ดนตรีสมัยนิยม : แนวทางการพัฒนาเพื่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Popular Music: The Way to Improve Popular Music Course at College of Music Bansomdej Chaopraya Rajabhat University
ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์
Phakphoom Tiavongsuvan
http://ejs.bsru.ac.th/musicjournal/uploads/files/journals/journal1_1/02_Article6.pdf
บทคัดย่อ
กลุ่มวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถูกจัดทำขึ้นใหม่เริ่มต้นที่ปีการศึกษา 2560 จนถึงปัจจุบัน ด้วยแนวคิดสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพนักดนตรีในระดับสากลอย่างไม่หยุดยั้งโดยที่เนื้อหาของกลุ่มวิชายังสามารถถูกพัฒนาได้ตลอดเวลา ด้วยประสบการณ์ตรงของบุคลากรและผู้วางแผนจัดทำกลุ่มวิชาดนตรีสมัยนิยมคืออาจารย์ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทจากหลักสูตรดนตรีสมัยนิยมที่มหาวิทยาลัย Southampton ณ สหราชอาณาจักร โดยนำเสนอแนวคิดหลากหลายมุมมอง ได้แก่ แนวคิดทางวิชาการ, การผลิตผลงานเชิงพาณิชย์, การผลิตผลงานอิสระ, การประชาสัมพันธ์และโฆษณาผลงานและการสอนดนตรี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อนักดนตรีในสภาพสังคมโลกปัจจุบัน เพราะการสอนนักศึกษาโดยเน้นแค่ด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่มีคุณภาพไม่ดีพอ สำหรับจุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนด้วยความตั้งใจในการผลิตเยาวชนไปเป็นบุคลากรทางดนตรีที่มีคุณภาพและสามารถปรับตัว อยู่กับทุกๆ สถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
คำสำคัญ : หลักสูตรดนตรีสมัยนิยม
Abstract
Popular music course of College of Music Bansomdej Chaopraya Rajabhat University has been designed in academic year 2017- present with unlimited ideas of music to fulfill student’s career experience in music career based on international standards by a music personnel, Phakphoom Tiavongsuvan, instructor of College of Music Bansomdejchaopraya Rajabhat University who graduated master degree in Popular Music Performance from University of Southampton, UK. This popular music course has pursued several points of view such as academic thinking skills, music production, commercial music, contemporary music, public relations and advertising music work and improvement of music teaching skills. These factors are playing important roles for musicians in present day because the specific concentration area in music teaching could not possibly be maintained the objective of this course. Therefore, the aim of this popular music teaching is to get learners approach high quality of music careers and being flexible to live in every situation in the present and future.
Keyword: Popular music
บทนำ
ดนตรีสมัยนิยมนั้นหมายถึงแนวดนตรีที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในแต่ละยุคสมัยรวมถึงปัจจุบัน โดยแต่ละแนวดนตรีล้วนมีเอกลักษณ์และรูปแบบการนำเสนอในเรื่องของเนื้อหา, การแสดงดนตรีและการแต่งตัว ตัวอย่างเช่น แนวดนตรีพั้งค์ ร็อค เป็นต้น ความนิยมในดนตรีพั้งค์นั้นเริ่มจากการเสียดสีชนชั้นสังคมในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาผ่านบทเพลงที่เรียบเรียงในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน แหวกแนวทางทฤษฏีดนตรี และการแต่งตัวที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมกับดนตรี ศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น แฟชั่น, ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์, ดนตรีร่วมสมัยและศิลปะการแสดง เป็นต้น ดนตรีพั้งค์ในยุคเริ่มแรกจะมีเนื้อหาสะท้อนสังคม ต่อต้านอำนาจรัฐ มีบทบาทโดดเด่นและแปลกใหม่ด้านบริบทของดนตรีที่แสดงรุนแรง ตะโกนโวยวาย จังหวะรวดเร็วและเป็นที่นิยมในสังคมตะวันตกในช่วงปี ค.