คำปรารภ
การปฏิรูปประเทศถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2560 ในหมวด16 มาตราที่ 257 – 261 เป้าหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ให้เกิดความสงบสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย ซึ่งก็จะต้องปฏิรูปหลายประเด็น แต่ประเด็นที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือการปฏิรูปการเมือง การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุขตลอดถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นความมุ่งหวังของประชาชนจำนวนมากจึงมีความคาดหวังที่จะเห็นการเมืองไทยดีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
นับเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงในการที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดผลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง ตลอดระยะเวลา 5 ปีจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ประกาศใช้ คือตั้งแต่ พ.ศ.2561 – 2565 การเมืองไทยยังคงเป็นเช่นเดิม หรือแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากจะพบว่าการเมืองเป็นเหมือนการเล่นเกมส์ ประชาชนเป็นแค่หมากในเกมส์ ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่นักการเมืองแต่ละฝ่ายให้ข้อมูลทางการเมืองไม่ตรงกัน และยังมีการใช้วาทกรรมในการปลุกปั่นประชาชนโดยไม่สนจริยธรรมของนักการเมือง รวมถึงการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนและพรรคการเมืองที่สังกัดโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน แล้วอย่างนี้การปฏิรูปจะเริ่มต้นอย่างไร และผลลัพท์ทางที่ดีจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ความหวังที่ประชาชนรักประชาธิปไตยรอคอย
สถานการณ์การเมืองไทย
การเมืองไทย (Thai Politic) เป็นการเมืองที่ยึดหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายาวนานถึง 90 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยคณะปฏิวัติที่มีชื่อว่า “คณะราษฎร์” ประกอบด้วยคณะทหารและข้าราชการพลเรือน นำมาซึ่งการมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือ ฉบับ พ.ศ.2560
การเมืองไทยเริ่มการเป็นระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกด้วยข้ออ้างของคณะบุคคลว่าทำไปเพื่อความต้องการของประชาชน ทั้งที่ประชาชนในอดีตรัก เคารพ และผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก และไม่มีความสนใจทางการเมืองเท่าที่ควรอันเนื่องจากระบบการศึกษา ระบบการสื่อสาร และระบบสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง ชาวชนบทในอดีตรับฟังข่าวสารทางวิทยุทรานซิสเตอร์ ไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้อย่างปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับการเมืองน้อยมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ผลที่ตามมาคือประเทศไทยเกิดการทำรัฐประหาร (ยึดอำนาจ) โดยผู้ที่คุมกองกำลังและอาวุธคือทหารอยู่เนืองๆ และได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็ว่าได้
ดังจะพบหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองเลย เนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในกลุ่มคณะราษฎรกันเองอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลานั้นคนไทยจึงเรียกว่ายุควงจรอุบาทก์ และหากมีรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งก็จะพบว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ถูกจัดขึ้น ประชาชนจะเลือกแต่นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่เป็นอยู่แล้วเสมอ ดังเช่นจอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม เป็นต้น เนื่องจากประชาชนไม่เข้าใจการเมืองการปกครอง จะเลือกใคร เลือกไปทำอะไรให้ตนเองและประเทศชาติ และประเด็นสำคัญข้อจำกัดของพรรคการเมืองในการจัดตั้งพรรค ในการรณรงค์หาเสียงที่ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง หลังจากยุควงจรอุบาทก์ผ่านไปก็เป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบคือหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดจากประชาชนเลือกตั้งแล้วไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทนทำให้ปัญหาการเมืองไทยยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่หลังจากพฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 จนมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เรียกว่ายุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำไมจึงเกิดรัฐประหารขึ้นอีก วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 สาเหตุเกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนเพื่อขับรัฐบาลในยุคนั้น 2548 – 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีการใช้แนวคิดการชุมนุมว่า “การชุมนุมกู้ชาติ” ช่วงเวลานั้นยังมีชนวนเหตุสำคัญคือ การขายหุ้นของครอบครัวนายกรัฐมนตรีโดยได้รับยกเว้นภาษี โดยมีการออกกฎหมายภาษีให้มีผลบังคับใช้ก่อนการขายหุ้นได้ไม่นาน (กรุงเทพธุรกิจ 23 ม.ค. 2549) การชุมนุมประท้วงที่ใช้ระยะเวลานานและขยายเป็นวงกว้างทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลุกลามบานปรายนำมาสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในที่สุด ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์บอยคอร์ตไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน พรรคของรัฐบาลจึงพบข้อจำกัดของการเลือกตั้งคือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในการกำหนดการเลือกตั้งผู้สมัครต้องมีคู่แข่ง หากไม่มีคู่แข่งจะนับคะแนนโหวตโน (Vote no) คือคะแนนที่ประชาชนกาว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนกับคะแนนที่ผู้สมัคร หากคะแนนใดมากกว่าถือเป็นผู้ชนะ เช่น คะแนนโหวตโนชนะผู้ลงสมัคร ก็ถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แพ้ต้องเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวพรรคใหม่ซึ่งเป็นพรรคเล็กๆในแต่ละจังหวัดอย่างมีนัยยสำคัญทางการเมือง
