ศิลปะสมัยใหม่ในตะวันตก มีจุดเริ่มต้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคสมัยของศิลปะที่เน้นการใช้อารมณ์ ความรู้สึก และจินตนาการ ศิลปินในยุคนี้สนใจการทำงานศิลปะด้วยรูปแบบเฉพาะตัว มีความเป็นปัจเจก ผลงานศิลปะในยุคนี้มักจะมีเนื้อหาสะท้อนเรื่องราวชีวิตของผู้คนธรรมดา ๆ ในสังคม ซึ่งต่างออกไปจากศิลปินยุคก่อนหน้าอย่างตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่าศิลปะสมัยใหม่มีลักษณะเป็นขบถทางความคิด ต่อต้านรูปแบบที่เป็นที่นิยมของสังคม ปฏิเสธและต่อต้านเรื่องความเหมือนจริงแบบช่างฝีมืออย่างเดิม ๆ แบบศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ซึ่งมีศาสนจักร ราชสำนัก ชนชั้นสูง และรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ ศิลปินสมัยใหม่มีความอิสระในการสร้างผลงานศิลปะด้วยรูปแบบและเนื้อหาตามใจตนเอง ไม่ใช่ทำตามผู้อุปถัมภ์อย่างในอดีต ธุรกิจทางศิลปะตามแนวทางของลัทธิทุนนิยม ส่งเสริมให้ศิลปินกล้าทดลองของใหม่ ๆ (สุธี คุณาวิชยานนท์, 2548 : 12-13)
ส่วนคำว่า “ศิลปะร่วมสมัย” ในความเข้าใจของคนทั่วไป คงทำให้นึกถึงงานศิลปะที่มีการผสมผสานรูปแบบและเทคนิควิธีการใหม่ ๆ เช่น วีดีโออาร์ต มีเดียอาร์ต ซาวด์อาร์ต ศิลปะแบบจัดวาง สื่อผสม ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันนั้นอาจยากต่อการขีดเส้นแบ่งขอบเขตและให้นิยามความหมายที่ชัดเจน โดยทั่ว ๆ ไป “ศิลปะสมัยใหม่” และ “ศิลปะร่วมสมัย” จะมีความคลุมเครือพอกัน เพราะคำแรกบอกนัยว่า “ใหม่” และเป็นของที่เกิดขึ้น “ล่าสุด” ส่วนคำหลังก็บอกความหมายในแนวที่ใกล้เคียงกันว่าเป็นของ “ปัจจุบัน” ทั้งตัวศิลปะ ศิลปิน และผู้ชมต่างอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกัน (สุธี คุณาวิชยานนท์, 2548 : 17) ทั้งนี้ศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นในปัจจุบันนั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย มีความแปลกใหม่ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดของมนุษย์ที่เดินทางข้ามกรอบแห่งขนบประเพณี หลักการ ทฤษฎี และคุณค่าเดิม ๆ มานานมากแล้ว
ส่วนจิตรกรรมเป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่งที่มีต้นกำเนิดและวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคถ้ำ ภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นที่รู้จักอยู่ที่ถ้ำ Chauvet ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่ามีอายุราว 32,000 ปี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพที่สลักและระบายสีด้วยโคลนแดงและสีย้อมดำ แสดงรูปม้า แรด สิงโต ควาย แมมมอธ หรือมนุษย์ จิตรกรรมในยุคนี้ไม่ได้ถ่ายทอดความเหมือนจริงแบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน แต่มันคือเป็นภาพตัวแทนของสิ่งต่างๆ ที่มีความ “สมจริง” เท่าที่มนุษย์ในยุคนั้นพึงกระทำและถ่ายทอดออกมาได้ จิตรกรรมในโลกตะวันตกและตะวันออกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม จิตรกรรมตะวันตกตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีรูปแบบที่เป็นการจําลองธรรมชาติให้ “เหมือนจริง” อย่างที่สุดตามความเชื่อแบบ “ภาวะวิสัย” ส่วนจิตรกรรมตะวันออกนั้นมีรูปแบบที่คิดขึ้นเองตาม “อุดมคติ” ตามความเชื่อแบบ “อัตวิสัย” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าจิตรกรรมตะวันตกเพียรพยายามถ่ายทอดความเป็นจริง “ภายนอก” ตามที่ตาเห็น แต่ในทางตรงกันข้ามจิตรกรรมตะวันออก แสดงออกถึงความเป็นจริง “ภายใน” ตามที่ศิลปินรับรู้และเข้าถึง และเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานกันจนกลายเป็นจิตรกรรม “สากล” (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550 : 63-64) จนถึงในยุคปัจจุบันที่งานจิตรกรรมได้ถูกพัฒนาทั้งในเชิงรูปแบบ เทคนิควิธีการไปอย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมมักถูกมองในท่าทีของการเป็นงานศิลปะในรูปแบบดั้งเดิม เก่าแก่ และมีความเป็นศิลปะแบบขนบในตัวมันเอง แต่ในความคิดเห็นของผู้เขียน จิตรกรรมยังคงเป็น “สื่อ” ที่ยังมีความน่าสนใจ ด้วยภาษาเฉพาะของจิตรกรรม คือ “ภาษาภาพ” ที่สามารถสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดด้วยภาพ หากจะพูดถึงงานจิตรกรรมในแนวทางของศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน ศิลปินร่วมสมัยได้ศึกษาความรู้ แนวคิด รูปแบบทางศิลปะในประวัติศาสตร์ศิลป์กลับมา “คิดใหม่” ทำให้ผลงานจิตรกรรมในฐานะของสื่อดั้งเดิมที่เคยมีบทบาทแค่เพียงมิติทางความงามหรือสุนทรียศาตร์ สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง ในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมให้มีความทันยุคทันสมัย ทันเหตุการณ์ มีความเป็นปัจจุบัน โดยอาศัยความรู้เชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ คุณสมบัติเฉพาะเชิงเทคนิควิธีการสร้างงานจิตรกรรม การทดลองและหาความเป็นไปได้ใหม่ เพื่อสร้างภาษาใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวทางของศิลปิน สิ่งเหล่านี้ทำให้งานจิตรกรรมมีความร่วมสมัยมีความพิเศษ และน่าสนใจไม่แพ้สื่อใหม่ ๆ
“จิตรกรรมร่วมสมัย” จึงเป็นคำที่ถูกนำมาใช้โดยการพยายามจะอธิบายถึงสื่อศิลปะแบบดั้งเดิมอย่าง “จิตรกรรม” กับ “ความร่วมสมัย” หากมองในแง่ของเวลา จิตรกรรมเป็นสิ่งเก่าแก่ที่ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างยาวนานตั้งแต่ “อดีต” จนถึง “ปัจจุบัน” คำอธิบายลักษณนี้บ่งชี้ว่าจิตรกรรมยังคงเป็นสื่อที่ศิลปินยังคงให้ความสนใจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงออกหรือสะท้อนเรื่องราวของผู้คนในสังคม กระแสวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ความทันสมัยทันต่อเวลา และปรากฏการณ์ของโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่างานจิตรกรรมจะเป็นสื่อศิลปะที่เป็นศูนย์กลางมาตลอดในประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ในโลกของศิลปะร่วมสมัย งานจิตรกรรมได้กลายเป็นเพียงสื่อธรรมดาๆ ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญมากกว่าสื่อชนิดอื่น ๆ เพราะโลกศิลปะร่วมสมัยดำเนินไปตามการทำให้ทุกอย่างเท่าเทียมกัน (democratized) หรืออาจพูดอีกอย่างว่าโลกร่วมสมัย “สร้างประชาธิปไตย” ให้กับทุกสิ่งเพราะมันนิยมความหลากหลายของวัฒนธรรมและความเป็นจริงมากกว่าการผูกขาดหรือมอบอำนาจไว้กับแนวคิดชุดใดชุดหนึ่ง (ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ, 2564 : 60)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนทำงานจิตรกรรมที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางความร่วมสมัยทั้งในโลกจริงและโลกศิลปะ งานจิตรกรรมยังคงเป็นสื่อศิลปะที่น่าหลงใหล อาจด้วยสื่อชนิดนี้มันผนึกแน่นกับมายาคติที่มีมาตั้งแต่โบราณ ประวัติศาสตร์จิตรกรรมจึงยังคงเป็นของที่มีความหมายทั้งเชิงคุณค่าและมูลค่า คุณสมบัติของจิตรกรรมยังคงแข็งแรงในฐานะ “งานศิลปะ” เพราะทุก ๆ ครั้งที่มีภาพใหม่เกิดขึ้นตามวันเวลา ภาพเก่าในทางประวัติศาสตร์กลับยิ่งทรงคุณค่าขึ้นไปอีกเพราะความเป็นต้นฉบับที่มีหนึ่งเดียวของงานจิตรกรรม