หลายคนอาจเคยสงสัยว่าทำไมในหนังสือ ตำรากฎหมาย หรือเวลาที่อาจารย์บรรยายถึงชอบเล่าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของกฎหมายจังเลย ? จะอวดภูมิความรู้เหรอ ? หรือทำเพื่อฆ่าเวลา ? หรือเป็นแบบแผนและแนวปฏิบัติในการศึกษากฎหมาย ?
.
จริง ๆ แล้วการศึกษากฎหมายอาจเทียบเคียงได้กับการพยามยามทำความเข้าใจในการตัดสินใจกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของบุคคล เพราะทุกการตัดสินใจย่อมเกิดขึ้นด้วยปัจจัยและเหตุผลอะไรบางอย่าง
กฎหมายก็เช่นเดียวกัน ที่คงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล เพราะในกระบวนการก่อร่างสร้างกฎหมายแต่ละฉบับต่างก็มีเหตุผลและความจำเป็นอันเกิดขึ้นจากปัจจัยและบริบท ณ ช่วงเวลานั้น ๆ โดยเราสามารถทำความเข้าใจเหตุผลในการตรากฎหมายในอดีตได้ผ่านการศึกษากฎหมายเชิงประวัติศาสตร์
.
หากลองศึกษากฎหมายแต่ละฉบับก็จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายเอาไว้ต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่าก็มี “บางสิ่ง” ที่ไม่ได้ถูกเขียนลงไปในส่วนนี้ (ไม่ว่าเพราะไม่จำเป็นต้องเขียน ไม่อยากจะเขียน เขียนลงไปไม่ได้ หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม)
.
การศึกษาถึงความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายแต่ละเรื่องจะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจที่มาที่ไปของกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้นผ่านการย้อนทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของกฎหมายที่จะช่วยนำพาให้เราย้อนกลับไปในอดีตเพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ เหตุผลและความจำเป็นในการสร้างกฎหมาย รวมทั้งแนวคิด ความเชื่อ เหตุปัจจัย และบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนในการเพิ่มทักษะการใช้และการตีความกฎหมายให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ทักษะที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ ทักษะในการตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกฎหมาย เพราะสังคมมีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด ขณะที่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองบางสิ่งบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น
.
อย่าหลงคิดไปว่าสิ่งที่เป็นกฎหมายจำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีหรือถูกต้องเสมอไป เพราะความถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในอีกช่วงเวลาก็เป็นได้ และอาจแย่ยิ่งไปกว่านั้นหากปรากฎว่ากฎหมายได้เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมมาตั้งแต่ต้น