การนำอินโฟกราฟิกมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลนั้นมีความเป็นมาเป็นระยะเวลานานมากจากในอดีต และเมื่อไม่นานมานี้อินโฟกราฟิกมีบทบาทความสำคัญต่อสังคมอย่างมาก เมื่อมีเครื่องมือมากมายที่สามารถสร้างสรรค์อินโฟกราฟิกได้อย่างง่ายและสะดวก อีกทั้งยังมีสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้การ เผยแพร่อินโฟกราฟิกเป็นไปอย่างง่ายและกว้างขวาง เข้าถึงกลุ่มผู้รับชมจำนวนมากทั่วโลก มีการใช้แผนที่ แผงผังข้อมูล กราฟสรุปข้อมูลต่างๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน อีกทั้งยังใช้อินโฟกราฟิกในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ปัจจุบันผ่านสื่อ (Media) อื่นๆ อีกมากมาย
ในท้องถิ่นต่างๆ มีการใช้อินโฟกราฟิกในการสื่อสารข้อมูลในสภาพแวดล้อม (Environmental Graphic) อาทิ แผนที่เส้นทางสำหรับระบบขนส่ง พื้นที่จุดสำคัญในท้องที่ แผนที่การขนส่งสาธารณะ โดยสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น สถานีขนส่งมักจะมี “ระบบป้าย” แบบบูรณาการพร้อมไอคอนมาตรฐานและแผนที่ที่มีการสื่อสารด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสร้างสุนทรียภาพต่อพื้นที่นั้นๆ
การสร้างสรรค์อินโฟกราฟิกเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษร ดังที่ จุติพงศ์ กุสุมาศ (2560, น.3) กล่าวถึงอินโฟกราฟิกว่าถูกสร้างขึ้นกว่า 30,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์โครมันยองเป็นมนุษย์ยุคแรกที่รู้จักวาดภาพระบายสีบนผนังหินในถ้ำที่อยู่อาศัย โดยพวกเขาพยายามสื่อสารเรื่องราวในชีวิตประจำวันผ่านการวาดภาพสัญลักษณ์เพื่อทดแทนสิ่งต่างๆ รอบตัว ด้วยวิธีการวาดภาพที่เรียบง่ายแต่สามารถสื่อสารให้คนปัจจุบันเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ เช่น อธิบายถึงการทำพิธีกรรม หรือการล่าและการเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ในยุคนั้น
อินโฟกราฟิกในยุคประวัติศาสตร์เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1626 โดยคริสตอฟ ไซเนอร์ (Christoph Scheiner) ใช้อินโฟกราฟิกเป็นภาพประกอบแสดงรูปแบบการหมุนของดวงอาทิตย์ ในหนังสือชื่อ Rosa Ursina sive Sol ซึ่งเป็นหนังสือนำเสนองานวิจัยของเขาที่เกี่ยวกับการหมุนของดวงอาทิตย์ (Evers, 2015)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1786 วิลเลียม เพลย์แฟร์ (William Playfair) วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้ตีพิมพ์แผนภูมิแสดงข้อมูลครั้งแรกในหนังสือ The Commercial and Political Atlas เพื่อแสดงข้อมูลทางเศรษฐกิจของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เพลย์แฟร์ได้ใช้แผนภูมิสถิติ แผนภูมิแท่ง แผนภูมิเส้น แผนภูมิพื้นที่ และฮิสโตแกรมในการอธิบายข้อมูล โดยเพลย์แฟร์ยังเป็นผู้ที่คิดค้นการใช้แผนภูมิวงกลมอีกด้วย (Funkhouser, 1937, p. 269–404)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1820 คาร์ล ริตเตอร์ (Carl Ritter) ผู้คิดค้นภูมิศาสตร์สมัยใหม่ขึ้น ริตเตอร์ได้นำเสนอระบบแผนที่ที่มีระบบของมาตราส่วนที่เป็นมาตรฐาน ในแผนที่มีการใช้เครื่องหมายพิเศษ สัญลักษณ์ ไอคอนซึ่งสามารถอธิบายข้อมูลได้อย่างชัดเจนและเที่ยงตรง