ศ. 1975 ในด้านการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐสวัสดิการของประชาชน ต่อมากระแสนิยมได้เปลี่ยนไป ดนตรีสมัยนิยมหลากหลายแนวได้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบที่ซับซ้อนขึ้นและง่ายลงในด้านการแสดงดนตรี ลักษณะของดนตรีพั้งค์ก็ได้ถูกนำพัฒนาอย่างต่อเนื่องและอยู่ร่วมกับดนตรีหลากหลายแนวที่เป็นที่นิยมในสังคมวงกว้างและเฉพาะกลุ่ม เช่น Pop Punk, Ska Punk, Hardcore Punk, Grind-Core และ Speed Metal เป็นต้น นี่จึงเป็นข้อสรุปว่าดนตรีสมัยนิยมมีความเคลื่อนไหวทางด้านพัฒนาการอยู่เสมอและมีรูปแบบที่หลากหลาย
เนื้อหาการจัดการเรียนการสอนด้านดนตรีสมัยนิยม
กลุ่มวิชาดนตรีสมัยนิยมโดยทั่วไปจะมุ่งเน้นเนื้อหาไปที่ทฤษฏี ปฏิบัติและคุณลักษณะทางดนตรีในบางแนวขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้สอนแต่ส่วนใหญ่จะขาดเนื้อหาที่พูดถึงประวัติดนตรีสมัยนิยมในเชิงสังคมและมนุษย์ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักดนตรีที่จะต้องทำความเข้าใจดนตรีให้สอดคล้องกับบริบทสังคม เข้าใจรสนิยมของกลุ่มผู้ฟังเพื่อขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ดนตรีให้เกิดเอกลักษณ์ใหม่ๆ แบบในกรณีเดียวกับดนตรีสมัยนิยมในแต่ละยุคที่เกิดพัฒนาการมาเป็นที่นิยม
บทบาทของดนตรีที่มีต่อผู้คนในสังคมไทยนั้นมุ่งเน้นการฟังเนื้อหาบทเพลง ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแง่มุมชีวิตต่างๆ เช่น ความทุกข์ ความสุขนานาประการ เพื่อผ่อนคลาย สนุกสนาน สังสรรค์ ให้กำลังใจและปลอบประโลมจิตใจ แต่ยังมีขอบเขตทางดนตรีศิลปะค่อนข้างแคบเพราะทรัพยากรความรู้ทางดนตรีสากลนั้นโดยทั่วไปนั้นเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างเข้าถึงได้ยาก เช่นการขาดกำลังทรัพย์ในสถาบันครอบครัว การขาดหลักสูตรดนตรีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมและมัธยมศึกษาส่งผลให้เยาวชนและประชาชนขาดพื้นฐานและทักษะการฟังดนตรีที่หลากหลาย ต้องขึ้นตรงกับสื่อหลักเพียงเท่านั้นไม่ว่าจะมาเป็นผู้เรียน ผู้เล่นและผู้ฟัง ดังนั้นถ้าผู้ฟังส่วนมากนั้นเข้าถึงทรัพยากรทางดนตรีที่หลากหลายก็จะสามารถตอบสนองและสนับสนุนผลงานของนักดนตรีได้ไม่ยากเหมือนกับประชากรในประเทศที่เจริญแล้ว
จุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนของกลุ่มวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาคือการสร้างสมดุลความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงทรัพยากรทางดนตรีระหว่างผู้ปฏิบัติและผู้ฟัง มีการกระจายทรัพยากรความรู้ทางดนตรีด้วยการให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่เป็นสาธารณะมากขึ้นและเสริมสร้างคุณค่าจรรยาบรรณอาชีพนักดนตรีให้เป็นที่ยอมรับในสังคมส่งผลให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อที่จะประกอบอาชีพดนตรีโดยตรง รายวิชาในหลักสูตรล้วนมีจุดประสงค์ดังนี้
รายวิชาแขนงดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
รายวิชาที่ถูกนำมาจัดสรรเรียงลำดับในกลุ่มรายวิชาดนตรีสมัยนิยมในแต่ละเทอมและปีการศึกษานั้นได้อ้างอิงจากหลักสูตรดนตรีสมัยนิยมจาก Faculty of Humanities, University of Southampton ที่มีเนื้อหาหลักสูตรชัดเจนในด้านการสร้างนักดนตรีที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านการแสดงดนตรี ความเข้าใจในความเป็นมาของวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมและนอกเหนือจากนั้นคือทัศนคติในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านเชิงพาณิชย์และอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายวิชาดังนี้
1. ประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยนิยม (Popular Music History)
ศึกษาถึงต้นกำเนิดความเป็นมาของดนตรีสมัยนิยมตั้งแต่ยุคเริ่มต้น วิวัฒนาการในแต่ละยุค ความเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดทางดนตรี, การจำแนกแนวเพลง, วงการดนตรี, วงดนตรี, นักประพันธ์ และการถ่ายทอดอิทธิพล ทางวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมในสังคมตะวันตกโดยยึดประเทศสหรัฐอเมริกาและ สหราชอาณาจักรเป็นหลักตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน เพราะ เป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก
ผลลัพธ์ที่คาดหวังของวิชานี้มุ่งเน้นให้นักศึกษาเข้าใจหลักการที่มาของลักษณะของดนตรีกับสภาพสังคมในแต่ละยุคเพื่อนำมาพัฒนาแนวคิดในการผลิตดนตรีอิสระและเชิงพาณิชย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต
2. ประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยนิยมในประเทศไทย (Thai Popular Music History)
ศึกษาถึงความเป็นมาของดนตรีสมัยนิยมในประเทศไทยตั้งแต่ ยุคแรกเริ่ม วิวัฒนาการในแต่ละยุค ความเปลี่ยนแปลงของแนวดนตรี ความเคลื่อนไหวของวงการดนตรี ประวัติวงดนตรีและ นักประพันธ์ และการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมจากต่างชาติ ตั้งแต่ยุคของดนตรีสากล ในประเทศไทยในระยะเริ่มแรก รวมทั้งนำเสนอผลงานของทูลกระหม่อมบริพัตรและดนตรีสมัยนิยมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2446-ปัจจุบัน
ผลลัพธ์ที่คาดหวังของวิชานี้มุ่งเน้นให้นักศึกษาเข้าใจถึงอิทธิพล ของดนตรีตะวันตกที่มีต่อสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาแนวคิด ในการนำเสนอ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่เป็นอิสระและเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต ด้วยผลลัพธ์ที่คาดหวังเช่นนี้จะสามารถส่งผล ในเชิงองค์ความรู้ทั้งใหม่และเก่าให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้คนรอบข้าง จนถึงสังคมวงกว้างผ่านผลงานของนักศึกษาที่ผ่านการคัดกรองข้อมูลที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนและสังคมโดยตรง
3. สังคีตปฏิภาณ 1 (Improvisation 1)
ศึกษาแนวคิดในการสร้างทำนองการด้นสดในการแสดงดนตรีด้วยเครื่องเอกในขั้นต้นในแนวเพลง Blues, Jazz และ Rock เพื่อยกระดับทักษะการปฏิบัติเครื่องเอกและความรู้ความเข้าใจ ในการสื่อสารกับผู้คนผ่านเสียงดนตรีให้เทียบเท่าสากล
4. สังคีตปฏิภาณ 2 (Improvisation 2)
ศึกษาแนวคิดในการสร้างทำนองการด้นสดในการแสดงดนตรีด้วยเครื่องเอกในขั้นต้นในแนวเพลง Blues, Jazz และ Rock ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อยกระดับทักษะการแสดงดนตรีในรูปแบบวงและความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารกับผู้คนผ่านเสียงดนตรีในระดับที่สูงขึ้นให้เทียบเท่าสากล
5. การประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีสมัยนิยม (Popular Music Composition and Arrangement)
ศึกษาหลักการประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีและเนื้อร้องในแนวเพลงต่างๆ สร้างสรรค์ คิดรูปแบบและสามารถประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีสมัยนิยมในรูปแบบใหม่ๆ หรือนำรูปแบบเก่ามาทำใหม่จุดประสงค์หลักของวิชานี้คือ การพัฒนาดนตรีให้สอดคล้องกับพื้นที่การแสดงออกของสังคมทั้งในเชิงพาณิชย์และอิสระเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และความรู้ในการประกอบอาชีพในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาของวิชาจะเริ่มเน้นที่ทฤษฎีดนตรีคลาสสิคที่มีกฎเกณฑ์ขอบเขตชัดเจนแล้วค่อยไปถึงดนตรีร่วมสมัยที่มีกฎเกณฑ์น้อยลง รวมถึงการเข้าใจสังคมเชิงมนุษยศาสตร์ในแต่ละยุคให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการประพันธ์ดนตรี
6. การเขียนวิจารณ์งานดนตรี (Music Criticism)
การเขียนวิจารณ์ดนตรีในเชิงศิลปะสร้างสรรค์ ติชมอย่างเสรี โดยอาศัยการศึกษาที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์, แนวคิดวิภาษวิธี, แนวคิดทฤษฎี การเรียนรู้ของเบนจามิน บลูมอและลูกศิษย์กับการค้นคว้าข้อมูล การสัมภาษณ์ ความรู้ความเข้าใจ ในของนักดนตรีและผู้ฟัง
การรวบรวมความคิดเชิงวิชาการที่ถือเอาเหตุผลตรรกะตามหลักจรรยาบรรณของนักวิจารณ์อาชีพ เพื่อให้นักศึกษามีแนวคิดที่เปิดกว้างและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา จัดเป็นวิชาที่มีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด อย่างชัดเจน
