู้เรียนเป็นหลัก

          ดังนั้น  ในการเรียนการสอนครั้งนี้ความรู้ของผู้เรียนที่ได้ในรูปแบบวิธีการสอนแบบสืบสอบ  จึงเป็นความรู้ที่ผู้เรียนรู้และไม่รู้มาก่อน  ซึ่งความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนได้มาจากการทำงานที่ผิดพลาด  เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดในการประสานงาน  ซึ่งช่วยสร้างความระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น  บทบาทของผู้สอนในการให้ผู้เรียนเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งนี้คือ  การให้คำปรึกษาและการตัดสินใจที่จะล้มเลิกสิ่งที่ผู้เรียนทั้งกลุ่มได้ดำเนินการเสร็จสิ้น  โดยอธิบายเหตุผลประกอบการตัดสินใจให้ผู้เรียนรับรู้  รวมถึงอภิปรายในประเด็นความผิดพลาดดังกล่าว ในด้านความรู้ที่ได้จากในวิธีการสอนแบบโครงงาน ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นผู้เรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติมาก่อน ผู้สอนสามารถขยายขอบเขตงานให้ใหญ่ขึ้นได้  ซึ่งในกรณีนี้ผู้สอนกำหนดให้การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์จะต้องส่งให้องค์กรอื่นได้ใช้งานจริง โดยต้องผ่านการทดลองใช้ก่อน ผลการเรียนรู้นี้เป็นสิ่งที่ผู้สอนไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้คาดเดาผลที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่งานได้ยาก  การวางแผนของผู้สอนในเรื่องนี้ คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับศึกษากฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องก่อนการตัดสินใจและให้คำปรึกษาผู้เรียน

กลยุทธ์ผู้สอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

          โครงการ Give chance project  กับการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน  ภายใต้กลยุทธ์การเรียนการสอนและกระบวนการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในการพัฒนาด้านความรู้  ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ผู้สอนดำเนินการดังนี้

          ด้านความรู้  อาศัยกระบวนการเรียนรู้สร้างความรู้และความเข้าใจด้วยรูปแบบการสืบสอบและการเรียนรู้แบบโครงงาน  โดยรูปแบบของโครงงานนี้ผู้สอนกำหนดเป้าหมายไว้ที่  การนำผลงานไปใช้จริง  นั่นคือ  ชุดสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งหมดนั้นต้องเผยแพร่สู่สาธารณชนได้จริงตามแผนการประชาสัมพันธ์  และต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในระยะยาว

          ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์และเจตคติ  แบ่งย่อยได้เป็น

          1.) จริยธรรมในตัวบุคคล  เริ่มต้นจากผู้สอนวางตัวเป็นแบบอย่าง เช่น ต้องการให้ผู้เรียนรับผิดชอบต่อเวลา  ผู้สอนต้องรับผิดชอบต่อเวลาของตนเองที่นัดหมายกบผู้เรียนก่อน  เริ่มต้นจากการนัดผู้เรียนว่าจะตรวจงานพร้อมทั้งเขียนข้อเสนอแนะภายในเที่ยงคืนวันนี้  ผู้สอนต้องทำได้ตามเวลา  เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้เรียน  หรือมุมมองในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์  ผู้สอนแสดงให้ผู้เรียนรู้จักการใช้กฎหมายด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดสิทธิเด็ก  โดยการแนะนำแนวทางแก้ไขให้แก่ผู้เรียนดำเนินการ  พร้อมการอธิบายเหตุผลประกอบ

          2.) การใช้เทคโนโลยีของผู้เรียน  ด้วยการที่หลักสูตรของผู้เรียนเป็นหลักสูตรนิเทศศาสตร์ฯ ผู้เรียนจึงมีทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอยู่ในระดับหนึ่ง  สามารถใช้ในการดำเนินงานตามเป้าหมายของโครงการได้  ในด้านนี้หลักสูตรและผู้สอนต้องวางแผนระยะยาว  อาศัยการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตร  ซึ่งจะมีรายวิชาอื่นๆ ที่สามารถฝึกทักษะผู้เรียนในด้านนี้เป็นหลัก  เมื่อมาถึงรายวิชาหรือโครงการของผู้เรียนนี้  ผู้สอนมีหน้าที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาผู้เรียนเท่านั้น 

