บทนำ
สังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมฐานความรู้ ที่การเรียนรู้และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสร้างสภาพการณ์ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา ตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการเรียนรู้ที่ทุกคนและทุกส่วนในสังคมมีความใฝ่รู้และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและมีความต่อเนื่องเป็นปกติวิสัยในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ไปจนตลอดการสิ้นอายุขัย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ของคนทุกคนในทุกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การสอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนสาธิตฯ (ประถม) : กับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑
สังคมในยุคปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดดของสังคมทั้งด้านระบบสาธารณุปโภค ระบบขนส่งมวลชน การคมนาคม การเกษตร สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง การเงินการธนาคาร และการศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการพัฒนาการศึกษาของโลกที่มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลในศตวรรศที่ ๒๑ เพื่อรองรับการวิวัฒน์ของโลก สู่ยุคโลกาภิวัฒน์(Globalization) และโลกยุคดิจิทัล ๔.๐
การจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมามีการเน้นจัดการเรียนรู้แนวใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานทางการศึกษาเสียที คำว่า “โรงเรียนมาตรฐานสากล” เข้ามีมีบทบาท มาก เนื่องจาก ปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน ซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ครูต้องเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ตามมาตรฐานสากล มีคำถามเกิดขึ้นว่า การจัดการเรียนรู้จะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นครูที่อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง จากอดีตที่ต้องเข้าห้องสมุดเป็น วันๆสำหรับการทำรายงานเรื่องหนึ่ง เทียบกับในปัจจุบันที่เพียงเสิร์ชข้อมูลในเสิร์ชเอนจิน(Search Engine) อย่างกูเกิ้ล(Google) หรือยาฮู(Yahoo) ข้อมูลนับร้อยนับพันก็ปรากฏขึ้นมากมาย การทำรายงาน ซักฉบับ จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป การจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่การชอล์กแอนด์ทอล์ค อีกต่อไป ครูจำเป็นต้องปรับ แนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะชีวิต ทักษะการคิด และทักษะทางด้านไอที อย่างถูกต้องและเหมาะสม
การเรียนการสอนภาษาไทยของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(ประถม) นั้นตลอดทุกยุคทุกสมัย จุดเน้นยังคงอยู่ที่การมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางภาษา ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน หลักภาษาและวรรณคดี ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ แต่ด้วยสภาพสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อีกจุดเน้นหนึ่งที่กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสามารถนำมายึดโยงและพัฒนาไปพร้อมๆกับกระบวนการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยได้คือการพัฒนาทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยหลักการที่เรียกว่า ๓ ร. + ๔ ก. ซึ่งพัฒนา มาจากหลัก ๓ Rs + ๔ Cs ของ Sir William Curtis โดยการนำมาประยุกต์กับการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทยด้วยกระบวนการจัดการเรียนตามแนวทางดังนี้
หลัก ๓ ร. ได้แก่
รู้อ่านเขียน (literacy) คือ มุ่งจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นทักษะการอ่านเขียน โดยมิได้เพียงแต่มุ่งเน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นอีกระดับคือให้นักเรียนอ่านดี เขียนเด่น ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ โครงการรักการอ่าน โดยส่งเสริมให้นักเรียนไปเลือกอ่าน สื่อสร้างสรรค์ที่นักเรียน มีความสนใจ เลือกเรื่องที่จะอ่านได้อย่างอิสระทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ จากนั้นนำมาสรุปและบันทึกการอ่านตามรูปแบบในสมุดบันทึกการอ่าน กิจกรรมนิทานเล่มเล็ก โดยให้นักเรียนแต่งนิทานตามจินตนาการ และนำเนื้อเรื่องทั้งหมดมาประมวล ออกแบบและสร้างเป็นผลงานนิทานเล่มเล็ก
รู้คณิต (numeracy) คือ คำว่ารู้คณิตในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ยัง หมายรวมถึง การรู้คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการแก้ปัญหาที่เป็นขั้นตอนจากง่ายไปยาก สามารถเรียงลำดับความสำคัญของเรื่องราวต่างๆได้ ผ่านกิจกรรมการทำผังมโนทัศน์ การทำโครงงาน และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
รู้ ICT (information and communications technology literacy) คือ นักเรียนต้องมี ความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ให้เกิดประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี สามารถสืบค้นข้อมูล พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่มี และจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการสืบค้นข้อมูล เพื่อ ทำรายงาน/โครงงาน และการสืบค้นอื่นๆ โดยเน้นกระบวนการ 4 ขั้นตอนดังนี้
1. กระบวนการสืบค้นด้วยวิธีที่หลากหลาย และมีประสิทธิภาพ
2. กระบวนการกลั่นกรองข้อมูลจากแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ
3. กระบวนการรวบรวม และเรียบเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบ
4. กระบวนการเขียนอ้างอิงหรือบรรณานุกรรมอย่างถูกต้องตามจรรยาบรรณ
หลัก 4 ก. ได้แก่
การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical thinking) คือ นักเรียนต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล และต้องสามารถสังเคราะห์ประเมินค่าของเรื่องที่อ่าน และเรื่องที่เรียนรู้ต่างๆ
การสื่อสาร (Communication) คือ นักเรียนต้องมีความสามารถในการใช้ศัพท์ใช้ภาษา มีคลังคำ ที่สามารถหยิบออกมาใช้ได้ถูกต้อง ตามบริบทของภาษา, ใช้การสื่อสารทั้งทางตรง และการสื่อสารทางอ้อมผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่น จดหมาย จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก(Social Network) รวมทั้งมีจิตวิทยาในการเพื่อสื่อสารกับผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จได้
{
การทำงานร่วมกัน (Collaboration) คือ นักเรียนต้องมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ การร่วมมือกับคนหลายคนที่อาจมีพื้นฐานต่างกัน ทั้งแนวคิด, ความเชื่อ, หรือความรู้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาปัญหา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อทำงานหรือทำกิจกรรม ให้ประสบความสำเร็จ
การสร้างสรรค์ (Creativity) คือ นักเรียนมีความสามารถในการจินตนาการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันจะนำไปสู่สิ่งใหม่หรือความคิดใหม่ๆ, วิธีการใหม่ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) ทั้งที่เป็นเชิงวัตถุ และเชิงทฤษฎี
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(ประถม) ในฐานะความเป็นโรงเรียนสาธิต ชั้นแนวหน้า พันธกิจสำคัญข้อหนึ่งคือคือการออกแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เป็นต้นแบบ และเป็นโมเดลแห่งการจัดการเรียนรู้อันจะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งอื่นๆต่อไป
เอกสารอ้างอิง
ธงชัย สิทธิกรณ์. (๒๕๕๖).การเรียนรู้ และครูในศตวรรษที่ ๒๑ [ออนไลน์]. สืบค้นได้จาก
http://www.birdkm.com/outside-classroom/outsideclass/newlearningc๒๑
วุฒิพงษ์ คำเนตร. (๒๕๕๘). วิธีวิทยาการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียน
สู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ (Five Steps for Student Development)[ออนไลน์].
สืบค้นได้จาก http://wutthiphongkhamnet.blogspot.com
สกล สุวรรณาพิสิทธิ์. (๒๕๕๕). ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ คือ อย่างไร ?[ออนไลน์].
สืบค้นได้จาก http://www.qlf.or.th/Home/Contents/๔๑๗
สมบัติ การจนารักพงค์. (๒๕๔๔). การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบ
สรรค์สร้างความรู้. กรุงเทพฯ : แคนดิดมีเดีย.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๕๕). แนวทางการจัด
การเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์
การเกษตรแห่งประเทศไทย.