จะเข้ : ประวัติความเป็นมา และลักษณะทางกายภาพ

จะเข้ : ประวัติความเป็นมา และลักษณะทางกายภาพ

          เครื่องดนตรีของแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรมนั้น ต่างก็มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งการจำแนกเครื่องดนตรีของไทยนั้น จำแนกหมวดหมู่ของเครื่องดนตรี โดยอาศัยกิริยาในการปฏิบัติของผู้เล่นเป็นเกณฑ์สำคัญ กล่าวคือ เครื่องดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า  โดยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดนั้น หมายถึง เครื่องดนตรีที่อาศัยอากัปกริยาในการบรรเลงโดยใช้ปลายนิ้วมือดีด หรือใช้ไม้ เขาสัตว์ งา หรือวัสดุอื่นใดดีดบรรเลงไปตามสาย ให้สายสั่นสะเทือนเกิดเสียง ซึ่งปัจจุบันเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดที่บรรเลงร่วมอยู่ในวงดนตรีไทยมีเฉพาะจะเข้เท่านั้น

ประวัติความเป็นมาของจะเข้

          จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ทำเป็นรูปร่างเหมือนจระเข้ทั้งตัว ต่อมาจึงได้มีการดัดแปลงเป็นรูปร่างของจะเข้อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน(ราชบัณฑิตยสถาน. 2540 : 52)

          จะเข้เป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าแก้ไขมาจากพิณ ทำให้วางราบไปตามพื้น เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวกและไพเราะ ด้วยเหตุที่ตัวพิณแต่เดิมทำเป็นรูปร่างอย่างจระเข้ แต่ขุดให้กลวงเป็นโพรงข้างภายในเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวาน จึงเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ตามรูปร่างว่า “จะเข้” เช่นเดียวกับพิณของอินเดียที่ตอนตัวพิณเป็นรูปนกยูง ตอนปลายเป็นหางนกยูง ก็เรียกพิณชนิดนั้นว่า “มยุรี” แต่จะเข้ที่สร้างในตอนหลังนี้ได้คิดปรับปรุงแก้ไขกันขึ้นใหม่ ไม่ทำเป็นรูปจระเข้ทีเดียว ที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปนี้ เข้าใจว่าเพื่อประโยชน์ในทางเสียงและเพื่อความสะดวกเป็นหลัก ไทยรู้จักเล่นจะเข้มานานตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา การที่ทราบได้ว่าได้มีการเล่นจะเข้แล้วตั้งแต่สมัยนั้นก็เนื่องจากว่ามีกฎมณเฑียรบาล ออกมาครั้งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ. 1991 – 2031) กำหนดไว้ว่า “… อนึ่ง ในท่อน้ำสระแก้ว ผู้ใดขี่เรือคฤ เรือประทุน เรือกูบ และเรือมีศาสตราวุธ ใส่หมวกหัวนอนมา ชายหญิงนั่งมาด้วยกัน อนึ่ง ทะเลาะตีด่ากัน ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทนปับ โห่ร้องนี่นั่น ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามา ในท้ายสนมห้าม ถ้ามิได้ห้ามปรามเกาะกุม เอาถึงศาลาให้แก่เจ้าน้ำเจ้าท่า โทษเจ้าพนักงานถึงตาย…”  หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีผู้นิยมเล่นจะเข้ และเครื่องดนตรีอื่นๆ กันอย่างแพร่หลายจนล่วงล้ำเข้าไปใกล้เขตพระราชฐานจนถึงต้องมีการออกกฎมณเฑียรบาลขึ้น แต่ปรากฏว่าเพิ่งจะเอาจะเข้เข้ามาเล่นร่วมวงมาแต่ก่อนนั้น บางทีเครื่องดนตรีชนิดนี้จะเหมาะสำหรับเล่นเดี่ยว อีกทั้งในวงมโหรีเครื่องสี่ในสมัยนั้น ก็มีกระจับปี่ซึ่งเป็นเครื่องดีดชนิดเดียวกันเป็นประธานอยู่แล้ว หรืออาจจะถือเอาว่า จะเข้เป็นเครื่องดนตรีของต่างชาติ(นิภา  อภัยวงศ์. 2542 : 36)

          ในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราชมีข้อความตอนหนึ่งว่า “…แจรงทรอทรไนสารนยงยิ่ง จเข้ดิ่งสารสวรรค์…” แสดงว่า ได้มีการบรรเลงเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “จะเข้” มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ต่อมาจึงได้มีการดัดแปลงรูปร่างของจะเข้จนกลายมาเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน(พิภัช สอนใย. 2553 : 57)