          ด้านทักษะและกระบวนการ  ประกอบด้วยประเด็นย่อย  ได้แก่

          1.)  การรู้หนังสือ  ผู้สอนกำหนดรายละเอียดการทำงานที่ทำให้ผู้เรียนต้องอาศัยทักษะการเขียน  การพูด  ทั้งในรูปเล่มโครงการและสรุปโครงการ  บทพูดในคลิปวีดีโอ  นอกจากนี้ผู้สอนเพิ่มเติมการฝึกทักษะการออกแบบภาษา  สำเนียงการพูดให้แก่ผู้เรียนผ่านโครงการของผู้เรียนในลักษณะการอธิบายเสริมและการยกตัวอย่าง

          2.)  การรู้เรื่องจำนวน  ผู้สอนแฝงทักษะนี้ผ่านแผนการประชาสัมพันธ์  โดยกำหนดให้ผู้เรียนต้องเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์แต่ละสื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยกำหนดเป้าหมายของจำนวนผู้ชมไว้  ผู้เรียนต้องวางแผนและดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

          3.)  ความสามารถในการใช้เหตุผล  ทักษะนี้พัฒนาคู่กับการสร้างการเรียนรู้  ผู้สอนจะต้องอธิบายเหตุผลอันได้มาซึ่งคำปรึกษาและคำสั่งแก่ผู้เรียน  ทำตนเองเป็นแบบอย่างให้ผู้เรียนทำตาม  นอกจากนี้  การแนะนำผู้เรียนผู้สอนไม่ควรตัดสินว่าถูกหรือผิด  แต่ใช้การสอบถามถึงเหตุผลการทำงานอันได้มาซึ่งแผนงานหรือผลงานดังกล่าว  อันจะเป็นการฝึกผู้เรียนให้คิดและปฏิบัติงานภายใต้หลักเหตุและผล  ข้อดีของรูปแบบการสอนลักษณะนี้คือ  ผู้สอนจะไม่เข้าไปก้าวก่ายโครงงานที่ผู้เรียนเป็นคนคิดริเริ่มจนผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่า  โครงงานนี้ไม่ใช่ของตนเองแต่เป็นของผู้สอน

          4.)  ทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  การจัดการสอนนี้ใช้การสร้างโครงงานเป็นสื่อการสอน  ซึ่งผู้สอนกำหนดปัญหาให้ผู้เรียนได้แก้ไข  โครงการ Give chance project เป็นการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาที่สังคมขาดการตระหนักถึงโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน  ผู้เรียนจึงต้องมีการศึกษา  ค้นคว้าและออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ในการเผยแพร่สู่สังคม

          5.)  ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  ในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์  ผู้เรียนจะต้องคิดให้รอบด้านถึงผลกระทบทั้งต่อตัวบุคคล  องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการตัดสินใจหรือการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์สูงสุด

          6.)  ทักษะการทำงานอย่างรวมพลัง  ผู้สอนกำหนดโครงงานให้ผู้เรียนเป็นกลุ่ม  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่  ให้ผู้เรียนกำหนดกติการและบทลงโทษกันเอง  ผู้สอนกำหนดช่องทางการสื่อสารให้ผู้ผู้เรียน  และเคราพในบทบาทของผู้เรียนในการดำเนินงาน

          7.)  ทักษะการสื่อสาร  ด้วยหลักสูตรของผู้เรียนเป็นหลักสูตรด้านการสื่อสาร  ผู้เรียนจึงมีทักษะด้านนี้อยู่แล้ว  ทั้งนี้ผู้สอนควรต้องแฝงการใช้เหตุผลในการสื่อสารให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่สมบูรณ์ที่สุด

          8.)  ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์  ทักษะนี้อาศัยรายวิชาอื่นๆ ที่จัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รับหน้าที่ฝึกและสอนผู้เรียนให้เกิดทักษะ  และในการดำเนินโครงงาน  ผู้สอนมีหน้าที่เพียงออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ทบทวนทักษะดังกล่าว