7. ธุรกิจและกฎหมายดนตรี (Music Business and Laws)
ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรี หลักการตลาดและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านดนตรี ตลอดจนถึงหลักสูตรธุรกิจดนตรี เพื่อสร้างความพร้อมให้นักศึกษาที่ทำงานด้านดนตรีระหว่างศึกษาหรือที่จะทำในอนาคตโดยนำความรู้ไปใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีทั้งด้านการผลิตผลงานเพลงและการจัดแสดงดนตรีเพื่อลดการถูกเอารัดเปรียบจากนายทุนและการป้องกันตัวจากภัยสังคม
8. การโฆษณาและหลักการแสดง (Advertising and Principle of Entertainment)
ศึกษาการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆและความเข้าใจสภาพสังคม กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งกลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์งานดนตรีและการนำเสนอผลงานดนตรีและอื่นๆ รวมทั้งการสร้างสีสันและแรงดึงดูดความสนใจในการแสดงดนตรีสดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
9. การปฏิบัติเครื่องดนตรีและการแสดงดนตรี (Musical Instrument Skills and Music Performance)
ศึกษาหลักการปฏิบัติเครื่องดนตรีเอกโดยวางแผนการฝึกซ้อม แบบฝึกหัดและบทเพลงตามแต่ละเครื่องดนตรีเอกของผู้เรียนในรูปแบบการเรียน การสอนเดี่ยว เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ ในการแสดงดนตรีสดและความรู้ทางทฤษฎี ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกวิชาอื่นๆ ในหลักสูตร
10. การปฏิบัติรวมวงสมัยนิยม (Popular Music Ensemble)
ศึกษาหลักการรวมวงดนตรีสมัยนิยม กระบวนการซ้อม แบบฝึกหัด วางแผน แนวทางของวงดนตรีและการเรียนบทเพลงหรือประพันธ์เพื่อปฏิบัติร่วมกันเป็นวงดนตรีสมัยนิยม เพื่อสร้างเสริมทักษะการแสดงดนตรีสดทั้งด้านการปฏิบัติและการสมดุลเสียงเครื่องดนตรีทุกๆ ตำแหน่งในวง ผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่านั้นคือความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและความสามัคคีในหมู่นักศึกษาทุกปีการศึกษา
11. การผลิตดนตรีสมัยนิยม (Popular Music Productions)
ศึกษาหลักการอัดเสียงในห้องอัดด้วยการปฏิบัติเครื่องเอกหรือ รวมวงพร้อมบันทึกเสียงโดยการจำลองเหตุการณ์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำงานในห้องอัดเพื่อสร้างผลงานทางดนตรี ทั้งภาคช่วยเหลือนักดนตรี เตรียมอุปกรณ์ บันทึกเสียงและภาคปฏิบัติเครื่องเอกแบบศิลปินในขั้นตอน การบันทึกเสียงสร้างผลงาน
จุดประสงค์หลักของวิชานี้คือการเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีและส่งเสริมความรู้ประสบการณ์ในการผลิตดนตรีหลายหลายรูปแบบทั้งเชิงอิสระและพาณิชย์ เพื่อเป็นผลงานที่ส่งผลถึงรายได้และอาชีพในสายดนตรีที่มั่นคง
12. สังเกตการณ์งานสอนดนตรี (Music Teaching Observations)
ในสังคมปัจจุบันนั้นปฏิเสธได้ยากที่นักดนตรีจะมีบทบาทเพียงแค่การแสดงดนตรีที่จะเป็นการสร้างรายได้เท่านั้น การสอนดนตรีนั้นเป็นอีกทางเลือก ที่สำคัญไม่แพ้การแสดงดนตรีที่นักศึกษาหลายคนอาจคาดหวังที่จะประกอบอาชีพ ในสายดนตรีหลังสำเร็จการศึกษา
จุดประสงค์ของวิชานี้คือการศึกษาหลักการสอนดนตรีทั้งกลุ่มและเดี่ยวเชิงวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนการสอนโดยการสำรวจห้องเรียนและใช้หลักจิตวิทยาในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อพัฒนาทักษะในการสอนเพื่อไปประกอบอาชีพบุคลากรทางการศึกษาในอนาคต
บทบาทของหลักสูตรดนตรีในยุโรป