ในปี ค.ศ. 1857 นางพยาบาลชาวอังกฤษ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) อธิบายสาเหตุของการเสียชีวิตของทหารอังกฤษซึ่งทำสงครามไครเมียในแต่ละเดือน จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอแก่พระราชินีวิกตอเรีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อของบประมาณในการปรับปรุงสภาพในโรงพยาบาลทหาร ไนติงเกลได้ใช้แผนภูมิ “Coxcomb” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างแผนภูมิแท่งและแผนภูมิวงกลมแบบเรียงซ้อนแสดงจำนวนและสาเหตุของการเสียชีวิตในแต่ละเดือนของสงครามไครเมีย ซึ่งต่อมาผู้คนเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า “Nightingale Rose Diagram”
เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 มีการใช้อินโฟกราฟิกกันอย่างแพร่หลายและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ในปี ค.ศ.1933 แฮร์รี เบค (Harry Beck) ได้ออกแบบแผนที่รถไฟใต้ดินกรุงลอนดอน (London Underground Map) นับว่าเป็นต้นแบบของแผนที่รถไฟทั่วโลก มีการออกแบบที่สวยงาม เรียบง่าย และสามารถแสดงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ (จุติพงศ์ กุสุมาศ, 2560, น.7)
ในปี ค.ศ.1972 และ ค.ศ.1973 ในยานอวกาศ Pioneer 10 และ Pioneer 11 มีการออกแบบแผ่นอะลูมิเนียมชุบทอง เรียกว่า Pioneer Plaques โดยใส่ข้อความ รูปภาพ และภาพสัญลักษณ์มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของยานอวกาศ มีความพิเศษในการสื่อสารความหมายที่มนุษย์ต่างดาวจะต้องเข้าใจได้ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) และแฟรงค์ แดรก (Frank Drake)
อินโฟกราฟิกมีบทบาทอย่างมากในงานสื่อสิ่งพิมพ์ ในช่วงปี ค.ศ.1970-1990 โดยเฉพาะในงานหนังสือพิมพ์มีการใช้กราฟิกในการอธิบายข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ดึงดูดสายตาแต่ไม่สูญเสียความสำคัญของข้อมูล และด้วยการพัฒนาของของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เพื่อการสร้างสรรค์งานออกแบบ การแสดงข้อมูลเป็นภาพจึงถูกนำไปใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไป รวมถึงการเผยแพร่บนระบบอินเตอร์เน็ต
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 21 อินโฟกราฟิกเข้ามามีบทบาทในวงการโทรทัศน์มากขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม ตัวอย่างของการใช้อินโฟกราฟิกในโทรทัศน์และในวัฒนธรรมป๊อปคือ มิวสิกวิดีโอในปี ค.ศ.2002 โดยนักดนตรีชาวนอร์เวย์ Röyksopp ในมิวสิกวิดีโอเพลง “Remind Me” มีการใช้อินโฟกราฟิกแบบเคลื่อนไหวตลอดทั้งเพลง และต่อมาในปี ค.ศ. 2004 บริษัทเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส Areva ใช้อินโฟกราฟิกแบบเคลื่อนไหวสร้างกลยุทธ์ในการโฆษณาทางโทรทัศน์ วิดีโอเหล่านี้สร้างความสนใจให้กับผู้ชม ทำให้งานอินโฟกราฟิกแพร่หลาย ในปัจจุบันอัตราความสนใจในอินโฟกราฟิกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีวงกว้าง อินโฟกราฟิกถูกนำมาใช้ในหลากหลายวงการ อาทิ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ภาคการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งจะให้เห็นได้ถึงคุณค่าของการใช้อินโฟกราฟิกเพื่อสร้างความน่าสนใจและอธิบายข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
หนังสือและบทความในหนังสือ
จุติพงศ์ กุสุมาศ. (2560). Principles Infographic เปลี่ยนข้อมูลเข้าใจยากให้เป็นภาพที่ทรงพลัง. นนทบุรี: ไอดีซีฯ.
Reference
Books
Funkhouser, H. Gray (1937). “Historical Development of the Graphical Representation of Statistical Data”. Osiris. 3: 269–404.
Other document(s)
Evers, J. (2015). Conserving a Classic Book on Sunspots. Retrieved August 20, 2021, from https://www.huntington.org/verso/2018/08/conserving-classic-book-sunspots