ลักษณะทางกายภาพของจะเข้

          จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่โกลนขึ้นรูปและขุดเป็นโพรงภายในจากไม้ทั้งท่อน มีแผ่นไม้ปิดใต้ท้องไม้ที่นิยมใช้ทำจะเข้มักจะใช้ไม้ขนุน ลักษณะของจะเข้ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นสะพานเสียง(ส่วนท้าย) และส่วนที่เป็นกล่องเสียง(ส่วนหัวหรือส่วนกระพุ้ง) ขยายใหญ่กว่าส่วนแรก รูปแบบของกล่องเสียงหรือกระพุ้งมีอยู่สองแบบ คือ แบบใบมะยม เป็นแบบโบราณ และแบบใบขนุน(นิภา  อภัยวงศ์. 2542 : 36)

          จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมทำจากไม้ขนุน โดยการขุดจากไม้ขนุนทั้งท่อน ขุดให้เป็นโพรงภายในเพื่อแย่งออกให้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัว และส่วนท้าย ส่วนหัว คือส่วนที่เป็นกล่องเสียงของจะเข้มีลักษณะเป็นกระพุ้งใหญ่ยื่นออกมาคล้ายรูปใบพายขนาดใหญ่ มีความหนาประมาณ 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 52 เซนติเมตร กว้างประมาณ 29 เซนติเมตร ส่วนตอนท้ายวัดจากมุมกระพุ้งจนสุดยาวประมาณ 78 – 80  เซนติเมตร กว้างประมาณ 11.50 เซนติเมตร  ทั้งสองส่วนนี้รวมแล้วจะยาวประมาณ 130 – 132 เซนติเมตร และมีแผ่นไม้ปิดท้องโดยฉลุให้เป็นลาย เพื่อให้เสียงออก มีขารองรับยกระดับให้ตัวจะเข้สูงขึ้นจากพื้น 5 ขาอยู่ทางด้านส่วนหัวบริเวณมุมทั้ง 4 ของกระพุ้ง และอยู่บริเวณด้านปลายของส่วนท้าย 1 ขา  ขาแต่ละขาสูงประมาณ 7 เซนติเมตร เมื่อรวมระดับของจะเข้วัดจากพื้นถึงหลังของจะเข้ประมาณ 19 เซนติเมตร ทำหลังให้นูนและลาดลงข้างๆ ทั้งสองข้างเล็กน้อย มีสาย 3 สายโยงเรียดไปตามหลังของตัวจะเข้จากหัวไปทางท้าย มีลูกบิดประจำสาย สายละ 1 อัน สำหรับเร่งเสียงอยู่ทางส่วนท้ายของจะเข้ ห่างจากช่วงลูกบิดประมาณ 13 เซนติเมตร มีหย่องรับสายจากระหว่างหย่องมาทางด้านหัวจะเข้จะมีแป้นไม้เรียกกันว่า นม สำหรับรองนิ้วกดให้เกิดเสียงสูงต่ำ 11 อัน นมอันหนึ่ง จะสูงเรียงระดับลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่ 2 เซนติเมตรขึ้นไปจนสูง 3.5 เซนติเมตร(จรินทร์  เทพสงเคราะห์. 2544 : 59)  ซึ่งส่วนประกอบของจะเข้นั้น มีชิ้นส่วนต่างๆ ดังนี้(นิภา  อภัยวงศ์. 2542 : 37 – 39)

1.         ตัวจะเข้

2.         ไม้ปิดท้องจะเข้

3.         ขาจะเข้

4.         หลักผูกสาย

5.         โต๊ะทองเหลือง

6.         ลูกบิด

7.         นม

8.         หย่อง

9.         รังไหม(รางไหม)

10.     สายจะเข้

11.     แหน

12.     ไม้ดีด

 

          1.    ตัวจะเข้  นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เนื่องจากให้น้ำเสียงที่ไพเราะและลงน้ำมันชักเงาได้สวยงาม ไม้ที่ใช้จะเป็นไม้ท่อนใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 0.40 เมตร ยาว 1.5 เมตร หนา 0.15 เมตร ไม้ที่จะนำมาทำต้องทิ้งให้แห้งสนิท หากใช้ไม้ที่ยังไม่แห้งสนิท ภายหลังจะเข้จะบิดโก่งหรือเสียงเปลี่ยนไปได้

