การวิเคราะห์องค์ประกอบศิลป์ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง Here’s the Plan: การสื่อสารผ่านภาพและมุมมองทางภาพยนตร์
Analysis of Art Components in Here’s the Plan: Visual Storytelling and Cinematic Perspectives
อารยา วาตะ
บทคัดย่อ
ในปัจจุบัน ภาพยนตร์แอนิเมชัน เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในโลกภาพยนตร์ และได้กลายเป็นสื่อที่ทรงพลังในการเล่าเรื่องและส่งต่ออารมณ์ไปยังผู้ชม องค์ประกอบศิลป์ในแอนิเมชัน (Art Components in Animation) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้แอนิเมชันมีความลึกซึ้งและสามารถสื่อสารเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาด้านองค์ประกอบศิลป์ในแอนิเมชันช่วยให้เข้าใจถึงหลักการสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังงานภาพ รวมถึงอิทธิพลที่มีต่อการรับรู้ของผู้ชม
พัฒนาการขององค์ประกอบศิลป์ในภาพยนตร์แอนิเมชัน มีรากฐานมาจากศิลปะแบบดั้งเดิมและเทคนิคภาพยนตร์ โดยองค์ประกอบศิลป์เกี่ยวข้องกับการจัดวางภาพ (Framing) การใช้เส้นนำสายตา (Leading Lines) และสมดุลของภาพ (Balance) โดยแอนิเมชันยุคแรก เช่น Snow White and the Seven Dwarfs ปี 1937 ของ Walt Disney ได้บุกเบิกการใช้เทคนิคองค์ประกอบศิลป์ผ่านการออกแบบฉากที่สื่ออารมณ์และทิศทางสายตาของผู้ชม ส่วนในยุคต่อมา สตูดิโออย่าง Studio Ghibli และ Pixar ได้พัฒนาเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การใช้แสงและเงาเพื่อสร้างบรรยากาศ (mood) และการใช้สีสันเพื่อกำหนดอารมณ์ของฉาก
จากการวิเคราะห์ พบว่า ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง Here’s the Plan มีการใช้องค์ประกอบศิลป์ที่มีความแยบยลในการสื่อสารการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ และพัฒนาการของตัวละคร ผ่านการใช้สี แสง ที่มีการเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และบรรยากาศ รวมไปถึงการใช้สัญญะในการสื่อสารเรื่องราวที่มีความซับซ้อน ทำให้เรื่องราวที่ดูเป็นเรื่องธรรมดามีพลัง และมีมิติเข้าถึงอารมณ์ของผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง
คำสำคัญ แอนิเมชัน องค์ประกอบศิลป์ การสื่อสารผ่านภาพ
1. บทนำ
ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง Here’s the Plan ถูกฉายในปี 2017 เป็นภาพยนตร์สั้นประเภทแอนิเมชันจากประเทศชิลี กำกับโดย Fernanda Frick ที่เล่าเรื่องราวของ คู่รักสุนัขและแมว ที่มีความฝันจะเปิดร้านเบเกอรีร่วมกัน แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางชีวิตที่ค่อยๆ บั่นทอนความสัมพันธ์ของททั้งคู่ แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับความนิยมและได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน ได้แก่ รางวัล Best Animated Short Film ที่ The Indie Short Fest (2020), รางวัล Best Animation ที่ London Independent Film Festival (2020), Official Selection ที่ Palm Springs International ShortFest (2020) เป็นต้น โดยได้รับการยกย่องในด้านการเล่าเรื่องและการออกแบบตัวละคร ได้รับการชื่นชมจากผู้ชมและนักวิจารณ์ในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาที่มีอารมณ์ลึกซึ้ง และเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพที่โดดเด่น โครงสร้างการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังถูกเสริมด้วยองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ เช่น การเลือกใช้สี แสง เงา และการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งช่วยสื่อสารอารมณ์และประเด็นของเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เทคนิคด้านการกำกับภาพ เช่น มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง และจังหวะการตัดต่อ ยังช่วยขับเน้นความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ องค์ประกอบศิลป์ เพื่อสะท้อนพัฒนาการของตัวละคร ความสัมพันธ์ และอารมณ์ของเรื่องราว
