ที่มาของสุนทรียศาสตร์

 

องค์ความรู้ในเรื่องความงามและการรับรู้ ในยุคกรีกโบราณที่มีการกล่าวถึงโดยอริสโตเติลกับเพลโตนักปรัชญากรีกที่ค่อนข้างกระจัดกระจายและยังเป็นเพียงข้อถกเถียงที่หาบทพิสูจน์ไม่ได้ โดยในเวลาต่อมาโบมการ์เทน (Alexander Gottlieb Baumgarten, ค.ศ. 1714–1762) ได้บัญญัติคำว่า “สุนทรียศาสตร์ (aesthetics)” ขึ้นมาใหม่โดยการจัดระบบในเรื่องของความงามและการรับรู้ ให้เข้าที่เข้าทาง และตั้งเป็นวิชาการค้นหาความงามที่ตรงกับคำว่า Aesthetics ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกอ่านว่า “Aisthetikos” (อีสเธทิโคส) แปลว่า “รับรู้ได้ด้วยการสัมผัส” ประกอบด้วยสามองค์ประกอบ ได้แก่ ความงาม (beauty) ความแปลกหูแปลกตา (Picturesqueness) และความน่าทึ่ง (sublimity) โดยอธิบายรายละเอียดของความงามว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในทุกสิ่งหรืออาจจะถูกปรุงแต่งขึ้นมาก็ได้ และสามารถสร้างความรู้สึกซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม หรือสะเทือนใจ เป็นสิ่งแปลกใหม่ และอาจจะเป็นข้อกำหนดทางศีลธรรมได้อีกด้วย ส่วนคำว่า สุนทรียศาสตร์ ในภาษาบาลี ซึ่งเป็นรากศัพท์ภาษาไทยเรียกว่า สุนทรียะ แปลว่า ความงาม (ดุรณี แก้วม่วง, 2546: 1)

สุนทรียศาสตร์ในพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ไม่จำเป็นต้องยึดโยงตามค่านิยมในสังคมที่ขึ้นตรงกับคนหมู่มาก และไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงเสมอไป เนื่องจากในบางครั้งความงาม ความพึงพอใจสามารถเกิดได้จากการชมภาพยนตร์ทุกแนวเฉพาะที่เป็นเรื่องแต่งหรือรับรู้อะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรื่องจริง จอร์จ วิลเฮม เฟดริก เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องทฤษฎีแนวคิดจิตนิยมซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อในเรื่องของจิตที่มีความซับซ้อนเหนือสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ และสามารถประมวลผลออกมาเป็นความรู้สึกรับรู้ที่สั่งการได้ เขาได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยเรื่องของจิตที่จะพัฒนาในการรับรู้ตัวตนและสิ่งต่าง ๆ การเข้าใจโลกในแบบมายาว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป โดยอ้างอิงจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมส่วนตัวที่กำหนดความสนใจ ความชอบ หรือที่เรียกว่า รสนิยมส่วนตัวที่ให้ค่าความงามแตกต่างกันออกไป แม้ในแง่ของทุนนิยมที่บางครั้งทำให้สุนทรียศาสตร์หดหายไปเพราะกลยุทธ์การให้ข้อมูลที่ซ้ำ ๆ ล้างสมอง ทำให้ผู้คนไม่ได้หยั่งลึกและเกิดความซาบซึ้งในความงามที่แท้จริงเพราะถูกป้อนข้อมูลไม่รอบด้าน แต่ด้วยบรรทัดฐานความจริงของงานดนตรีและศิลปะก็อ้างอิงกลับไปที่ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพส่วนบุคคล หรือความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่งาม ไพเราะ รื่นรมย์ในด้านศิลปะและธรรมชาติ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับการประมวลผลการรับรู้ทางสุนทรียภาพคือ อารมณ์ ที่สามารถนำไปในทางด้านดีหรือด้านลบก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีหลักคิดทางสุนทรียศาสตร์มาประกอบการคิดหาเหตุผลก่อนจะตัดสินคุณค่าความงามและความพอใจในทุกสรรพสิ่งต่อไป ซึ่งบางครั้งในทางดนตรี จำต้องแยกระหว่างสุนทรียศาสตร์ออกกับทฤษฎี (Donnel, 1989: 86)

