ผศ.ดร.ตั้งปณิธาน อารีย์
ซอด้วง : ลักษณะทั่วไปและวิธีการบรรเลงขั้นพื้นฐาน
ลักษณะทั่วไปของซอด้วง
ซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมเล็ก มี 2 สาย สายทั้งสองทำด้วยเชือกไหม หรือเอ็น มีชื่อเรียกว่า “สายทุ้ม” และ “สายเอก” สายทุ้มเป็นสายด้านในมีเสียงทุ้มต่ำเรียกว่าเสียง “ซอล” สายเอกเป็นสายด้านนอกมีเสียงแหลมสูง เรียกว่าเสียง “เร” กระบอกซอทำด้วยไม้เนื้อแข็งขึงหน้าด้วยหนังงู มีคันทวนยาวประมาณ 72 เซนติเมตร มีลูกบิด 2 อัน หน้าซอกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร มีหย่องซอทำด้วยไม้ชิ้นเล็กๆ ขนาด 0.3 เซนติเมตร สำหรับหนุนสายซอ ซอด้วงมีคันชักสำหรับใช้สี นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง มีความโค้งยาวประมาณ 68 เซนติเมตร ขึงด้วยหางม้า และจะดังยิ่งขึ้นเมื่อใช้ยางสนถูที่สายหางม้าให้เกิดความฝืด (จรินทร์ เทพสงเคราะห์, 2557: 25)
ภาพที่ 1 ซอด้วง
ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
ท่านั่งในการบรรเลง
ท่าทางในการนั่งสีซอด้วง ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 นักดนตรีไทยจะต้องนั่งบรรเลงที่พื้น เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ
1. การบรรเลงในราชสำนักซึ่งมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช นักดนตรีจะต้องบรรเลงที่พื้นมิสามารถบรรเลงในที่สูงกว่าพระมหากษัตริย์ได้ (วิทยา อินทรเจียรวงศ์, 2545: 64)
2. วัฒนธรรมไทยแต่โบราณ มีความเรียบง่าย ไม่นิยมนั่งบนเก้าอี้ เห็นได้จากเวลาทานข้าวก็มักจะนั่งที่พื้นใช้มือเปิบข้าวเพื่อรับประทาน
3. บริบทของผู้ฟังซึ่งนั่งฟังดนตรีกับพื้น ตามทัศนะของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้กล่าวว่า “โบราณท่านไม่นั่งเก้าอี้ เพราะคนฟังทั้งหมดนั่งกับพื้น เมื่อเป็นเช่นนั้นคนที่สีซอต้องนั่งกับพื้น”(อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2523: 22)
ท่านั่งสีซอด้วงคือการนั่งพับเพียบบนพื้น จับคันทวนซอด้วงด้วยมือซ้าย ให้ได้กึ่งกลางโดยคันทวนอยู่ระหว่างนิ้วหัวมือมือและนิ้วชี้ ระยะห่างการจับให้ต่ำกว่ารัดอกลงมาเล็กน้อย โดยวางกระบอกซอด้วงไว้บนขาด้านซ้ายในตำแหน่งข้อพับติดกับลำตัว ให้คันทวนซอตั้งฉากให้ตรงไม่เอนไปข้างหน้าหรือเอนไปด้านข้าง ใช้มือขวาจับคันชักโดยการวางคันชักซอไว้บนนิ้วชี้ สอดนิ้วนางและกลางเข้าช่องว่างไม้คันชักและหางม้า วางนิ้วโป้งลงบนหางม้าและไม้คันชักให้กระชับไว้และให้นิ้วนางและนิ้วก้อยงอไว้ส่วนในเพื่อจะใช้ดันคันสีเข้าและออก ไม่นิยมการนั่งขัดสมาธิ
ภาพที่ 2 ท่านั่งในการบรรเลงซอด้วง
ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
การจับคันซอและคันชัก
การจับคันซอด้วง ให้ใช้มือซ้ายในการจับคันทวนซอใต้รัดอกประมาณ 1 นิ้ว โดยใช้ช่องว่างระหว่างนิ้วชี้ และนิ้วโป้ง หนีบคันทวนไว้ สำหรับการจับคันชักซอด้วง มีหลายวิธีแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนัก แต่วิธีที่นิยมมากที่สุดคือ การจับคันชักกซอแบบสามหยิบ คือ การแบ่งนิ้วเป็น 3 ส่วน ได้แก่ นิ้วโป้ง 1 ส่วน จับที่คันชักซอ ห่างจากกับหมุดคันชักประมาณ 1 นิ้วครึ่ง โดยให้ปลายนิ้วโป้งหันออกนอกลำตัว นิ้วชี้ชิดกับนิ้วกลาง 1 ส่วน จับที่คันชักซอ โดยให้ปลายนิ้วหันเข้าหาตัวผู้บรรเลง นิ้วนางชิดกับนิ้วก้อย 1 ส่วน โดยให้นิ้วนางอยู่ระหว่างคันชักซอกับหางม้าและปลายนิ้วนางสัมผัสกับหางม้า ส่วนนิ้วก้อยอยู่นอกหางม้าโดยหลังนิ้วก้อยสัมผัสกับหางม้า
ภาพที่ 3 การจับคันทวนและคันชักซอด้วง
ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
