ดนตรีประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส
ดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่มากับชีวิตมนุษย์ เพราะดนตรีคือเสียง ซึ่งเป็นภาวะแวดล้อมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เสียงเป็นสิ่งที่กระตุ้นจิตใต้สำนึกของมนุษย์ให้คอยสดับรับฟัง และพร้อมที่จะแสดงปฏิกิริยาสนองหรือโต้ตอบได้ทันที ดังนั้น การรับฟังเสียงของมนุษย์จึงเป็นอัตโนมัติ ซึ่งบังเกิดขึ้นได้จากการรับรู้หรือฝึกฝนทั้งโดยทางธรรมชาติและทางปฏิบัติ เสียงเพลงนั้นมาจากเสียงเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นเลียนเสียงธรรมชาติ ทั้งจากเสียงของมนุษย์และเสียงจากสิ่งแวดล้อมทั่วไป นอกจากนั้นเสียงดนตรียังสามารถแสดงสำเนียงของแต่ละชาติแต่ละภาษา และแสดงถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ
มนุษยชาติต่างมีความแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นไปตามการกำเนิดของมนุษย์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ พืชพันธุ์ธรรมชาติที่เป็นตัวกำหนดความเป็นอยู่ การทำมาหากิน การแต่งกาย และเป็นพื้นฐานต่อแนวคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ประจำถิ่นของมนุษย์แต่ละแห่งแต่ละเผ่าพันธุ์ และสะท้อนให้เห็นได้ถึงความเจริญก้าวหน้าในอดีตโดยพิจารณาจากปัจจุบัน ความแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์มีผลถึงประสาทสัมผัส ความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรมมีผลด้านพฤติกรรมทั้งทางกาย ความคิด และพฤติกรรมทางสังคม การออกเสียงในภาษาพูดมีผลมาจากระบบการเปล่งเสียง และระบบประสาทการฟัง ซึ่งมนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลก แม้จะฟังในสิ่งเดียวกันก็ได้ยินไม่เหมือนกัน และแปลความไปคนละอย่างตามสภาพพื้นฐานของตน ดนตรีก็เช่นเดียวกัน เพราะธรรมชาติการได้ยินเสียงและวัฒนธรรม อันเป็นผลมาจากธรรมชาติ ทำให้มนุษย์แต่ละเผ่าคิดสร้างดนตรีตามระบบเสียงธรรมชาติและแนวคิดของตนซึ่งล้วนมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อมนุษย์เท่าเทียมกันทั้งสิ้น
ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยเลียนเสียงที่ได้ยินจากธรรมชาติรอบตัว โดยลักษณะของดนตรีและบทเพลงจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่อยู่ ตามวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ มนุษย์จะใช้ดนตรีถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การนอน การดำรงชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งการตาย จะนำดนตรีมาสัมพันธ์กับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แม้จะเป็นด้านพิธีกรรมและด้านการศาสนาก็จะนำดนตรีมาประกอบพิธีกรรมและศาสนพิธี
พิธีกรรมของแต่ละชนชาติแต่ละศาสนา ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาขึ้นอยู่กับสังคมและศาสนานั้นๆ เช่น ชาวมอญมีการรำทะแยมอญหน้าศพ ชาวอินเดียมีการทำพิธีสารท ศาสนาคริสต์มีการสวดมนต์ให้แก่ผู้ล่วงลับในพิธีศพ ชาวจีนมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและพิธีฝังศพ ในประเทศไทยก็มีพิธีกรรมตามความเชื่อของชนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย หากแบ่งตามพิธีกรรมตามศาสนาพุทธของไทย แล้วสามารถแบ่งได้ตามนิกายของศาสนาพุทธในประเทศไทยดังนี้
1. นิกายเถรวาท คือ ยึดหลักศาสนาแบบพึ่งพาตนเอง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีเข้าพรรษา และพิธีเกี่ยวข้องวันสำคัญทางศาสนาเช่น พิธีวันอาสาฬบูชา เป็นต้น
2. นิกายมหายาน คือ ยานใหญ่ หรือ พาหนะใหญ่ เพราะเชื่อว่าสามารถนำคนจำนวนมากข้ามความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดไปสู่นิพพาน ให้มีความเชื่อเรื่องภพหน้า วิญญาณของบรรพบุรุษ เช่น พิธีเซ่นสรวงบูชาที่หลุมศพของบรรพบุรุษ
คำกล่าวที่ว่า “จีนกับไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ดูเหมือนจะเป็นคำที่คุ้นหูคนไทยอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อสายของคนจีนที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นมีมากมาย จำนวนประชากรชาวจีนเท่าที่ประมาณกันโดยทั่วไปนั้นมีประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งการประมาณจำนวนดังกล่าวทำไว้หลายปีมาแล้ว ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจเพิ่มเติม แต่เมื่อคำนึงถึงการเพิ่มของประชากร อาจเป็นไปได้ว่าประชากรชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็น 4 – 5 ล้านคนแล้ว ถ้าหากถือว่า ชาวจีนเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ชาวจีนก็เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุด โดยลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของจีน นอกจากภาษาพูดแล้ว ยังมีวัฒนธรรมด้านพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกงเต๊ก ซึ่งแม้จะเป็นพิธีกรรมที่ชาวจีนทุกกลุ่มภาษาให้ความสำคัญกว่าพิธีกรรมในวงจรชีวิตพิธีอื่นๆ เนื่องจากเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ชาวจีนยึดมั่นอย่างแน่นแฟ้น แต่รายละเอียดของแต่ละขั้นตอนก็มีความแตกต่างกัน
“กงเต๊ก” ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง การทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่างๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า “กงเต๊ก” ไว้อีกว่า เป็นคำสองคำรวมกัน คือ
คำว่า “กง” ในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน หมายถึงว่า การกระทำในสิ่งที่เกิดบุญที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นกุศลแทนวิญญาณผู้มรณะ เพื่อประสบความสุขความสบาย
คำว่า “เต๊ก” หมายถึง กุศลบุญอันเกิดจากกรรมอันดีงาม อำนวยหิตานุหิตประโยชน์ (ประโยชน์จากการเกื้อกูลใหญ่น้อย) น้อมอุทิศให้แก่วิญญาณผู้มรณะบรรลุถึงปัตตานุโมทนา (การอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้)
การประกอบพิธีกงเต๊กนั้น ถือเป็นศาสนพิธีในนิกายมหายานแห่งศาสนาพุทธ เป็นการประกอบการปัตติทาน (การให้ส่วนบุญ) เป็นการเสริมบุญญภาคให้แก่ดวงวิญญาณผู้ที่ล่วงลับไป ให้ประสบสุคติในแว่นแคว้นดินแดนอุดมสถานในโลกหน้า
พิธีกงเต๊กเข้ามาในประเทศไทยในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ตามประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนและชาวญวนได้อพยพเข้าสู่เมืองไทย ได้นิมนต์พระมาสร้างวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลตามแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวญวน พิธีกงเต๊กจึงเข้ามาสู่ประเทศไทย พระญวนมีการสวดมนต์ตามตัวอักษรจีน แต่ออกเสียงทำนองการสวดมนต์เป็นภาษาเวียดนามไป ต่อมาพระจีนนำเอาการทำพิธีกรรมกงเต๊กเข้ามาเมืองไทย และใช้พระคัมภีร์เล่มเดียวกัน เพียงแต่ออกเสียงเป็นภาษาจีน จึงทำให้พิธีกงเต๊กในช่วงเวลานั้นมีพิธีกรรมกงเต๊กเฉพาะในงานศพของชาวญวนและชาวจีน จนมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏหลักฐานในการประกอบพิธีกงเต๊กเป็นครั้งแรกในงานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี จึงถือเป็นการประกอบพิธีหลวงครั้งแรกของประเทศไทย และเมื่อพิธีกงเต๊กเข้ามาสู่พิธีหลวงดังกล่าว จึงทำให้ชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับพิธีกงเต๊กมากขึ้น จึงทำให้เกิดพิธีกงเต๊กแบบต่างๆ ขึ้น
การประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นมาในคราวเดียวกันกับการประกอบพิธีกงเต๊กแบบจีนนิกาย แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเมื่อใด เนื่องจากการประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้นมีการสวดมนต์ด้วยมนต์ที่ใกล้เคียงกับมนต์ที่พระสงฆ์จีนนิกายสวด เพียงแต่ทำการสวดโดยนักสวดที่สวมชุดขาวและสวดมนต์ด้วยภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยการประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสมีลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. เอี๊ยง เจ็ง ไค ตั๊ว เริ่มพิธี นักดนตรีตีกลองบอกสัญญาณของการเริ่มพิธี นักสวดจุดธูปบูชาพระรัตนตรัยที่บริเวณหน้าโต๊ะพิธี ลูกหลานของผู้ตายสวมชุดกระสอบนั่งร่วมพิธีในบริเวณที่ประกอบพิธี โดยนักสวดนั้นสวดมนต์อัญเชิญพุทธรัศมีแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับหน้ามณฑลพิธีบูชา เพื่อเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธี อีกทั้งเพื่อให้ทราบว่าลูกหลานมาทำพิธีเพื่อตอบแทนบุญคุณ มีการนำม้าเทวฑูต กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องเซ่นไหว้มาทำพิธีแล้วจึงเหี่ยงของเหล่านั้น ก่อนจะนำไปเผา ดนตรีเริ่มบรรเลงเมื่อเริ่มสวดมนต์ในบทแรก โดยบรรเลงเพลงโล้ว เฮียง จั่ง ในทำนองช้า(ทำนองที่ 1)ประกอบไปพร้อมกันเป็นเพลงแรก และเมื่อประกอบพิธีในการนำม้าเทวฑูตมาเหี่ยง(ยกขึ้นลา) ก่อนนำไปเผา ดนตรีจะบรรเลงเพลงเฮียง ไฉ ยั๊วะและบรรเลงเพลงโล้ว เฮียง จั่งในทำนองเร็วประกอบกับการสวดมนต์ในช่วงนี้
2. เถี่ยว เล้ง มก เอ็ก นักสวดย้ายมาประกอบพิธีหน้าโต๊ะเคารพศพ โดยมีถ่งพวงที่สวมเสื้อผ้าของผู้ตายเป็นสัญลักษณ์แทนดวงวิญญาณของผู้ตาย นักสวดจะสวดเชิญดวงวิญญาณมาอาบน้ำทิพย์ และรับอาหาร โดยเชื่อว่าการประกอบพิธีกรรมนั้นดวงวิญญาณต้องบริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าร่วมพิธีนมัสการองค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จึงต้องมีการอัญเชิญดวงวิญญาณมาทำการชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนที่จะนำเข้าพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อไป ดนตรีบรรเลงพร้อมกับการเริ่มสวดมนต์บทแรกของชุดนี้ในเพลงอ่อ มี ถ่อ ฮุก ตามด้วยเพลงเชง เจ็ง และเพลงเตี๋ยว เล้งตามลำดับ
3. ไป ฉ่ำ นักสวดจะเดินนำลูกหลานมาประกอบพิธีบริเวณที่ประกอบพิธี โดยนำถ่งพวงที่ได้ทำการอาบน้ำทิพย์แล้วออกมาด้วย โดยในขั้นตอนนี้เชื่อกันว่าเป็นการนำดวงวิญญาณมาสวดมนต์ขอขมากรรม และสรรเสริญพระสูตร เพื่อขอขมากรรม และทำการอุทิศให้กับบรรพบุรุษด้วย ดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงจุ้ง ตี่ จั่ง เมื่อเริ่มสวดมนต์บทแรกของพิธี และเมื่อประกอบพิธีสวดมนต์เสร็จแล้ว จึงบรรเลงเพลงฮง เจี๊ยะ กี๋ เพลงจั๊บ ฮึง เจ๊ก เฉียก(ทำนองที่ 1)เพลงโล้ว เฮียง จั่ง ในทำนองช้า(ทำนองที่ 2) และเพลงโล้ว เฮียง จั่งในทำนองช้า(ทำนองที่ 1) ตามลำดับ
4. โล่ย ฮวด พุ้ง (การประกอบพิธีในชุดนี้นักสวดจะกระทำในกรณีที่ผู้ตายเป็นเพศหญิงเท่านั้น)นักสวดเดินนำลูกชายและหญิงเข้ามาทำพิธีหน้าโต๊ะเคารพศพ โดยให้ลูกชายและลูกสาวนั่งล้อมวงถาดที่มีน้ำแดงอยู่ เริ่มการสวดมนต์บรรยายถึงพระคุณของมารดาเมื่อตอนที่ตั้งท้อง เมื่อนักสวดสวดมนต์เสร็จจึงให้ลูกชายและลูกสาวดื่มน้ำแดงที่พวกตนนั่งล้อมวงอยู่ โดยเชื่อว่าเลือดที่ลูกดื่มไปนั้นเปรียบเสมือนเลือดของมารดา ดนตรีบรรเลงเพลงอ่อ มี ถ่อ ฮุก และเพลงโล่ย ฮวด พุ้ง ไปพร้อมกับการสวดมนต์
5. โผ่ว ฮุก นักสวดทำการสวดมนต์เพื่อเชิญดวงวิญญาณมารับฟังธรรม และสวดมนต์นำลูกหลานเดินเป็นวงกลม เพื่อแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียว โดยลูกหลานต้องถืออุปกรณ์ในการประกอบพิธีดังนี้
– ลูกชายคนโต ถือกระถางธูป
– ลูกชายคนรอง ถือถ่งพวง
– ลูกและหลานคนอื่นๆ ถือธูปคนละ 1 ดอก
ในการถือกระถางธูปนั้น หากไม่มีลูกชายเลย ก็อนุโลมให้ลูกสาวถือได้ หรือในกรณีที่ไม่มีลูก ก็ให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น น้อง หลาน หรือบุคคลอื่นๆ ที่สมัครใจมาถือได้ โดยเชื่อว่าเป็นบุญกุศลต่อชีวิต และครอบครัวของผู้นั้น ในส่วนของดนตรีบรรเลงเพลงจั๊บ ฮึง เจ๊ก เฉียก(ทำนองที่ 2) เพลงโล้ว เฮียง จั่งในทำนองเร็ว และขณะที่บรรเลงเพลงจื่อ แซ กี๋(ทำนองที่1) และเพลงเจง ตี่ กี๋นั้น ผู้ร่วมพิธีก็จะยืนขึ้นแล้วพนมมือถือธูปคนละ 1 ดอกแล้วเดินตามลำดับการเดิน
