การถาม-ตอบ 15 คำถาม ระบบของงานภาพประกอบ โดยทาคาชิ อากิยามา (Takashi Akiyama) หรือศาสตราจารย์ทาคาชิ อากิยามา ผู้เป็นศิลปินภาพประกอบญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและมีผลงานรางวัลระดับนานาชาติ และเป็นอาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีประสบการณ์สอนวิชาภาพประกอบศึกษามายาวนาน ท่านได้ตอบคำถามจากลูกศิษย์ โดยอธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับงานภาพประกอบให้ได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงได้รวบรวมและคัดเลือกประเด็นหัวข้อถาม-ตอบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในรายวิชาการสร้างภาพประกอบ จำนวน 15 คำถามจากทั้งหมด 30 คำถามจากหนังสือภาพประกอบศึกษา (Illustration Studies) (ทาคาชิ อากิยามา, 2559 แปลโดย พยูณ วรชนะนันท์) ดังนี้
คำถามที่ 1 ภาพประกอบในความคิดของอาจารย์อากิยามา เป็นอย่างไร..?
ตอบ สิ่งที่เรียกว่างานภาพประกอบในความคิดของผมคือ มันเป็นทั้ง “อีกภาษาหนึ่งของมนุษย์” และ “สิ่งที่ทำให้มองเห็นในสิ่งตามองไม่เห็น” ทั้งสองสิ่งนี้เป็นหน้าที่อันใหญ่หลวงของงานภาพประกอบ โดยปกติแล้วเราใช้ภาษาและคำในการสื่อสารระหว่างกัน งานภาพประกอบเป็นภาพ ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นคำ แค่การใช้ภาพสามารถสื่อสารในสิ่งที่คำไม่สามารถสื่อได้ สิ่งนั้นคืองานภาพประกอบและเป็นสิ่งที่เรียกว่า visual communication นั่นเอง
คำถามที่ 2 จากคำตอบที่อาจารย์บอกว่า “สิ่งที่ทำให้มองเห็นในสิ่งตามองไม่เห็น” นั้น เช่นอะไรบ้าง..?
ตอบ พวกเราแทนสิ่งที่ตาเห็นด้วยคำพูดเป็นคำๆ เช่น พอพูดว่า “นี่คือแอปเปิ้ล” ก็คงจะมีภาพของแอปเปิ้ลลอยขึ้นมา แต่ว่า แอปเปิ้ลมันมีหลายแบบหลายสายพันธุ์ ถ้าอยากจะอธิบายไปจนถึงรายละเอียด จะใช้แค่คำ(ตัวอักษร) ค่อยๆ อธิบายก็ได้ แต่ถ้าใช้ภาพในการช่วยอธิบายแล้ว จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนกว่า นอกจากนี้ ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบ”นก”มาก ยังมีนกที่ผมไม่เคยเห็นอีกมากมาย แต่ถ้าได้ดูหนังสือสารานุกรมภาพนกแล้ว ก็จะสามารถเห็นนกที่ไม่รู้จักได้ด้วย ตัวอย่างอื่นก็อย่างเช่น แผนที่ เราจะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ตรงไหนและมีรูปร่างเป็นอย่างไรเมื่อดูแผนที่โลก หรือเวลาที่เราไม่สบาย หมอก็จะวาดภาพ (ภาพประกอบ) ง่ายๆ ในการอธิบายอาการของโรคเพื่อช่วยให้คนไข้เข้าใจได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ตาของมนุษย์ เราไม่สามารถมองเห็นมีมากมาย ในโลกของอนุมูลต่างๆ ลำพังตาเปล่าๆ ของเราคงจะมองไม่เห็น แต่ถ้านำมันมาวาดเป็นรูปแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นและเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แบบนี้การให้อีกฝ่ายดูรูปภาพ (ภาพประกอบ) เท่ากับเป็นการช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเห็นภาพเดียวกันได้
คำถามที่ 3 ทำไมจึงจำเป็นต้องก่อตั้งวิชาการที่เกี่ยวกับงานภาพประกอบอย่าง “ภาพประกอบศึกษา” ขึ้นด้วย
