การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแพทย์แผนไทยด้านการนวดไทยกำหนดพื้นที่ในการศึกษาโดยเลือกโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีวิธีดำเนินการวิจัย คือ การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การศึกษาภาคสนาม และการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ครูสอนนวดไทย จำนวน 5 คน หมอนวดไทย จำนวน 12 คน ผู้เข้ารับบริการนวดไทย จำนวน 6 คน ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน และผู้กำหนดนโยบายภาครัฐจำนวน 1 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยใช้แบบบันทึกการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์คุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแพทย์แผนไทยด้านการนวดไทยโดยผ่านการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน โครงการวิจัยที่ 177.1/64 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการวิจัยพบว่า คุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแพทย์แผนไทยด้านการนวดไทย สามารถแบ่งคุณค่าออกเป็นสองลักษณะคือ คุณค่าภายในและคุณค่าภายนอกคุณค่าภายในประกอบด้วย คุณค่าทางจริยศาสตร์สะท้อนความดีงาม ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ จิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะส่งมอบองค์ความรู้และความสามารถ ความเอื้ออาทร ความกรุณาและปรารถนาดีต่อกันในลักษณะของการเป็นผู้ให้ของครูมีต่อศิษย์และหมอนวดมีต่อผู้รับบริการ และคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ถูกถ่ายทอดผ่านความรู้สึกและสัมผัสระหว่างหมอนวดไทยและผู้รับบริการ คุณค่าภายนอกประกอบด้วย คุณค่าทางสุขภาพเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คุณค่าทางเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็นคุณค่าทางตรงและทางอ้อม คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม มีส่วนในการทำให้เกิดความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในการนวดไทย ต้องการที่จะอนุรักษ์และรักษาไว้ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และคุณค่าทางการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาที่ยั่งยืน
คำสำคัญ: นวดไทย คุณค่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์)