ผู้สอนจำเป็นต้องมีพื้นฐานจิตวิทยาด้านการสื่อสาร

          ในทางจิตวิทยาระบุว่า  ความรู้  ความรู้สึก  พฤติกรรม  อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทแวดล้อมของผู้เรียน  ดังนั้น  ในกลยุทธ์การสอนทั้งหมดอาจมีผู้เรียนที่มีความรู้สึกไม่ชอบในกลยุทธ์การสอนข้อหนึ่ง  อาจส่งผลถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนรายนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้  ผู้สอนจึงต้องมีการประเมินพฤติกรรมผู้เรียนที่แสดงออกต่อการเรียนหรือกลยุทธ์การสอนเป็นระยะหรือตลอดการสอน  เพื่อจะทำให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้เกิดกับตัวผู้เรียนมากที่สุด  ผู้สอนจึงอาจมีการสอนหรือให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคลในบางกรณี

          อีกทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมของผู้เรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีต่อกัน  การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ  กลุ่มและแนวทางปฏิบัติของกลุ่ม  สถานการณ์และประสบการณ์ของผู้เรียนในกลุ่มแต่ละคน  ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อการสร้างทัศนคติในตัวผู้เรียน  และจะสะท้อนผลลัพธ์ไปยังกระบวนการสร้างทักษะการทำงานอย่างรวมพลัง  ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่จะทำให้โครงงานของผู้เรียนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้

          สิ่งที่ผู้สอนจัดการในส่วนนี้คือ  การเก็บข้อมูลผู้เรียนในกลุ่มแต่ละคน  เช่น การดูผลการเรียนในแต่ละรายวิชา  การพูดคุยกับผู้เรียนและการสังเกตความถนัดเฉพาะทางของผู้เรียน  เพื่อให้ผู้สอนสามารถวางแผนกำหนดหน้าที่ให้ผู้เรียนในแต่ละคนได้  รวมถึงการพัฒนาจุดอ่อนในตัวผู้เรียน  กลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ผู้สอนได้ดำเนินการได้แก่

          1.)  ให้กลุ่มผู้เรียนเลือกหัวหน้ากลุ่มขึ้นมา  โดยผู้สอนอธิบายบทบาทของหัวหน้ากลุ่มไว้ก่อนการคัดเลือก  เช่น การติดตามงาน  การวางแผนดำเนินงาน  รวมถึงการร่วมประเมินผลงานรายบุคคลร่วมกับผู้สอน  เพระฉะนั้นบุคคลที่กลุ่มผู้เรียนเลือกนั้น  ทุกคนต้องเห็นตรงกันว่ามีความรับผิดชอบสูง  และมีความเป็นกลางรวมถึงการมีภาวะผู้นำ

          2.)  จากการที่ผู้สอนได้ข้อมูลผู้เรียนแต่ละบุคคลแล้วนั้น  ผู้สอนจะกำหนดหน้าที่กว้างๆ แก่ผู้เรียนซึ่งจะประกอบไปด้วยงานหรือหน้าที่ที่ผู้เรียนชอบหรือถนัด  และงานหรือหน้าที่ที่ผู้เรียนนั้นไม่ถนัด  กระบวนการนี้อาศัยแนวคิดการเลือกใช้คนให้ตรงกับงาน  ร่วมกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนให้รอบด้าน

