ข้อจำกัดของการอุ้มบุญตามกฎหมายไทย: ศึกษากรณีผู้ที่มีสิทธิขอให้ดำเนินการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงข้อจำกัดของการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ในแง่มุมของผู้มีสิทธิขอให้ดำเนินการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จากการศึกษาพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฯ พบว่าผู้ที่มีสิทธิดำเนินการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าอุ้มบุญนั้น ได้แก่สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้เท่านั้น อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยการอุ้มบุญไว้อย่างแคบ ผลตามกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงกระทบต่อสิทธิของผู้ที่ประสงค์จะให้มีการอุ้มบุญเท่านั้นแต่ยังมีผลถึงสิทธิของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญด้วยเนื่องจากเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญที่มิได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฯ ย่อมไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญภายใต้กฎหมายดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและแนวคิดเรื่องคู่ชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงการเรียกร้องเรื่องการสมรสเท่าเทียมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าควรมีการทบทวนเกี่ยวกับผู้ที่สามารถขอให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนให้ครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลที่มิใช่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประสงค์จะสร้างครอบครัวอาทิ คู่ชีวิตเพศเดียวกัน ทั้งนี้ เงื่อนไขของบุคคลที่จะขอให้มีการตั้งครรภ์แทนอาจมีการกำหนดให้แตกต่างกันได้โดยยึดถือประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