การเทียบเสียง การกดนิ้วและแบบฝึกหัดสำหรับผู้เริ่มเรียนซอด้วง
เมื่อผู้เรียนได้รู้จักส่วนประกอบของซอด้วง ทราบท่าทางการนั่งบรรเลง และทราบวิธีการจับคันทวนซอ คันชักซอแล้ว ขึ้นตอนต่อไปที่ควรทราบคือ การเทียบเสียงซอด้วง ซึ่งซอด้วงจะมีสาย 2 สาย สายที่อยู่ในลำตัวผู้บรรเลงเรียกว่าสายทุ้ม เทียบเสียงเป็นเสียง ซอล สายที่อยู่นอกลำตัวของผู้บรรเลงเรียกว่า สายเอก เทียบเสียงเป็นเสียง เร ซึ่งวิธีการเทียบเสียงนั้นผู้เรียนจะต้องมีโสตประสาทที่ดี รู้จักการฟังเสียงจึงจะสามารถเทียบเสียงซอด้วงได้ ข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มหัดซอด้วงด้วยตนเองอย่างง่ายที่สุดคือ การซื้อเครื่องเทียบเทียบของกีตาร์ (Tuner) ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป หรือการดาวน์โหลด (Download) แอพพลิเคชั่น (Application) สำหรับการเทียบเสียงเครื่องดนตรีสากล โดยสามารถพิมพ์แอพพลิเคชั่นค้นหาคำว่า Tuner และเลือกใช้ตามความชื่นชอบในสมาร์ทโฟน ของท่าน วิธีการใช้คือเมื่อท่านซื้อเครื่องเทียบเสียง หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาแล้ว ให้สีซอเทียบเสียงโดยให้สายทุ้มตรงกับเสียง บีแฟลต (B flat) และให้สายเอกตรงกับเสียง ฟา (Fa) ท่านก็จะได้เสียงซอด้วงที่สามารถบรรเลงได้อย่างไพเราะ หรือนักดนตรีบางท่านฟังเสียงจากเครื่องดนตรีเป็นก็สามารถจะนำเครื่องดนตรีที่มีมาตราฐานเสียง อาทิ ขลุ่ยเพียงออ ระนาด มาใช้ในการเทียบเสียงได้ เมื่อเทียบเสียงได้แล้วผู้เรียนก็สามารถเริ่มฝึกสีสายเปล่าเป็นจังหวะ โดยผู้รียนจะต้องรู้จักการฟังเสียงสายเปล่าให้มีความดังเสมอกัน ไม่มีเสียงอื่นๆมาสอดแทรก สามารถฝึกได้คือ ลากคันชักจนมือขวาที่จับคันชักเกือบติดกับสายซอ และค่อยๆลากคันชักโดยให้คันชักสัมผัสกับสายใน และนับ 1 2 3 4 เป็นจังหวะ ซึ่งสามารถเขียนโน้ตได้ดังนี้
– – – –
– – – ซ
– 1 – 2
– 3 – 4
เมื่อสีจนสุดคันชักแล้วให้สีคันชักเข้า เปลี่ยนเป็นสายเอก คือเสียงเร ด้วยวิธีการเดียวกัน
– – – –
– – – ร
– 1 – 2
– 3 – 4
– – – –
– – – ซ
– 1 – 2
– 3 – 4
– – – –
– – – ร
– 1 – 2
– 3 – 4
แบบฝึกหัดที่ 1 การไล่เสียงสายทุ้ม หรือสายใน
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
– ซ – ซ
แบบฝึกหัดที่ 2 การไล่เสียงสายเอก หรือสายนอก
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
– ร – ร
แบบฝึกหัดที่ 3 การไล่เสียงสายทุ้มและสายเอกสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
– ซ – ซ
– ร – ร
แบบฝึกหัดที่ 4 การควบคันชัก ออก ออก เข้า ในหนึ่งห้อง
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
– ซ ซ ซ
– ร ร ร
แบบฝึกหัดที่ 5 การสีเก็บ
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
ซ ซ ซ ซ
ร ร ร ร
เมื่อผู้ฝึกหัดซอด้วงทำแบบฝึกหัดทั้ง 5 แบบฝึกหัดได้แล้วก็เริ่มฝึกทำนองในบทถัดไปได้ ทั้งนี้ไม่ควรเร่งรีบในการฝึกหัด หากยังสีไม่ได้เสียงที่ชัดเจน ถูกต้องทั้งหมดก็ไม่ควรที่จะฝึกฝนในลำดับถัดไปเพราะจะทำให้พื้นฐาน ไม่ดี ดังนั้นพื้นฐานจึงมีความสำคัญที่ต้องให้คำนึงเป็นประการแรก
รายการอ้างอิง
จรินทร์ เทพสงเคราะห์. (2557). พื้นฐานดนตรีไทย. สงขลา: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยทักษิณ.
วิทยา อินทรเจียรวงศ์. (2545). การฝึกหัดซอด้วงเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อรชรวิทย์.
อุทิศ นาคสวัสดิ์. (2522). ทฤษฎีและปฏิบัติดนตรีไทย ภาค 1 ว่าด้วยหลักและทฤษฎีดนตรีไทย.
กรุงเทพฯ: ห.จ.ก.พัฒนศิลป์การดนตรีและละคร.