ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง : แหล่งเรียนรู้ของชุมชนพื้นที่บางกะเจ้า
ตลาดน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตซึ่งสามารถแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน โดยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในชุมชนตลาดน้ำ และเป็นแหล่งเรียนรู้หลายๆ ด้านสำหรับคนในชุมชนเช่นเดียวกัน
หากจะกล่าวถึงตลาดน้ำที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครนั้น “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการมาเยือนและจับจ่ายใช้สอยสินค้าท้องถิ่น โดยตลาดน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่บางกะเจ้า ในตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่บางท่านเรียกว่า “กระเพาะหมู” อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่สีเขียวในคุ้งน้ำที่มีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมู มีเนื้อที่รวม ๑๑,๘๑๙ ไร่ โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ และเป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ประชาชนในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ เปิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ด้วยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งและประชาชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะผลผลิตล้นตลาดของประชาชนในชุมชน โดยตลาดน้ำแห่งนี้มีข้อตกลง คือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าของประชาชนในตำบลบางน้ำผึ้ง และตำบลที่ใกล้เคียงในพื้นที่อำเภอพระประแดง หรือเป็นสินค้า OTOP เท่านั้น
ภายในตลาดน้ำบางน้ำผึ้งแบ่งพื้นที่การค้าขายออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑) ส่วนจำหน่ายผลิตผลของประชาชนในชุมชน อาทิเช่น ผลไม้ตามฤดูกาล พืชผักพื้นบ้าน ขนมไทย ม้าฮ่อ ข้าวแต๋น เมี่ยงคำ ฝอยทอง และฝอยเงิน เป็นต้น
๒) ส่วนจำหน่ายสินค้าโอท็อป อาทิเช่น งานฝีมือจากกะลามะพร้าว ดอกไม้เกล็ดปลา ธูปหอมสมุนไพร กุ้งเหยียด เป็นต้น
๓) ส่วนจำหน่ายสินค้าอาหารบนเรือ อาทิเช่น ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ข้าวมันไก่ น้ำผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในตลาดน้ำบางน้ำผึ้งแห่งนี้ ยังมีมุมพักผ่อนหย่อนใจให้กับผู้มาเยือน อาทิ มุมพักผ่อน มุมศิลปะ มุมดนตรีในสวน มุมนวดแผนไทย และมุมเด็กเล่น ซึ่งเสน่ห์ของตลาดน้ำบางน้ำผึ้งปรากฏในรูปของการแสดงออกซึ่งวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในรูปของการค้าขาย การแต่งกาย เช่น การจำหน่ายอาหารและพืชผัก เช่น ไส้กรอกไทย ปลาแนม ตะลิงปลิง ผักกระถิน ผักหนาม การใช้ใบตองหรือกะลามะพร้าวในการบรรจุอาหารแทนกล่องโฟม และการสวมใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
บทบาทของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ในฐานะแหล่งเรียนรู้ของชุมชนพื้นที่บางกะเจ้านั้น เป็นบทบาทที่ปรากฏในหลากหลายด้าน โดยภาพสะท้อนของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ที่ปรากฏเด่นชัดปรากฏใน ๕ ด้าน คือ
๑. ด้านสังคม
การดำเนินการค้าขายภายในตลาดน้ำบางน้ำผึ้งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งภายในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน รวมทั้งเป็นสถานที่ในการพบปะพูดคุย สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ และแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่
๒. ด้านวัฒนธรรม
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นตลาดน้ำที่เปิดใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น การดำเนินงานของตลาดน้ำมุ่งเน้นในการอนุรักษ์วิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำอาหารและขนม การทำเครื่องสานจากวัสดุธรรมชาติภายในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดภูมิทัศน์ภายในตลาดน้ำให้เป็นบรรยากาศการค้าขายริมคลองตามแบบฉบับของตลาดน้ำในอดีต เพื่อฉายภาพย้อนไปในอดีตให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนริมน้ำและถ่ายทอดสู่ผู้มาเยือน
๓. ด้านการศึกษา
