นิทานพื้นบ้าน “อุสาบารส” อุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์ภูพระบาท : มรดกโลกทางวัฒนธรรม

บทนำ

            นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าพื้นบ้านที่เล่าสืบทอดกันมาต่อ ๆ กันมา เช่น นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ นิทานประจำถิ่น นิทานคติ นิทานอธิบายเหตุ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานเรื่องผี นิทานมุขตลก นิทานเรื่องโม้ นิทานเข้าแบบ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2560 : 2) อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเล่าถ่ายทอดด้วยมุขปาฐะ เป็นภาษาร้อยแก้วหรือถ้อยคำสำนวนของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน “อุสาบารส” เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และประวัติศาสตร์ ศาสนาในท้องถิ่น โดยนิทานพื้นบ้าน เรื่อง อุสาบารส เป็นเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กับอุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทยและประเทศไทย

          อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีจากการสำรวจทางโบราณคดีมีอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี (กรมศิลปากร, 2567 : ออนไลน์) ทั้งนี้ที่นี้ยังได้มีเรื่องราวนิทานพื้นบ้านที่ผูกเชื่อมโยงกับสถานที่ โบราณสถานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ ซึ่งทำให้อุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์ภูพระบาท : มรดกโลกทางวัฒนธรรมมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

           เรื่องราวนิทานพื้นเมืองเรื่องนางอุสากับท้าวบารส หรือ “อุสาบารส” เกี่ยวข้องกับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพราะเป็นที่มาของชื่อเรียกโบราณสถานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ แม้จะเป็นการผูกตำนานในภายหลัง ตำนานว่าด้วยเรื่อง “อุสาบารส”เรื่องราวของนางอุสากับท้าวบารส เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญของพื้นที่สองฝั่งโขง มีที่มาจากเรื่อง “อนิรุทธ์” พระนัดดาของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ตามตำนานท้าวบารสเป็นผู้ที่แอบสมสู่กับนางอุสา การเข้ามาของตำนานข้างต้นในพื้นที่ภูพระบาท ศ.ดร. ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต เสนอว่า เรื่องอนิรุทธ์ฉบับล้านนาคือสำนวนที่แพร่หลายไปยังสองฝั่งโขง ซึ่งครอบคลุมบริเวณบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ตั้งของภูพระบาท เมื่อครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง (ลาว) เคยเสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่ (ล้านนา) อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ภูพระบาทก็มีศิลปกรรมเกี่ยวกับพระกฤษณะอยู่จำนวนไม่น้อย จึงเป็นไปได้ว่าดินแดนสองฝั่งโขงอาจรู้จักตำนานอุสาบารสก่อนอิทธิพลจากทางล้านนาจะเข้ามาเรื่องราวของนางอุสากับท้าวบารสเกี่ยวกับภูพระบาทมีอยู่หลัก ๆ 2 สำนวน ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ และสำนวนที่ใช้อธิบายโบราณสถาน อ้างอิงจากบทความ “ภูพระบาท: ปูชนียสถานบนภูพาน ศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งโขง” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 มาสรุปได้ ดังนี้ ตาม “ตำนานอุรังคธาตุ” ในตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงที่มาของชื่อที่ตั้งของภูพระบาท คือ “ภูกูเวียน” และการเกิดเมืองพาน หลังสุวรรณนาคพ่ายพระศิวะ ภูเขาอันเป็นสังเวียนต่อสู้ได้ชื่อ ภูกูเวียน และเปลี่ยนนามเมืองจากสุวรรณภูมิ เป็น “พงพาน” โดยมีพระพานเป็นใหญ่ ในตำนานอุรังคธาตุเล่าว่า ขณะที่พระพานปกครองเมืองพงพานอยู่นั้น ท้าวบารสได้มาสมสู่กับนางอุสา ธิดาพระพาน เมื่อพระองค์ทราบเรื่องจึงกริ้วมาก ให้สุวรรณนาคจับท้าวบารสกุมขังไว้ที่ห้องนางอุสา พระกึดนารายณ์ (พระกฤษณะ) ปู่ท้าวบารส จึงเสด็จลงมาช่วยแก้ท้าวบารสจากพันธนาการ และรบกันกับพระพานและสุวรรณนาคจนฝ่ายเมืองพงพานแพ้พ่ายไป

           สำนวนอธิบายโบราณสถาน เล่าเรื่องราวการแข่งขันการสร้างวัดระหว่างท้าวบารส โอรสพระราชาเมืองพะโคกับท้าวกงพาน ท้าวบารสแกล้งปล่อยโคมไฟให้เแลเห็นเป็นดาวประกายพรึกลวงให้ท้าวกงพานยุติการสร้างวัด ส่วนตนสร้างต่อจนสำเร็จ ตำนานนี้ยังใช้เล่าที่มาของโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น พระธาตุภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน เมื่อชนะและสังหารท้าวกงพาน ท้าวบารสได้เสกสมรสกับนางอุสาแล้วพากันกลับเมืองพะโค นางอุสาได้รู้ว่าท้าวบารสมีชายาอยู่แล้ว ทั้งนางยังถูกกลั่นแกล้งจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดระหว่างที่สวามีไปทำพิธีแก้กรรม แต่นางอุสากลับมาอยู่เมืองกงพานได้ไม่นานก็ตรอมใจจนตาย ส่วนท้าวบารสที่กลับเมืองแล้วไม่พบเมียรักก็เดินทางไปหาถึงเมืองกงพาน พอได้ทราบว่านางอุสาสิ้นชีพจึงตรอมใจตาย ตามตำนานโศกนาฏกรรมความรักนี้เองเป็นที่มาของโบราณสถานต่าง ๆ บนภูพระบาท ซึ่งล้วนเรียกตามจินตนาการในภายหลัง เพื่อผูกเข้ากับตำนานอุสาบารส ไม่ว่าจะเป็น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย (ท้าวบารส) วัดพ่อตา (ท้าวกงพาน) คอกม้าท้าวบารส (กองบรรณาธิการ, 2567: ออนไลน์)

          นอกจากนั้นยังมีสำนวนนิทานอุสาบารสที่เป็นภาษาร้อยแก้วและกลอนลำของชาวอีสานในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยจะขอกล่าวถึง สำนวนภาษาร้อยแก้ว ดังความว่า ท้าวกงพาน เจ้าเมืองพาน อันเป็นเมืองใหญ่อุดมสมบูรณ์ เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก ได้ขอนางอุสาผู้เกิดมาในดอกบัวบนเทือกเขาจากพระฤาษีจันทา ผู้เป็นอาจารย์มาเลี้ยงไว้เป็นลูก นางอุสามีกลิ่นเนื้อหอมและสวยงามมาก เมื่อเติบโตเป็นสาวมีเจ้าชายจากเมืองต่าง ๆ มาสู่ขอไปเป็นคู่ครอง แต่ท้างกงพานหวงลูกสาวมากไม่ยอมยกให้ใคร จึงไปสร้างตำหนักบนภูเขาให้นางอยู่ และให้เรียนวิชากับพระฤาษีจันทา วันหนึ่งนางอุสาและพี่เลี้ยงบริวารไปเล่นน้ำที่ลำธารใกล้ตำหนัก นางเก็บดอกไม้มาร้อยมาลัยเป็นกำไลรูปหงส์ แล้วลอยลงแม่น้ำไป พลางอธิษฐานว่าผู้ใดเป็นเนื้อคู่ของนางขอให้ได้พบมาลัยนี้ พวงมาลัยรูปหงส์ได้ลอยไปลงแม่น้ำโขงถึงหน้าเมือปะโค “เวียงงัว” ท้าวบารสเป็นโอรสเจ้าเมืองปะโค เป็นเจ้าชายรูปงาม เกิดเมื่อดอกไม้บานทั้งเมือง จึงได้ชื่อว่า บารส ผู้มีกลิ่นหอม คืนก่อนที่มาลัยจะมาถึงเมืองปะโค บารสนอนฝันไปว่าได้ไปเล่นน้ำในสระน้ำแห่งหนึ่งที่มีดอกบัวมากมายบานสล้าง ในดอกบัวดอกหนึ่งมีดวงแก้วสุกใสงดงามมาก บารสรีบว่ายน้ำเข้าไปจะเอาดวงแก้ว พอจับดวงแก้วขึ้นมา ดวงแก้วก็แตกสลายออกเป็นเสี่ยง ๆ บารสเสียใจมากจนร้องไห้ออกมา และตกใจตื่นขึ้นมารู้ว่าเป็นความฝันแต่ก็เสียดายดวงแก้วนั้นมาก เกิดความกลัดกลุ้มใจด้วยเสียดายจึงชวนบริวารทั้งหลายไปเล่นน้ำที่แม่น้ำโขง ขณะที่ว่ายน้ำอยู่บราสเห็นมาลัยรูปหงส์ที่สวยงาม และมีกลิ่นหอมอบอวล บารสให้สืบหาเจ้าของมาลัยก็ไม่มีผู้ใดรู้ จึงออกหาสืบเอง บารสเกินทางตามหาเจ้าของมาลัยไปในที่ต่าง ๆ จนมาถึงเขาภูพาน บารสและบริวารขี่ม้าไปบนเขาไปถึงหินก้อนหนึ่งม้าบารสไม่ยอมเดินต่อไป บารสจึงพักม้าที่ก้อนหินนั้นและบริวารก็แยกไปผูกม้าที่ก้อนหินอีกก้อน บารสผูกม้าแล้วก็ออกตรวจภูมิประเทศ ได้พบว่านางอุสากำลังเล่นน้ำอยู่ที่ลำธารและรู้ว่านางเป็นเจ้าของมาลัย ด้วยความใกล้ชิดกัน ทั้งสองได้เสียโดยไม่ให้ท้าวกงพานรู้ ต่อมาความรู้ไปถึงท้าวกงพานจึงให้ทหารจับบารสไปประหาร แต่เสนาอำมาตย์ห้ามไว้ด้วยกลัวจะเกิดสงครามระหว่างเมืองปะโคริมโขงกับเมืองพาน จึงทำอุบายให้แข่งขันกันสร้างวัดในหนึ่งวันให้เสร็จ โดยนับตั้งแต่เช้าจนดาวประกายพรึกขึ้น ผู้ใดสร้างไม่เสร็จจะต้องเสียหัวแก่อีกฝ่าย ท้าวกงพานก็เกณฑ์ไพร่พลมาสร้างวัดที่เมืองพาน บารสไม่มีไพร่พลมาช่วยสร้าง นอกจากบารส นางอุสา และพี่เลี้ยงนางอุสา ก็จะมีบริวารไม่กี่คนจะต้องสร้างไม่ทันกำหนดแน่ ๆ นางพี่เลี้ยงของนาวอุสาเป็นคนเฉลียวฉลาด จึงออกอุบายให้บารสยกโดมขึ้นไปแขวนไว้บนยอดไม้ใหญ่เป็นเวลาจวนดึก พวกเมืองพานมองขึ้นมาก็จะเห็นเป็นดาวประกายพรึก จะหยุดสร้างวัด บารสก็จะได้รีบเร่งสร้างต่อไปจนเช้าคงจะทันเวลา

