บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์วัฒน์ มิ่งมิตร
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ระบบการศึกษามีความมั่นคงและยั่งยืน นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และประเทศชาติสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต บทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายใน คือ การประกันคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนประกอบด้วย บทบาทหน้าที่ 3 ประการ คือ (1) การปฏิบัติงานปกติของครูอย่างมีระบบและกระบวนการ (2) การประเมินตนเอง (3) การรายงานผลการประเมินตนเอง ส่วนบทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายนอก เป็นบทบาทที่ต่อเนื่องจากการประกันคุณภาพภายใน อีก 3 ประการ คือ (1) ร่วมจัดทำรายงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา (2) รับการตรวจเยี่ยมของผู้ประเมินภายนอก (3) รับข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินภายนอกมาดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข
คำสำคัญ
บทบาทครู การประกันคุณภาพภายใน การประกันคุณภาพภายนอก
บทนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 กําหนดไว้ ในมาตรา 6 ระบุให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยระบบ การประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก และได้กําหนดไว้ในมาตรา 48 ให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา ที่สถานศึกษาต้อง ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทํารายงานประจําปีเสนอต่อ หน่วยงานต้นสังกัดหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อ สาธารณชน เพื่อนําไปสู่การพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก นอกจากนั้นมาตรา 49 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินคุณภาพ ภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปีและต้องเสนอผลการประเมิน คุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องและ สาธารณชน หัวใจของการประกันคุณภาพการศึกษา คือ การประกันคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งต้องเริ่มต้นที่การประกันคุณภาพภายใน โดยการปฏิรูปการสอนของครู
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษา
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ครูเป็นบุคลากรหลักที่มีหน้าที่ในการพัฒนานักเรียนและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ดังนี้:
1. การสอนที่มีคุณภาพ: ครูต้องมีความสามารถในการสอนและใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาไปตามเป้าหมายทางการศึกษา
2. การประเมินผลการเรียนรู้: ครูมีบทบาทในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าและจุดที่ต้องปรับปรุงของนักเรียน รวมทั้งใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนของตนเอง
3. การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง: ครูต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยการเข้าร่วมการอบรมสัมมนา การศึกษาต่อเนื่อง และการเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอน
4. การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี: ครูต้องสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักเรียน เช่น การสร้างแรงจูงใจในการเรียน การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน
5. การทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน: ครูต้องมีความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การสื่อสารกับผู้ปกครองเกี่ยวกับความก้าวหน้าของนักเรียน และการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการศึกษา
6. การบริหารจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ : ครูต้องมีทักษะในการบริหารจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และมีระเบียบวินัยในการเรียน
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษานี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ระบบการศึกษามีความมั่นคงและยั่งยืน นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และประเทศชาติสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต
ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษา ได้มีองค์กรภาครัฐและนักวิชาการให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน, 2555) ได้ให้ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา (Educational Quality Assurance) หมายถึง การสร้างมาตรฐานคุณภาพของการบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมตามภารกิจของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษาทั้งผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้รับบริการทางอ้อม ได้แก่ สถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม อันประกอบด้วย
1. การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance) หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้น
2. การประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assurance) หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) บุคคล หรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
3. การประเมินคุณภาพภายใน (Internal Quality Assessment) หมายถึง การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตามและการตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดสำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในซึ่งกระทำ โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้น หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษา
4. การประเมินคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment) หมายถึง การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตามและการตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งกระทำโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือผู้ประเมินภายนอก
Oxford advanced Learner’s Dictionary (2005) ได้ให้ความหมายของคำว่า “Quality Assurance” หมายถึง กระบวนการการจัดการซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตสินค้าหรือการบริการที่สร้างความมั่นใจว่ามีการรักษามาตรฐานในระดับสูง (The practice of managing the way goods are produced of services are provided to make sure they are kept at a high standard
รุ่ง แก้วแดง (2545) ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาได้เป็นไปตามพันธกิจที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้
สุภัทรา เอื้อวงศ์ (2560) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวางแผนและการปฏิบัติของหน่วยผลิตที่มุ่งจะผลิตสิ่งที่มีคุณภาพตามกับความต้องการของผู้ใช้ผลผลิต ซึ่งการดำเนินการประกันคุณภาพเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เน้นการป้องกันและการตรวจสอบ หลักการสำคัญในการนำไปสู่การประกันคุณภาพเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงคุณภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะการเน้นการปรับปรุงกระบวนการ เพื่อจะนำไปสู่ความพึงพอใจของผู้รับบริการ
จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง กระบวนการในการควบคุม ติดตามตรวจสอบและประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เพียงใด โดยสถานศึกษาเอง และจากองค์กรภายนอก โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อสร้างผู้สำเร็จการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนดและตามความมุ่งหวังของสังคม ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาได้เป็นไปตามพันธกิจที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้มากน้อยเพียงใด
ความเป็นมาของการประกันคุณภาพการศึกษา
รุ่ง แก้วแดง (2545) ได้นำเสนอความเป็นมาของการประกันคุณภาพการศึกษาว่า เริ่มต้นจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมความคิดเรื่องการประกันคุณภาพและการกำหนดมาตรฐานสินค้าและบริการนั้น ได้เริ่มต้นในวงการอุตสาหกรรมเมื่อประมาณเกือบร้อยปีที่ผ่านมา เนื่องจากเมื่อมีการผลิตสินค้าจำนวนมาก ปัญหาก็คือทำอย่างไรจึงจะให้สินค้าแต่ละหน่วยหรือแต่ละชิ้นมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในทางธุรกิจว่าสินค้าทุกชิ้นที่คนซื้อไปนั้นมีคุณภาพเท่าเทียมกัน และได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด หรือตามที่ได้โฆษณาเอาไว้ การประกันคุณภาพเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในตอนแรกนั้นเน้นเฉพาะการประกันผลผลิตทางอุตสาหกรรม (Industrial Products) และเน้นการควบคุมทางสถิติ เช่น เลือกลุ่มตรวจสินค้าชิ้นที่ 500 หรือชิ้นที่ 1,000 เป็นต้น การควบคุมคุณภาพสินค้าทำให้ระบบอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาได้รับความเชื่อถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสามารถส่งออกขายได้ทั่วโลก เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ สินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีคุณภาพต่ำมาก ส่งไปขายให้ใครก็เป็นที่ดูถูกดูแคลน ดังที่คนไทยในยุคนั้นก็ทราบดี สหรัฐอเมริกาจึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่นในการพัฒนาคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรม โดยส่งศาสตราจารย์ ดร.เดมมิ่ง (Edwards Deming) มาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องการประกันคุณภาพสินค้าของญี่ปุ่น ซึ่งท่านได้นำเรื่อง “วงจรคุณภาพ” (Quality Control Circles – QCC) ซึ่งเน้นกระบวนการวางแผน กระบวนการดำเนินงาน กระบวนการประเมิน และกระบวนการปรับแผน (PDCA) เข้าไปแนะนำและวางระบบให้กับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จอย่างงวดงาม สามารถพัฒนาจากการประกันคุณภาพที่เน้นเฉพาะสินค้าไปสู่การประกันคุณภาพทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้า ซึ่งเรียกว่า “กระบวนการบริหารคุณภาพทั้งระบบ” (Total Quality Management – TQM) โดยญี่ปุ่นได้ประยุกต์รวมเอาวัฒนธรรมการประกันคุณภาพทุกจุดอย่างต่อเนื่องแบบ “ไคเซ็น” (KAIZEN) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนทำให้อุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างสูง ภายใต้เครื่องหมายการดำเนินงานผลิตที่มีคุณภาพ สามารถขายสินค้าได้มากกว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่อมากลุ่มประเทศในยุโรปก็ได้เริ่มนำระบบการประกันคุณภาพมาใช้เรียกว่า International Standard Organization (ISO) ซึ่งแตกต่างกับของญี่ปุ่นตรงที่ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการประเมินภายในแต่กระบวนการของ ISO นั้นเน้นเรื่องการประเมินภายนอก จากนั้นหลายประเทศได้จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าสถานศึกษาแต่ละระดับของเขาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน เพราะทั่วโลกมีความเชื่ออย่างเดียวกันว่า การศึกษา คือ “การลงทุนสำหรับอนาคตของประเทศ” โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy – NE) และอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ (Knowledge Based Economy – KBE) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำการศึกษาประเทศที่มีรูปแบบการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มี 2 ประเทศ คือ ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2539 ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนการศึกษา และแผนพัฒนาการศึกษา ตลอดจนได้อำนาจหน้าที่ในเรื่องของการประสานและการติดตามประเมินผล โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ใช้วิธีขอให้ส่วนราชการต่างๆ รายงานถึงแผนงานและโครงการดำเนินงาน โดยไม่ได้ลงลึกไปถึงการดำเนินงานสถานศึกษา
สรุปได้ว่าประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการในเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การประเมินผล ยิ่งกว่านั้นการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยได้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาของไทยกำลังประสบภาวะวิกฤตด้านคุณภาพอย่างหนัก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติจึงได้เริ่มตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพและการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ สกศ. และได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยได้ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพการศึกษาไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และได้ออกรายงานที่สำคัญมากซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของไทย คือ “ระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ” พร้อมกันนั้น สกศ. ได้ทำการศึกษาระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานของภาคเอกชน เช่น การบริหารคุณภาพทั้งองค์กร (TQM) มาตรฐานระบบคุณภาพ (ISO) มาตรฐานคุณภาพหน่วยงานระบบชาติของสหรัฐอเมริกา (Maicoim Baldrige National Quality Award) เป็นต้น นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังได้นำเสนอเรื่องการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของต่างประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
หลังจากการศึกษาโดยละเอียดอย่างเป็นระบบแล้ว สกศ. จึงได้นำเสนอในเชิงหลักการของการจัดระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาต่อคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) และคณะรัฐมนตรี พร้อมกับขออนุมัติจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สคม.) ไปในคราวเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (สคม.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ จึงกล่าวได้ว่า สคม. เป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวความคิดเรื่องระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ปฏิบัติภารกิจหลัก 3 ประการ คือ 1) พัฒนาร่างมาตรฐานการศึกษาโดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ส่งเสริมและพัฒนาระบบการประเมินผลภายใน เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเตรียมรับการประกันภายนอก 3) พัฒนาระบบการประเมินผลภายนอก เพื่อเป็นกลไกให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิจัยรูปแบบการดำเนินงานในต่างประเทศ ได้ส่งบุคคลไปร่วมประชุมและศึกษาดูงานของ Ofsted ในประเทศอังกฤษ และของ ERO ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานก็ได้ส่งบุคลากรระดับสูงที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูงเข้ามาให้คำปรึกษาแนะแนวทางการดำเนินงานแก่สถาบันฯ
เพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติบรรลุผลสำเร็จ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการขึ้นมาชุดหนึ่ง มี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกรรมการศึกษาแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการโดยตำแหน่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินงานเตรียมการเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยให้คืบหน้าไปได้หลายเรื่อง โดยทำงานคู่ขนานไปกับการร่างสาระบัญญัติที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ผลงานที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ได้แก่ “มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก: ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในทุกระดับ โดยวันที่ 4 มกราคม 2543 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างมาตรฐานการศึกษา ทั้ง 27 มาตรฐาน ให้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกได้ โดยในการประเมินรอบแรกจะใช้เพียง 14 มาตรฐาน และ 53 ตัวบ่งชี้ ซึ่งสำนักงานได้จัดพิมพ์ไว้ในเอกสารชื่อ “มาตรบานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก: ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และหนังสือ “แนวทางการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา”
ในขณะที่กำลังรอพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาอยู่นั้น เพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องการประกันคุณภาพสถานศึกษาก้าวหน้าไปได้ สกศ. จึงได้จัดทำหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อ “แนวทางการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเพื่อพร้อมรับการประเมินภายนอก” ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2543 หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนถึง 60,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางสำหรับการประกันคุณภาพภายใน
หลังจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เป็นเวลา1ปี2 เดือนการจัดทำพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)ชื่อย่อ สมศ. จึงสำเร็จโดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยมีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเกิดขึ้น และนำไปสู่การประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานอย่างจริงจัง โดย สมศ. มีหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาโดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ โดยการดำเนินการ สมศ. ได้ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรก (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2548) ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพภายนอกโดยไม่มีการตัดสินผลการประเมิน แต่เป็นการประเมินเพื่อยืนยันสภาพจริงของสถานศึกษา ขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาเพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักการประเมินคุณภาพการศึกษา และรอบสอง (พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553) เป็นประเมินตามวัตถุประสงค์ของ สมศ. ที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาของการจัดตั้งสำนักงาน โดยหนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรกมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นเพื่อการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาและ สมศ. ประเมินภายนอกรอบสาม (พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2558) ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษา โดยพิจารณาจากผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบมากกว่ากระบวนการ ภายใต้ข้อคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละสถานศึกษา
สรุปได้ว่าการก่อเกิดระบบประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยนั้น เกิดจากการตระหนักถึงความจำเป็นและสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ของนักวิชาการศึกษาไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยใช้แนวคิดการประเมินเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีการดำเนินการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 3 รอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2558 และเข้าสู่การประเมินภายนอกรอบสี่ (พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2563) โดยมีแนวโน้มของการประกันคุณภาพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำผลการประเมินมาใช้เพื่อการพัฒนา สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายใน
บทบาทสำคัญของครูในการประกันคุณภาพภายใน คือ การประกันคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งต้องมีการปฏิรูปการสอน เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา การปฏิรูปการสอนของครูเพื่อประกันคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วยบทบาทหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) การปฏิบัติงานปกติของครูอย่างมีระบบและกระบวนการ (2) การประเมินตนเอง และ3.การรายงานผลการประเมินตนเอง ซึ่งครูแต่ละคนสามารถกำหนดกระบวนการทำงานของตนเองได้ อาจจำแนกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ (รุ่ง แก้วแดง, 2545)
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาเรื่องมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตรให้เข้าใจ ถ้าเป็นไปได้ควรศึกษาให้ครบทั้งหน่วยของการเรียนที่อาจจะกำหนดเป็นภาคเรียนหรือทั้งปีการศึกษา และนำมาพัฒนาหลักสูตรรายวิชาที่ตนสอนอยู่
ขั้นตอนที่ 2 วางแผนการสอน ว่าควรจะสอนอย่างไร รวมทั้งจะต้องสามารถกำหนดสิ่งที่จะบรรลุผลหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือพฤติกรรมของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการศึกษา โดยเน้นการจัดกิจกรรมและการใช้สื่อที่ส่งเสริมการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 3 นำกระบวนการวิจัยเข้ามาใช้ในการสอนของครู และการเรียนของนักเรียนเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ควบคู่การเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการสอน โดยทำงานร่วมกับผู้เรียนหมายความว่า ต้องลดบทบาทการบอกของครูมาเป็นการทำงานร่วมกับผู้เรียน โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผลการสอน ว่าสิ่งที่ครูสอนไปนั้นบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด โดยวัดจากผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พิจารณาเป็นรายบุคคลและรายชั้นเรียน
ขั้นตอนที่ 6 วิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนในวงจรต่อไป
ขั้นตอนที่ 7 บันทึกสรุปผลการสอน ว่าในคาบหรือหน่วยนั้นมีความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไขอย่างไร มีคำแนะนำเพื่อจะนำไปปรับปรุงต่อไปอย่างไร
สำหรับบทบาทหน้าที่ของครูในการประกันคุณภาพภายในทั้งระบบควรเป็นดังนี้
1.มีการเตรียมความพร้อมของตนเอง โดยทำการศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วิธีการ ขั้นตอนในการประเมินผลภายใน รวมทั้งพยายามสร้างเจตคติที่ดีต่อการประเมินภายใน
2.ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการให้ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปที่คณะกรรมการประเมินผลภายในต้องการ
3.ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งของการประเมินผลภายใน เช่น เข้าร่วมพิจารณาจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานด้านการประเมินผลภายในสถานศึกษา ร่วมกันพิจารณาจัดสร้างเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลลักษณะต่างๆ ในกระบวนการประเมินผลภายใน ร่วมกันทำการสำรวจเก็บข้อมูลที่คณะกรรมการสำรวจ ร่วมกันทำการวิเคราะห์ข้อมูล (หากมีความรู้ด้านการวิเคราะห์) ร่วมกันสรุปผลการประเมิน เป็นต้น
4.ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา ในการร่วมกันกำหนดจุดประสงค์ กำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ในการประเมินด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษาเอง และร่วมกันกำหนดเกณฑ์การตัดสินมาตรฐานและตัวบ่งชี้ในด้านต่าง ๆ
5.ปฏิบัติหน้าที่หลักหรือหน้าที่ประจำที่รับผิดชอบอย่างมีระบบ ตามกระบวนการและสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา เช่น ในหน้าที่การสอนต้องมีการพัฒนาหลักสูตรและแผนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ จัดเตรียมเนื้อหาสาระที่ถูกต้องเหมาะสมกับจุดประสงค์การเรียนการสอน จัดทำสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพตรงตามจุดประสงค์การเรียนการสอน จัดกิจกรรม วิธีการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนเกิดการค้นคว้าหาความรู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง เลือกวิธีการประเมินผลการเรียนหลากหลายและเหมาะสมรวบรวมผลสรุปผล ประเมินการเรียนการสอน พฤติกรรมของผู้เรียน นำผลการประเมินมาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
บทบาทของครูในการรับการตรวจสอบและประเมินจากภายนอก
การประกันคุณภาพภายนอกเป็นงานที่ต่อเนื่องจากการประกันคุณภาพภายใน ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดทำรายงานการประเมินตนเองเป็นประจำทุกปี เพื่อเสนอสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอก (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ,2544) บทบาทของครูในการรับการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพจากภายนอก มี 3 บทบาท คือ
1. ร่วมจัดทำรายงานการศึกษาตนเอง (SSR) ของสถานศึกษา
2. รับการตรวจเยี่ยมของผู้ประเมินจากภายนอก
3. รับข้อเสนอแนะจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามาดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายนอกจึงมีความสัมพันธ์กับบทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายใน
สรุป
ระบบการประกันคุณภาพภายในกับระบบการประกันคุณภาพภายนอก มีความแตกต่างและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การประกันคุณภาพภายในเป็นกระบวนการที่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร โดยบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเข้าสู่มาตรฐานการศึกษาแล้วจัดทำรายงานประจำปีเสนอผู้เกี่ยวข้อง ส่วนการประกันคุณภาพภายนอกเป็นงานที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพภายใน เป็นการตรวจสอบผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพภายในกับการประกันคุณภายนอกจึงสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วยมาตรฐานการศึกษาโดยคำนึงถึงหลักการสำคัญ คือ เอกภาพเชิงนโยบาย ความหลากหลายในทางปฏิบัติและมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากกว่าการควบคุมหรือการให้คุณให้โทษ บทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายใน คือ การประกันคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วย บทบาทหน้าที่ 3 ประการ คือ (1) การปฏิบัติงานปกติของครูอย่างมีระบบและกระบวนการ (2) การประเมินตนเอง (3) การรายงานผลการประเมินตนเอง ส่วนบทบาทของครูในการประกันคุณภาพภายนอก เป็นบทบาทที่ต่อเนื่องจากการประกันคุณภาพภายใน อีก 3 ประการ คือ (1) ร่วมจัดทำรายงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา (2) รับการตรวจเยี่ยมของผู้ประเมินภายนอก (3) รับข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินภายนอกมาดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข
เอกสารอ้างอิง
รุ่ง แก้วดง. (2545). การประกันคุณภาพการศึกษาทุกคนทำได้ไม่ยาก. กรุงเทพฯ.
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2553. http://www.mwit.ac.th/-person/01-Statutes/National Education.pdf.
สุภัทรา เอื้อวงศ์. (2560). การประกันคุณภาพการศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน). (2555). คู่มือผู้ประเมินเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. พิมพ์ที่ : บริษัท ออฟเซ็ท พลัส จำกัด
Bilingual. (n.d.) “The American Heritage @ Dictionary of the English Language, FourthEdition. Retrieved may 16” from Answers.com Website : http://www.answers.com/topic/bilingual.
ความรู้สึกทั้งหมด
5Sasi Sasina และ คนอื่นๆ อีก 4 คน
ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น
แชร์
เขียนความคิดเห็น…
ณรงค์วัฒน์ มิ่งมิตร
22 สิงหาคม เวลา 05:14 น. · TikTok · แชร์กับ เฉพาะฉัน