ตอบ เพื่อคนที่ฝันอยากจะเป็นศิลปินภาพประกอบในอนาคตและคนที่ใช้ชีวิตในฐานะศิลปินภาพประกอบในปัจจุบัน เราจำเป็นจะต้องมีมาตรฐานและวิชาการพื้นฐานของงานภาพประกอบขึ้น นั่นหมายถึงว่า จำเป็นจะต้องก่อตั้งมันขึ้นมา งานภาพประกอบนั้นมีแนวคิดที่เป็นนามธรรม ฉะนั้น การวิเคราะห์พื้นเพของแต่ละยุคสมัยและโครงสร้างของสังคมจะถูกใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างวางรากฐานและกำหนดมาตรฐานขึ้น และใช้มาตรฐานนั้นในการกำหนดวิชาการศึกษา โดยผมอยากจะวางการศึกษาพื้นฐานของงานดีไซน์ไปพร้อมๆ กับพื้นฐานของงานภาพประกอบ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเหมือนรางคู่ ที่ถ้าขาดรางใดรางหนึ่งไปแล้วรถไฟก็ไม่สามารถวิ่งได้ หรือถ้าพื้นดินไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถสร้างบ้านที่แข็งแรงได้ และเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันยังไม่มีเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ภาพประกอบยังไม่ถูกยอมรับในสาขาวิชาการและการวิจัย แต่ถูกเข้าใจในฐานะวิชาชีพแบบหนึ่ง โดยที่ไม่ได้อยู่ในที่ที่มันสมควรจะอยู่ในสังคมถ้าคิดแค่ง่ายๆ ถึงแค่ผลของงานภาพประกอบเพียงอย่างเดียว ก็สามารถคิดได้ว่ามันเป็นสิ่งที่เอาไว้ทำเงินได้ แต่ก่อนนั้นมันควรจะต้องตอบปัญหาเรื่องของมาตรฐานและพื้นฐานด้านวิชาการ และก่อตั้งภาพประกอบศึกษาขึ้นได้ก่อน เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้คนในยุคต่อๆ ไป
คำถามที่ 4 ถ้าพูดถึงเรื่องรูปแบบการแสดงออกแล้ว งานภาพประกอบมีอะไรที่เฉพาะตัวและแตกต่างจาก
งานจิตรกรรมไหม..?
ตอบ เริ่มแรก งานภาพประกอบจะอยู่ในโลกที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างของสื่อและสังคมที่ซับซ้อน การไม่มีความเข้าใจในเรื่องของสื่อและสังคมแล้วจะเอแต่วาดภาพอย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องลำบาก ภาพที่เด็กวาดนั้นถ้าเป็นเรื่องยากที่จะให้มีฟังก์ชั่นของงานภาพประกอบ นั่นเพราะว่าเพียงแค่ความรู้ของเด็กยังไม่สามารถส่งต่อเนื้อหาของภาพได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่ลงลึกในด้านความรู้เฉพาะทางใช้เป็นฐานข้อมูลในการวาดภาพประกอบแล้ว จะยังไม่สามารถเรียกว่าเป็น Visual Communication ที่สมบูรณ์ได้ อย่างเช่น ถึงจะมีความรู้เรื่องของนกป่าไม่เพียงพอก็ตาม ก็สามารถวาดมันออกมาได้ก็จริง แต่คงไม่สามารถวาดได้ถึงชนิดและพันธุ์ของนกที่ละเอียดออกไปได้ ศิลปินภาพประกอบที่เป็นมืออาชีพนั้นจะทำความเข้าใจความแตกต่างตรงนั้น และแสดงออกถึงรายละเอียดในจุดเล็กๆ นั้นให้ได้ การไม่มีความรู้ที่แข็งแกร่งรองรับอยู่เบื้องหลังนั้นทำให้สูญเสียเนื้อหาสำคัญในการสื่อสารด้วยภาพไป นอกจากนั้น ถ้าจะให้ยกตัวอย่างอื่นแล้วงานภาพประกอบนั้นเพียงแค่สื่อสารได้ก็เพียงพอ ซึ่งต่างกับงานจิตรกรรมต่างๆ เพราะว่างานภาพประกอบไม่ได้ถูกใช้งานในฐานะสิ่งของ แต่ในฐานะภาพที่มีฟังก์ชั่นในการส่งต่อข้อมูล ฉะนั้น ถึงจะเป็นภาพง่ายๆที่ใช้ในการอธิบายก็ไม่มีปัญหา การจะลากเส้นและเขียนวงกลมง่ายๆ สามวงก็ตาม ถ้าอธิบายเรื่องราวได้ก็เรียกว่าเป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์ได้แล้ว กลับกัน ในงานจิตรกรรมนั้น ลำพังการติดต่อส่งข้อมูลนั้นไม่สามารถเรียกว่าเป็นงานจิตรกรรมได้ เพราะว่าถ้าปราศจากพื้นฐานที่สำคัญของ “งานวิจิตรศิลป์” แล้วก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นชิ้นงานได้
อ่านบทความ ถาม-ตอบอีก 11 คำถามต่อ คลิก!