บทคัดย่อ
วรรณคดีกับศิลปะทุกแขนงล้วนแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้ศิลปะของไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมานับพันปี ตั้งแต่สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าจะมีวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยผ่านการหล่อหลอมและผสมผสานทั้งตะวันออกและตะวันตก แต่ในปัจจุบันศิลปะไทยก็ยังคงรักษารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไว้อย่างเด่นชัดสามารถถ่ายทอดความงดงาม ความประณีตบรรจง จินตนาการ และความรู้สึกนึกคิด ผสมผสานกับการอ่านวรรณกรรมและวรรณคดีจนเกิดเป็นความซาบซึ้งทางสุนทรียภาพที่สอดแทรกอยู่ในศิลปะแขนงต่างๆ
คำสำคัญ สุนทรียภาพ, สุนทรียภาพกับศิลปะแขนงต่าง ๆ
บทนำ
“ศิลปะ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. (2554 : 1144) ให้ความหมายถึง “ฝีมือ” ฝีมือการช่าง การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์; (กลอน) เป็นชื่ออาวุธประเภท “ศร” เช่น “งามเนตร ดังเนตรมฤคมาศงามขนงวงวาดดังคันศิลป์” (จากเรื่องอิเหนา) หรือจากข้อความที่ว่า “พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร พิศขนง ก่งงอนดั่งคันศิลป์” (รามเกียรติ์ ร.1) ตามรูปศัพท์เป็นคำภาษาสันสฤตหากเป็นคำภาษาบาลีเขียนเป็น “สิปฺป” แปลว่า “ฝีมืออย่างยอดเยี่ยม” หรือแม้แต่ย้อนหลังไปในพจนานุกรมฉบับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ“ศิลปะ” หมายถึง ฝีมือ ฝีมือทางการช่างการทำให้วิจิตรพิสดาร เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ การแสดงออกทางอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรงเป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์.(ส. ศิลฺป ป.สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม)
ศิลปกรรมไทยในแขนงต่างๆ
ศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ จากความเลื่อมใสศรัทธาและความภูมิใจในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความงามแขนงต่างๆ ดังที่ประสิทธิ์ กาพย์กลอนและนิพนธ์ อินสิน (2533 : 23) กล่าวถึงศิลปกรรมไทยไว้ว่า ศิลปกรรมไทยซึ่งสงเคราะห์เข้าตามหลักวิจิตรศิลป์ อันเป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความประณีตงดงาม แบ่งออกเป็น 6 แขนง คือ
1. สถาปัตยกรรม
2. จิตรกรรม
3. ประติมากรรม หรือ ปฏิมากรรม
4. นาฏศิลป์
5. ดนตรีและบทเพลงจากดนตรี
6. วรรณคดี
ในบรรดาศิลปกรรมไทยทั้ง 6 แขนงดังกล่าวข้างต้น เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาโดยตรงส่วนศิลปะแขนงอื่น ๆ เป็นลักษณะเด่นที่แสดงความเป็นไทย ทั้งเฉพาะแขนงและโดยส่วนรวมดังรายละเอียดต่อไปนี้