6. ตุย จิ่ง มีการจัดโต๊ะบูชาบรรพบุรุษเพิ่มขึ้น โดยมีการจัดอาหารและเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษไว้ ในการประกอบพิธีชุดนี้ลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีนั้นต้องถอดชุดกระสอบออก นักสวดจะทำการสวดมนต์หน้าโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ เพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และเชิญมารับของเซ่นไหว้จากลูกหลานของตน ในการประกอบพิธีดนตรีบรรเลงเพลงเชง เจ็ง เพลงซา เชี่ย เตี๋ยว เล้ง และเพลงฮง เจี๊ยะ กี๋ตามลำดับ
7. โชย ฮุก เก็ง นักสวดนำสวดมนต์หน้าบริเวณที่ประกอบพิธี โดยลูกหลานสวมชุดกระสอบเช่นเดิม โดยนักสวดทำการสวดมนต์สรรเสริญองค์อรหันต์ 1,000 องค์ เชื่อกันว่าสวดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน โดยนักสวดจะสวมชุดอ้อแดงใส่มาลาสวดสรรเสริญนามของพระอรหันต์1,000 องค์ ในพิธีกรรมจะมีข้าวสาร ส้ม และเงินทองใส่ถาดวางไว้บนหีบทอง เพื่อถวายแก่องค์อรหันต์ต่างๆ เมื่อเสร็จพิธีแล้วของเหล่านี้ให้ลูกหลานนำกลับเอาไปแจกกันให้ทั่ว แล้วนำไปรับประทาน เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง มั่งมีศรีสุข และเกิดสิริมงคลแก่ตนเอง ดนตรีบรรเลงประกอบการเริ่มสวดมนต์ในเพลงซา กุย อีเป็นเพลงแรกของชุด และเพลงจื่อ แซ กี๋(ทำนองที่ 2) และเมื่อต้องการจะเดินนำขบวนไปประกอบพิธีที่หน้าโต๊ะเคารพศพ จึงบรรเลงเพลงโล้ว เฮียง จั่งในทำนองเร็วขึ้น เพื่อประกอบการสวดมนต์ในขณะที่เดินขบวนเคลื่อนย้ายสถานที่ประกอบพิธี
8. โอย ตี่ ถะ นักสวดประกอบพิธีโดยสวมชุดขาวนำสวดพร้อมกับเดินวนรอบเจดีย์ทอง เพื่อเป็นการสักการบูชาองค์โป๊ยเซียน และชำระหนี้ให้กับผู้ตาย โดยเพลงที่ใช้ในการบรรเลงประกอบนั้นจะเป็นเพลงชุดโอยตี๊ หรือโอยถะ โดยหากเป็นเพศหญิงเรียกว่าโอยตี๊ หากเป็นเพศชายเรียกว่าโอยถะ ซึ่งทำนองเพลงจะสั้นยาวขึ้นกับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น ความต้องการของเจ้าภาพ จำนวนลูกหลานที่เข้าร่วมพิธี(หากมีจำนวนน้อย เมื่อเดินรอบเจดีย์ทองก็จะใช้เวลาน้อยกว่า เพลงจะสั้นลง) เป็นต้น
9. ชึง กิม ซัว เป็นการสวดมนต์ประกอบกับการถือธงวิ่ง เป็นพิธีกรรมที่ลูกสาวจะต้องเป็นผู้ว่าจ้างการประกอบพิธีในชุดนี้เพิ่มขึ้นเอง การประกอบพิธีในชุดนี้นั้นเป็นการร่ายรำของนักสวด 7 คน โดยสวมชุดพระจีนโบราณและสวมหมวกคล้ายชุดของพระถัมซัมจั๋งที่มือถือธงที่มีตราสวัสดิกะ โดยเชื่อว่า เป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้ดวงวิญญาณผ่านภูเขาเงิน ภูเขาทองได้สะดวก
10. ก๊วย เกี๊ย นักสวดเดินสวดมนต์นำดวงวิญญาณให้เดินข้ามสะพาน โดยลูกหลานนั้นจะมีการสะพายโค้วจี๊ ซึ่งนับเป็นเงินอย่างหนึ่งมาฝากให้กับดวงวิญญาณ และใช้หนี้ให้กับขุนคลัง เมื่อขณะข้ามสะพานก็มีการหย่อนเหรียญลงในน้ำบริเวณทางขึ้นสะพาน ก็เพื่อเป็นการบริจาคทาน และใช้หนี้แทนผู้ตาย และเมื่อเดินข้ามสะพานมาถึงโต๊ะบูชาขุนคลัง นักสวดจะทำการอ่านประกาศมอบใช้หนี้ให้พระองค์ทราบ ซึ่งมีใจความว่า ขอพระรัตนตรัยได้โปรดนำวิญญาณข้ามสะพานไปใช้หนี้ให้พระองค์ ซึ่งได้ยืมมาตั้งแต่เวลาปฏิสนธินั้นด้วยเถิด บัดนี้ท่านผู้นั้นได้ถึงแก่กรรมแล้ว แล้วจึงนำโค้วจี๊มาเหี่ยงคืนให้กับขุนคลัง เมื่อเสร็จแล้วนักสวดจึงเดินนำข้ามสะพานกลับ และสวดมนต์ต่อที่บริเวณที่ประกอบพิธี ข้อจำกัดของการข้ามสะพานนั้น คือ ถ้าลูกหลานที่เป็นเพศหญิงและกำลังมีประจำเดือนอยู่นั้น ห้ามข้ามสะพาน ให้รอที่ปลายสะพาน เมื่อขบวนลูกหลานเดินมาถึงปลายสะพานแล้วจึงเดินเข้าไปสมทบด้วย ทำนองเพลงที่ใช้บรรเลงในชุดพิธีนี้ คือ เพลงชุดก๊วย เกี๊ย ซึ่งทำนองเพลงนั้นจะสั้นยาวก็ขึ้นกับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น ความต้องการของเจ้าภาพ จำนวนลูกหลานที่เข้าร่วมพิธี(หากมีจำนวนน้อย เมื่อเดินข้ามสะพานก็จะใช้เวลาน้อยกว่า เพลงจะสั้นลง) เป็นต้น