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของวิชาสุนทรียศาสตร์คือการส่งเสริมกระบวนการคิด การตัดสินความงามอย่างมีเหตุมีผล และช่วยทำให้บุคคลเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน เสริมสร้างประสบการณ์สุนทรียะให้กว้างขวาง ส่งเสริมแนวทางในการแสวงหาความสุขและให้ความสำคัญของสรรพสิ่ง ซึ่งคุณประโยชน์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะนำไปสู่กระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตัวอย่างเช่น การวิจารณ์และจิตวิทยาด้านศิลปะ ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดวิพากษ์วิจารณ์กับศิลปะที่ประกอบไปด้วยหลักจิตวิทยาที่มีระเบียบอิสระแต่ก็เชื่อมโยงกับสุนทรียศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการสื่ออารมณ์ความรู้สึกต่อมนุษย์โดยตรงผ่านศิลปะในด้านต่าง ๆ เช่น สี เสียง เส้น รูปทรง และภาษา เป็นต้น การวิจารณ์ศิลปะจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงสร้าง ทฤษฎี ความหมายของงาน และประเด็นปัญหาเปรียบเทียบกับผลงานอื่น ๆ เพื่อการประเมินคุณค่า ซึ่งไม่ต่างกับการวิพากษ์วิจารณ์ดนตรีที่ใช้หลักคิดคล้ายคลึงกันแต่ต่างกันที่การปฏิบัติและผลลัพธ์ที่ผ่านการวิเคราะห์ทางทฤษฎี ในแง่ของศิลปะดนตรี โดยบ่อยครั้งเป็นการลอกเลียนธรรมชาติ และผลงานที่โดดเด่นจากหลากศิลปินจนเกิดการพัฒนางานไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ผนวกกับเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้นในยุคปัจจุบันที่อำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์ผลงาน

สุนทรียศาสตร์ตามแนวความคิดตะวันตก แบ่งเป็น 2 ทัศนะดังนี้

1) ปรนัยนิยม (Objectivism) เป็นการอธิบายว่า วัตถุคือตัวแสดงความงามที่อาจเกิดจากรูปร่าง รูปทรง สีสัน รูปแบบการเคลื่อนไหว ความไพเราะของเสียงแบบธรรมชาติหรือแบบประดิษฐ์ออกมาเป็นดนตรีบรรเลง ทั้งรูปแบบเดี่ยวหรือประสานกันเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ โดยสิ่งเหล่านี้จะงดงามด้วยมาตรฐานของตัวเอง

2) อัตนัยนิยม (Subjectivism) เป็นการอธิบายว่า ความงามเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ความพึงพอใจส่วนตัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุสิ่งของที่เรามองเห็นหรือเสียงที่เราได้ยิน ตัวอย่างเช่นวัตถุชนิดเดียวกันคนหนึ่งอาจเห็นว่างาม แต่อีกคนอาจเห็นว่าไม่งามก็ได้ เช่นเดียวกับการฟังเพลงเดียวกัน คนหนึ่งบอกว่าไพเราะแต่อีกคนบอกว่าไม่ไพเราะ ซึ่งการมองเห็นหรือการได้ยินของบุคคลทั้งสองถือว่าถูกทั้งคู่ ทั้งนี้เนื่องจากความงามในแบบมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ชี้วัดในด้านรสนิยมที่แน่นอนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความคิดความรู้สึกของผู้ที่สัมผัสเป็นหลัก

สุนทรียศาสตร์ตามความคิดตะวันออก จะมองเป็นองค์รวมไม่แยกเป็นส่วนย่อยเหมือนแบบตะวันตก โดยมีพื้นฐานความคิดมาจากพราหมณ์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบที่ทำให้เกิดความงามตามความเชื่อ ได้แก่ ความงามของรูปร่าง วัตถุ ที่สัมผัสได้ เสียงที่ไพเราะ ความเคลื่อนไหวที่ประกอบลีลา เช่น การเต้น ประกอบด้วยรสนิยมเปรียบได้กับความสามารถในการรับรู้ของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับสื่อทั้งหมดและเป็นผู้ตัดสินความงาม โดยที่ความงามจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากการตีความโดยผู้รับสื่อ (ดุรณี แก้วม่วง, 2546: 4)