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้ ภูมิปัญญาไปบูรณาการกับการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ว่าด้วยการจัดการศึกษาโดยกล่าวถึงแหล่งเรียนรู้ว่า “รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีศูนย์กีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ” ซึ่งสถาบันการศึกษาภายในชุมชนและนอกชุมชนต่างใช้ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นแหล่งเรียนรู้โดยบูรณาการกับเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิเช่น
– กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ได้แก่ การคำนวณการบวก ลบ คูณ หารอัตราการซื้อขายสินค้า
– กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาอาหารและสารอาหาร ระบบนิเวศน์
– กลุ่มสาระภาษาไทย ได้แก่ การเขียนคำขวัญ จดหมายเชิญชวนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
– กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ได้แก่ การฝึกการพูด การฟังภาษาต่างประเทศกับผู้มาเยือนเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง
– กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ได้แก่ ความเป็นมาของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง บทบาทของตลาดน้ำบางน้ำผึ้งกับชุมชนในท้องถิ่น และชุมชนมอญพระประแดง
– กลุ่มสาระศิลปะ ได้แก่ การวาดภาพวิถีชีวิตในตลาดน้ำ ดนตรีในวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่บางกะเจ้า หรือการบูรณาการการจัดการแสดงภายในตลาดน้ำกับการเรียนการสอน
– กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ได้แก่ การจำหน่ายสินค้า การใช้เทคโนโลยีในการสร้างผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือการประชาสัมพันธ์สินค้า
– กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา ได้แก่ การอนามัย สุขลักษณะของตลาดน้ำ การขี่จักรยานและการพายเรือเพื่อสุขภาพ
๔. ด้านเศรษฐกิจ
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยน และสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน ในลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ แลกเปลี่ยนความรู้ในการประกอบอาชีพ อาทิเช่น การนำผลไม้หรือพืชผักท้องถิ่นภายในสวนในพื้นที่มาค้าขาย และผู้ประกอบการร้านค้าบางร้านรับผลไม้ของประชาชนในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น
๕. ด้านการท่องเที่ยว
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาจากการประชาสัมพันธ์ทางรายการโทรทัศน์ และการบอกเล่าปากต่อปาก โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีการจัดโฮมสเตย์ในลักษณะบ้านพักเรือนไทย และทริปการท่องเที่ยวโดยการขี่จักรยาน หรือการพายเรือเพื่อชมวิถีชีวิตของชุมชนและธรรมชาติในพื้นที่บางกะเจ้า จึงนับได้ว่าตลาดน้ำแห่งนี้มีเอกลักษณ์บ่งชี้ถึงความเป็นท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่เกษตรดั้งเดิม คงความเป็นธรรมชาติ
บทบาทของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ในฐานะแหล่งเรียนรู้ของชุมชนพื้นที่บางกะเจ้า สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสำเร็จในวันนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจกันอย่างดียิ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งและประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นเครื่องมือให้ประชาชนในชุมชนเล็งเห็นถึงคุณค่าของความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน เพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
จริยาวัฒน์ โลหะพูนตระกูล. (๒๕๕๓, กรกฎาคม – ธันวาคม). การพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยการจัดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ. ใน วารสาร มฉก.วิชาการ. ๑๔, ๒๗ : ๑.
NGV Let’s go (ม.ป.ป.). พาไปเที่ยว ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ คลังภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตริมน้ำเจ้าพระยา. ใน NGV Focus. กรุงเทพฯ : แปลน กราฟิค.
วรวุฒิ เพ็งพันธ์ และกรรณิการ์ สัจกุล. (๒๕๕๐). การวิเคราะห์คุณค่าและบทบาทของตลาดน้ำในฐานะแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน : กรณีศึกษาตลาดน้ำ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี. ใน วารสารการศึกษาและการพัฒนาสังคม. ๓, ๑ : ๘๑.