11. สั่ง ฮุก นักสวดนำสวดมนต์บริเวณหน้าโต๊ะพิธี โดยทำพิธีการส่งเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆให้กลับสู่สรวงสวรรค์ และบรรเลงเพลงโล้ว เฮียง จั่งทำนองเร็ว เพลงจ๊ก เกี๊ย นั้ม และเพลงโล้ว เฮียง จั่งในทำนองช้า(ทำนองที่ 3) ตามลำดับ
12. สั่ง เล้ง เป็นการสวดมนต์ส่งดวงวิญญาณกลับสู่สรวงสวรรค์ เป็นการปิดพิธี
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เครื่องดนตรีประกอบการสวดมนต์
2. เครื่องดนตรีประกอบการบรรเลงในพิธีกรรม
1. เครื่องดนตรีประกอบการสวดมนต์
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีสำหรับนักสวดเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะของนักสวด ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญในการประกอบพิธีกงเต๊ก เนื่องจากทำนองการสวดนั้นจะช้าเร็วขึ้นอยู่กับการเคาะจังหวะของกลุ่มนักสวด อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ในการบอกถึงการเริ่มต้นและการจบของบทสวดมนต์
1.1 บั๊กฮื้อ (Idiophones-Wood Block) เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะประกอบการสวดมนต์มีรูปร่างคล้ายหัวกะโหลก แกะสลักเป็นรูปปลา ด้านในเจาะเป็นโพรง นักสวดที่ใช้เครื่องดนตรีนี้ คือ นักสวดคนที่อยู่ด้านซ้าย ใช้มือซ้ายในการตี หากต้องเคลื่อนย้ายหรือต้องเดินทำพิธีก็จะใช้บั๊กฮื้อที่มีขนาดเล็ก โดยใช้มือขวาถือ และใช้มือซ้ายตีเช่นกัน
1.2 เจ็ง(วัชรฆระ)(Idiophones-Bell) เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะประกอบการสวดมนต์คล้ายระฆัง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเชิญวิญญาณของผู้ตายมาร่วมในพิธี และช่วยปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในบริเวณสถานที่ที่ประกอบพิธี นักสวดที่ใช้เครื่องดนตรีนี้ คือ นักสวดคนที่อยู่ตรงกลาง ใช้มือซ้ายในการเขย่า
1.3 เค้ง(ระฆัง)(Idiophones-Vessel) เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะประกอบการสวดมนต์มีรูปร่างคล้ายขันหรือบาตรพระ เสียงที่ได้ใกล้เคียงกับเสียงของระฆัง นักสวดที่ใช้เครื่องดนตรีนี้ คือ นักสวดคนที่อยู่ตรงกลาง โดยนักสวดจะใช้มือซ้ายในการเขย่าเจ็ง และใช้มือขวาในการตีเค้ง โดยที่เค้งนั้นมีบทบาทเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารถึงการเริ่มต้นและการจบของบทสวดมนต์ โดยนักดนตรีจะทราบว่าจะต้องเริ่มบรรเลงหรือจบการบรรเลงเมื่อใดจากการตีเค้ง
1.4 อิมเข่ง(Idiophones-Stamped) เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะประกอบการสวดมนต์ของนักสวดคนที่อยู่ด้านขวา โดยใช้มือซ้ายถืออิมเข่ง และใช้นิ้วมือในการบังคับการตี
1.5 ตั่งเจง(ต๊อง)(Idiophones-Gong) เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเคาะจังหวะประกอบการสวดมนต์ของนักสวดคนที่อยู่ด้านขวา โดยใช้มือขวาถือตั่งเจง และใช้นิ้วมือในการบังคับการตีเช่นกัน
2. เครื่องดนตรีประกอบการบรรเลงในพิธีกรรม
2.1 หยี่ฮู้(Chordophones-Bowed) เป็นเครื่องดนตรีประเภทซอ ซึ่งมี 2 สาย คำว่าหยี่ฮู้ มาจากคำว่า หยี่ หมายถึง 2 และคำว่าฮู้ มาจากคำว่าฮู้ฉิน ซึ่งหมายถึงซอแห่งอนาอารยชน เมื่อรวมความแล้วจึงหมายถึง ซอแห่งอนาอารยชน
2.2 พ้าฮี้(Chordophones-Bowed) เป็นซอกะลามะพร้าวที่มีน้ำเสียงบ่งบอกถึงสำเนียงแต้จิ๋ว เสียงที่ได้มีความโปร่งเบา
2.3 เอี่ยวคิ้ม(Chordophones-dulcimer) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี คนไทยเรียกว่าขิม เมื่อบรรเลงจะวางอยู่บนขาตั้ง และใช้ไม้ตีขิมที่ทำจากไม้ไผ่หินตีลงไปบนสายลวดที่ขึงอยู่บนหน้าขิม รูปร่างเป็นกล่องแบนสี่เหลี่ยมคางหมู ความยาวด้านบน 77 เซนติเมตร ความยาวด้านล่าง 117 เซนติเมตร และมีความกว้าง 55 เซนติเมตร มีรางรองลูกกลิ้งที่ใช้สำหรับเปลี่ยนบันไดเสียงอยู่ทั้ง 2 ข้าง
2.4 ตีต๊า(Aerophones) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า บ้างก็เรียกว่าโซนา ท่อลมของปี่ หรือตัวปี่ ทำจากไม้ดำ ขุดเป็นโพรงตลอดท่อลมปี่ การคัดเลือกไม้ที่จะนำมาทำนั้น จะต้องเลือกไม้ที่ไม่คด และไม่งอ
2.5 ล้อ(ฆ้องไม่มีปุ่ม) (Idiophones-gong) ทำหน้าที่ในการให้สัญญาณจังหวะเริ่มและจบแก่นักดนตรี อีกทั้งบรรเลงประกอบจังหวะในบทเพลง
2.6 ตั่วโก๋ว(Membranophones) กลองขนาดใหญ่ ตงโก๋ว กลองขนาดกลาง โซ๊ยโก๋ว กลองขนาดเล็ก ฉาบ(Idiophones-Concussion) และปัง(Idiophones-Stamped) เกราะไม้ ทำหน้าที่บรรเลงประกอบจังหวะในบทเพลง
การประสมวงดนตรี
การประสมวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส มิได้มีการจำกัดขนาด รูปแบบของวง และชนิดของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงของนักดนตรีไว้เป็นแบบแผน โดยการประสมวงดนตรีนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ คือ เจ้าภาพสามารถระบุขนาดของชุดพิธีกรรมที่ต้องการ และระบุขนาดของวงดนตรีที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงทฤษฎีของการผสมวง เพียงแต่ว่าจะต้องมีเครื่องดนตรีที่บรรเลงเป็นหลักๆ คือ หยี่ฮู้ พ้าฮี้ เอี่ยวคิ้ม และ ตีต๊า บางครั้งก็มีการนำห่วยเต็ก และเชลโลเข้ามาร่วมบรรเลงในวงด้วย ส่วนในด้านของเครื่องเคาะจังหวะของนักสวดนั้นมีแบบแผนตายตัวไม่สามารถเพิ่มหรือลดได้
การบันทึกโน้ต
การบันทึกโน้ตเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้น ใช้การบันทึกโน้ตตัวเลขในระบบสากลแบบเดียวกันกับที่นิยมใช้กันทั่วไปในวงดนตรีแต้จิ๋ว ซึ่งการบันทึกโน้ตในระบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ภายหลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ.1949 ซึ่งบรรดาสำนักวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ทำการสนับสนุนการศึกษาและการสะสมดนตรีต่างๆ ทั่วประเทศจีน มีนักศึกษาชาวจีนเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศจำนวนมาก โดยได้รับการบันทึกโน้ตดนตรีตามวิธีการของเชอเว (Cheve’ Method) มาจากญี่ปุ่นและได้รับความนิยมในเวลาต่อมา โน้ตเชอเวเป็นระบบการสอนของประเทศฝรั่งเศส โดยยายแพทย์ Emile Joseph Maurice Cheve’ อุทิศตัวเองเพื่อพัฒนาวิธีการสอนดนตรีโดยใช้ระบบการสอนนี้ ต่อมาเป็นที่นิยมสำหรับการบันทึกบทเพลงลักษณะดั้งเดิมต่างๆ ของจีน
วิธีการอ่านโน้ตตัวเลขในบทเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสในกรณีที่เป็น Key F นั้นมีวิธีการอ่าน ดังนี้
1. เลข 1 2 3 4 5 6 7 แทนโน้ตตัวที่ 1 2 3 4 5 6 7 ของบันไดเสียงฟา โดยอ่านออกเสียงเป็น ฟา ซอล ลา ที โด เร มี ตามลำดับ
2. ตัวโน้ตที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงทบที่ต่ำกว่าข้อ 1 กำหนดให้ใส่จุดข้างใต้ตัวเลข
3. ตัวโน้ตที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงทบที่สูงกว่าข้อ 1 กำหนดให้ใส่จุดข้างบนตัวเลข
4. โน้ตตัวหยุดแทนด้วยเลข 0
5. ในตอนต้นของโน้ตเพลงมีเครื่องหมายกำหนดอัตราจังหวะเท่านั้น เนื่องจากทุกเพลงที่ใช้นั้นอยู่ในบันไดเสียงฟาอย่างเดียวเท่านั้น
6. ไม่มีการใช้เครื่องหมายแปลงเสียงในการเขียนโน้ตตัวเลข
7. ค่าความยาวของตัวโน้ตใช้ _ มากำหนดร่วมกับตัวเลขในตำแหน่งหลังตัวเลข เช่น
เมื่อต้องการให้โน้ตเสียง ฟา มีค่าเท่ากับโน้ตตัวดำ ให้เขียนเป็น 1
เมื่อต้องการให้โน้ตเสียง ฟา มีค่าเท่ากับโน้ตตัวขาว ให้เขียนเป็น 1 _
8. ค่าความยาวของตัวโน้ตใช้ _ มากำหนดร่วมกับตัวเลขในตำแหน่งใต้ตัวเลข เช่น
เมื่อต้องการให้โน้ตเสียง ฟา มีค่าเท่ากับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น ให้เขียนเป็น 1
เมื่อต้องการให้โน้ตเสียง ฟา มีค่าเท่ากับโน้ตเขบ็ต 2 ชั้น ให้เขียนเป็น 1
9. การประจุดกระทำได้เช่นเดียวกันกับระบบโน้ตสากล เช่น
เมื่อต้องการให้โน้ตเสียง ฟา มีค่าเท่ากับโน้ตตัวดำประจุด ให้เขียนเป็น 1 .
10. มีการใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับระบบโน้ตสากลและให้ความหมายเช่นเดียวกัน คือ barline , double barline , tie , slur
อย่างไรก็ตาม การบันทึกโน้ตบทเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้นก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หมดทุกบทเพลง ไม่สามารถกำหนดบทเพลงได้แน่นอน หากเปลี่ยนนักดนตรีหรือผู้ประกอบพิธีไป บทเพลงก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คงเหลือแต่บทเพลงหลักๆ เท่านั้นที่ต้องบรรเลงเช่นเดิมในทุกพิธี การบรรเลงอาศัยการจดจำเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากนักดนตรีนั้นมีความเชี่ยวชาญในการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกงเต๊กมานาน อีกทั้งมีอายุมาก จึงไม่สะดวกนักที่จะต้องดูโน้ตอยู่ตลอดเวลา การบันทึกโน้ตจึงไม่มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างการประกอบพิธีกงเต๊กและการบรรเลงดนตรี
การบรรเลงดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กนั้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส ซึ่งมีส่วนที่สัมพันธ์กันระหว่างบทสวดและทำนองของดนตรี โดยชื่อของบทเพลงต่างๆ ที่ใช้เรียกกันนั้นก็ได้มาจากพิธีกรรมที่กำลังกระทำอยู่ในขณะนั้น โดยบทเพลงที่ใช้บรรเลงในการประกอบพิธีกงเต๊กนั้น ก็ไม่ได้มีการกำหนดบทเพลงไว้ตายตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ขนาดของการประกอบพิธี และทำนองสวดของนักสวดแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการกำหนดบทเพลงหลักที่ใช้ในการประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส ไว้ดังนี้
1. เพลงโล้ว เฮียง จั่ง (ทำนองช้า ทำนองที่ 1)
2. เพลงเฮียง ไฉ ยั๊วะ
3. เพลงโล้ว เฮียง จั่ง (ทำนองเร็ว)
4. เพลงอ่อ มี ถ่อ ฮุก
5. เพลงเชง เจ็ง
6. เพลงเตี๋ยว เล้ง
7. เพลงจุ้ง ตี่ จั่ง
8. เพลงฮง เจี๊ยะ กี๋
9. เพลงจั๊บ ฮึง เจ๊ก เฉียก(ทำนองที่ 1)
10. เพลงโล้ว เฮียง จั่ง (ทำนองช้า ทำนองที่ 2)
11. เพลงโล่ย ฮวด พุ้ง
12. เพลงจั๊บ ฮึง เจ๊ก เฉียก(ทำนองที่ 2)
13. เพลงจื่อ แซ กี๋ (ทำนองที่ 1)
14. เพลงเจง ตี่ กี๋
15. เพลงซา เชี่ย เตี๋ยว เล้ง
16. เพลงซา กุย อี
17. เพลงจื่อ แซ กี๋ (ทำนองที่ 2)
18. เพลงชุดโอยตี๊ หรือเพลงโอยถะ
19. เพลงชุดก๊วย เกี๊ย
20. เพลงจ๊ก เกี๊ย นั้ม
21. เพลงโล้ว เฮียง จั่ง (ทำนองช้า ทำนองที่ 3)
การประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสในปัจจุบัน ดนตรีถือเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของการประกอบพิธี ซึ่งในปัจจุบันการประกอบพิธีกงเต๊กได้รับความนิยมจากคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน แต่ในทางกลับกันนั้น ผู้ประกอบพิธีหรือที่เรียกกันว่านักสวดกลับมีจำนวนจำกัด เนื่องจากคุณสมบัติของการเป็นนักสวดนั้น ต้องอาศัยการพูด และการอ่านภาษาจีน อีกทั้งนักดนตรีที่บรรเลงดนตรีประกอบพิธีกงเต๊กมีจำนวนน้อย เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจที่จะศึกษาดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีนี้ และขาดการฝึกหัดถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ การบรรเลงเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กมีความหลากหลาย ไม่มีการกำหนดบทเพลงไว้ตายตัวขึ้นอยู่กับขนาดของพิธี(แบบใหญ่ แบบกลาง และแบบเล็ก) บทสวดของนักสวด(นักสวดแต่ละคนจะมีทำนองในการสวดที่แตกต่างกัน) จำนวนผู้เข้าร่วมพิธี(เมื่อมีผู้เข้าร่วมพิธีมาก เมื่อต้องเดินประกอบพิธี เพลงก็จะยาวมากขึ้น) เป็นต้น
ในด้านของดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส มีการใช้เครื่องดนตรีตะวันตก เช่น เชลโล เข้ามาร่วมบรรเลงด้วย เพื่อเพิ่มแนวเสียงในช่วงเสียงทุ้ม บางแห่งก็มีการใช้คีย์บอร์ดเข้าร่วมบรรเลง จึงทำให้รูปแบบของการประสมวงปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม การตั้งเสียงของเครื่องดนตรีตั้งให้ใกล้เคียงกับระบบเสียงสากล ซึ่งเหตุนี้ อาจเป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางดนตรี จนความเป็นดนตรีแบบดั้งเดิมหายไป และไม่เหลือทฤษฎีของดนตรีจีนที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กไว้เป็นร่องรอยในการสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกต่อไป
ในส่วนของบทเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาสนั้น ชี้ให้เห็นได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ในการประพันธ์บทเพลง โดยมีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กันของบทเพลง ทำให้เมื่อบรรเลงต่อเนื่องกัน ผู้ฟังจะรับรู้ได้ถึงความต่อเนื่องของลำดับพิธี ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส ด้วยเหตุนี้เองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัด สมาคม นักสวด นักดนตรี และนักวิชาการควรทำการจดบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลท่วงทำนองดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กไว้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวจีน เพื่อมิให้ถูกกลืนไปตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตก
เอกสารอ้างอิง
จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว. (2550). ดนตรีประกอบพิธีกงเต๊กไหหลำ : กรณีศึกษาคณะกงเต๊ก ด่านเฮ่งกุน (โกกุน). ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา) กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2536). ความรู้เรื่องจีนจากผู้เฒ่า. กรุงเทพฯ : นวสาร.