สุนทรียศาสตร์กับแนวคิดทางศิลปะและดนตรี

สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่ในอารยธรรมมนุษย์มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องความงามที่แท้จริง โดยเพลโตได้ยืนยันว่า “ศิลปะมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพหรืออัตลักษณ์ของมนุษย์ และเนื่องจากเหตุนี้ จึงต้องมีกฎเกณฑ์ทางสังคม” ส่วนอริสโตเติลนั้นมองว่าความสุขคือเป้าหมายของชีวิตมนุษย์และหน้าที่หลักของศิลปะก็คือการมอบความสุขให้กับมนุษย์ เช่น ละครที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่มีการแสดงออกหลากหลายอารมณ์ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง แต่สุดท้ายแล้วล้วนปลดปล่อยผู้ชมด้วยตอนจบที่น่าพึงพอใจ เป็นการชำระจิตใจ สร้างความรู้สึกที่ดี นำไปสู่สุขภาพที่ดีของผู้ชม ในเวลาต่อมามีการนำสุนทรียศาสตร์มาใช้ในการกำหนดหลักศีลธรรมผ่านทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ในช่วงยุคกลางที่มีการสอดแทรกศีลธรรมผ่านงานศิลปะและงานดนตรีอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเล่นดนตรีสรรเสริญพระเจ้า และการกำหนดรูปทรงพระผู้เป็นเจ้าที่สามารถพบเห็นพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้หลักสุนทรียศาสตร์เข้าไปยึดโยงอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ศิลปะได้ถูกปลดแอกออกมาจากศาสนาจนกลายเป็นเรื่องทางโลกมากขึ้น ทำให้ศิลปะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล โดย โยฮันน์ กอทลีฟ ฟิชเทอ (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762-1814) นักปรัชญาชาวเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นศตวรรษเดียวกันกับ อิมมานูเอล คานต์ ได้นิยามสุนทรียศาสตร์ขึ้นใหม่ว่า “การไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวสามารถตัดสินความงามที่ชี้ชัดความงดงามได้อย่างแท้จริงเพราะปราศจากความเอนเอียง และควรที่จะทำให้ความพึงพอใจไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เช่นเดียวกับความงามของธรรมชาติ” (สมเกียรติ ตั้งนะโม, 2545: 18) ในขณะที่ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีแนวคิดว่าคุณค่าของศิลปะนั้นดำรงอยู่ที่การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบำบัด โดยวิธีการที่ศิลปินและสาธารณชนทั่วไปสามารถที่จะเปิดเผยความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เก็บซ่อนไว้ หรือความเครียดให้ได้ระบายออกมา เขายังได้ชี้ให้เห็นถึงความเพ้อฝันหรือที่เรียกว่าฝันกลางวันที่มีอยู่ในงานศิลปะของลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่หลบเลี่ยงการใช้ชีวิตปกติที่ต้องตื่นเช้า ใช้ชีวิตตอนกลางวัน นอนตอนกลางคืนเหมือนกิจวัตรประจำวันของคนทั่วไป และเชื่อในทางกลับกันว่าความฝันคือความจริงที่เข้าไปสู่อุดมคติของการสร้างภาพในการเคลื่อนไหวทางศิลปะของงานจิตรกรรมและกวีนิพนธ์ โดยจิตไร้สำนึกซึ่งเป็นแก่นสารของศิลปะแนวเหนือจริงที่นำเสนอออกมาแบบจินตนาการเป็นหลักนั้น (Nelson, 2022) สื่อให้เห็นว่าสุนทรียศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีที่มีการตัดสินทางรสนิยมและการให้คุณค่าไปแล้ว เช่น ละครหรือภาพยนตร์บางเรื่องไม่ได้สร้างจากเรื่องจริงแต่ก็สามารถสร้างสุนทรียะให้กับผู้ชมได้ โดยแนวคิดทางศิลปะรูปแบบนี้ยังถูกนำไปยึดโยงกับแนวคิดทางการเมืองแบบอนาธิปไตย ซึ่งหมายถึง ความเป็นอิสระจากรัฐ การปกครองแบบไร้รัฐ โดยมีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งเป็นจุดหลักของแนวคิดนี้ รวมไปถึงนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่ที่ประพันธ์ดนตรีออกมาในรูปแบบดนตรีทดลองอย่างเช่น จอห์น เคจ (John Cage, ค.ศ. 1912-1992) ซึ่งถือเป็นผู้มีอุดมการณ์อนาธิปไตยอย่างเปิดเผยในเวลานั้นโดยมีการใช้สัญลักษณ์ตามภาพที่ 3-3 และสืบทอดมาจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 70 ในรูปดนตรีพังก์ร็อก (Punk Rock) ที่ปรากฏในสหราชอาณาจักร

รายการอ้างอิง

ดุรณี แก้วม่วง. (2546). สุนทรียภาพของชีวิต. กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ.

สมเกียรติ ตั้งนโม. (2545). ข้อเสนอการประยุกต์แนวคิดทางปรัชญาของกลุ่มแฟรงก์เฟิร์ตสคูล มาใช้ เป็นฐานการคิดสร้างสรรค์งานศิลปะหลังสมัยใหม่ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562, จาก https://archive.lib.cmu.ac.th/full/res/2545/tressh490623_45_full.pdf

Donnel, Siobhan. (1989). Ernest Newman’s Philosophy of Music Criticism. Hamilton:McMaster University.

Nelson, Cami. (2022). Sigmund Frued’s Influence on Surrealism, Study.com. Retrieved       27 April 2022, from https://study.com/learn/lesson/psychoanalytic-theory-art-sigmund-freud.html