บทความนี้ได้วิเคราะห์ องค์ประกอบศิลป์ ใน Here’s the Plan โดยพิจารณาถึงบทบาทขององค์ประกอบต่างๆ ในการสื่อความหมายผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน แนวทางการวิเคราะห์จะอ้างอิงหลักการด้านศิลปะภาพยนตร์และการสื่อสารผ่านภาพ (visual storytelling) เพื่อทำความเข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสื่อสารแนวคิดเรื่องความฝัน ความสัมพันธ์ และความเปลี่ยนแปลงของชีวิตคู่ได้อย่างไร ผ่านองค์ประกอบทางศิลป์และมุมมองทางภาพยนตร์ โดยผลการวิเคราะห์นี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ บทบาทขององค์ประกอบศิลป์ในแอนิเมชัน รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สื่อภาพยนตร์ที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดอารมณ์และความหมายให้กับผู้ชมต่อไป
2. องค์ประกอบศิลป์ในงานแอนิเมชัน (Art Components in Animation)
องค์ประกอบศิลป์ในงานแอนิเมชัน หมายถึง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในกรอบภาพเพื่อสร้างประสบการณ์ทางสายตาที่น่าสนใจ ซึ่งคล้ายกับวิธีการที่ศิลปินเลือกตำแหน่งของสี แสง สมดุลย์ การจัดวาง รูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ บนผืนผ้าใบ ในการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันต้องเลือกตำแหน่งของแต่ละองค์ประกอบเพื่อให้เกิดความสวยงามและสามารถสื่อเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเรื่องราวที่มีความดึงดูดทางสายตาและสามารถสื่อสารข้อความที่ต้องการได้อย่างชัดเจน องค์ประกอบศิลป์สามารถยกระดับคุณภาพ และส่งผลในการสื่อสารความหมายที่แท้จริงที่ส่งผลไปถึงผู้ชมได้ (Ananda Karmakar)
3. การวิเคราะห์องค์ประกอบศิลป์
3.1 การออกแบบตัวละคร (Character Design) เป็นกระบวนการสร้างตัวละครที่ช่วยขับเคลื่อนการเล่าเรื่องและดึงดูดอารมณ์ของผู้ชม ตัวละครที่ดีจะมีรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถสะท้อนบุคลิก ภูมิหลัง และจุดประสงค์ในเรื่อง การออกแบบต้องหาสมดุลระหว่างความคุ้นเคย และความแปลกใหม่เพื่อให้ตัวละครดูน่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชม ตัวละครที่โดดเด่นจะมีบุคลิกที่สามารถโน้มน้าวอารมณ์ และในส่วนของข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนจะทำให้ดูสมจริงเป็นธรรมชาติ มีความเป็นมนุษย์ปกติ เช่น ตัวละครมิกกี้เมาส์ มีการออกแบบที่น่าจดจำ การออกแบบที่ดีช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ และทำให้ตัวละครคงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้ยาวนาน (Gwénaëlle Dupré)
3.1.1. การออกแบบตัวละครหลัก
– ลักษณะ พบว่า ตัวละครแมว (ภรรยา) และสุนัข (สามี) ถูกออกแบบให้มีลักษณะกึ่งสมจริง (semi-realistic) แต่ยังคงมีความเป็นการ์ตูนที่ดูน่ารักและเข้าถึงได้ง่าย ใช้รูปแบบกึ่งเรียบง่าย (Semi-Stylized) และดูเป็นมิตร มีการใช้เส้นสายที่โค้งมน (Soft Curves) โดย ลักษณะรูปร่างของตัวละครส่วนใหญ่ใช้เส้นโค้ง ทำให้ดูอบอุ่น อ่อนโยน และเป็นกันเอง สื่อถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของทั้งคู่ สีขน และสีตาของตัวละครออกแบบให้เข้ากับบุคลิก เช่น สุนัขใช้สีน้ำตาล-ส้ม ซึ่งเป็นวรรณสีร้อนให้ความรู้สึกที่อบอุ่น แสดงถึงความมั่นคง ส่วนแมวมีการใช้สีใกล้เคียงกันแต่อ่อนกว่า ให้ความรู้สึกอ่อนโยน และการใช้สีที่ใกล้เคียงกันสามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ทั้ง 2 ตัวละคร ดังแสดงในภาพที่ 1.1
ภาพที่ 1.1 ตัวละครหลัก Here’s the Plan
หมายเหตุ: Character evolution through time. จาก “Designing characters for animation: The process for creating Kat & Doug” โดย Fernanda Frick, https://medium.com/heres-the-plan-blog-eng/designing-characters-for-animation-660192a62de#.ahudeltne
3.2. การวิเคราะห์ใช้สี (Color Palette)
สี เป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางศิลปะที่สำคัญมาก ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้ชมได้เป็นอย่างดี ในการทำงานแอนิเมชัน ต้องมีการกำหนด อารมณ์ และโทน (Mood and Tone) เพื่อส่งอารมณ์ของเรื่องให้ไปในทิศทางที่ต้องการสื่อสาร ในส่วนของการวิเคราะห์สีเป็นการวิเคราะห์การใช้สีในการสร้างบรรยากาศของภาพยนตร์ในภาพรวม และการแบ่งการใช้สีในแต่ละสถานการณ์
3.2.1 การใช้สีในช่วงต้นเรื่อง
– การเริ่มต้นของชีวิตคู่ และแผนการใช้ชีวิตในฝัน อยู่ในส่วนขององก์ 1 มีการใช้โทนสีอบอุ่นในช่วงต้นของเรื่องใช้โทนสีที่สดใสและอบอุ่น บอกเล่าถึงความงดงามในชีวิต ความสมหวังหลังจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นจากการแต่งงาน โดยใช้ สีเหลือง ส้ม และชมพูอ่อน แสงนวลฟุ้ง แสดงถึงช่วงเวลาที่ทั้งสองมีความฝันร่วมกัน ดังแสดงในภาพที่ 1.2
ภาพที่ 1.2 การใช้สีอบอุ่นในช่วงต้นเรื่อง
หมายเหตุ: Mood and Tone. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.2.2 การใช้สีในช่วงการดำเนินเรื่อง ความขัดแย้ง ห่างเหิน มีการเปลี่ยนแปลงของสีตามอารมณ์เรื่อง เมื่อทั้งสองเริ่มห่างกัน สีในฉากจะเปลี่ยนเป็นโทนเย็น (Cool Colors) อย่างสีฟ้าและม่วง เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกเหงาและห่างเหิน และต่อมาเมื่อเกิดจุดตึงเครียดที่สุดของเรื่อง สีจะเข้มขึ้นและมีคอนทราสต์สูง เพื่อเน้นอารมณ์ตึงเครียด
ภาพที่ 1.3 การใช้สีโทนเย็นในช่วงความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน
หมายเหตุ: Mood and Tone. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.2.3 การใช้สีในตอนจบของเรื่อง การปรับความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่กลับมารักกัน มีการใช้สีโทนอบอุ่นอีกครั้ง และมีการแสงที่สว่างมากในฉากคืนดี แสดงถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมีความเข้าใจกัน
ภาพที่ 1.4 การใช้สีโทนอบอุ่น และแสงสว่างช่วงการคืนสู่ความสัมพันธ์ที่ดี
หมายเหตุ: Mood and Tone. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.4 การวิเคราะห์ฉากและสภาพแวดล้อม (Background & Environment)
ฉากและสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่สื่อสารบรรยากาศ สภาพ และสภาวะของเหตุการณ์ภายในภาพยนตร์ โดบฉากจะสะท้อนตัวตนของละคร เป็นส่วนที่เสริมความรู้สึกของผู้ชมที่ทำหน้าที่ค่อย ๆ ซึมซับแบบช้า ๆ ทำให้เข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์มากขึ้น