ทรงพล สุขุมวาท. (2545). ดนตรีจีนแต้จิ๋ว : กรณีศึกษาวงดนตรีคลองเตยเหลี่ยงหลักฮึง. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม.(ดนตรี). นครปฐม : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. (2545). พจนานุกรมจีนไทย ฉบับนักเรียน. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. (2547). ศัพทานุกรม จีน-ไทย ฉบับซินหัว. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น.
บัณฑร อ่อนดำ. (2517, มิถุนายน-กันยายน). ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับชาวจีนในประเทศไทย. วารสารธรรมศาสตร์. 4(1) : 89.
ปรานี วงษ์เทศ. (2539, มีนาคม). พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. ศิลปวัฒนธรรม. 17(5) : 179.
พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนวิเนตา. (2512). พิธีกงเต๊กในอุตตรนิกาย. ใน ปิยมาตานุสรณ์. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.
พวงทิพย์ เกิดทรัพย์. (2540). การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงพิธีศพของชาวจีนที่วัดหัวลำโพงในกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์
ม.ม. (มานุษยวิทยา) กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รัศมี เอื้ออารีย์ไพศาล. (2546). ดนตรีพิธีกงเต๊กจีนแคะ กรณีศึกษาโรงเจคิ้น ชูอำ. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม.(ดนตรี). นครปฐม : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
เรวดี อึ้งโพธิ์. (2545). การศึกษาดนตรีในพิธีกงเต๊กแบบอนัมนิกาย กรณีศึกษาคณะดนตรีของวัดโลกานุเคราะห์. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
เรวดี อึ้งโพธิ์. (2547). การศึกษาดนตรีประกอบพิธีกงเต๊ก(แบบจีนแต้จิ๋ว) ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่. ใน ประชุมวิชาการดนตรี ครั้งที่ 5. นครปฐม : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
วรชิน มั่งคั่ง. (2549). การศึกษาดนตรีพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส กรณีศึกษาคณะดนตรีโรงเจเป๋าเก็งเต็ง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา) กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วัลภา บุรุษพัฒน์. (2517). ชาวจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.
วีเกียรติ มารคแมน. (2539). “งิ้วแต้จิ๋ว” กับภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมดนตรี : กรณีศึกษาคณะเหล่าบ่วงนี้ชุงปัง. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม.(ดนตรี). นครปฐม : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศรีมหาโพธิ์. (ม.ป.ป.). ประเพณีธรรมเนียมจีน. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (ม.ป.ป.). จีนในไทย. ใน คนจีน 200 ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร. กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์.
ส.พลายน้อย. (2542). ประเพณีจีน. กรุงเทพฯ : เยลโล่การพิมพ์ (1998) จำกัด.
สนิทศักดิ์ สนิทศักดิ์ดี. (2518, 15 ธันวาคม). คนจีนในประเทศไทย. มิตรครู. 17(23) : 21.
สมบูรณ์ สุขสำราญ. (2530). ความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมของชุมชนชาวจีน. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสถียรโกเศศ. (2507). ประเพณีเก่าของไทย ประเพณีเนื่องในความตาย. พระนคร : บางกอกเวิลด์.
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2542). ความกตัญญูของชาวจีนที่สะท้อนผ่านพิธีกงเต๊ก : กรณีศึกษาพิธีกงเต๊กจีนไหหลำในสังคมไทย. งานวิจัย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.
สุพัตรา วิไลลักษณ์. (2548). การศึกษาดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส กรณีศึกษาศีลธรรมสมาคม. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
โสวัตรี ณ ถลาง. (2537). วัดญวน : บทบาทด้านพิธีกรรมและความสัมพันธ์ที่มีต่อชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. (ดนตรี). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.