ทุนทางวัฒนธรรมในงานออกแบบ [ สุ ธ า ทิ พ ย์ ห อ ม สุ ว ร ร ณ ]

ทุนทางวัฒนธรรมในงานออกแบบ
[ สุ ธ า ทิ พ ย์ ห อ ม สุ ว ร ร ณ ]

               ในปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าและการท่องเที่ยวของแต่ละชุมชนนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาอัตลักษณ์หรือสิ่งที่จะสะท้อนต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ผ่านทางการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือการออกแบบสภาพแวดล้อมให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่าง เพิ่มโอกาสทางการตลาด อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เหล่านี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ต้องการเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ส่งผลต่อการนำความเจริญกลับมายังผู้ผลิตและชุมชนเป็นลำดับ  
งานออกแบบ ภาพประกอบ (Illustration)  ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารข้อมูล  ภาพประกอบช่วยในการขยายเนื้อหาให้กระจ่างและชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยดึงความสนใจ ถ่ายทอดจินตนาการของผู้สร้างสรรค์  อีกทั้งยังช่วยให้เกิดมโนทัศน์เกี่ยวกับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ภาพประกอบมีหลากหลายประเภทหากแบ่งโดยเทคนิคการสร้างสรรค์  สามารถแบ่งได้ดังนี้ ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพวาดแบบดั่งเดิม และภาพวาดด้วยการใช้โปรแกรมสำหรับออกแบบ (อารยะ ศรีกัลยาณบุตร, 2550, น.108-110) แต่ละเทคนิคมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันไป สำหรับภาพซึ่งวาดจากโปรแกรมสำหรับออกแบบนั้นมีข้อได้เปรียบในแง่ของต้นทุนและการนำไปใช้งานได้ง่าย ปรับแต่งแก้ไขได้สะดวก ในปัจจุบันภาพประกอบที่เรียกว่าแฟ้มภาพ (Clip Art) นั้นช่วยให้นักออกแบบหรือผู้ที่ต้องการสร้างผลงานทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกต่อการนำไปต่อยอดในงานออกแบบที่หลากหลาย ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในชุมชนสามารถนำภาพไปประกอบการผลิตหรือนำมาสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และสภาพแวดล้อมของชุมชนได้โดยง่าย
               หลายชุมชนในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  และบางชุมชนเกิดจากการโยกย้ายอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย อาจเพราะการศึกสงคราม การค้าขาย การศึกษา ฯลฯ หลายชนชาติเคยมีอดีตที่รุ่งเรืองในประวัติศาสตร์ ชุมชนเหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีส่วนในการสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ประเพณี พิธีกรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ ฯลฯ วัฒนธรรมอันมีงดงามเหล่านี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่คงอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สิ่งสะท้อนวัฒนธรรมนั้นเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับนำมาสร้างสรรค์เป็นภาพประกอบในรูปแบบแฟ้มภาพ (Clip Art) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการนำไปใช้ประกอบในสื่อต่างๆ ใช้ประกอบในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ ตกแต่งสภาพแวดล้อม และใช้ประกอบในงานอื่นๆ อันจะสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจน
 
 
เอกสารอ้างอิง
อารยะ ศรีกัลยาณบุตร.  (2550).  การออกแบบสิ่งพิมพ์.  กรุงเทพฯ: วิสคอมเซ็นเตอร์.