เมื่อการเลือกตั้งในครั้งนั้นนำมาซึ่การได้รัฐบาลชุดเดิมเป็นผู้ชนะ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เช่น ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเปิดงานอุทยานการเรียนรู้ ดิจิตอล ทีเคปาร์ค(T.K.Park) เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ชั้น 8 ได้มีผู้สนับสนุนและต่อต้านนายกรัฐมนตรีเกิดปะทะคารมกัน อันเป็นเหตุให้หน่วยรักษาความปลอดภัยและชายฉกรรจ์ในชุดสีเข้มไม่ทราบสังกัดเข้าไปทำร้ายร่างกายประชาชนบาดเจ็บ จึงทำให้ประชาชนฝ่ายต่อต้านจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งกลุ่มผู้ต่อต้านนายกรัฐมนตรีกลับถูกตำรวจจับในข้อหารบกวนความสงบเนื่องจากเป็นต้นเหตุให้เกิดเสียงเอะอะรำคาญในที่สาธารณะ ยิ่งก่อเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นระหว่างประชาชน 2 กลุ่ม จึงเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ในที่สุด
หลังการรัฐประหาร ปี 2549 ได้มีการรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งปี พ.ศ.2551 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายสมัคร สันทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค สภาผู้แทนราษฎรจึงโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาในปี พ.ศ.2551 – 2554 ในช่วงเวลานั้นเกิดการชุมนุมประท้วงจากผู้คัดค้านการได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเกิดการชุมนุมและก่อการจลาจล(Mob Rule) มีการเผายางรถยนต์ใจกลางเมืองย่านราชประสงค์ เซ็นทรัลเวิร์ล มีการชุมนุมปิดล้อมไม่ให้เกิดการประชุมอาเซียนที่พัทยา เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและต่อเนื่องจนทำให้ปี พ.ศ. 2554 นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา นำมาซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่ และพรรคเพื่อไทยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ประเทศไทยกลับสู่บรรยากาศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นายกมาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง
อย่าไรก็ตามในปี พ.ศ.2557 ยังคงเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง สาเหตุเกิดจากประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีกเช่นเคย แต่สาเหตุในครั้งนี้เกิดจากรัฐสภามีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมนักการเมืองที่มีโทษทางอาญาต่างๆ ทั้งการการคอรัปชั่นและการก่อการจราจลในการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต จึงเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ กอร์ปกับโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดปัญหาหนัก ขาดงบประมาณในการจ่ายค่าจำนำข้าวแก่ชาวนา เกิดปัญหาการคอรัปชั่นในโครงการอย่างมาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล ต่อมานายกหญิงยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 แต่การชุมนุมของประชาชนยังคงดำเนินต่อไป ทำให้เกิดความสูญเสียจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม เกิดการลอบทำร้ายจากผู้ไม่หวังดี เช่น มีการวางระเบิด มีการกราดยิง และเมื่อประชาชนเกิดความแตกแยกและเกิดความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถยุติได้ จึงต้องปิดฉากปัญหาความวุ่นวายของบ้านเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงเกิดการยึดอำนาจคือการทำ “รัฐประหาร” อีกครั้ง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ผบ.ทุกเหล่าทัพ ในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ทุกฝ่ายไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียว เพื่อนำความสงบสุขมาสู่ประเทศชาติ หยุดความบ้าคลั่งของนักการเมือง ที่ต่างทำเพียงเพื่อแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ให้กับตัวเอง (ไทยรัฐออนไลน์ : 2557)
สถานการณ์ทางการเมืองล้วนส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองทั้งสิ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ทำให้การเมืองแปรผันตลอดเวลา และทำให้ประเทศชาติขาดความสงบสุข ทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยขาดเอกภาพ ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปแบบเชื่องช้า และที่สำคัญประเทศไทยในสายตานานาประเทศคือ ประเทศที่ไม่พัฒนาทางการเมือง ประชาธิปไตยย่ำอยู่กับที่ เปลี่ยนถ่ายอำนาจหมุนเวียนกันไป จะเปลี่ยนไปก็เพียงรูปแบบรัฐประหารจากที่ต้องใช้รถถังและอาวุธเป็นใช้กลยุทธ์แบบนิ่มนวล และเป็นรัฐประหารที่ประชาชนสนับสนุน แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งของนักการเมืองกลายเป็นสงครามตัวแทน โดยการอาศัยความเชื่อ ความรัก ความศรัทธาให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนเลือกข้าง พร้อมที่จะขัดแย้งทั้งทางความคิด และการใช้กำลัง จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งแบบฝังรากลึก ความหวังก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560 คือการปฏิรูปการเมือง สร้างความสมานฉันฑ์ให้เกิดกับคนไทย