สถาปัตยกรรม ได้แก่ ศิลปะที่เกี่ยวกับการก่อสร้างศิลปกรรมไทยแขนงนี้มีหลายชนิดดังนี้ ปราสาท คือ เรือนมียอดโดยเฉพาะเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินทั้งส่วนพระองค์และส่วนราชการบ้านเมืองแต่ส่วนมากมักมิใช่เป็นที่ประทับเพราะเป็นที่ประดิษฐาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้ประกอบพิธีตามแบบโบราณราชประเพณี หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้รับแขกเมืองเพื่อเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง ตัวอย่างปราสาท ที่สำคัญของไทย เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในรัชกาลที่ 1 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์สร้างในรัชกาลที่ 3 พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัย สร้างในรัชกาลที่ 4 เป็นต้น
โบสถ์และวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างในศาสนา โบสถ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นการอุปสมบทหรือการบวช การถวายผ้ากฐิน และการฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น ส่วนวิหารใช้เฉพาะการจำศีลภาวนา รูปลักษณะของโบสถ์และวิหารคล้ายคลึงกัน เฉพาะโบสถ์นั้นต้องมีกำแพงแก้วหรือเสมาล้อมรอบเพราะ “เสมา” หมายถึง หลักแสดงเขตของโบสถ์ซึ่งกำหนดเอาไว้ให้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาประชุมทำพิธีต่าง ๆ ในศาสนา ส่วนวิหารไม่ต้องมีเสมา ทั้งโบสถ์และวิหารจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประธานอยู่ลักษณะของโบสถ์และวิหารมักจะมีหลังคาสามเหลี่ยมใหญ่ซ้อนกันหลายชั้นบนยอดหลังคาแต่ละชั้นประกอบด้วยตัวช่อฟ้านาคสะดุ้ง และใบระกา จั่วในหลังคาประดับด้วยภาพหรือลายแกะสลักไม้บางแห่งเป็นรูปลงรักปิดทอง และประดับกระจก ต่อจากตัวหลังคาที่แท้ก็มีหลังคาปีกนกเสริมต่อมาอีก 1 หรือ 2 ชั้น หลังคาสามเหลี่ยมนี้ตั้งอยู่บนผนังและเสา
สถูปเจดีย์ สร้างขึ้นเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าซึ่งเห็นกันอยู่ตามวัดทั่วไปสถูปเจดีย์ที่ถูกต้องมักจะมีส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ องค์สถูป หรือ ระฆัง หมายถึง การก่อพูนอิฐหรือหินเป็นเนินกลม ๆ แท่นหรือฐาน ตั้งซ้อนบนองค์สถูป และส่วนยอด สถูปเจดีย์ยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ เจดีย์กลม เจดีย์เหลี่ยม และเจดีย์ย่อมุม ฐานเจดีย์จะสร้างเป็นฐานเฉียง บอกให้รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนล้วนแปรสภาพและแตกสลายไปในที่สุด
1. บัวคว่ำ 3 ชั้น หมายถึง โลกนรก โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์
2. ปล้องไฉน หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น และพรหมโลก 16 ชั้น ซึ่งแบ่งไว้เป็น 2 ตอนเรียง
ตามลำดับ
3. ลูกแก้ว ซึ่งอยู่ปลายยอดเจดีย์ เป็นชั้นอรูปพรหม
4. หยาดน้ำค้าง หมายถึง พระนิพพาน
ปรางค์ หรือที่เรียกว่าพระปรางค์นั้น ถือว่าเป็นเจดีย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเราได้รับอิทธิพล มาจากอินเดีย ลักษณะของปรางค์เป็นสถูปที่มียอดสูงขึ้นไป รูปคล้ายต้นกระบองเพชร และมีฝักเพกา แยกเป็นกิ่ง ๆ อยู่ข้างบน
วัง เป็นที่ประทับสูงสุดของพระมหากษัตริย์ จึงถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเป็นศูนย์รวมความงามเลิศในแผ่นดินเอาไว้ ณ ที่แห่งเดียวกัน ประดับประดาด้วยสิ่งของที่มีค่ายิ่ง เป็นสถานที่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ภาคภูมิใจใคร่จะได้เห็นได้ชม