          2.    ไม้ปิดท้องจะเข้ นิยมใช้ไม้สนที่ได้จากลังบรรจุสินค้า เนื่องจากมีราคาถูกที่มีขนาดกว้างพอเหมาะ นำมาเลื่อยและไสให้ได้ขนาดความหนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร แล้วเจาะรูระบายเสียง ขัดแต่งด้วยบุ้ง และกระดาษทรายจนเรียบร้อยจึงนำไปติดกับตัวจะเข้ด้วยกาวหรือยึดบางจุดด้วยตะปู การเจาะรูระบายเสียงนี้แบ่งออกได้สองส่วน คือ ส่วนที่ตรงกับกระพุ้งจะเจาะคล้ายรังผึ้งเป็นรูกลมบ้าง รูปหยดน้ำค้างบ้าง หรือฉลุเป็นลวดลายให้สวยงาม อีกส่วนหนึ่งจะเป็นรูระบายเสียงที่เจาะตลอดช่วงตัวจะเข้ จำนวน 3 ช่อง รูระบายเสียงนี้ต้องทำให้มีขนาดพอดี เพื่อให้ได้เสียงจะเข้ที่กังวานและดังพอดี

          3.    ขาจะเข้ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ หรืองาช้าง(จะเข้งา) บางทีก็ใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้โมก ไม้แก้ว มะนาวป่า ทำเช่นกันทั้งนี้เพื่อให้สีไม้เนื้ออ่อนที่คล้ายกับสีงาช้าง หรือต้องการให้สีของขาจะเข้กับสีตัวจะเข้ให้ดูสวยงาม โดยใช้วิธีการกลึงให้ได้ขนาดที่ต้องการ แล้วจึงทาด้วยน้ำมันชักเงาก่อนนำไปติดกับตัวจะเข้

          4.    หลักผูกสาย ทำด้วยทองเหลืองแท่งนำมาเชื่อมต่อและแต่งด้วยตะไบให้สวยงามมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ด้านล่างทำเป็นขา 2 ขาสำหรับติดกับตัวจะเข้ โดยทำเป็นเกลียวแล้วขันน็อตติดด้านล่าง

          5.    โต๊ะทองเหลือง เป็นตัวรับการสั่นสะเทือนของสายไปยังกล่องเสียง หรือกระพุ้ง ตัวโต๊ะทำด้วยทองเหลือง 4 แผ่นบัดกรีต่อกันเป็นกล่องเล็กๆ คล้ายกล้องไม้ขีดมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร สูง 2 เซนติเมตร ด้านหน้าฉลุเป็นลวดลายโปร่งให้สวยงาม ด้านบนเป็นแผ่นเรียบที่ดัดโค้งเล็กน้อยมาจากแผ่นหลัง บัดกรีติดกับแผ่นด้านหน้าที่ฉลุเป็นลาย

          6.    ลูกบิด ใช้ไม้หรือวัสดุเช่นเดียวกับที่ใช้ทำขาจะเข้ โดยนำมาเหลาขึ้นรูปกลมมีขนาดความยาวประมาณ 23 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร จากนั้นจึงนำไปกลึงเป็นรูปร่างแล้วกรีดตกแต่งลายเส้น ขัดกระดาษทรายลงน้ำมันชักเงา

          7.    นม มีอยู่ 11 นม มีขนาดจากสูงไปหาต่ำลดหลั่นกันตามลำดับ ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่มีเนื้อไม้ละเอียดมากๆ เช่น ไม้โมกมัน นำมาฉลุเป็นรูปขาหยั่งคล้ายตัว A ตัด ตกแต่งเท้าและส่วนโค้งด้วยสิ่วและกระดาษทราย ด้านสันติดสาบนมทำด้วยผิวไม้ไผ่เพื่อช่วยให้แข็งแรงทนทานต่อการเสียดสี และให้เกิดจุดสัมผัสกับสายเพียงจุดเดียวทำให้เสียงแน่นขึ้น

          8.    หย่อง ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้โมกมัน ขนาดประมาณ 6.5 เซนติเมตร ด้านบนตกแต่งให้โค้งมน ตรงกลางเจาะเป็นรูตกแต่งให้โค้งรับกับขอบด้านนอก ด้านล่างทำเป็นเดือย 2 ข้าง สำหรับเสียบติดกับตัวจะเข้ หย่องมีหน้าที่รองรับสายจะเข้ที่ขึงมาจากลูกบิดไปยังหลักสาย และยกระดับสายทั้งสามสายของจะเข้ให้อยู่ในระดับเดียวกัน และสัมพันธ์กับความสูงของนมและโต๊ะจะเข้ สมัยก่อนนิยมทำด้วยงาหรือเขาสัตว์

          9.  รังไหม(รางไหม) นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน มักทำจากวัสดุชุดเดียวกันกับที่นำมาทำลูกบิดและขาในจะเข้ตัวเดียวกัน ทำหน้าที่เสริมขอบช่องรังไหม มีลักษณะแบนคล้ายกรอบช่อง ขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร

          10.     สายจะเข้ จะเข้มีอยู่ 3 สาย ได้แก่

          สายเอก เป็นสายที่ตั้งเสียงสูง อยู่ในตำแหน่งที่ 1(สายนอกสุดจากตัวผู้เล่น) แต่เดิมเป็นสายไหมฟั่นเกลียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.20 มิลลิเมตร จะเข้ที่ใช้สายไหมจะมีความไพเราะน่าฟังมาก เนื่องจากสายไหมจะเป็นสายเกลียวกินแหนได้ดี ปัจจุบันใช้สายไนลอนแทน เนื่องจากสายไหมไม่ทนทาน ขาดง่าย

          สายทุ้ม เป็นสายที่อยู่ในตำแหน่งที่ 2(ถัดเข้ามาจากสายเอก) เดิมใช้สายไหมเช่นเดียวกับสายเอก ปัจจุบันใช้สายไนลอนแทน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 มิลลิเมตร ตั้งเสียงไว้ต่ำกว่าสายเอกอยู่ 3 ขั้นคู่ จึงมีเสียงที่ทุ้มและกังวาน

          สายลวด หรือสายฉ่าง เป็นสายที่อยู่ในตำแหน่งที่ 3(สายในสุด) ใช้สายลวดทองเหลือขนาดประมาณ 1.20 มิลลิเมตร เวลาดีดจะออกเสียงกินแหนเป็นเสียงโลหะกระทบดังฉ่างๆ(สายลวดกระทบโต๊ะทองเหลือง) จึงเรียกว่า สายฉ่าง

          11.          แหน เป็นส่วนที่ทำให้เสียงจะเข้เกิดความกังวานโดยการผิวไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ สอดหนุนสายจะเข้ให้ลอยแล้วปรับระยะให้จุดสัมผัสของสายจะเข้กับโต๊ะมีเพียงจุดเดียว เวลาดีดสายจะเข้จะเกิดการสั่นสะเทือนและเสียดสีกับผิวโต๊ะทองเหลือง จึงทำให้เกิดเสียงที่กังวานไพเราะต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ

          12.    ไม้ดีด นิยมทำด้วยงา หรือเขาสัตว์หรือไม้เนื้อแข็ง ลักษณะของรูปทรงไม้ดีดจะเข้ มีหลายแบบด้วยกัน เช่น ไม้ดีดปลายแหลม ไม้ดีดทรงจำปี ซึ่งรูปทรงของไม้ดีดจะเข้ส่งผลต่อเสียงและการดีดด้วย รูปทรงไม้ดีดทรงจำปีส่วนตรงกลางจะป่อง หัวไม้ดีดมีลักษณะบานออก ส่วนที่พันจะเว้าเข้าไปเพื่อมัดเชือกได้กระชับมากขึ้น ส่วนไม้ดีดทรงปลายแหลมส่วนหัวไม้และตรงกลางมีขนาดเท่ากัน หางปลายไม้ค่อยๆ เรียวลง ผู้บรรเลงสามารถเลือกไม้ดีดได้ตามความถนัด ส่วนเชือกพันไม้ดีด มักทำด้วยไหมพรมหรือด้าย ความยาวให้พอดีกับการพันนิ้ว คือไม่ยาวและไม่สั้นจนเกินไป ปลายของเชือกพันผู้บรรเลงนิยมถักเป็นหางเปีย ทั้งนี้ให้สะดวกกับการขมวดปลายเชือก

เอกสารอ้างอิง

จรินทร์  เทพสงเคราะห์. (2544). เอกสารประกอบการสอนวิชาทักษะดนตรี 1. สงขลา : ภาควิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ.

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2530). สังคีตนิยมว่าด้วยเครื่องดนตรีไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

ชิ้น ศิลปบรรเลง, คุณหญิง และลิขิต จินดาวัฒน์. (2521).  ดนตรีไทยศึกษา. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

ธนิต อยู่โพธิ์. (2530). หนังสือเครื่องดนตรีไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

นิภา  อภัยวงศ์. (2542).  นิภา อภัยวงศ์ ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พรราชทานเพลิงศพครูนิภา อภัยวงศ์. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์.

พิภัช สอนใย. (2553). การบรรเลงจะเข้. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2540). สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคคีตะ-ดุริยางค์. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ศิวศิษฎ์ นิลสุวรรณ. (2554). วิธีการประดิษฐ์จะเข้ให้มีคุณลักษณะเสียงดัง กังวาน ใส และการตกแต่งคุณภาพเสียง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.