“ความเหมือนจริง” ในจิตรกรรมร่วมสมัย
การสร้างสรรค์ศิลปะในปัจจุบัน มีความหลากหลาย แปลกใหม่ เนื่องจากศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะนั้นต้อง “สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่มักจะเป็นการล้มล้างทฤษฎี ความเชื่อ หลักการและคุณค่าเดิม ๆอยู่เสมอ จนถึงขนาดที่ปัจจุบันนี้ไม่มีใครสามารถนิยามหรือ “จำกัดความหมาย” ของคำว่า “ศิลปะ” ได้อย่างกระจ่างชัดและครอบคลุมศิลปะทุกประเภทที่เกิดขึ้นใหม่ ๆอยู่เป็นปรกติวิสัยได้อีกต่อไป” (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2549 : 8) สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่มาใช้เป็นสื่อบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปิน จนทำให้เกิดความหลากหลายทั้งด้านรูปแบบ เทคนิค วิธีการ ความคิด เช่น ในช่วงปี ค.ศ.1970 บรรดาศิลปินที่ชอบแสวงหาหรือเปลี่ยนแปลงแนวคิดและรูปแบบหลายท่าน เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการสร้างสรรค์ศิลปะที่มุ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะของอารมณ์และความรู้สึกส่วนตนของศิลปิน ตลอดจนการแสดงออกในรูปแบบของนามธรรม ซึ่งยากแก่การเข้าถึงและเป็นที่เข้าใจได้ ศิลปินเหล่านั้นจึงหันกลับมามองดูโลกที่ล้อมรอบตนเองอยู่ในขณะนั้นในแง่ที่เป็นจริงและมีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น
ศิลปะในยุคปัจจุบันหรือ “ศิลปะร่วมสมัย” เป็นการนำแนวคิด แนวทางของลัทธิศิลปะสมัยเก่ากลับมาใช้ใหม่ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความทันยุคทันสมัย ทันเหตุการณ์ มีความเป็นปัจจุบัน แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของลักษณะแนวความคิด รูปร่างรูปทรง ขั้นตอน หรือวิธีการสร้างงานศิลปะตามยุคสมัยหรือลัทธิเดิม สื่อสารออกมาด้วยภาษาศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเรื่องราว ประเด็นความคิด และวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์ได้รับรู้ถึงบริบทที่เป็นพื้นฐานของการสร้างผลงานชุดหนึ่ง ๆ ศิลปะร่วมสมัยจึงมีสถานะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางความคิดของมนุษย์ที่ผ่านกระบวนการพัฒนามาอย่างซับซ้อนและยาวนานในประวัติศาสตร์ มันเป็นภาษา เป็นการสื่อสารและเป็นวิธีการสื่อสาร การทำความเข้าใจผลงานชิ้นหนึ่งจึงเท่ากับการเรียนรู้ว่ามนุษย์คิดและมองโลกรอบตัวของเขาอย่างไร เขาสื่อสารความคิดของเขาผ่านการใช้ภาษาและการเล่าเรื่องอย่างไร และมีคุณค่าหรือค่านิยมอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ทั้งในแง่ของศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้การรับรู้และทำความเข้าใจศิลปะยังทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นและสถานที่อื่น กับความคิดและวัฒนธรรมอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ศิลปะถูกกำกับไว้ด้วยคำว่า “สร้างสรรค์” ศิลปะจึงเป็นสิ่งเชื่อมโยงผู้รักศิลปะเข้ากับโลกและชีวิต (ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ, 2560ก)
ในการสร้างสรรค์จิตรกรรมร่วมสมัย ผู้เขียนคำนึงถึงหน้าที่ของศิลปะในปัจจุบัน ซึ่งมีบทบาทที่เกี่ยวพันกับสังคมโดยตรง จากจุดประสงค์ดั้งเดิมเพื่อความสวยงาม ความประณีต และฝีมือเชิงช่าง เปลี่ยนไปเป็นภาษาแห่งความคิดหรือภาษาแห่งความหมาย การตั้งคำถามที่ต้องอาศัยการตีความเพื่อสืบค้นสิ่งที่แฝงอยู่ในรูปแบบของภาษาภาพในชีวิตประจำวัน โดยให้ความสนใจกับ “ความเหมือน” กับ “ความจริง” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพและสาระเรื่องราวของงานจิตรกรรมแบบเหมือนจริงในแนวทางของศิลปะร่วมสมัย ผ่านการจัดการภายใต้กรอบคิดเรื่องภาพตัวแทน ซึ่งผู้เขียนได้รับอิทธิพลจากภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีมิติทางการมองเห็นที่หลากหลาย ทั้งในเชิงกายภาพ การโฆษณา และในมิติของการเป็นภาพแทนของสิ่งต่าง ๆ หากแต่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อ “การประกอบสร้างความหมาย” ผ่านการอ้างอิง (reference) ที่เรียกด้วยคำศัพท์แบบหลังสมัยใหม่ว่า “สัมพันธบท” หรือ “สหบท” (intertextuality) ที่ซึ่งความหมายตรง ความหมายรอง และความหมายโดยนัยแฝงของสิ่งต่าง ๆ ถูกนำมาเรียบเรียงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้งานศิลปะสื่อสาระหรือกรอบความคิด (concept) ของศิลปินได้ (ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ, 2560ข)