แนวคิดเกี่ยวกับการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 หมวด 16
การเมือง
ความหมายของการเมืองมีดังนี้ (จรูญ สุภาพ, 2514 : 2)
โทมัส ฮ็อบ (Thomas Hobb) กล่าวว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้เถลิงอำนาจ ผู้เข้มแข็งผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะเถลิงอำนาจมาปกครองคนจำนวนมากได้
เพลโต (Plato) กล่าวว่าการเมืองเป็นเรื่องของความยุติธรรม ความยุติธรรมนั้นคือความสุขของคนในรัฐ ซึ่งความสุขนั้นจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์ มีความรู้คู่คุณธรรมและจริยธรรม
ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539 : 3) กล่าวไว้ว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์รัฐาธิปัตย์กับผู้ใต้ปกครอง
เพนนอคและสมิธ (Pennock and Smith 1964 : 9) กล่าวไว้ว่า การเมือง หมายถึง ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมในสังคมนั้นๆ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม รวมถึงการมีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม
สรุปได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ ผลประโยชน์ก็คืออำนาจที่ต้องนำมาบริหารจัดการรัฐ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ ของผู้ปกครองในการออกกฎระเบียบ การจัดสรรปันส่วนให้สังคมเกิดความสุขอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อีกทั้งยังต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อการกำหนดโครงสร้างทางการเมืองการปกครองเพื่อเป็นการจำกัดอำนาจรัฐ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 16
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นฉบับที่ 20 ของไทย มีทั้งหมด 16 หมวด โดยหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257 – 261 (ราชกิจจานุเบกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560)
มาตรา 25๗ การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
(1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
(2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
(3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบ
มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้
ก. ด้านการเมือง
(1) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด
(2) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
(3) มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
(4) มีกลไกที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(5) มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
(1) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
(2) ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
(3) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
(4) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา
(5) ให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน
ค. ด้านกฎหมาย
(1) มีกลไกให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา ๗๗ และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(3) ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย
(4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลกฎหมายได้สะดวก และสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ง่าย
(5) จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม
(1) ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
(2) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
(3) เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
(4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
จ. ด้านการศึกษา
(1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(2) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
(4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
ฉ. ด้านเศรษฐกิจ
(1) ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
(2) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
(3) ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพูนรายได้ของรัฐด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบการจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล
(4) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน
ช. ด้านอื่น ๆ
(1) ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ประกอบกัน
(2) จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินอย่างเป็นระบบ
(3) จัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้
(4) ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน
(5) ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม
มาตรา 259 ภายใต้บังคับมาตรา 260 และมาตรา 261 การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี
ให้ดำเนินการตรากฎหมายตามวรรคหนึ่ง และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิรูปโดยอาศัยหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อน
มาตรา 260 ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็น
ข้าราชการตำรวจมาก่อน เป็นประธาน(2) ผู้เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งอย่างน้อยต้องมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรวมอยู่ด้วย มีจำนวนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นกรรมการ
(2) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน มีจำนวนเท่ากับกรรมการ เป็นกรรมการ
(3) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคสองแล้ว ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 261 ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
จะพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดการปฏิรูปประเทศไทยไว้ในหมวด 16 นับว่าเป็นเจตจำนงที่ดีในการวางเป้าหมายในการนำประเทศไทยไปสู่ความสงบเรียบร้อย และให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการมุ่งปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ
บทสรุป
จากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาเป็นปัญอุปสรรคต่อเสถียรภาพทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเกิดจากผู้มีอำนาจ “ยุควงจรอุบาทก์” “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” และ “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” ก็ไม่สามารถหยุดรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญได้ และไม่มีใครที่จะสามารถปฏิรูปการเมืองได้จากคนคนเดียว สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องหาสาเหตุในแต่ละยุคให้ชัดเจน ไม่เหมารวมว่าทุกอย่างเกิดจากทหารบ้าอำนาจ แต่เราต้องยอมรับว่าในแต่ละยุคนั้นปัญหาแตกต่างกัน เช่นยุคแรกการแย่งชิงอำนาจกันเองเกิดจากการบ้าอำนาจจริง ยุคต่อมาเป็นยุคแห่งการปิดบังข้อมูลหลอกลวงประชาชน นโยบายขายฝันเนื่องจากประชาชนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจึงเป็นยุคของนักการเมืองเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ส่วนยุคสุดท้ายเมื่อประชาชนมีผลกระทบโดยตรงกับตนเองมากขึ้นจึงเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ก็จะพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนยังอยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมือง ทำให้ประชาชนกลายเป็นเครื่องมือปกป้องหรือขับไล่นักการเมือง นำมาซึ่งการรัฐประหารในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาธิปไตยจึงหลุดมือจากประชาชนไปอีกครั้ง เพราะกลายเป็นประชาธิปไตยที่ไร้ซึ่งหลักการและเหตุผลนั้นเอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 16 ก.การปฏิรูปด้านการเมือง ตั้งแต่ (1) ถึง (5) จะพบว่านอกจากการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ ยังกำหนดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมพรรคโดยเปิดเผย ให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ที่สำคัญพรรคการเมืองต้องคัดเลือกคนดี มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนการกำหนดกลไกต่างเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากข้อความเหล่านี้จะพบว่าเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นการเมืองที่ดีขึ้น แต่ในความคิดของประชาชนคนธรรมดามองว่าเป็นภาพฝันมากกว่า เพราะเมื่อเกิดการกำหนดกติกาที่ไม่สามารถวัดความถูกความผิดได้ ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เพราะจะเกิดการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อการตัดสินเกิดจากการตีความทำให้เกิดความพึงพอใจและความไม่พึงพอใจควบคู่กัน ผลสุดท้ายคือกระบวนการยุติธรรมถูกโจมตีและขาดความน่าเชื่อถือไปในที่สุด เนื่องจากกติกาไม่ชัดเจน ผู้เล่นย่อมเบี่ยงเบนให้ถูกเป็นผิดและผิดเป็นถูกได้เสมอ
ดังนั้นการปฏิรูปทางการเมืองเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อย่างยิ่ง ตราบใดที่ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจทางการเมืองไม่ตรงกัน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเกิดจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์มิใช่เพื่อบ้านเมืองโดยแท้จริง ประชาชนก็จะตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองตลอดไป อีกทั้งกลไกต่างๆ ที่จะควบคุมพรรคการมืองและนักการเมืองเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองกำหนดเองย่อมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคและนักการเมืองมากกว่าประชาชนเป็นแน่แท้
อ้างอิง
จรูญ สุภาพ. (2514). การเมือง. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช.2517. ความคิดอิสระ : รวมบทความทางการเมืองระหว่างปี 2511-2516.
กรุงเทพฯ: พิฆเณศ
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2535. รัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณรงค์ สินสวัสดิ์. 2539. การเมืองไทย: การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์
ไทยรัฐออนไลน์. (2557). ย้อนนาที ‘ประยุทธ์’ ทุบโต๊ะ ยึด’อำนาจ’ สู่ ‘รัฐประหาร’. (ออนไลน์).
https://www.thairath.co.th/content/424643. (ค้นพบเมื่อ 25 สิงหาคม 2563).
ไทยรัฐออนไลน์. (2560).102 ปี สงัด ชลออยู่ “จอว์สใหญ่” Never Die. (ออนไลน์)
https://www.thairath.co.th/newspaper/column. (ค้นพบเมื่อ 23 สิงหาคม 2563).
นรนิติ เศรษฐบุตร. (2560). 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516. (ออนไลน์) http://wiki.kpi.ac.th.
(ค้นพบเมื่อ 23 สิงหาคม 2563).
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา. เลม ๑๓๔ (ตอนที่ 40 ก),
๖ เมษายน ๒๕๖๐, หน8า 1-90.
Eulau, Heinz. 1963. The Behavioral Persuation in Politics. New York: Random House
Pennock, Roland J., and Smith, David G. 1964. Political Science. New York: McMillan
The Standard. (2020). 17 พฤษภาคม 2535 – เริ่มต้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ. (Online)
https://thestandard.co/onthisday17052535. (8 – 25 – 2020).