ปัจจุบันโลกกำลังอยู่ในอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาที่โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อันเป็นผลเนื่องมาจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผลกระทบที่เกิดขั้นในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านลบและด้านบวกทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจธรรมชาติและเกิดความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปรับตัวในการดำรงชีวิตได้ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาให้มนุษย์เกิดความรู้ความสามารถในการปรับตัวในยุคปัจจุบัน
ความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์มีรากฐานมาจากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่อดีต จนมาถึงยุควิทยาศาสตร์สมัยใหม่แล้วถูกมาใช้ในอารยธรรมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 1500 วิทยาศาสตร์ๆด้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยมา จนถึงช่วงทศวรรษ 1950 จึงมีการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา (Douglas A. Roberts and Rodger W. Bybee, 2014, p.546) เมื่อเกิดยุคสงครามเย็นระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต เมื่อสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตสามารถส่งยานสปุตนิคขึ้นอวกาศ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาตระหนักความล้าหลังของตนเอง และเห็นว่าการเรียนรู้ที่เน้นถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์โดยการบรรยายให้จดจำนั้นไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาให้คนเกิดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ได้ จึงนำแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) มากำหนดเป็นนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเร่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้เพิ่มความสามารถของประเทศ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาได้นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผล สามารถนำความรู้และทักษะ รวมถึงคุณลักษณะต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ได้ นโยบายในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ มุ่งให้ทุกคนเป็นผู้ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Literate Person) คาดหวังว่าเยาวชนที่ผ่านการเรียนรู้ตามนโยบายนี้จะสามารถช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและแข่งขันกับนานาประเทศได้
ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนามาจนก้าวหน้าและเป็นทึ่ยอมรับของนานาประเทศ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเห็นว่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมุ่งพัฒนาคนให้มีความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนมีความพร้อมในการแข่งขันในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ปัญหาด้านทรัพยากร ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้มนุษย์ต้องเร่งปรับตัวและรับมือให้ทัน
ความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมโลกในลักษณะต่าง ๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับประเทศ หรือระดับโลก ประเทศต่าง ๆ ในโลกต่างก็ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความพร้อม โดยมีประเด็นดังนี้ (Neni Hermita, Mahmud Alpusari, Jesi Alexander Alim and Elfis Suanto. (2020, p.61)
1) ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ให้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ในระดับบุคคลและให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่บุคคลทุกคน
2) การพัฒนาให้ผู้เรียนในระดับต่าง ๆ เกิดความเข้าใจและทักษะทางวิทยาศาสตร์มีผลต่อความสามารถและประสิทธิผลในการทำงานในอนาคต
3) ประเทศต่าง ๆ ต้องการองค์ความรู้และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมากำหนดนโยบายในการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนในแต่ละระดับให้มีคุณลักษณะดังกล่าวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก หากประเทศไทยต้องการพัฒนาให้เกิดความพร้อมทั้งในด้านการแข่งขันและการปรับตัวในความเปลี่ยนแปลง ประชาชนทุนคนจึงต้องได้รับการพัฒนาให้มีความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ และนำความสามารถไปใช้ในการเรียนรู้และปรับตัว ตลอดจนมีความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ตามบทบาทหน้าที่ของตนเองต่อไป