ในผลงานสร้างสรรค์ (จิตรกรรม) ของผู้เขียน เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า “อะไรคือจิตรกรรม” จิตรกรรมคือความต้องการและพยายามที่จะทำให้เหมือนโดยการลอก หรือการเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งต่าง ๆ หรือจิตรกรรมคือเรื่องของสัญญะกับการแปลความหมาย ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าควรจะมีนิยามจิตรกรรมอย่างไรในความหมายที่เป็นแกนกลางจริง ๆ คำถามนี้จึงกลายเป็นโจทย์แรกสำหรับผู้เขียนในการสำรวจ สอบทวนทัศนคติที่มีต่อจิตรกรรมของตนเอง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่แนวความคิดหลักในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชุด “นัยวัตถุ” โดยเริ่มจากการย้อนกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติพื้นฐานของจิตรกรรม ที่มีสถานะเป็น “วัตถุ” รูปแบบหนึ่งในทางศิลปะ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่มีความ “แบน” และด้วยการผสมผสานกันของแนวคิดที่ว่า “งานจิตรกรรมคือวัตถุที่มีภาพปรากฏอยู่บนแผ่นระนาบที่มีความแบน” ความเป็นภาพ (image) ที่ปรากฏนี้อาจเกิดจากรูป รอย ทัศนธาตุทางศิลปะ หรือสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากดินสอ พู่กัน หรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อแทนสิ่งที่เรามองเห็น จดจำได้ หรือเป็นเครื่องเตือนให้เราระลึกนึกถึงบางสิ่งบางอย่าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงมีความหมายเท่ากับสัญลักษณ์ / สัญญะ (sign) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสื่อความหมายตามหลักสัญศาสตร์ (semiotics) ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรอยดินสอ พู่กัน เครื่องมือต่าง ๆ รวมไปถึงสิ่งที่ชี้ให้เรามองเห็นถึงความหมายที่แฝงอยู่ในจิตรกรรม นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ภาพตัวแทน (representation)”
ในผลงานสร้างสรรค์ชุด “นัยวัตถุ” นี้ ผู้เขียนปรารถนาที่จะสื่อสารด้วยจิตรกรรมในแนวเหมือนจริง ที่มีความเป็นภาพที่เรียบง่ายแต่มีอำนาจดึงดูดและสื่อสารภาษาในบริบทของศิลปะ “ความเหมือน” ที่เกิดจากทักษะฝีมือเชิงช่าง ประกอบกับวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็น “ภาพตัวแทน” และการจัดการด้วยวิธีการทางจิตรกรรม คือเครื่องมือที่ใช้สื่อสารสาระเรื่องราว และนัยความหมายบางอย่างที่เกี่ยวกับบริบททางสังคม การเมือง ศาสนา สิทธิ กฎหมาย ชนชั้น ความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆที่ส่งผลต่อความรู้สึก สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆในปัจจุบันที่ส่งผลต่อจิตใจของตนเอง ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ บางเรื่องเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ถูกอธิบายอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยภาษาปรกติอย่างตรงไปตรงมาได้ บางเรื่องเป็นข้อเท็จจริงที่ซ้อนทับ
กับความจริงบางอย่าง ผู้เขียนตระหนักและเกิดคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จนกลายเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมโดยใช้ภาษาภาพในบริบทของจิตรกรรมในการแลกเปลี่ยน สื่อสารความคิด ทัศนคติและประสบการณ์ร่วมกัน
จากทัศนคติเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจเรื่อง “ภาพ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ภาษา” ที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวันของเรา โดยการทำหน้าที่เป็น “ภาพตัวแทน (Representation)” ของบางสิ่งบางอย่างที่เป็นผลผลิตทางความหมายของสิ่งที่คิด (concept) ในสมองของเราผ่านภาษา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างความคิดและภาษา ซึ่งทำให้เราสามารถอ้างอิงถึงโลกวัตถุจริงๆ ผู้คน เหตุการณ์ หรือจินตนาการถึงโลกสมมุติได้โดยการสร้างภาพแทนนั้น (เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์, 2556) จากข้อความนี้ ทำให้ผู้เขียนได้พบกับนิยามคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจิตรกรรมเป็นเรื่องของภาพ หรือ จิตรกรรมคือ “ภาพ (Image)” และภาษาของจิตรกรรม คือ “ภาษาภาพ (Picture Language)” ข้อความใดๆ ก็ตามที่เราอ่านได้จากงานจิตรกรรมก็คือภาษาที่เกิดจากการรวมตัวที่เกิดจากการปรุงแต่งกระบวนการต่างๆ ที่ภาพมันสร้างให้เกิดผลทางการรับรู้และความรู้สึกกับเรา ซึ่งบางครั้งภาพมันอาจไม่ได้กำลังสื่อสารถึงสิ่งที่เราเห็น แต่ภาพอาจพยายามเชื่อมโยงถึงอะไรบางอย่างที่ตัวภาพทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีกสำหรับเรื่องของภาพและจิตรกรรม (นที อุตฤทธิ์, 2561)
“นัยวัตถุ” คือผลการรับรู้จากการ “ประกอบสร้างความหมาย” โดยผ่านการอ้างอิง (reference) จากการรับรู้ความหมายในระดับต่างๆ ทั้งที่เป็นความหมายในรูปสัญญะ (Signifier) อันเป็นความหมายจากการใช้งาน (Function) หรือความหมายตรงตามการจำแนกด้วยวิธีการแบบมายาคติ ความหมายสัญญะ (Signified) ความหมายที่เป็นข้อตกลงในการรับรู้ร่วมกันของสังคม และความหมายแฝงหรือมายาคติ มาจัดเรียงระบบการสื่อความหมาย (Signification) โดยการนำสัญญะต่างๆ เหล่านั้นมาประกอบสร้างความหมายใหม่เพื่อสื่อสาระหรือกรอบความคิด (concept) เกี่ยวกับความเป็นภาพตัวแทน ผ่านภาษาภาพที่เกิดจากการจัดการกับความเป็นภาพด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของการสื่อสารความหมายเหล่านั้น เช่น การเบลอภาพ การกลับภาพ หรือการตัดต่อภาพ เพื่อพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ เรื่องราว ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ของตนเอง ซึ่งบางเรื่องเป็นข้อเท็จจริงที่ซ้อนทับกับความจริงบางอย่าง และบางเรื่องไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะถูกอธิบายอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยภาษาปรกติอย่างตรงไปตรงมาได้ ผลจากการรับรู้ลักษณะนี้เป็นความมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนมีเจตนาชี้ชวนให้เกิดการตีความเนื้อหา สาระเรื่องราว และนัยความหมายบางอย่างที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ เหตุการณ์ สถานการณ์ต่างๆ ภายใต้บริบท (context) ของการเมือง ศาสนา และสังคมไทยในปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือบทสรุปของการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชุด “นัยวัตถุ” ซึ่งเป็นเสมือนคำตอบจากคำถามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า งานจิตรกรรมคือ “วัตถุ” แผ่นระนาบที่มีภาพปรากฏอยู่ และด้วยระนาบซึ่งหมายถึง “ความแบน” ของจิตรกรรมนั้น ไม่อาจสามารถแทนความเหมือนจริงของโลกสามมิติได้ “นัย” ของ “วัตถุ (จิตรกรรม)” นี้ จึงเป็นการสื่อสารถึง “นัยวัตถุ (ภาพตัวแทน)” ซึ่งเป็นความหมายแฝงของบางสิ่งบางอย่างที่ถูกซุกซ่อนอยู่ และด้วยบริบทของงานจิตรกรรมแบบเหมือนจริงที่มีเป้าหมายในการลวงตาให้เกิด “มายาภาพ (illusion)” ให้รู้สึกมีความสมจริง แต่มันไม่ใช่ความ “เหมือนจริง” ที่เทียบแทน “ความจริง” ได้ และด้วยความซับซ้อนเชิงภาพนี้ งานจิตรกรรมจึงมีนัยของความจริงกับสิ่งสมมติทับซ้อนกันอยู่
“…หาก “ภาพ” ยิ่งถูกลวงให้รู้สึกเหมือนจริงมากเท่าไหร่ อาจหมายความว่าเรากำลังถอยห่างจาก “ความจริง” มากขึ้นเท่านั้น…”
เอกสารอ้างอิง
ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ. Ai Weiwei, Tree, 2010 ประติมากรรม ความเชื่อ จารีตประเพณีและการเมืองจีนในโลกร่วมสมัย. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1718716958168061&i d=100000893207798&__tn__=K-R
ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ. Fountain ความยิ่งใหญ่ของ Marcel Duchamp. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/permalink.phpstory_fbid=1448010418572051&id=100000893207798&__tn__=K-R
นที อุตฤทธิ์. “ผลงานในช่วง 2005 – 2015 จิตรกรรมและการสร้างสรรค์ภายใต้คำถามที่จำเป็น.”การบรรยายพิเศษ ณ ห้องประชุม 416 ชั้น 4 อาคารบูรณาการ คณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 15 มกราคม 2561.
อิทธิพล ตั้งโฉลก. (2549). “กว่าจะมาเป็นจิตวิญญาณบรรพบท.”ใน จิตวิญญาณบรรพบท, 8. การแสดงนิทรรศการจิตรกรรม 2546-2548 ของ รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ณ หอศิลป์คณะ จิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร, 18 มกราคม -3 กุมภาพันธ์ 2549. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์ “หลังสมัยใหม่ : การสร้างภาพแทน โลกาภิวัตน์และแนวคิดการบริโภค” เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561, เข้าถึงได้จาก https://phdcommunication.wordpress.com/2013/03/07/แนวคิดการสร้างภาพแทน-representation/