นอกจากนี้บุญเกิด รัตนแสง (2541 : 32-33) ยังกล่าวถึงความงามอันวิจิตรตระการตาที่ช่างฝีมือได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นตามแบบที่นักออกแบบได้วาดไว้ตามจินตนาการ ดังเช่น
วัดไทย เป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธ สร้างเพื่อใช้ทำกิจกรรมรวมวัดจึงต้องโล่งปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกดี ยึดหลักเช่นเดียวกับบ้าน แต่อาจต่อกันหลายหลังไม่เปิดจั่วกลายเป็น “ทรงปั้นหยา” ไปบางแห่งก็สร้างเป็นที่รวมศิลปะพื้นบ้านทุกชนิดเอาไว้ให้เห็นเพื่อสร้างให้ผู้นับถือเกิดศรัทธา ปีติ ยินดี
บ้านไทย สร้างเป็นที่อาศัย ต้องสะดวก ปลอดภัย สบาย อากาศถ่ายเทได้สะดวก รูปทรงสวยงาม ทำประโยชน์ได้หลายอย่างแยกอธิบายตามองค์ประกอบของบ้านไทยได้ดังนี้
1. หลังคาบ้าน ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วยกสูง ใต้อกไก่ปล่อยเป็นช่องลมให้อากาศดีเข้ามาแทนที่อากาศเสียลอยต่ำเคลื่อนหนีไปด้วยอุณหภูมิสูงกว่า
2. ใต้ถุนสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำเป็นที่พักผ่อนและทำงานบ้านบางแห่งเป็นที่เก็บยานพาหนะ ไว้เลี้ยงสัตว์กันขโมย เพราะใช้บันไดชักลากเมื่อยามเข้านอน
3. เรือนทุนหลักจะหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ก็ได้ ที่สำคัญมักปลูกเรือนยาวตามทางเดินดวงอาทิตย์ (ไม่ขวางตะวัน) เพื่อให้แสงตะวันลอดขื่อก็ตื่นขึ้นมาทำงานเช้าทันที และเมื่อมีลมมรสุมจะพัดจากตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูหนาว หรือสลับทางกันในฤดูฝน จะไม่ทำให้บ้านเรือนพังทลายเพราะไม่ขวางทางลม
4. หลังคาทรงสามเหลี่ยมสูงจะไม่ทำให้ผู้อาศัยร้อนอบอ้าว เพราะหลังคาเอียงรับแสงในแนวเฉียง บางส่วนก็สะท้อนกลับ บางส่วนก็เล็ดลอดไปได้ ทำให้ปรับอุณหภูมิไปในตัว และเมื่อเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนจะไหลไปรวมกันทางใดทางหนึ่งตามที่กำหนดเอาไว้ ทำให้เจ้าของบ้านรองรับน้ำฝนมาใช้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
วรรณคดีที่สัมพันธ์กับศิลปะด้านสถาปัตยกรรม
บุญเกิด รัตนแสง (2541 : 35 – 38) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของวรรณคดีกับสถาปัตยกรรมไว้ว่าสถาปัตยกรรมไทยมีความสง่างาม ความงดงามเลอเลิศ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นกวีแทบทุกคนได้บรรยายและพรรณนาถึงสถาปัตยกรรมไทยไว้ด้วยความชื่นชม ข้อที่น่าสังเกต คือ กวีบรรยายและพรรณนาถึงปราสาทราชวัง โบสถ์ วิหาร ปรางค์ ฯลฯ โดยเน้นความสวยงาม ความสง่า ความวิจิตรบรรจง มากกว่าที่จะบรรยายถึงรายละเอียดของส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมนั้นๆ วรรณคดีจึงมีความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม วรรณคดีได้บรรจุศิลปะด้านสถาปัตยกรรมแบบไทยไว้ในเรื่องต่างๆ หลายเรื่องเพื่อชี้ให้เห็นฝีมือเชิงช่างที่มีความประณีต สวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
