ความเป็นครูของครูนักวิจัย

ความเป็นครูของครูนักวิจัย

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์วัฒน์ มิ่งมิตร

กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์

                การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีการเกื้อหนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน  และบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาดังกล่าวก็คือครูนั่นเอง เพราะครูเป็นผู้ที่มีหน้าที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และการพัฒนาโดยรอบให้เกิดในตัวผู้เรียน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในเชิงวิชาการ นำไปสู่การมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการดำรงตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  ดังนั้นการจะพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพจึงย่อมต้องพึ่งพาอาศัยครูที่มีคุณภาพ ครูที่มีความเป็นครู

                คำว่า ครู หรือคุรุ ในภาษาไทย มาจากคำว่า คุรุธาตุ หรือ ครธาตุ  ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นผู้ที่หนักในวิชาความรู้ ในคุณธรรม และในภารกิจการงาน รวมทั้งการทำหน้าที่ยกย่องเชิดชูศิษย์ของตนเอง จากผู้ที่ไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ ผู้ที่ไม่มีความสามารถให้มีความสามารถ ผู้ที่ไม่มีความคิดให้มีความคิด ผู้ที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมให้มีความเหมาะสม และจากผู้ที่ไม่พึงปรารถนาให้เป็นผู้ที่พึงปรารถนา ซึ่งตามนัยของความเป็นครูในภาษาไทยจึงเป็นผู้ที่ต้องทำงานหนักจริงๆ  ส่วนในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า  TEACHER  ก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือT- Teach   E– Example  A–Ability  C- Characteristic  H– Health   E- Enthusiasm   R – Responsibility

                1. TEACH (การสอน)

                คุณลักษณะประการแรกของความเป็นครูก็คือ ต้องสอนได้ สอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ในตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี  โดยการ :

                1. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี

                2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

                3. สอนศิลปวิทยาให้หมดสิ้น

                4. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ

                5. สร้างเครื่องคุ้มกันในสารทิศ (สอนให้รู้จักเลี้ยงตัว รักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)  และที่สำคัญคือ

                6. ต้องสอนให้เกิดความงอกงามทางสติปัญญา มีความคิด และสร้างสรรค์

                อย่างไรก็ตามการสอนของครูแต่ละคนนั้นขึ้นกับทักษะและลักษณะของตนเอง (Teaching skill and style) เป็นการนำเทคนิควิธีและทักษะหลาย ๆ ด้านมาผสมผสานให้เหมาะสมสอดคล้องกัน  จึงต้องใช้เทคนิคและทักษะหลายด้านร่วมกับประสบการณ์เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และต้องมุ่งจัดสรรการเรียนรู้นั้นไปในทิศทางที่ดีและมีคุณธรรมในสังคม บทบาทการสอนของครูจึงต้องดำเนินการ  โดย

                1. สอนเนื้อหาวิชาการตามหลักสูตรรายวิชาที่ได้รับมอบหมาย  โดยการมีการเตรียมการสอนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การทำ Course Syllabus  แผนจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนรายชั่วโมง  การดำเนินการสอน และการประเมินผล  มีการปรับปรุงพัฒนา และสร้างผลงานทางวิชาการอยู่เสมอ

                2. สอนการปรับตัวให้เหมาะสมในสังคม

                3. สอนให้ให้เจริญเติบโต มีความคิด มีเหตุผล และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตามแผนที่ได้กำหนดหรือเตรียมการไว้เป็นอย่างดี

                2. EXAMPLE (เป็นตัวอย่าง)

                ผู้เรียนโดยทั่วไปนั้นจะ “เรียน” และ “เลียน” จากตัวครู   การทำตัวเป็นต้นแบบหรือแบบอย่างจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากกว่าการบอกกล่าวเฉยๆ เพราะการแสดงต้นแบบให้เห็นด้วยสายตานั้น เป็นภาพที่มองเห็นชัดเจนและง่ายต่อการลอกเลียนยิ่งกว่าการรับฟังและบอกเล่าอย่างปกติ ถ้าต้องการให้ผู้เรียนเป็นอะไร จงพยายามแสดงออกเช่นนั้นทั้งในการดำเนินชีวิตและในการสนทนา

                การวางตัวของครูเป็นตัวอย่างหรือเยี่ยงอย่างให้แก่ผู้เรียนได้มาก แม้ว่าผู้เรียนจะมีความคิด ความอ่านของตนเองที่ไม่ต้องการเลียนแบบผู้ใหญ่ทุกประการเหมือนเด็กเล็ก แต่ครูก็ คือครูที่ผู้เรียนพิจารณาว่ามีความหมายสำคัญอยู่มาก โดยเขาจะสนใจและเฝ้าสังเกตนับตั้งแต่การแต่งกาย ไปจนถึงการประพฤติปฏิบัติ จะเป็นประสบการณ์ให้เขาได้พิจารณา นอกจากนี้การรู้ตัวเองของครู การแนะนำให้ผู้เรียนประพฤติให้เหมาะสม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ครู (ตัวเรา) ต้องประพฤติและปฏิบัติตนให้เหมาะสมด้วย

                3. ABILITY (ความสามารถ)

                คำว่า “ความสามารถ” หมายถึงกำลังที่มีจริงในการแสดงหรือในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการกระทำทางกายหรือทางจิตใจ และไม่ว่ากำลังนั้นจะได้มาจากการฝึกฝนอบรมหรือไม่ก็ตาม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท  คือ ความสามารถทั่วไป (general ability) และความสามารถพิเศษ (specific ability) นอกจากนั้นครูจะต้องทราบถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่หรือนวัตกรรมทางการศึกษา (inovation in teaching) เพื่อจะช่วยปรับปรุงและพัฒนากระบวนการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นไป การเรียนการสอนก็เช่นเดียวกับการวินิจฉัย การรักษาโรคทางการแพทย์หรือจะสมมติเป็นการปรุงอาหารในครัวก็ได้ ที่จะต้องแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ให้ได้อาหารอร่อยที่สุด  ดังนั้นครูจึงต้องประเมินตัวเอง ประเมินการสอน และปรับปรุงข้อบกพร่องของสิ่งที่ตนสอนไปเสมอ (diagnosis and treatment of course defects)  เพื่อให้ผลการสอนดีที่สุด               นอกจากครูจะต้องเข้าใจบทบาทความเป็นครูของตนเองแล้ว (teacher’s role) ครูควรจะมีความสามารถดังนี้

                                –   จิตวิทยาการเรียนรู้ (psychology of learning)

                                –   การกำหนดวัตถุประสงค์ของการสอนอย่างชัดเจน (specific of objectives)

                                –   การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)

                                –   การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (learning activities)

                                –   การนำโสตทัศนูปกรณ์มาช่วยสอน (the application of audiovisual aids)

                                –   การจัดทำแผนการสอน (course syllabus and Lesson planning)

                                –   การประเมินการเรียนการสอน (assessment)

                4. CHARACTERISTIC (คุณสมบัติ)

                ความหมายที่ใช้โดยทั่วๆไป หมายถึง คุณภาพหรือคุณสมบัติที่สังเกตได้ชัดเจนในตัวบุคคล ทำให้ทราบได้ว่าบุคคลนั้นแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ ในความหมายเฉพาะ อุปนิสัยหมายถึง ผลรวมของนิสัยต่างๆ ที่บุคคลมีอยู่ หรือผลรวมของลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคล  ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่าอุปนิสัยนี้แฝงความหมายของคุณธรรมจรรยาในตัวด้วย เช่น เราพูดว่าเขาผู้นั้นมีอุปนิสัยดี เป็นต้น ในคุณสมบัติของความเป็นครู สิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน  ต่อวิชาที่สอน และต่องานที่ทำ

                5. HEALTH (สุขภาพดี)

                การมีสุขภาพดี หมายถึงการไม่มีโรค รวมถึงมีสภาพทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข  ผู้ที่เป็นครูนั้นต้องทำงานหนัก ดังนั้นสุขภาพทางด้านร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือสุขภาพจิต คงเคยได้ยินคำว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย จิตดีนั้นไม่เพียงแต่ไม่เป็นโรคจิตโรคประสาทเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีสมรรถภาพ มีการงานและมีชีวิตที่เป็นสุขทำประโยชน์ต่อสังคมด้วยความพอใจ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อบุคคลที่เราอยู่ร่วมและต่อสังคมที่เราเกี่ยวข้อง โดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

                6. ENTHUSIASM (ความกระตือรือล้น)

                ความกระตือรือล้นของครูนั้น อาจจะเป็นการใฝ่หาความรู้ใส่ตน เพราะจะต้องถือว่าการใฝ่หาความรู้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนนั้นเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของการพัฒนาตน (Learning to teach is a process of self-development)  การเพิ่มพูนความรู้มีหลายรูปแบบ เช่น การประชุมสัมมนา อบรมระยะสั้น  จะทำให้ครูที่ขาดความรู้ในเรื่องที่ตนสอนได้มีความรู้เพิ่มเติมและทำให้มีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น  ความกระตือรือล้นของครูนั้น ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะการพัฒนาตัวครูเท่านั้น แต่จะต้องมีความกระตือรือล้นในการพัฒนาการเรียนการสอนด้วย

                7. RESPONSIBILITY (ความรับผิดชอบ)

                ครูที่ดีจะต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนตามที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นอย่างดี รวมทั้งยอมรับผลแห่งการกระทำนั้นๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข

            การเป็นครูมืออาชีพใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่าย ๆ เพราะงานครูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และหนัก ๆ กว่างานใด ๆ เป็นงานสร้างและพัฒนาคน และองค์ประกอบแรกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคือ สติปัญญาซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โดยรวมผู้เรียนส่วนใหญ่มิได้มีระดับสิติปัญญาดีเลิศ  ดังนั้นการจะพัฒนาพวกเขาจึงต้องอาศัยครู อาศัยพวกเรา-ท่าน เป็นหลัก  เพราะอย่างน้อยก็มีส่วนแบ่งประมาณ 30-40 %  ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของพวกเขา จึงใคร่ขอให้ทุกท่านที่เป็นครูจงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นครู ตามข้อเขียนที่ได้กล่าวถึงทั้งหมด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาตัวของท่านเอง

เอกสารอ้างอิง

ทิศนา แขมณี และคณะ.(2540).“การเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด”.วารสารครุศาสตร์.26(กค.-ตค.)35-60.

นฤมล  ยุตาคม. (2541) .  “แนวทางการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ : การให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง” สาระการศึกษา “การเรียนการสอน”.   กรุงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สิริพร  ทิพย์คง .  (มปป.) .  ความเป็นครู . ภาควิชาการศึกษา, คณะศึกษาศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (เอกสารโรเนียว)

สุรชาติ  สังข์รุ่ง. (2541). “ผลงานทางวิชาการตามสภาพจริง”. วารสารข้าราชการครู. 5 (มิย.-กค.) : 15-23.

อุไร  พลกล้า และ ศุภมาศ ณ ถลาง .  2539 .  “ทำไมจึงต้องนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” . กรุงเทพฯ : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา. (อัดสำเนา)