           รุ่งเช้าท้าวกงพานมาตรวจสอบการก่อสร้างปรากฏว่าบารสสร้างวัดได้สำเร็จตามสัญญา แต่ท้าวกงพานสร้างไม่เสร็จจึงถูกตัดหัว บารสพานางอุสากลับปะโคเวียงงัว บรรดาชายาทั้งหลายของบารสไม่พอใจโกรธและเกลียดนางอุสามาก เพราะบารสยกให้นางเป็นใหญ่กว่าพวกตน จึงหาทางทำร้ายนาง โดยคบคิดกับโหรให้ตั้งพิธีสะเดาะเคราะห์กรรม และโหรทำนายว่าบารสเคราะห์ร้ายมากถึงชีวิต ต้องออกเดินป่าผู้เดียวให้ครบหนึ่งปี จึงจะเข้าเมืองได้พ้นเคราะห์ บารสออกเดินป่าทิ้งนางอุสาไว้ที่ปะโค นางถูกบรรดาชายาบารสรุมทำร้าย ท้าวปะโค บิดาของบารสไม่ช่วยเหลือนางแม่แต่น้อย นางจึงพาพี่เลี้ยงกลับเมืองกงพานไปอยู่ที่หออุสาและล้มเจ็บด้วยความตรอมใจ บารสเมื่อกลับจากเดินป่าได้รู้ว่าอุสาหนีกลับไปกงพาน จึงรีบตามนางไป ได้พบนางก่อนที่นางจะสิ้นใจ เมื่อนางตายบารสจึงฝังนางไว้ที่บนภูพาน และต่อมาบารสก็ตรอมใจตายตามนางไป ศพของบารสถูกฝังเคียงข้างนาง (ฤดีมน ปรีดีสนิท และโมฬี ศรีแสนยงค์, ม.ป.ป : 1- 15)

            เรื่องราวจากสำนวนนิทานทั้งหมดเป็นโศกนาฏกรรมความรักและความกตัญญู ทั้งนี้ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอานิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส” มาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาท ดังนี้ หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย (ท้าวบารส) วัดพ่อตา (ท้าวกงพาน) คอกม้าท้าวบารส ซึ่งโบราณสถานดังกล่าวยังได้เชื่อมโยงกับศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ รวมถึงชื่อภูมินามของสถานที่ที่มีความสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ และเป็นสถานที่มีคุณค่าแก่การศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างมาก

บทสรุป

          นิทานท้องถิ่นเรื่อง “อุสาบารส” เป็นนิทานในท้องถิ่นอุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์ภูพระบาท : มรดกโลกทางวัฒนธรรม การศึกษานิทานพื้นบ้านหรือนิทานท้องถิ่นยังสามารถนำมาบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนการสอนในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาในด้านเป็นกิจกรรมโดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนในด้านสื่อการเรียนรู้ เช่น หนังสือนิทานอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือนิทานภาพทำมือที่ใช้ทักษะของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ อุสาบารสเป็นนิทานถ่ายทอดเรื่องราวในท้องถิ่นทำให้เห็นความเป็นมา คติ ข้อคิด ความเชื่อ ค่านิยมของคนในอดีตที่คิดสะท้อนผ่านนิทานพื้นเมือง เพื่อจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต คติความเชื่อของชุมชนจากวรรณกรรมพื้นบ้านที่เป็นมรดกภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไป

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2567) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2560). วรรณกรรมพื้นบ้าน : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์.

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). ตำนาน “อุสาบารส” ที่มาชื่อจุดสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย. https://www.silpa-mag.com/culture/article_136558

จันทิพา มีชัย. (ม.ป.ป.) นิทานพื้นบ้าน อุสา-บารส หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบรายวิชานิทานพื้นบ้าน จังหวัดอุดรธานี. https://pubhtml5.com/eytv/qqdw