หลักสูตรดนตรีในยุโรปนั้นมีตั้งแต่ระดับอนุบาลเป็นวิชาบังคับเพื่อความเข้าใจในหลักมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อการอยู่ในสังคมอย่างไม่เห็นแก่ตัว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคารพในกฏระเบียบ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มีทักษะดนตรีในด้านปฏิบัติ วิเคราะห์และวิจารณ์ สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นจุดประสงค์หลักของการวางแผนหลักสูตรในยุโรปอ้างอิงจากแบบสำรวจจากคณะกรรมการการสอนดนตรี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม แต่ในระดับอุดมศึกษานั้นกลายเป็นหลักสูตรที่ต้องสอบคัดเลือกเพื่อคว้าสิทธิเข้าเรียนไม่ต่างกับในประเทศไทยแต่เด็กยุโรปนั้นจะได้เปรียบกว่าเด็กไทยเพราะมีพื้นฐานการเรียนดนตรีมาตั้งแต่ปฐมวัย ในขณะที่เด็กไทยต้องมีทุนทรัพย์พอที่จะเรียนในหลักสูตรนานาชาติหรือเรียนนอกระบบเพื่อเสริมทักษะต่างหาก ด้วยความแตกต่างทางโครงสร้างระบบการศึกษาทำให้นักดนตรีในประเทศไทยมีความเข้าใจที่แตกต่างและเสียเปรียบกับนักดนตรีที่อื่นๆอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆนอกจากวิชาดนตรีที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ความสามารถทางด้านดนตรีนั้นจะไม่ได้ถูกตั้งคำถามมากนักในบทความนี้แต่จะมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจในความเป็นมาของดนตรีที่มีความเชื่อมโยงกับความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การเกิดม๊อบทั้งสองข้างในประเทศไทย มีม๊อบส่วนหนึ่งที่มีนักดนตรีมากความสามารถพร้อมชื่อเสียงและมีอำนาจทางสื่อเป็นตัวอย่างต่อผู้คนในสังคมแต่ไม่เข้าใจปัญหาและทางแก้ที่อยู่ในกฏเกณฑ์ตามหลักสากลตามระบอบประชาธิปไตยทำให้หลักการบิดเบี้ยวและใช้ดนตรีขับเคลื่อนอย่างไร้สาระ แช่แข็งประเทศสร้างผลเสียอย่างมาก ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับนักดนตรีที่ใช้ดนตรีขับเคลื่อนสังคมที่เข้าใจในกฏเกณฑ์หลักสากลอย่างจิ้น กรรมาชนก็จะมีแนวทางที่สมเหตุสมผลและสามารถใช้ดนตรีขับเคลื่อนเรื่องต่างๆได้อย่างมีหลักการกว่านักดนตรีที่มีทักษะดนตรีเป็นอย่างเดียวแต่ไม่สามารถเข้าใจหลักการทฤษฏีในเรื่องอื่นๆเลย
สรุป
การจัดการเรียนการสอนในแขนงดนตรีสมัยนิยมถูกออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในด้านการปฏิบัติเครื่องดนตรีเอกและการพัฒนาศักยภาพในการแสดงดนตรีประพันธ์ดนตรีและการโฆษณาผลงาน โดยมีบุคลากรผู้สอน ผู้มากประสบการณ์และคุณวุฒิในแวดวงดนตรีที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้วางแผนหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันด้วยแนวคิดทางเสรีนิยม การเปิดกว้างทางความคิดที่จะเข้าใจสังคมและดนตรีควบคู่กันไป การให้เกียรติผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมที่มีความเคลื่อนไหวและพัฒนาโดยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายเพศสภาพ ตัวอย่างเช่น การยอมรับเพศทางเลือกในสังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีด้วยความเข้าใจสังคมที่มนุษย์เป็นผู้ชี้วัดความต้องการทางดนตรีและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย จุดประสงค์นี้ได้สอดคล้องกับดนตรีเชิงพาณิชย์และเป็นการสร้างอาชีพ รายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในแขนงดนตรีสมัยนิยมนี้
บรรณานุกรม
ธีรภัทร์ ทองชื่น. (2556). การศึกษาประวัติเพลงไทยสากลในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่นำเค้าโครงมาจากเพลงไทยเดิม กรณีศึกษาจาก นาย ดุษฎี เค้ามูลคดี. สาขาวิชาดนตรีไทย ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วงศกร ยี่ดวง. (2560). ‘พังก์’ วัฒนธรรมที่รวมกลุ่มด้วยดนตรี. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2562 จาก https://thestandard.co/culture-music-punk/
Bennett, A. (2001). Culture of Popular Music. Open University Press, Philadelphia
Corner, T. and Jones, S. (2014). Art to Commerce: The Trajectory of Popular Music Criticism. IASPM Journal
Mcmullen, E. and Saffarin, J. (2004). Music and Language: A Developmental Comparison. University of Wisconsin-Madison
Schola Europaea. (2010). Programme for Music. Office of the Secretary- General Pedagogical Development Unit
Shapiro, P. (2006). The Rough Guide to Soul and R&B. Rough Guide Online
Taylor, B. (2000). The Art of Improvisation. Taylors-James Publications