          3.)  ด้านการสร้างจริยธรรมในตัวบุคคลและการพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้เหตุผล  บทบาทสำคัญของผู้สอนในด้านนี้  คือ  การวางตนเองเป็นแบบอย่างแก่ผู้เรียน  เริ่มจากการตรงต่อเวลาของผู้สอน  ส่งผลให้ผู้เรียนรู้สึกถึงความสำคัญต่อการตรงต่อเวลา  สังเกตได้จากการส่งความคืบหน้างานตรงตามเวลานัดหมาย  หรือการนัดประชุมแต่ละครั้งผู้เรียนจะพยายามมาให้ตรงเวลามากที่สุดหรือถ้ามาไม่ได้จะมีการแจ้งล่วงหน้า  และการยอมรับบทลงโทษของกลุ่มกับการไม่รักษาเวล  เป็นต้น  ผู้สอนสามารถใช้กระบวนการนี้ในการสร้างบรรยากาศความกดดันในการดำเนินงานให้แก่ผู้เรียน  เรียนรู้การทำงานภายใต้แรงกดดันจากสิ่งเร้ารอบข้าง  ในขณะเดียวกันการพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลของผู้เรียน  ต้องมีการปรับบทบาทผู้สอนจากอาจารย์ให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานหรือที่ปรึกษา  ซึ่งในโครงการนี้พบว่าในช่วงเริ่มแรก  ผู้เรียนได้ดำเนินงานทุกอย่างแล้วเสร็จตาแผนงานแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่วางไว้  ผู้สอนตัดสินใจยกเลิกผลงานเหล่านั้นและเปลี่ยนแผนงานใหม่  โดยการอธิบายเหตุผลและผลกระทบที่จะตามมาให้แก่ผู้เรียนอย่างละเอียด  เปรียบเสมอนการเฉลยข้อสอบให้ผู้เรียนได้เข้าใจเหตุผลความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  พัฒนาการที่เกิดขึ้นจากประเด็นนี้  คือ  ผู้เรียนมีการคิดถึงผลลัพธ์ท่จะเกิดขึ้น  มากกว่าผลสำเร็จของชิ้นงานที่ทำ

 

บทสรุป

          แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้ระบุถึงการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และด้วยการสอนในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นระดับที่ต้องพัฒนาประสบการณ์และความรู้ของผู้เรียนควบคู่กัน  ผู้สอนในระดับนี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสอนที่ต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เหมาะสมกับผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา

          ในขณะเดียวกันหลักสูตรการเรียนในระดับอุดมศึกษา  มีความลึกและความเฉพาะเจาะจงที่มากขึ้น  ส่งผลให้ผู้เรียนอาจสับสนหรือไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ได้ศึกษาเรียนรู้มานั้น  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำอะไรหรือสามารถทำงานอะไรได้บ้าง  ดังนั้น  การสร้างการเรียนรู้ผ่านโครงการและกำหนดวัตถุประสงค์การทำงานให้สามารถใช้งานได้จริง  ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นทักษะและความสามารถของตนเองพร้อมกับการใช้ความรู้  ทักษะ  ความสามารถที่ได้ศึกษามาช่วยพัฒนาสังคมได้

          กลยุทธ์การสอนที่ได้อธิบายมาข้างต้น  แสดงให้เห็นว่า บทบาทผู้สอนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผู้สอนควรวางตัวเองเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้เรียนผ่านรูปแบบการสอนแบบโครงงานหรือโครงการผนวกกับรูปแบบการสอนแบบสืบสอบ  ผู้สอนจำเป็นต้องมีการอธิบายความคิดหรือที่มาที่ไปของการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ  แก่ผู้เรียนเสมือนผู้สอนและผู้เรียนเป็นทีมงานเดียวกัน  โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือที่ปรึกษา  (Coaching) ให้แก่ผู้เรียน  ไม่เข้าไปแทรกแซงแนวคิดและการดำเนินงานของผู้เรียน

          ด้วยบทบาทของผู้สอนผ่านการสอนแบบโครงการหรือโครงงานนี้  ร่วมกับการใช้การสอนแบบการเรียนรู้จากปัญหา  ผู้สอนอาจต้องมีการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการของผู้เรียนมากขึ้น กล่าวคือ ต้องมีการเรียนรู้ไปพร้อมกัน  บางสถานการณ์ต้องมีการหาข้อมูลและฝึกปฏิบัติร่วมกับผู้เรียนด้วย ดังนั้น ผู้สอนต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินงานร่วมกับผู้เรียน มีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงเรียนรู้ที่จะผิดพลาดและอาจรวมถึงเรียนรู้จากการปล่อยให้ผู้เรียนผิดพลาดโดยเจตนา  ทั้งนี้  เพื่อหวังผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้  ทักษะ  ประสบการณ์  การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้เรียน