คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) [ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์]

คอนเซ็ปชวลอาร์ต (Conceptual Art)

โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์

สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU

        คอนเซ็ปชวลอาร์ต หรือ มโนทัศนศิลป์ (Conceptual Art) เป็นศิลปะเกี่ยวกับความคิด มโนทัศน์ศิลป์ การสร้างความคิด เชื่อว่าศิลปะคือ ความคิด แนวคิดหรือความคิดจึงมีความสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างศิลปะแบบนี้ เมื่อศิลปินตัดสินใจที่จะสร้างศิลปะแบบนี้ หมายความว่า ศิลปินจะต้องวางแผนและตัดสินใจว่าจะทำอะไรไว้ก่อน งานที่สำเร็จคือ ผลพลอยได้ ความคิดคือกลไกสำหรับการสร้างผลงาน

        รูปแบบและกลวิธีของ Conceptual Art นับว่าเป็นแนวทางศิลปะที่มีความหลากหลายจน มิอาจกำหนดอย่างแน่นอนชัดเจน ศิลปินจะใช้ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานให้สามารถรองรับและความคิดรวบยอดทางศิลปะของตน Conceptual Art อาจจะมีขนาดเล็กเท่าปลายเข็ม หรืออาจจะมีขนาดใหญ่เท่าภูเขาทั้งลูก มีความยาวหลายสิบไมล์ จะมีเฉพาะการใช้ธาตุ (visual Elements) ด้านทัศนศิลป์สร้างสรรค์และอาจจะผสามรวมกับโสตธาตุ (Auditory Elements) เช่น มีเสียงประกอบหรือใช้เหตุการณ์ ใช้ธรรมชาติ ใช้สัตว์ ใช้เครื่องจักร ใช้ ฝูงชน ฯลฯ เป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานก็ได้   Conceptual Art ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะระดับโลกเวลานี้เป็นศิลปะในแนวที่เรียกว่าเป็น “DOCUMENTARY” อันเป็นศิลปะที่เสนอเนื้อหาสาระในเชิงให้ความรู้มีการใช้เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่สัมพันธ์กับแนวคิดของศิลปิน  ในบางกรณีศิลปินสื่อความคิดของเขาด้วยการใช้ภาษาเข้ามามีส่วนร่วมและสัมพันธ์กับงานศิลปะโดยตรงผู้ดูต้องอ่านข้อความเหล่านั้นเพื่อสร้างความเข้าใจ จะส่งผลต่อไปยังความคิดอีกที่หนึ่ง เป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากศิลปะประเภทอื่น ๆ

        หากพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่แล้ว ศิลปินกลุ่มดาดา (Dada) มาร์เซล ดูชองป์ ศิลปินชาวฝรั่งเศสเป็นผู้บุกเบิกและจุดประกายให้กับศิลปะประเภทนี้ เมื่อครั้งที่จัดแสดงผลงานในปี ค.ศ. 1917 ชื่อผลงานว่า “น้ำพุ” (Fountain) โดยใช้โถปัสสาวะเป็นสื่อทางศิลปะ ต่อมาผลงานชิ้นนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดศิลปะแนว Conceptual Art ขึ้น มีทั้งศิลปะ Performance Art, Installation Art และ Mixed Media Art กระตุ้นให้เกิดความงุนงงสงสัย ความรู้สึกรุนแรงฉับพลัน เป็นการเล่นกับความคิดและอารมณ์ของผู้ดู หรือต่อมาในปี ค.ศ. 1958 ศิลปินอีฟ แคลง ได้จัดนิทรรศการ “Exhibition of emptiness” ผู้เข้าชมมากกว่า 2,000 คน เข้าไปดูห้องจัดนิทรรศการที่ผนังว่างเปล่า ไม่มีผลงานศิลปะเพียงชิ้นเดียว ที่แท้ปฏิกิริยาของผู้เข้าชมแต่ละคนนั่นคือผลงาน และ Piero Manzoni ที่เซ็นชื่อลงบนเรือนร่างของผู้หญิงเปลือยแล้วบอกว่านี่คือ ประติมากรรม ตัวอย่างเหล่านี้เป็นงานศิลปะที่ก่อให้เกิดคำถามว่า “ศิลปะคืออะไร” นับว่าเป็นบุคคลบุกเบิกแนวทางนี้

        Conceptual Art เป็นกระแสศิลปะที่สำคัญอีกกระแสหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชื่อนี้ได้จากบทความที่ชื่อว่า “Paragraphs on Conceptual Art” ของ Sol LeWitt ศิลปินในกลุ่ม Minimalism ซึ่งตีพิมพ์ ใน Art forum เมื่อปี ค.ศ. 1969″

        กระบวนแบบ Conceptual Art เป็นกระแสศิลปะที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านศิลปะกระแสหลัก เป็นการตอบโต้แนวโน้มที่ศิลปะกลายเป็นสินค้าพาณิชย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำงานจะใช้วิธีการแบบสัญวิทยา Semiotics, Feminism, และ Pop Culture (ศิลปะและวัฒนธรรมแบบตลาดชาวบ้าน ตรงกันข้ามกับศิลปะชั้นสูงอย่างวิจิตรศิลป์ มาใช้ในการสร้างงาน โดยมากจะไม่มีการใช้จารีตวิธีการทางศิลปะเดิม ๆ เช่น ในบางนิทรรศการ ศิลปินนำเสนอเอกสารข้อมูล บันทึกข้อมูลทางความคิดของศิลปิน)

