จะเข้ : การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติ(2)
การปฏิบัติจะเข้มีเทคนิควิธีที่ผู้บรรเลงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในหลักทฤษฎี โดยต้องคำนึงถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้ในเรื่องต่างๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติเทคนิควิธีต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความอดทน พากเพียรในการฝึกซ้อม เพื่อให้สามารถปฏิบัติจะเข้ให้เกิดความชำนาญ และเกิดรสมือที่ไพเราะ
การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้
การปฏิบัติจะเข้ผู้บรรเลงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความอดทน พากเพียรในการฝึกซ้อมเพื่อให้สามารถปฏิบัติจะเข้ได้อย่างไพเราะ โดยผู้บรรเลงจะต้องเรียนรู้ถึงเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติทำนองเพลงต่างๆ ได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้ จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดในส่วนต่างๆ ได้แก่ การวางจะเข้ การสำรวจความพร้อมของจะเข้ ท่านั่ง การพันไม้ดีดและการใช้ไม้ดีด ท่าจับจะเข้ และการเทียบเสียง ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอข้อมูลที่ต่อเนื่องจากบทความจะเข้ : การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติ(1) ที่ได้นำเสนอไปแล้วในคราวที่ผ่านมา โดยบทความนี้จะกล่าวถึงท่าจับจะเข้ และการเทียบเสียง
1. ท่าจับจะเข้
เมื่อพันไม้ดีดเรียบร้อยแล้ว ให้วางมือซ้าย และมือขวา ดังนี้
1.1 มือซ้ายเป็นมือบังคับเสียง
1.1.1 ให้มืออยู่ในลักษณะหย่งนิ้ว ไม่เหยียดนิ้วมือตรง
1.1.2 กดด้วยบริเวณท้องนิ้ว ห่างจากปลายนิ้วประมาณ 1 เซนติเมตร โดยไม่กาง และไม่เกร็งนิ้วอื่น
1.1.3 กดสายทางด้านซ้ายของนม เพื่อให้เกิดเสียงตามต้องการ
1.1.4 ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะไว้ที่ข้างตัวจะเข้เพื่อประคองไว้และเป็นจุดยันให้มืออยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ยกขึ้น หรือเลื่อนมือมากเกินความจำเป็น
1.1.5 การวางนิ้วและการใช้นิ้ว
การวางนิ้วและการใช้นิ้วเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เล่นจะเข้ได้ดี และมีท่าทางที่สวยงามการลงนิ้วจะต้องกดคุ่มๆ บนแต่ละนมตามเสียงที่ต้องการปกติจะใช้นิ้ว 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ส่วนนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อยนั้น จะใช้ช่วยเมื่อเวลาดีดถ่วงจังหวะ(เสียงทิงนอย) เมื่อเล่นเสียงธรรมดาก็ใช้แต่ 3 นิ้วกดคุ่มๆ ดีดให้ได้เสียงที่กังวานชัด เมื่อต้องการถ่วงจังหวะก็ใช้นิ้วหัวแม่มือด้านมีเล็บ กดสายลวดให้ตรงกับเสียงที่นิ้วชี้กดในขณะนั้น หากเสียงที่เล่นขณะนั้นไปตกที่นิ้วนางก็จะใช้นิ้วก้อยช่วยเมื่อต้องการดีดถ่วงจังหวะแตกต่างจากการใช้นิ้วหัวแม่มือตรงที่ต้องคว่ำนิ้วลงแล้วใช้หลังเล็บกดสาย แต่นิ้วก้อยนั้นใช้ปลายนิ้วมือกดสายลงไป(นิภา อภัยวงศ์. 2542 : 42)
หลักทั่วไปของการใช้นิ้วในการบรรเลงจะเข้สำหรับการใช้นิ้วแรกเพื่อขึ้นต้นเพลงนั้น หากทำนองของเพลงเริ่มดำเนินทำนองจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูง ผู้บรรเลงจะต้องใช้นิ้วนางเป็นนิ้วแรกในการเริ่มต้น หากทำนองของเพลงเริ่มดำเนินทำนองจากเสียงสูงไปหาเสียงต่ำ ผู้บรรเลงจะต้องใช้นิ้วชี้เป็นนิ้วแรกในการเริ่มต้น(ขำคม พรประสิทธิ์. 2548 : 17)
นอกจากนี้ นิภา อภัยวงศ์(2542 : 42 – 43) ได้กล่าวถึงศัพท์ที่ใช้ในการเรียกการวางนิ้วลักษณะต่างๆ ดังนี้
นิ้วเรียง เป็นการใช้นิ้วชี้ กลาง และนาง กดบนนมจะเข้ เมื่อต้องการบรรเลงเสียงที่ต่อเนื่องกัน เช่น ต้องการบรรเลงเสียงบนนมที่ 1, 2, 3 หรือ นมที่ 7, 6, 5 ตามลำดับ นิ้วเรียงจะใช้ได้ทั้งลำดับขึ้นและลำดับลง หากบรรเลงเรียงลำดับขึ้น ก็จะเริ่มด้วยนิ้วนางก่อนแล้วจึงใช้นิ้วกลางและนิ้วชี้ตามลำดับ แต่ถ้าเล่นบรรเลงลำดับลงก็จะเริ่มด้วยนิ้วชี้ก่อนแล้วจึงใช้นิ้วกลางและนิ้วนางตามลำดับ
นิ้วข้าม เป็นการใช้นิ้วนาง และนิ้วชี้ในการบรรเลงทำนองที่ต้องเล่นข้ามเสียง ไม่ได้เรียงลำดับกัน เช่น ต้องการบรรเลงในเสียงนมที่ 1 และนมที่ 3 หรือจากนมที่ 5 ไปนมที่ 7 ก็จะเริ่มด้วยการใช้นิ้วนางกดลงในเสียงแรก แล้วจึงก้าวนิ้วชี้ไปกดเสียงที่สองในการดีดเสียงต่อมา ในทำนองเดียวกัน หากเป็นการไล่เสียงลง เช่น จากนมที่ 3 ลงมาหานมที่ 1 ก็ต้องเริ่มด้วยการใช้นิ้วชี้ก่อน แล้วจึงตามด้วยการใช้นิ้วนางในการบรรเลงตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสะดวกรวดเร็วและดูสวยงามในการใช้นิ้วในการบรรเลง
นิ้วรุก-นิ้วร่น หลังจากที่ใช้นิ้วเรียงและนิ้วข้ามในการบรรเลงแล้ว หากยังมีเสียงที่ยังต้องการบรรเลงอย่างต่อเนื่องอีก ถ้าเป็นการบรรเลงที่ลำดับเสียงขึ้น จะต้องใช้นิ้วชี้กดเล่นรุกนิ้วขึ้นไปยังตำแหน่งเสียงที่ต้องการ เช่น การบรรเลงเสียงของนมที่ 1, 2, 3, 4, 5 ติดต่อกัน นิ้วที่ใช้เวลาดีดบนนมที่ 1, 2, 3 จะเป็นนิ้วเรียง คือ นิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วชี้ ส่วนนิ้วที่กดเวลาดีดบนนมที่ 4, 5 นั้นจะเป็นนิ้วชี้ที่กดรุกขึ้นไป เรียกว่า “นิ้วรุก” ในทำนองที่กลับกัน หากเป็นการบรรเลงลำดับเสียงลง ถ้ามีเสียงที่ยังต้องการเล่นต่อไปอีก หลังจากใช้นิ้วเรียงหรือนิ้วข้ามไปแล้วก็จะใช้นิ้วนางกดลงเล่นเสียงต่อไป คล้ายกับนิ้วรุก แต่เป็นการบรรเลงร่นลงมาโดยใช้นิ้วนาง ลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า “นิ้วร่น” โดยนิ้วรุกเป็นการใช้นิ้วชี้ในการบรรเลงต่อเนื่องขาขึ้น ส่วนนิ้วร่นเป็นการใช้นิ้วนางในการบรรเลงต่อเนื่องขาลง
นิ้วสะบัดขึ้น คือ การใช้นิ้วนาง – กลาง – ชี้ กดเล่นเสียงเรียงกันสามเสียงจากต่ำไปหาเสียงสูง เช่น กดนมที่ 4, 5, 6 และกรีดนิ้วขึ้นจากนมอย่างรวดเร็ว ให้สัมพันธ์กับการใช้ไม้ดีดสะบัดสามเสียง คือ เข้าออกเข้า โดยเร็วเช่นกัน
นิ้วสะบัดลง คือ การใช้นิ้วชี้ – กลาง- นาง กดเล่นเสียงเรียงกันสามเสียงจากเสียงสูงไปหาเสียงต่ำ เช่น กดนมที่ 6, 5, 4 และกรีดนิ้วขึ้นจากนมอย่างรวดเร็วให้สัมพันธ์กับการใช้ไม้ดีดสะบัดสามเสียง คือ เข้าออกเข้า โดยเร็วเช่นกัน
1.2 มือขวา เป็นมือที่ดีดให้เกิดเสียง
1.2.1 คว่ำมือที่พันไม้ดีดอย่างเหมาะสมแล้วในลักษณะตะแคงมือออกด้านนอกเล็กน้อย โดยใช้ส้นมือทางด้านนิ้วก้อยวางเป็นจุดหลักในการปฏิบัติ ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างโต๊ะกับนมที่ 11
1.2.2 นิ้วหัวแม่มือจะต้องเหยียดตรงและไม่ดันไม้ดีดด้วยการงอนิ้วหัวแม่มือ ส่วนนิ้วที่เหลือจะอยู่เรียงชิดกับนิ้วชี้เพื่อเป็นหลักหรือกำแพงให้กับนิ้วชี้ได้พัก ในลักษณะเช่นนี้ไม้ดีดจะอยู่ในแนวตรงตลอดเวลา (ไม่เขี่ย หรือควักสายระหว่างบรรเลง)
2. การเทียบเสียง
จะเข้เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ฐานเสียงที่เกิดจะเกิดจากการสั่นสะเทือนของสายที่ถูกดีดแล้วสายไปเสียดสีกับผิวหลังโต๊ะทองเหลือทำให้ได้เสียงที่ใสกังวานและไพเราะ ฉะนั้นควรหนุนสายจะเข้ให้ลอยขึ้นเพื่อให้สายจะเข้สัมผัสกับหลังโต๊ะเพียงจุดเดียว โดยการเหลาผิวไม้ไผ่เล็กๆ รองระหว่างสายกับโต๊ะทองเหลืองแล้วปรับเลื่อนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เนื่องจากหลังโต๊ะทองเหลืองมีความโค้งมนเวลาดีดสายก็จะสามารถกระพือได้มากและเสียดสีกับโต๊ะได้ดี ซึ่งเรียกว่า “กินแหน”(นิภา อภัยวงศ์. 2542 : 40)
ขำคม พรประสิทธิ์(2548 : 13) ได้กล่าวถึงการเทียบเสียงจะเข้ไว้ดังนี้
สายเอก ตรงกับเสียงโด การเทียบเสียงต้องเทียบให้เข้ากับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ โดยปิดนิ้วทั้งหมด
สายทุ้ม ตรงกับเสียงซอล(ต่ำ) การเทียบเสียงต้องเทียบเสียงต่ำลงเป็นคู่สี่ของสายเอก
สายลวด ตรงกับเสียงโด(ต่ำ) การเทียบเสียงต้องเทียบเสียงเดียวกับสายเอก หากแต่ให้ระดับเสียงต่ำลงมาเป็นคู่แปด
หากผู้เทียบเสียงจะเข้เป็นผู้หัดใหม่ ไม่สามารถฟังจากเสียงขลุ่ยเพียงออได้ วิธีเทียบเสียงอย่างง่ายคือ บิดสายเอกให้อยู่ในระดับเสียงที่พอประมาณ หลังจากนั้นเอานิ้วชี้กดนมที่ 3 ของสายทุ้มเทียบเสียงสายทุ้มให้เข้ากันกับเสียงสายเปล่าของสายเอก เมื่อได้เสียงที่ถูกต้องแล้วไห้ดีดสายเปล่าของสายเอกกับสายเปล่าของสายลวดเทียบเสียงให้เข้ากันโดยระมัดระวังที่จะบิดสายให้ตึงจนเกินไปจนสายขาดได้ วิธีเทียบเสียงสายลวดนั้นผู้เทียบเสียงสามารถดีดสายเปล่าสายกลางเทียบกับนมที่ 4 ของสายลวด และฟังดูให้ได้เสียงที่เท่ากัน
เอกสารอ้างอิง
ขำคม พรประสิทธิ์. (2546). การผูกกลอนเพลงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของไทย ใน ที่ระลึกงานส่งเสริมดนตรีไทยภาคใต้ ครั้งที่ 16. สงขลา : มหาวิทยาลัยทักษิณ.
ขำคม พรประสิทธิ์. (2548). การดีดจะเข้เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ขำคม พรประสิทธิ์. (ม.ป.ป.). เอกสารคำสอน เรื่อง การดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายไทย รายวิชาทักษะดุริยางค์ไทย 3 วิชาเอกเครื่องสายไทย รหัสวิชา 3503-242. กรุงเทพฯ : ภาควิชาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิภา อภัยวงศ์. (2542). นิภา อภัยวงศ์ ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พรราชทานเพลิงศพครูนิภา อภัยวงศ์. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์.
ปาหนัน คำฝอย. (2553). การพัฒนาระบบบันทึกโน้ตเพลงไทยเดิมสู่มาตรฐานสากล. ปริญญานิพนธ์ ปร.ด.(วัฒนธรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์. (2543). ประวัติการบันทึกโน้ตเพลงในดนตรีไทย ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 19-20(1) : 182 – 215.
พิภัช สอนใย. (2553). การบรรเลงจะเข้. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.