“…มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม…”
(นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่)
จากคำประพันธ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมไทย นิยมหักเหลี่ยมย่อมุม พบตาม
ต้นเสาและเจดีย์หากหักย่อเหลี่ยมละสามหยัก สี่มุมก็เป็นสิบสองหยัก เรียกว่า “เจดีย์ไม้สิบสอง”ถ้าหักมุมละสี่หยักก็เรียกว่า “เจดีย์ย่อมุมสิบหกเหลี่ยม” กลายเป็นสำนวนพูด “หักเหลี่ยม…” เป็นต้น
ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบบ้านทรงไทย พบได้ในวรรณคดีร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก ก่อนที่ชูชกจะเดินทางไปขอสองกุมารคือพระชาลีและพระกัณหา มาเป็นทาสรับใช้ ก็แต่งบ้านให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อเป็นมงคลสำหรับการเดินทางดังความต่อไปนี้
“…ธชีมิไว้ใจด้วยเคหา เก่าคร่ำคร่าซวนโซเซ อ่อนโอ้เอ้เอียงโอนเอน กลัวว่าจะคว่ำเครนครืนโครมลง โย้ให้ตรงกรานไม้ยัน ค้ำจดจันจุนจ้องไว้ เกลากลอนใส่ซีกครุคระ มุงจะจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า ขึ้นหลังคาครอบจากหลบ โก้งโค้งกบกดซีกกรอบ ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่ ไม้ข้างควายแขวะเป็นรู สอดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้อย กบทูย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างห่าง ฝาหน้าต่างแต่งให้มิด ล่องหลวงปิดปกซี่ฟาก ตงรอดครากเครียดรารัด ตอม่อขัดค้ำขึงขัง…”
(ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก)
คำที่เน้นล้วนเป็นเครื่องเรือนผูกของไทยสมัยโบราณทั้งสิ้น อนึ่ง เครื่องเรือนผูก คือ ไม่มีการตอกตะปูใช้เชือกผูกทั้งหมด
ประสิทธิ์ กาพย์กลอนและนิพนธ์ อินสิน (2533 : 30) กล่าวถึงบ้านเรือนไทยที่เป็นเรือนฝากระดาน มีส่วนที่เรียกกันว่าฝาปะกนซึ่งหมายถึง การนำเอาแผ่นไม้มาเพลาะต่อกันเข้าด้วยวิธีเจาะรางเข้าเหลี่ยมอย่างประณีตและแข็งแรง โดยไม่ใช้ตะปูตอกเลย หลังคานั้นจะต้องแหลมสูง มุงกระเบื้องและชายคางอนขึ้นเล็กน้อย ตรงขื่อทำเป็นปั้นลมกับนิยมทำยกพื้นสูงอีกด้วย บางทีปลูกแต่เฉพาะหลังคาเดียวและมีชานหน้าไว้สำหรับนั่งเล่นก็มีที่ปลูกเป็นเรือนแฝดสองหลัง และเป็นเรือนหมู่หลายหลังก็มี ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงบ้านไทยหรือเรือนไทยจากเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามปลูกเรือนหอ ดังนี้
“ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว ครั้งถึงกำหนดแล้วจึงนัดหมาย
บอกแขกปลูกเรือนเพื่อนผู้ชาย มายังบ้านท่านยายศรีประจัน
ให้ขุดหลุมระดับชักปักเสาหมอ เอาเครื่องเรือนมารอไว้ที่นั่น
ตีสิบเอ็ดใกล้รุ่งฤกษ์สำคัญ ก็ทำขวัญเสาเสร็จเจ็ดนาที
แล้วให้ลั่นฆ้องหึ่งโห่กระหน่ำ ยกเสาใส่ซ้ำประจำที่
ลับขื่อพรึงติดสนิทดี ตะปูตียกเสาดั้งขึ้นตั้งไว้
ใส่เต้าจึงเข้าแปลานพลัน เอาจันทันเข้าไปรับกับอกไก่
พาดกลอนผ่อนมุงกันยุ่งไป จั่วใส่เข้าฝาเข็ดหน้าอึง”
(เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามปลูกเรือนหอ)
นอกจากนี้วรรณคดีจะบรรยายถึงสิ่งก่อสร้างในวัดวาอาราม เพื่อเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น คำสอนเป็นนามธรรมย่อมเห็นไม่ชัดเจนเท่ารูปธรรม เมื่อสร้างงานศิลป์ด้วยใจรักและแรงศรัทธา ร่วมแรงเสียสละเพื่อหวังรับกุศลผลบุญ งานที่สำเร็จนั้นย่อมงดงามยิ่ง ตรึงตาใจผู้พบเห็น ดังข้อความต่อไปนี้
“…เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า แก่นหล้าหลากสวรรค์…”
(นิราศนรินทร์ ของ นายนรินทรธิเบศร์ (อิน))
วรรณคดีบางเรื่องสร้างจินตนาการไว้ยาวไกลเกินกว่าคนสมัยนั้นจะเห็นจริงหรือคล้อยตามจนกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน หลายเรื่องอาศัยวันเวลาผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ความฝันนั้นกลับเป็นจริง ขึ้นมาได้ ตัวอย่างเรือกำปั่นขนาดใหญ่ของโจรฝรั่งที่สุนทรภู่เขียนไว้ในเรื่องพระอภัยมณี มีใจความว่า
“…มีกำปั่นนั้นยาวสิบเก้าเส้น กระทำเป็นตึกร้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน คชสารม้ามิ่งมหิงสา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา เครื่องศาสตราสำหรับรบครบทุกลำ…”
(พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ตอนสินสมุทรโดยสารเรือโจรฝรั่ง)
ในปัจจุบันเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ขับระวางน้ำสูง เดินทางไกลๆ มีขนาดใหญ่โตสามารถดัดแปลงตบแต่งบรรยากาศให้คล้ายกับบ้านเพื่อให้ลูกเรือ กัปตัน และคนอื่นที่อยู่ในเรือนาน ๆ คลายความ คิดถึงบ้านลงได้
วรรณคดีบางเรื่อง ผู้แต่งได้บรรยายให้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยว่างามเด่นเลิศกว่าสถาปัตยกรรมชาติใดในโลก แต่จะเทียบได้ก็เฉพาะฝีมือชาวสวรรค์ แดนในฝันของพวกเขาเท่านั้น แสดงว่าผู้แต่งนั้นกล่าวด้วยความภาคภูมิในศิลปะของไทย ภูมิใจในสถาปัตยกรรมไทยที่บรรพบุรุษได้ร่วมใจกันบรรจงสร้างไว้ คู่ชาติไทยไม่ว่าวัดพระแก้วก็ดี พระบรมหาราชวังก็ดี หรือสถานที่สวยงามอื่น ๆ ก็ตาม ล้วนชี้นำความเป็นเลิศของช่างไทยทั้งสิ้น ดังตัวอย่าง
“…อำพนพระมณทิรพระราช สุนิวาสน์วโรฬาร์
อัพภันตรไพจิตรและพา หิรภาคก็พึงชม
เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา นมหาพิมานรมย์
มารังสฤษฎิ์พิศนิยม ผิจะเทียบก็เทียมทัน
สามยอดตลอดระยะระยับ วะวะวับสลับพรรณ
ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน จะเยาะยั่วทิฆัมพร
บราลีพิลาศศุภจรูญ นภศูลประภัสสร
หางหงส์ผจงวิจิตรงอน ดุจกวักนภาลัย
รอบด้านตะหง่านจัตุรมุข พิศสุกอร่ามใส
กาญจน์แกมมณีกนกไพ- ฑูรย์พร่างพะแพรวพราย…”
(สามัคคีเภทคำฉันท์ ของ นายชิต บุรทัต)
นอกจากนี้ ยังมีวรรณคดีที่ชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมไทยไว้อีกหลายเรื่องดังเช่น
บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งมีบทชมเมืองว่า
“ท้องสนามแกล้งปราบราบรื่น พ่างพื้นปัถพีไม่มีหญ้า
กว้างใหญ่ไพศาลสุดตา เตียนสะอาดดาษดาด้วยทรายทอง
มีสุวรรณพลับพลาบนปราการ สูงตระหง่าเงื้อมฟ้าสิบห้าห้อง
ช่อฟ้าบราลีลำยอง ฉลักฉลุบุทองอร่ามไป”
นิราศนรินทร์ ของ นายนรินทรธิเบศร์ กล่าวชมกรุงเทพมหานครว่า
“เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า แก่นหล้าหลากสวรรค์”
โบสถ์ระเบียงมณฑปพื้น ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์”
(นิราศนรินทร์)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงความงามด้านสถาปัตยกรรม
ไว้ในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือว่า
“สล้างปรางค์ปราสาท ประกอบมาศมณีศรี
ระยับจับรพี สีสว่างกลางอัมพร
ปราสาทราชฐาน อวตารสโมสร
ยงยอดสอดสลอน ยอนยั่วฟ้าน่านิยม
จัดรีพระที่นั่ง สามยอดตั้งตรูตาชม
สำราญสถานสม สถิตถิ่นบิ่นนรา”
(กาพย์เห่เรือ)
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์เรื่อง กนกนคร และได้
กล่าวถึงสถาปัตยกรรมไว้ว่า
“มณเฑียรเถือกทองก่องแก้ว
เพริศแพร้วเรืองอร่ามงามสม
ช่อฟ้าเชิดฟ้าน่าชม
เกลียวกลมแลรับกับฟ้า
นภศูลสูงเยี่ยมเทียมเมฆ
รุจิเรขเรืองรองห้องหล้า
ปราสาทมาศแก้วแววตา
อาภาผ่องค้ำอัมพร”
(กนกนคร)
สรุป
สรุปคุณค่าของวรรณคดีที่สัมพันธ์กับศิลปะด้านสถาปัตยกรรมจะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมของไทยนั้น แสดงถึงความคิดในการจัดแผนชีวิตในสังคมครอบครัวหรือพิธีกรรมต่างๆ ในบ้าน และศูนย์ทำกิจกรรม เช่น ศาลาการเปรียญ นอกจากนี้สถาปัตยกรรมยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจ การใช้สัญลักษณ์แทนปัญญา และศรัทธาความเชื่อ เช่น การสร้างสถูปเจดีย์ พระปรางค์ แสดงความมีบารมี มีอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงจัด สร้างขึ้น เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง ทั้งนี้เราอาจประเมินได้ว่าคนโบราณนั้นความเชื่อมีอำนาจเหนือจิตใจคนในท้องถิ่นสูงที่สุดและถ่ายทอดผ่านทางศิลปะแขนงต่างๆ
เอกสารอ้างอิง
กมล เกตุศิริ. (2526). “เพลงพื้นบ้านถึงเพลงไทย” ดนตรีการ. (ฉบับที่2) : 45 : 58; 2520.
กระแส มาลยาภรณ์ และชุดา จิตพิทักษ์. (2526). มนุษย์กับวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : นิวโอเดียน.
จตุรงค์ มนตรีศาสตร์. (2514). นาฏศิลป์ศึกษา พ.ม. กรุงเทพฯ : นิวโอเดียน.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2527). “ลำนำขับขานวิจารณ์วรรณคดี” ภาษาและวรรณคดี. ปีที่3
(ฉบับที่2) : 17 ม.ป.พ. 2527.
ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. (2527). “เสียงพาทย์เสียงพิณ” ดวงแก้ว. (ฉบับที่2) : 23-26 ; วิทยาลัยครู
สงขลา.
เต็มสิริ บุณยสิงห์ และเจือ สตะเวทิน. (ม.ป.ป.). การละครเพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ :
คุรุสภาลาดพร้าว.
นิตยา บุญสิงห์. (2554). วัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.
บุญเกิด รัตนแสง. (2541). ภาษากับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2520). “ศิลปกรรมไทย”เอกลักษณ์ไทย. (ฉบับที่2) : 42-47, 2520.
ประสิทธิ์ กาพย์กลอน และนิพนธ์ อินสิน. (2533). ภาษากับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ :
ไทยวัฒนาพานิช.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554.
พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด.