การเขียนเค้าโครงงานวิจัย หรือข้อเสนองานวิจัย (research proposal) เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดในการทำวิจัยของผู้วิจัย ซึ่งในการวางเค้าโครงเรื่องที่จะทำวิจัยเพื่อทำงานวิจัยให้สำเร็จ โดยนำเสนอด้วยเหตุด้วยผล และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน หรือความสำคัญของปัญหาหรือหัวข้อที่ผู้วิจัยมีความสนใจดังกล่าว ซึ่งประเด็นในการนำเสนอแนวคิดก่อนการทำงานวิจัยมีองค์ประกอบที่ผู้วิจัยจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน เนื่องจากการทำวิจัยแต่ละครั้งนั้นเราต้องใช้ทรัพยากรทั้งในเรื่องเวลา งบประมาณ และนักวิจัย ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ความคุ้มค่าจึงเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก และยังเป็นสิ่งที่แหล่งทุนที่จะให้การสนับสนุนการทำวิจัยเหล่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้น การเขียนข้อเสนอการวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดของผู้วิจัยก่อนการนำเสนอขอแหล่งทุนหรือขออนุมัติการทำวิจัย จึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงประโยชน์ของงานวิจัยแต่ละเรื่อง หากผู้วิจัยมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอ ตลอดจนมีกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นถึงการทำวิจัยสามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ก็จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณต่อไป
เค้าโครงงานวิจัย (research proposal) หรือ ข้อเสนองานวิจัย (concept papers) เป็นการเขียนข้อเสนอที่เป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญที่ผู้วิจัยต้องพิจารณาก่อนดำเนินการวิจัย เป็นข้อความที่แสดงถึงความคิดในการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัย การวางแผนการทำวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการวิจัยจะสามารถมองเห็นวิธีคิด ความเป็นไปได้ แนวทางในการศึกษาวิจัยและประโยชน์หรือคุณค่าที่พึงได้รับจากการทำวิจัยดังกล่าว
ดังนั้น หลักเกณฑ์สำคัญในการเขียนเค้าโครงการวิจัยหรือโครงข้อเสนองานวิจัย มีแนวทางการเขียน ดังนี้
1. ครอบคลุมประเด็นที่จะศึกษา เน้นปัญหาให้ถูกจุด
2. ไม่สั้นหรือยาวเกินไป
3. มีการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์
4. ใช้ภาษาง่ายๆ โดยจัดลำดับประเด็นที่เสนอเป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน
5. สรุปเชื่อมโยงเข้าสู่วัตถุประสงค์ของการวิจัย
รายละเอียดในเค้าโครงการวิจัยทำให้ผู้วิจัยและหน่วยงานที่พิจารณาให้ทุนหรือคณะกรรมการพิจารณาเข้าใจในกรอบกระบวนการทำงาน ประวัติและพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เสนองานวิจัยและความเชื่อมโยงของการทำงานที่สร้างความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการแสวงหาคำตอบของการทำวิจัยได้
เค้าโครงการวิจัยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่ผู้วิจัยนำเสนอแนวคิดและกระบวนการในการวางแผนการทำวิจัยนั้นมีประโยชน์ ทั้งต่อผู้วิจัยเองและผู้เกี่ยวข้องโดยเราอาจแยกผู้ได้รับประโยชน์ออกเป็น 2 ฝ่าย (วัชราภรณ์ สุริยาภิวัฒน์, 2548 หน้า 68–69) ดังนี้
1. ฝ่ายผู้ให้ทุนหรือคณะกรรมการพิจารณา
หากมีเค้าโครงการวิจัยที่เขียนไว้อย่างชัดเจน ประโยชน์ที่ฝ่ายผู้ให้ทุนหรือคณะกรรมการพิจารณาจะได้รับประโยชน์มี ดังนี้
1.1 เป็นการรับประกันว่าผู้วิจัยมีความข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาที่จะทำการวิจัย เพราะในข้อเสนอการวิจัยจะระบุถึงปัญหาที่จะวิจัยและผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ หากผู้วิจัยระบุปัญหาคลาดเคลื่อนไปจากที่ผู้ให้ทุนต้องการ ก็จะได้ปรับเปลี่ยนให้ตรงตามที่ต้องการของทุกฝ่าย หรือระงับโครงการวิจัยในประเด็น
นั้น ๆ ก่อนที่จะต้องสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
1.2 ใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับ ติดตามและควบคุมการดำเนินงาน เนื่องจากข้อเสนอการวิจัยเป็นสัญญาที่มีข้อความผูกมัดผู้วิจัยให้ดำเนินการวิจัยตามที่ได้นำเสนอไว้ในข้อเสนอการวิจัย
1.3 ช่วยเป็นเครื่องมือในการตัดสินคุณค่าและคุณเภาพงานวิจัย โดยทั่วไปการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยนั้นจะมีการดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยโดยเฉพาะ เพื่อการคัดเลือก หรือการจัดลำดับความสำคัญเพื่อจัดสรรงบประมาณในการทำวิจัย หรือหากเป็นการดำเนินการวิจัยเพื่อการศึกษาก็จะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย
2. ฝ่ายผู้วิจัย ข้อเสนอการวิจัยที่ผู้วิจัยเขียนไว้อย่างชัดเจน จะได้รับประโยชน์ ดังนี้
2.1 เป็นการยืนยันว่าผู้วิจัยมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นข้อที่เสนอการวิจัยนั้น ๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ให้ทุน หรือคณะกรรมการพิจารณา และเกิดความมั่นใจในการดำเนินการตามแผนงานวิจัยที่นำเสนอไว้ในข้อเสนอการวิจัยนั้น
2.2 ทำให้ผู้วิจัยสามารถวางแผนและทบทวนกระบวนการในการดำเนินการวิจัย มีการทบทวนและตรวจสอบการทำงานวิจัยทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ และไม่หลงทาง ข้อเสนอการวิจัยที่ดีจะสามารถเป็นเหมือนแผนที่ที่จะนำพาผู้วิจัยไปสู่จุดหมายของการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงสร้างของเค้าโครงการวิจัยทั่วไป
เค้าโครงการวิจัยโดยทั่วไป มักจะประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 3 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนประกอบตอนต้น
ประกอบด้วย ปกนอก ซึ่งจะมีชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย รายละเอียดของหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำวิจัย ปกในหรือใบปะหน้า สารบัญ สารบัญตาราง (ถ้ามี) สารบัญภาพ หรือแผนภูมิ (ถ้ามี)
2. ส่วนเนื้อหา
ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งมีหัวข้อย่อย ได้แก่ ความเป็นมาหรือความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย สมมุติฐาน (ถ้ามี) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขอบเขตการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้น
(ถ้ามี) ข้อจำกัดในการวิจัย (ถ้ามี) กรอบแนวคิดในการวิจัย และนิยามศัพท์เฉพาะ บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีเนื้อหาที่ปรากฏ ขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวแปรที่ศึกษา ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และบทที่ 3 วิธีการดำเนินการวิจัย ได้แก่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
3. ส่วนประกอบตอนท้าย ในส่วนสุดท้ายของเค้าโครง ประกอบด้วย บรรณานุกรม
เนื้อหาที่เป็นการอ้างอิง และส่วนที่สองคือ ภาคผนวก ซึ่งอาจจะเป็นรายละเอียดประกอบอื่น ๆ ที่ไม่สามารถนำมาเสนอในส่วนเนื้อหา เช่น ภาพประกอบ สถิติ รายละเอียดตารางย่อย ๆ หนังสือขอความอนุเคราะห์ในการเก็บข้อมูล หนังสือเชิญ เป็นต้น
สุณีย์ ล่องประเสริฐ (2555, หน้า 292–293) ได้นำเสนอเกี่ยวกับความสำคัญของเค้าโครงการ วิจัยไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. ข้อเสนอโครงการวิจัยคือสื่อ (means) ที่สำคัญยิ่งที่ผู้วิจัยกำลังแปลกระบวนการคิด
(thinking process) เกี่ยวกับปัญหาการวิจัยซึ่งเป็นนามธรรมให้อยู่ในรูปที่ผู้อ่าน ซึ่งหมายถึง คณะกรรมการกำกับการศึกษาหรือผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยสามารถเข้าใจได้
2. ข้อเสนอโครงการวิจัย เป็นเสมือนกรอบที่คอยควบคุมการดำเนินงานวิจัยของผู้วิจัย ระเบียบ
วิธีต่าง ๆ ที่ระบุเอาไว้ในข้อเสนอโครงการวิจัยจะทำหน้าที่เสมือนแปลนบ้าน ซึ่งผู้ก่อสร้างที่ดีย่อมทำให้บ้านสร้างได้เสร็จตามความต้องการของผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้าน ทำนองเดียวกันกับผู้วิจัยถ้าเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้ดี และผู้วิจัยสามารถดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอนที่วางกรอบไว้ผลของการวัยย่อมมีความถูกต้อง ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้น ๆ
3. ข้อเสนอโครงการวิจัยเป็นเสมือน
3.1 สัญญาใจ ระหว่างตัวของผู้ทำวิจัย และใจของผู้วิจัยเอง
3.2 นิติกรรม ที่ทำขึ้นระห่างผู้วิจัยกับผู้ให้ทุนสนับสนุน
3.3 ข้อตกลง ระหว่างผู้วิจัยกับคณะกรรมการกำกับการวิจัย
4. ข้อเสนอโครงการวิจัยเป็นสิ่งบ่งบอกคุณสมบัติ และจรรยาบรรณของผู้วิจัย ลักษณะของ
นักวิจัยที่ดี อย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในประเด็นปัญหาที่จะทำวิจัย เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ และที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่มีการวางแผนที่ดีในการทำงานอย่างรัดกุม รอบคอบ
สรุป
การเขียนเค้าโครงงานวิจัย หรือข้อเสนองานวิจัย (research proposal) เป็นการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบประเด็นสำคัญในการดำเนินการวิจัย ประกอบด้วยประเด็นสำคัญได้แก่ ชื่อเรื่องงานวิจัย ความสำคัญของปัญหาวัตถุประสงค์ สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี) วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง นิยามศัพท์เฉพาะ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขอบเขตการวิจัย ระเบียบวิธีการวิจัย และแผนการดำเนินการวิจัย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะส่งผลต่อการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องว่างานวิจัยดังกล่าวมีความน่าสนใจ มีความคุ้มค่า ดังนั้น ลักษณะการเขียน จึงต้องมีความชัดเจนในความคิดสู่การปฏิบัติ เค้าโครงการวิจัยจึงเป็นข้อเสนอกรอบความคิดในการทำงานวิจัยของผู้วิจัยและยังเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าการทำวิจัยนั้น ๆ จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ส่วนในด้านผู้อ่านจะได้ทราบถึงความจำเป็นความสำคัญและแผนการดำเนินงานของผู้วิจัย ในการที่จะได้มาซึ่งคำตอบเหล่านั้นว่ามีความเป็นไปได้และควรสนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าวหรือไม่ จึงถือเป็นการสื่อสารระหว่างผู้เสนอและผู้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการเขียนผู้วิจัยจำเป็นต้องเขียนให้ชัดเจนและเขียนให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
เอกสารอ้างอิง
จิตราภา กุณฑลบุตร. (2550). การวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร. สหธรรมิก จำกัด.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. (2548). การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร. วี.อินเตอร์ พริ้น
จำกัด
บุญธรรม จิตต์อนันต์. (2546). การวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
บุญเณศร์ อี่ชโรจน์. (2546). การวิจัยโฆษณา. ภาควิชาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์. คณะบริหารธุรกิจ.
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ปาริชาติ สถาปิตานนท์. (2557). ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสาร. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
พิสณุ ฟองศรี. (2552). วิจัยทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่6). กรุงเทพมหานคร. ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
วัชราภรณ์ สุริยาภิวัฒน์. (2548). วิจัยธุรกิจยุคใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
สุชาติ ประเสริฐรัฐสินธุ์. (2550). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพมหานคร. คณะรัฐ
ประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุณีย์ ล่องประเสริฐ. (2556). ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ. ตำราเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหามงคล.
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี.
อนัญญา ศรีสำอางค์. (2551). การวิจัยวิทยุโทรทัศน์. คณะนิเทศศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.