        ผลงานของ Joseph Kosuth ผลงาน “One and Three Chairs” ค.ศ.1965  Kosuth ต้องการนำเสนอให้เห็นและให้เข้าใจว่าเก้าอี้ธรรมดา ๆ 2 ตัว ก็เป็นผลงานศิลปะได้ด้วยความคิดของศิลปินผู้วางแผนอยู่เบื้องหลัง  ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นศิลปะด้วยความคิดมิใช่ด้วยฝีมืออย่างที่เคยเป็นมาในอดีต วัตถุใกล้ ๆ ตัวสามารถนำเสนอให้เป็นมโนทัศศิลป์ได้ทั้งสิ้น หากศิลปินมีความประสงค์ที่จะใช้ความคิดวางแผนให้มันเป็นเช่นนั้น หรือบางครั้งผลงานมักจะเกี่ยวกับภาษา เช่น “Titled (Art as Idea as Idea), (idea)” เมื่อปี 1967 เป็นภาพขนาดเมตรคูณเมตร เป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นดำ แจกแจงที่มาของคำว่า “ไอเดีย” สำหรับ Kosuth แล้วความหมายของศิลปะที่ถูกแสดงออกในภาษานั้น สำคัญกว่าที่มันจะปรากฏออกมาเป็นภาพหรือเป็นรูปธรรม เขาแสดงให้เห็นถึงปรัชญาของ Conceptual Art ที่ว่า “ศิลปะที่เป็นความคิดที่เป็นความคิด” สำหรับศิลปินบางคน “ศิลปะที่เป็นความคิด” ยังเป็นภาพยังเป็นรูปธรรม แต่ Kosuth ทำให้ “ศิลปะที่เป็นความคิด” ให้เป็น “ความคิด” จริง ๆ การนำเสนอของเขามีทั้งปรากฏเป็นตัวอักษรนีออน แผ่นป้ายบิลบอร์ดและการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์

        แม้ว่าศิลปะตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 จะมีการฟื้นฟูจิตรกรรมและประติมากรรม ที่ดูเหมือนว่าจะต่างไปจาก Conceptual Art แต่แท้ที่จริงแล้วมีการซึมซับกันมา ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งในเรื่องการเมืองและภาพลักษณ์จากประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมพ็อพ เช่น คำว่า Neo-Conceptualist มักจะถูกใช้เพื่อโยงเข้ากับงานแนว Installation Art และงานที่ไม่เป็นแบบจารีตเก่า

        ศิลปินสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ Joseph Beuys, 1921-1986 Joseph Kosuth, 1945 Richard Long, 1945 Bruce Nauman, 1941 Richard Tuttle และ Damien Hirst เป็นต้น

        สรุป ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 วงการศิลปะสากลมีสไตล์ที่เกิดขึ้นมากมายล้วนมีที่มาจากการแสดงตามแบบดาดาอิสม์ เป็นการสร้างเหตุการณ์ด้วยสื่อผสมในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ กระบวนแบบ Conceptual Art ก็เป็นกระแสศิลปะที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านศิลปะกระแสหลัก เป็นการตอบโต้แนวโน้มที่ศิลปะกลายเป็นสินค้าพาณิชย์มากขึ้น Conceptual Art จึงเป็นแนวทางของศิลปะที่เกิดจากแนวความคิดของศิลปินที่ต้องการนำเสนอ ความคิด ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความคิดของสังคมในบริบทใหม่ ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกตามลัทธิหลังสมัยใหม่ ไม่ยืดถือรูปแบบ เป็นการบันทึกความคิดด้วยกลวิธีการสร้างงานจากอุปกรณ์และสื่อใหม่ ๆ ใช้สื่อและวัสดุหลากหลายชนิดและหลายกลวิธีมารวมกันสร้างงาน ต่างมุ่งเน้นสร้างผลงานให้บังเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน+ผลงาน+ผู้ชม เข้าเป็นสิ่งเดียวกัน มิได้แยกศิลปินกับผลงานออกจากผู้ชม หรือบางครั้งก็เน้นแนวความคิดในการแสดงออกให้ผู้ชมตีความต่อจากผลงาน

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ         

                 สวนสุนันทา.

จิระพัฒน์  พิตรปรีชา. (2552). โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

 

ภาษาต่างประเทศ

Christine Macel. (2007). “Joseph Kosuth One and Three Chairs (Une et trois chaises)1965”. Retrieved March 17,

                2025, from https://www.centrepompidou.fr/fr/ressources/ oeuvre/ c5jdxb

Graham-Dixon, A. (2008).  Art: The Definitive Visual Guide. (pp.197-327). London: Dorling Kindersley.

Heidelart. (n.d.). Allan Kaprow.  Retrieved May 23, 2015, from  https:// conceptualartwordpresscom.

                 wordpress.com/2015/11/15/allan-kaprow.