จิตรกรรมคนเหมือน : วัตถุความทรงจำของลูกสาวและแม่

ภาพเขียนจิตรกรรมคนเหมือนด้วยสีน้ำมัน “ลูกสาว”ชิ้นนี้นำเสนอประสบการณ์ของแม่ซึ่งเป็นครูศิลปะและลูกสาว ในช่วง พ.ศ. 2539 จัดแสดงผ่านนิทรรศการที่หอศิลปรัตนธัชมุนี (ม่วง) ณ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ลูกสาวในวัย 6 ปี ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแบบดั้งเดิม ลูกสาวสวมชุดที่ชื่นชอบที่สุดพร้อมกับความตื่นเต้น ตั้งใจจะนั่งเป็นแบบให้แม่วาดภาพ แต่แล้วลูกสาวผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็นั่งกลั้นใจอยู่ได้เพียงครู่หนึ่ง ยังไม่ทันที่จะลงสีบรรยากาศโดยรวมได้เสร็จ ภาพใบหน้าที่รู้สึกถึงความอึดอัดของลูกสาวก็ถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องฟิล์มอย่างรวดเร็ว พร้อมเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ของลูกสาวที่แสดงถึงสภาวะการหลุดพ้นจากการนั่งนิ่ง ๆ แข็งทื่อราวกับประติมากรรม พลันลูกสาวก็ไม่รอช้า ออกไปวิ่งเล่นโดยไม่คิดจะกลับมานั่งเป็นแบบอีกเลย แม่จึงจำเป็นต้องเขียนภาพนี้ต่อด้วยการดูต้นแบบจากภาพถ่าย ภาพผลงานชิ้นนี้จึงถูกสร้างขึ้นได้สำเร็จ และกลายเป็นสถานที่กักเก็บความทรงจำดั่งวัตถุที่ระลึกระหว่างแม่และลูกสาว 

ภาพจิตรกรรมคนเหมือนที่แม่วาดลูกสาวนี้ สามารถถูกมองว่าเป็นการตีความอดีตผ่านประสบการณ์และความรู้สึกเฉพาะบุคคล หรือเป็นความทรงจำส่วนบุคคล (Personal Memory) ในกรณีของภาพจิตรกรรมนี้ แม่ในฐานะศิลปินใช้ความทรงจำของตนเองในการบันทึกความรัก ความผูกพัน และอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับลูกสาว ภาพที่ถูกสร้างขึ้นจึงไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดความเป็นจริง แต่เป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกที่แม่มีต่อความทรงจำเกี่ยวกับลูกสาวในวัยเด็กด้วย และเมื่อได้รับชมภาพนี้อีกครั้งในปัจจุบัน ภาพเขียนนี้ก็ได้คืนประสบการณ์ในตัวให้กับผู้ชมอีกครั้ง มันนำพาประสบการณ์ และผัสสารมณ์ที่เกี่ยวข้อง ประกอบสร้างและนำเสนอใหม่อีกครั้ง การทำงานของสัญญะในภาพนี้อาจนำพาประสบการณ์อื่น ๆ ติดมาด้วย เช่น เมื่อเห็นภาพนี้ในปัจจุบันทำให้ระลึกได้ถึงเหตุการณ์ความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูก หรือการมองเห็นเก้าอี้ในภาพอาจทำให้ระลึกได้ถึงบรรยากาศความสุขที่ได้นั่งรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ภาพจิตรกรรมที่แม่วาดลูกสาวจึงไม่ใช่เพียงการบันทึกความทรงจำส่วนบุคคลของแม่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความทรงจำร่วม (Collective Memory) ของทั้งแม่และลูกสาว ประสบการณ์ที่ทั้งสองคนมีร่วมกัน รวมถึงเมื่อผลงานชิ้นนี้ถูกนำเสนอต่อพื้นที่สาธารณะมันก็ได้ส่งต่อประสบการณ์ และเรียกคืนประสบการณ์อื่น ๆ ของผู้รับชมด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจความทรงจำทางวัฒนธรรม การที่ภาพจิตรกรรมนี้สะท้อนถึงการแต่งกาย ทรงผม ข้าวของเครื่องใช้ อันเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม ทำให้ภาพนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำทางวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น การแต่งกายและลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพสะท้อนถึงค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรม และบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยนั้น มันอาจไม่ได้นำความจริงทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏ แต่มันนำพาเอาผัสสารมณ์ของผู้ที่มีประสบการณ์ร่วม ให้สามารถรับรู้ร่วมกันได้ ภาพนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดรูปลักษณ์ภายนอกของลูกสาว แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยง และกักเก็บความทรงจำทั้งในระดับส่วนบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงระดับสังคม