การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอายุ 3-6 ปี

การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอายุ 3-6 ปี

ผศ.พรรษา ตระกูลบางคล้า

 

              เด็กปฐมวัยอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเข้าโรงเรียนอนุบาล เพื่อเรียนรู้การเข้าสังคมและส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน ดังนั้นครูและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ดังนี้ (ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์, 2542, น.51-69; พัชรี ผลโยธิน, 2558, น. 1-37 ถึง 1-38 ; วันทนีย์ เกรียงสินยศ และคณะ, 2559, น. 29-30)

              1.ภาวะโภชนาการ   เด็กปฐมวัย เป็นวัยที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ร่างกายของเด็กทุกคนต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเพียงพอในแต่ละวันเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงให้พลังงานในการทำกิจกรรมแต่ละวัน และสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับตัวเด็ก โดยหลักในการจัดอาหารให้เด็กควรคำนึงถึงว่าเด็กได้รับอาหารครบ 3 มื้อ  และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของเด็กแต่ละคน และอาหารที่เด็กรับประทานมีคุณภาพตามหลักโภชนาการและถูกสุขอนามัย

                  อาหารสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี

                  เด็กอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายอารมณ์และสังคมซึ่งเด็กวัยนี้มีความต้องการสารอาหารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น    โดยทั่วไปในช่วงอายุนี้  เด็กจะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ต่อปี และส่วนสูงเพิ่ม 5-8 เซนติเมตร ต่อปี  เป็นวัยที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวและการเล่นมากขึ้น ทำให้ร่างกายต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งสารอาหารหลักที่เด็กวัยนี้ต้องการ ดังนี้

                        1) พลังงาน จากอาหารที่เพียงพอจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและเพื่อรักษาสภาพสมดุลร่างกายและมีสำรองให้ร่างกายใช้ เมื่อเด็กมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นหรือในยามเจ็บป่วย เด็ก3-5 ปี ต้องการพลังงานวันละ 1,000-1,300 กิโลแคลอรี อาหารที่ให้พลังงานจะได้จากหมวดข้าวแป้งธัญพืชต่าง ๆ น้ำตาลและไขมันจากพืชและสัตว์

                        2) โปรตีน อาหารโปรตีนช่วยการเจริญเติบโตและสร้างกล้ามเนื้อต่าง ๆ เด็กวัยนี้ต้องการโปรตีนวันละ 1.2-1.4 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน (18-22 กรัมต่อวัน)  อาหารที่ให้โปรตีน คือ ไข่ นม เนื้อสัตว์ต่าง ๆ  เช่น  เนื้อปลา หมู ไก่ หรือ อาจให้อาหารที่เป็นถั่วต้มเปื่อยต่าง ๆเต้าหู้ ฯลฯ  ที่ใช้ทดแทนอาหารเนื้อสัตว์ในบางมื้อ  เด็กควรได้รับไข่วันละ 1 ฟอง และได้ดื่มนมรสจืดทุกวัน ผู้ปกครองสามารถให้อาหารที่เสริมธาตุเหล็กโดยปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดงฯลฯ โดยจัดให้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาโลหิตจาง

                        3) ไขมันช่วยสร้างพลังงานแก่ร่างกาย และช่วยการดูดซึมวิตามินบางตัว  เช่น วิตามินเอ ดี อีและ เค ในร่างกาย เด็กอายุ 3-6 ปี ไม่ควรได้รับไขมันเกินกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดเนื่องจากการได้รับไขมันมากเกินไป  จะส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้   จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ไขมันอิ่มตัวต่าง ๆ เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ น้ำมันหมู กะทิ มาการีน ฯลฯ   เพราะในระยะยาวมีผลทำให้ระดับไขมันแอลดีแอล-คอเลสเทอรอล (ไขมันไม่ดี) ในเลือดเพิ่มขึ้น  นำไปสู่การเกิดปัญหาไขมันในเลือดสูงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ

 

 

ตารางที่ 1 ปริมาณพลังงานและโปรตีนที่เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับใน 1 วัน

อายุ (ปี)
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
พลังงานที่ต้องการ (กิโลแคลอรีต่อวัน)
ปริมาณโปรตีนที่ต้องการ
กรัมต่อวัน
กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
1-3 ปี
10-16.6
1,000
18
1.4
4-5 ปี
16.7-20.9
1,300
22
1.2
 

ที่มา : วันทนีย์ เกรียงสินยศ และคณะ, 2559, น.29

 

                  แนวทางการดูและการจัดอาหารสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี

                  พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องให้ความสำคัญ  เรื่องคุณภาพและปริมาณอาหารต่าง ๆ  ที่เตรียมให้เด็ก เลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพ และวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะสม หลักเกณฑ์การจัดเตรียมอาหารสำหรับเด็กวัยนี้คือ

                        1) ใน 1 วัน เด็กควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ  โดย 1 มื้อ ประกอบด้วยข้าวกล้องหรือข้าวสวยนิ่ม ๆ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ สลับกับไข่ หรืออาหารทะเล ผักใบเขียวต่าง ๆ ผลไม้มื้อละ 1 ส่วนเช่น ส้ม มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า

                        2) เด็กเล็กมักปฏิเสธการกินผัก  ด้วยเหตุผลว่าผักมีรสขมหรือกลิ่นไม่ชวนกิน ดังนั้นพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอาจเริ่มจากเลือกผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน เช่น ผักกาดขาว ผักบุ้ง ตำลึง ฟักทองฯลฯ  เมื่อเด็กกินได้ดีจึงค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น  ผักที่ใช้เตรียมอาหารเด็กควรเป็นผักสดต่าง ๆ ที่ทำได้ในท้องถิ่น และล้างผักให้สะอาดก่อนนำไปประกอบอาหาร

                        3) ปรุงอาหารที่รสชาติไม่จัดจ้านและปรุงอาหารด้วยวิธีการต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด ช่วยให้เด็กได้รับไขมันไม่มากเกินไป   อาหารที่ปรุง โดยการต้มควรให้นุ่มและตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอเหมาะกับปากเด็ก

                        4) ให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่ออาหาร  ว่าอาหารมีประโยชน์ต่อร่างกายของตนเอง โดยจัดกิจกรรมผ่านการเล่านิทาน เพลง คำคล้องจอง  หรือให้เด็กมีส่วนช่วยประกอบอาหารร่วมกันเช่นการล้างผัก การเด็ดผัก เป็นต้น

                        5) ไม่ให้ขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน และน้ำหวานทุกชนิด แก่เด็กก่อนมื้ออาหารหลักเพราะทำให้เด็กไม่อยากอาหารมื้อหลัก ขนมหวานและอาหารแป้งที่มีความเหนียวนุ่มติดฟันมักก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย

                        6) อาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร เน้นว่าควรให้เป็นผลไม้แทนขนมกรุบกรอบและขนมทอดต่าง ๆ โดยทั่วไปสามารถจัดอาหาหรว่างให้ได้ 2 มื้อ ซึ่งรวมแล้วให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 20ของพลังงานจากอาหารทั้งหมดหรือ 200-250 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

                        7) การที่เด็กได้วิ่งเล่นหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เด็กอยากอาหารเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกัน เด็กวัยนี้จะเรียนรู้สีต่าง ๆ จึงมักนำเรื่องสีมาสัมพันธ์กับเรื่องอาหาร ดังนั้นเด็กจึงชอบอาหาร

ที่มีสีสดใส เช่น แตงโม แครอท ส้ม ไข่ มากกว่าอาหารที่ไม่มีสีสัน ดังนั้นผู้ดูแลเด็กจึงควรจัดอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักผลไม้เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยและบริโภคได้ดี

                        8) บางครั้งอาจพบเด็กอายุ 3-6 ปี   สนใจการเล่นมากกว่าการกินและกินอาหารไม่เป็นเวลา  จึงเป็นอุปสรรคต่อการดูแลของพี่เลี้ยงหรือผู้ปกครอง  ซึ่งมักใช้วิธีบังคับให้เด็กกินอาหารหรือมีข้อต่อรอง  โดยให้ขนมหวานหรือลูกกวาดเป็นรางวัล แลกเปลี่ยนกับการกินอาหารของเด็ก  วิธีแก้ไข  คือ งดให้ขนมหรือเครื่องดื่มหวาน ๆ ก่อนมื้ออาหารหลัก และเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อหลัก  ควรให้เด็กได้นั่งร่วมกับเด็กอื่น หรือผู้ใหญ่เพื่อกินอาหารพร้อม ๆ กัน   ทั้งนี้ยังเป็นการาฝึกวินัยในการกินอาหารด้วย

                        9) สอนให้เด็กกินอาหารพอประมาณการตักข้าวและกับข้าว   ควรตักพอกินและกินให้หมดจาน ถ้าไม่อิ่มจึงค่อยตักเพิ่ม และเมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว สอนให้เด็กนำภาชนะไปเก็บ หรือล้างให้สะอาด และแปรงฟัน

                  2. การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย  ได้แก่ การดูแลเด็กให้มีสุขภาพดีเป็นไปตาม เกณฑ์และปลอดภัย โดยมีแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยเด็ก ดังนี้

                        1) ครูและผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็ก  ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ และระมัดระวังการแพร่เชื้อที่อาจเกิดกับตนเองไปยังเด็ก  ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังการเตรียม อาหารให้เด็ก

                        2) ดูแลสุขภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยไม่มีสารอันตรายกับเด็กเช่น ปลั๊กไฟต้องปิดให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอามือไปแหย่เล่น เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญ คือ เด็กต้องอยู่ ในความดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลา   รวมทั้งเด็กต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และกิจกรรมการเล่นสำหรับของเล่นที่เข้าปากเด็กต้องนำมาเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเมื่อเด็กเล่นเสร็จ

                        3) เวลารับประทานอาหาร  ถือเป็นเวลาที่มีความสุข   ควรให้เด็กนั่งในกลุ่มเด็ก2-3 คน  พร้อมครูหรือผู้ดูแลเด็กที่คอยช่วยเหลือ   ถ้าจำเป็นอาหารที่ทำให้เด็กรับประทาน ควรเป็นอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

                        4) ครูและผู้ดูแลเด็ก  ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ  และการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กแต่ละคนให้เป็นปัจจุบัน

                        5) หากเด็กมีอาการเป็นไข้ ไม่สบาย หรือมีน้ำมูก ควรป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อด้วยการใช้ผ้าคาดปาก ใช้น้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค หรือไม่ไปในที่สาธารณะ

                  3. การจัดสภาพแวดล้อม ในโรงเรียนอนุบาลนั้นมีจำนวนเด็กในชั้นเรียนจำนวนมากกว่าในครอบครัว  การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัย ก็มีความสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว   ทั้งนี้ครู หรือผู้ดูแล ควรคำนึงถึงการส่งเสริมด้านการจัดสภาพแวดล้อม ดังนี้

                        1) จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้มีความอบอุ่นคล้ายเหมือนบ้าน  มีพื้นที่ได้เล่น และทำกิจกรรมอย่างปลอดภัย จัดเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับขนาดของเด็ก   และติดภาพให้อยู่ในระดับสายตาเด็ก

                        2) จัดแยกพื้นที่สำหรับนอนพักผ่อนและรับประทานอาหารออกจากกัน เพื่อสุข อนามัยและความสะอาด

                        3) จัดของเล่นที่เหมาะสมกับวัยพัฒนาการ ของเล่นมีความปลอดภัย ไม่มี อันตรายกับเด็กสามารถล้างทำความสะอาดได้

                        4) จัดของเล่นให้เล่นอยู่ในชั้นหรือที่ที่เด็กสามารถเลือกหยิบมาเล่นได้ด้วยตนเอง

                        5) จัดมุมหนังสือที่มีหนังสือสับเปลี่ยนอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน และเลือกอ่านหนังสือที่ตนสนใจ

                        6) จัดให้เด็กแต่ละคนมีเครื่องนอน หรือเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเป็นของตน โดยเฉพาะ

                        7) วางแผนจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  ภายในห้องเรียน  ให้มีพื้นที่สำหรับ ทำงานร่วมกันเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น มีโต๊ะเป็นกลุ่มสำหรับทำกิจกรรม มีพื้นที่ เช่น เสื่อ สำหรับเล่นบล็อกร่วมกัน

 

 

ภาพที่ 1 การจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน

 

 

 

ภาพที่ 2 การจัดพื้นที่ในการเก็บของใช้ส่วนตัวของเด็ก

 

 

 

ภาพที่ 3 การจัดมุมประสบการณ์ในห้องเรียนปฐมวัย

`

                  2.4 การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ หมายถึง การจัดกิจวัตรประจำวัน หรือการจัดประสบการณ์ที่จัดเตรียมขึ้น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ดังนี้

                        1) วางแผนจัดเตรียมให้เด็กปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง   โดยส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ด้วยตนเอง  เช่น  การรับประทานอาหาร   การแต่งตัวการใส่รองเท้า เป็นต้น

                        2) สนับสนุนให้เด็กได้เล่น  และเป็นแบบอย่างในการเล่นจินตนาการกับของเล่นต่าง ๆ นอกจากนี้ควรจัดของเล่นที่เด็กๆชอบให้เด็กมีโอกาสทั้งเล่นคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่ม

                        3) อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังบ่อย ๆ อาจเป็นเด็กนั่งตัก หรืออ่านให้ฟังในกลุ่มย่อย 2-3 คนนอกจากนี้ ควรร้องเพลงเล่นกับนิ้วมือแสดงบทบาทสมมติตามเนื้อเรื่องในนิทานกับเด็ก

                        4) จัดกิจวัตรประจำวัน ให้มีทั้งช่วงเวลาเด็กได้เรียนรู้ลงมือทำอย่างกระตือรือร้นและช่วงเวลาสงบ  รวมทั้งได้นอนพักผ่อนสำหรับเด็กที่อยู่สถานศึกษา หรือสถานพัฒนาเด็กตลอดวันและให้เวลาเด็กอย่างเพียงพออย่างน้อย 60 นาที  สำหรับทำกิจกรรมในศูนย์การเรียนเล่นใน มุมเล่นต่าง ๆ เล่นสร้างสรรค์และสืบค้นในเรื่องที่สนใจอยากรู้

                        5) ให้เด็กได้เล่นกับวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะ  เช่น สีเทียน สีน้ำ แป้งโด การประดิษฐ์ หรือทดลองเล่นกับสีง่าย ๆ เช่น พิมพ์ภาพ เป็นต้น

 

 

 

ภาพที่ 4 การทำกิจกรรมศิลปะเป็นรายบุคคล (ซ้าย) และเป็นกลุ่มย่อย (ขวา)

 

                        6) ให้โอกาสเด็กเล่นกลางแจ้งเล่นน้ำเล่นทรายเป็นประจำทุกวัน

 

 

 

ภาพที่ 5 การเล่นเครื่องเล่นสนามเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

 

 

ภาพที่ 6  กิจกรรมการเล่นทรายของเด็ก

 

                        7) ให้โอกาสเด็กทำกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า และการเคลื่อนไหว

 

 

 

ภาพที่ 7 การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการทรงตัว

 

                        8) การส่งเสริมการอ่าน  การอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ในครรภ์เป็นการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์ และเมื่อเด็กคลอดออกมากิจกรรมการอ่านยังคงต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง   พ่อแม่และครูควรอ่านนิทานให้เด็กฟังทุกวัน   ทั้งนี้การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ 6 เดือนทุกวัน  อย่างน้อยวันละ 5-15 นาที  เป็นการเสริมสร้างเซลล์สมอง  ทำให้เกิดเส้นใยประสาทที่เชื่อม ต่อกัน การเชื่อมโยงของใยประสาทส่งผลต่อความฉลาดและสติปัญญาในระยะต่อมา

                  2.5 การวัดและประเมินผลพัฒนาการ การประเมินพัฒนาการ หมายถึง กระบวนการ สังเกพฤติกรรมของเด็กในขณะทำกิจกรรมแล้วจดบันทึกลงในเครื่องมือที่สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกในแต่ละครั้ง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนากิจกรรมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ    ในการประเมินพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กต้องประเมินครบทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และสติปัญญา รวมทั้งสุขอนามัยและพลศึกษาภาษา และการรู้หนังสือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและศิลปะสร้างสรรค์  โดยอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ  และเลือกใช้เครื่องมือในการวัด และประเมินผลเด็กอย่างเหมาะสม  เช่นแบบสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น  โดยมีหลักการประเมินพัฒนาการ ดังนี้  (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546, น.43)

                        1) ระเมินพัฒนาการของเด็กครบทุกด้านและนำผลมาพัฒนาเด็ก

                        2) ประเมินพัฒนาการเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี

                        3) สภาพการประเมินควรมีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน

                        4) ประเมินอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนเลือกใช้เครื่องมือ และจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

                        5) ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะกับเด็ก รวมทั้งใช้แหล่งข้อมูลหลาย ๆ ด้าน ไม่ควรใช้การทดสอบ

                  พัฒนาการเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าใจและมีการเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการอยู่เสมอ  ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการ  จำเป็นต้องตระหนักตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยแม่ที่ตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับแพทย์เพื่อให้ลูกในครรภ์มีพัฒนาการที่ดีเช่น การได้รับอาหารที่เหมาะสม การได้รับยาบำรุงสมองทารกในครรภ์ เช่น โฟลิก เป็นต้น นอกจากนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  จัดทำสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กให้กับแม่ที่ตั้งครรภ์  ที่มาฝากครรภ์ เพื่อเป็นสื่อความรู้เฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของตนเองและลูกจนอายุ 5 ปี และเนื้อหาของสมุดบันทึกสุขภาพจะให้ความรู้คำแนะนำพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กรู้พัฒนาการของเด็กปฐมวัย และเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้สอดคล้องกับพัฒนาการแต่ละช่วงอายุ ดังนี้ (สุขจริง ว่องเดชากุล, 2558, น. 2-37 ถึง 2-43)

                  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ได้จัดเสนอแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็ก 3- 6 ปี ดังตาราง ต่อไปนี้ (กรมอนามัย , 2556 , น.93-95)

 

 

 

 

ตารางที่ 2 พัฒนาการเด็กปฐมวัยและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 3-6 ปี สำหรับพ่อแม่

อายุ
พัฒนาการตามวัย
วิธีการส่งเสริมให้ลูกทำได้
 

3-4 ปี
 

– แสดงความเป็นอิสระอยาก

  ลองทำด้วยตนเอง เล่นรวม

  กลุ่มอย่างมีกติกาง่าย ๆ

– บอกได้เมื่อจะปัสสาวะและไป

  ห้องส้วมได้เอง

– บอกได้อย่างน้อย 1 สี และพูด

  เล่าเรื่องให้คนอื่น เข้าใจเกือบ

   ทั้งหมด

– เขียนรูปวงกลมตามแบบได้

  รู้จักจำนวน 1-3 ชิ้น

– เดินลงบันไดสลับเท้าและ

  ยืนขาเดียวได้ชั่วครู่
 

– เปิดโอกาสให้ลูกลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง

   โดยพ่อแม่ดูแลความปลอดภัยและเหมาะสม

   ให้ลูกเล่นกับเด็กอื่น โดยมีกติกาง่าย ๆ ฝึกให้รู้จัก

   รอคอยและช่วยเหลือผู้อื่น

– ฝึกลูกให้ไปห้องน้ำห้องส้วมเอง ทำความสะอาด

  ร่างกาย และให้ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร และ

   หลังเข้าห้องส้วม

– พูดคุยถามตอบ สนับสนุนให้ลุกสังเกตสิ่งรอบตัว

  และเล่าเรื่องตามที่พบเห็น

– ฝึกให้จับดินสอขีดเขียน ให้ลูกวาดวงกลมและสิ่ง

   ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ชมเชยเมื่อลูกทำได้ สอนให้รู้จัก

   จำนวน 1-3

– ให้ลูกฝึกลงบันไดเองและพ่อแม่ดูแลให้ปลอดภัย
 

4-5 ปี
 

– รู้จักไหว้ ทำความเคารพ

  ขอบคุณ และขอโทษ เล่น

  สมมติโดยใช้จินตนาการ

– แต่งตัว ติดกระดุมเอง

– เข้าใจและอธิบายเหตุผล

  ง่าย ๆ ชอบถามคำถาม

– นับและรู้จักจำนวน 1-5

   บอกสี
 

– ฝึกมารยาทสังคมให้ลูก ให้ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ

– ให้ลูกมีโอกาสเลือกเสื้อผ้าแต่งตัวและติดกระดุม

   เองทุกครั้ง

– พ่อแม่ควรให้เหตุผลกับลูก เช่นอธิบายเหตุผลว่า

  ทำไมจึงไม่ให้เล่นและสอนว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร

– ฝึกหัดนับสิ่งของ หยิบของตามจำนวน ชี้ชวนให้

  ลูกดูสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว พร้อมกับบอกชื่อสี และ

  สนับสนุนให้ลุกแสดงความรู้สึกนึกคิดพร้อมกับ

  อ่านหนังสือให้ฟัง

– สังเกตการณ์จับดินสอของลูก และจับแบบถูกต้อง

  ให้ดูเป็นตัวอย่าง วาดรูปสี่เหลี่ยมให้ลูกดู

  และวาดตาม

– เล่นเกมส์เขย่งขาเดียว โดยให้ลูกกระโดดขาเดียว

  ไล่จับผู้อื่น เล่นตั้งเต
 

5-6 ปี
 

– ทำงานบ้านง่าย ๆ ปฏิบัติตาม

  เกณฑ์และข้อตกลง

– ช่วยจัดโต๊ะอาหารโดยตักข้าว

  รินน้ำเอง

– รู้ซ้าย-ขวา-บน-ใต้-หน้า-หลัง

  รู้จำนวน 1-10 ชิ้น

– อ่านตัวอักษรและสะกด

– วาดสามเหลี่ยมและเขียนตัว

  อักษรง่าย ๆ

– ใช้สองมือรับลูกบอล
 

– ฝึกให้ลูกช่วยทำงานบ้านตามกำลังใจ ให้ช่วยเหลือ

   ตนเอง ในกิจวัตรประจำวัน ชมเชยเมื่อลูกให้

   ความร่วมมือและมีน้ำใจ และหัดสังเกตความ

   รู้สึกและความต้องการของผู้อื่น

– ฝึกให้ลูกช่วยจัดโต๊ะอาหารขณะจะกินอาหาร

– ฝึกหัดนับสิ่งของและหยิบของตามจำนวนสอน

  ให้รู้จักตำแหน่งต่าง ๆ เช่นซ้าย-ขวา หน้า-หลังฯลฯ

– ร้องเพลงกับลูก เล่านิทานและอ่านหนังสือกับลูก

– ฝึกให้ลูกวาดรูปทรงต่าง ๆ หัดเขียนตัวอักษร

  วาดรูปตามจินตนาการและระบายสี

– เล่นรับ-ส่งลูกบอล และเล่นเดินเป็นเส้นตร
 

                  สรุปว่าเด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเข้าเรียน และต้องการการเรียนรู้ที่กว้างขึ้นในสังคมพ่อแม่และครูต้องปลูกฝังและส่งเสริมเด็ก  ให้มีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดี  เหมาะกับวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา     โดยการดูแลทั้งในด้านโภชนาการ การจัดสภาพแวดล้อม การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย  การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ การประเมินพัฒนาการเพื่อให้เด็กได้เติบโตสมวัยและพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมสุขภาพจิต (ม.ป.ป). คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด-5 ปีสำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ : กรม.

กรมอนามัย. (2556). สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : กรม.

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546ก). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546. กรุงเทพ: กระทรวง.

กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และอังกูร เกิดพาณิช. (2545). คู่มือการใช้วัคซีนสำหรับเด็กไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : ชมรมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. เนติกุลการพิมพ์จำกัด.

ชนิกา ตู้จินดา. (2552). คู่มือเลี้ยงลูก. (พิมพ์ครั้งที่ 25). กรุงเทพฯ: รักลูกกรุ๊ป.

พัชรี ผลโยธิน และอรณี หรดาล. (2558). หน่วยที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการและ

          การเรียนรู้ ของเด็กปฐมวัยในเอกสารการสอนชุดวิชาพัฒนาการและการเรียนรู้ของ

          เด็กปฐมวัย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี : สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย

          สุโขทัยธรรมาธิราช.

วันทนีย์ เกรียงสินยศ, กิตติพร พันธุ์วิจิตรศิริ, อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์, ณัฐวรรณ เชาวน์ลิลิตกุล, 

          กุลพร สุขุมาลตระกูล,  ชนิพรรณ บุตรยี่,…. วรรณี นิธิยานันท์. (2559). องค์ความรู้ด้าน

          อาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.

ณัฐภร อินทุยศ. (2556). จิตวิทยาทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์

          มหาวิทยาลัย.

ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์. (2543). สิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้สร้างสมองเด็กให้ฉลาดได้อย่างไร (ฉบับพ่อแม่). (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2547). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี). กรุงเทพฯ: กระทรวง.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2556). บทบาทของพ่อแม่ครูพี่เลี้ยงและผู้ดูแลเด็กในการเลี้ยงดู

          และพัฒนาเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ : สักนักงาน.

สุขจริง ว่องเดชากุล. (2558). หน่วยที่ 2 การเจริญเติบโตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ในเอกสาร

          การสอนชุดวิชาสุขภาวะเด็กปฐมวัย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

          สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.