3.4.1 ฉากภายในบ้านและห้องครัว บ้านของตัวละครทั้งสองในช่วงแรก เป็นคู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ มีความรัก และความฝันร่วมกัน การตกแต่งเน้นความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเอง เฟอร์นิเจอร์ใช้โทนไม้และสีพาสเทล ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเต็มไปด้วยความฝันและความรัก รายละเอียดในห้องครัว เช่น อุปกรณ์ทำขนม เตาอบ และขวดเครื่องปรุง ถูกจัดวางโดยมีจุดประสงค์เพื่อเน้นธีมของเรื่อง ดังแสดงในภาพที่ 1.5
ภาพที่ 1.5 ฉากภายในบ้านและห้องครัวที่มีความรักความอบอุ่น
หมายเหตุ: ฉากภายในบ้านและห้องครัวชช่วงแรก. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.4.2 ฉากภายในบ้านและห้องครัว บ้านของตัวละครทั้งสองในช่วงความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน มีการเปลี่ยนสีและแสงของห้องครัวเป็นโทนเย็น โดยใช้สีฟ้า เขียว อุปกรณ์ทันสมัยและใหม่ แต่ดูเหมือนเป็นโชว์รูมแสดงสินค้ามากกว่าห้องครัวในบ้านที่ถูกใช้งานเป็นประจำ ต่างจากในช่วงแรก แสดงในภาพที่ 1.6
ภาพที่ 1.6 ฉากภายในบ้านและห้องครัวที่เปลี่ยนไปเหมือนความสัมพันธ์
หมายเหตุ: ฉากภายในบ้านและห้องครัว. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.5 การวิเคราะห์กล้องและการจัดองค์ประกอบภาพ (Camera & Composition)
กล้องและการจัดองค์ประกอบภาพในงานแอนิเมชัน มีความสำคัญอย่างมากในการสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละครรวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งสององค์ประกอบนี้มีบทบาทในการกำหนดวิธีที่ผู้ชมจะรับรู้และเข้าใจเรื่องราวในภาพที่เกิดขึ้นในแอนิเมชัน โดยมุมกล้องจะช่วยในการควบคุมมุมมองที่ผู้ชมเห็น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความรู้สึกของฉากได้ เช่น มุมกล้องที่ต่ำสามารถทำให้ตัวละครดูมีอำนาจหรือสูงส่ง ในขณะที่มุมกล้องที่สูงสามารถทำให้ตัวละครดูอ่อนแอหรือด้อยกว่า มุมกล้องยังช่วยในการกำหนดความสำคัญขององค์ประกอบในฉาก เช่น การโฟกัสไปที่ตัวละครหรือสถานที่สำคัญ และการจัดองค์ประกอบภาพจะสร้างความสมดุลและความน่าสนใจ โดยการใช้เทคนิคเช่น กฎสามส่วน (Rule of Thirds) ที่ช่วยจัดวางองค์ประกอบสำคัญในตำแหน่งที่ดึงดูดความสนใจ การจัดองค์ประกอบที่ดีสามารถช่วยนำสายตาผู้ชมไปยังจุดที่สำคัญ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ฉาก และอารมณ์ของเรื่อง
3.5.1 กล้อง (Camera)
– ฉากอารมณ์ มีการเลือกใช้มุมกล้องใกล้ (Close-up) หลายฉากใช้มุมกล้องแบบใกล้กับใบหน้าตัวละครเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ได้ชัดเจน ที่ถ่ายทอดทั้งอารมณ์เชิงบวก สื่อสารถึงความรัก ความใกล้ชิด และในขณะเดียวกันก็ใช้กับอารมณ์เชิงลบ ที่สื่อถึงความอึดอัดใจได้เช่นกัน ดังแสดงในภาพที่ 1.7 – 1.8
ภาพที่ 1.7 Close-Up Shot สื่อความรู้สึกถึงความรัก ความใกล้ชิด
หมายเหตุ: Close-Up Shot สื่อความรู้สึกถึงความรัก ความใกล้ชิด. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
ภาพที่ 1.8 Close-Up Shot สื่อถึงความรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข
หมายเหตุ: Close-Up Shot สื่อถึงความรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
3.5.2 การจัดองค์ประกอบภาพ (Camera & Composition)
– ฉากความสัมพันธ์ที่ดีอารมณ์ มีจัดวางตัวละครอยู่ใกล้กันบริเวณกลางกรอบภาพ และวางเฟอร์นิเจอร์รวมถึงของประกอบฉากหลายชิ้น สื่อถึงความอบอุ่น ดังแสดงในภาพที่ 1.9
ภาพที่ 1.9 การจัดองค์ประกอบภาพสื่อถึงความรู้สึกอบอุ่น ใกล้ชิด
หมายเหตุ: การจัดองค์ประกอบภาพสื่อถึงความรู้สึกอบอุ่น ใกล้ชิด. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
– ฉากโดดเดี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ใช้เส้น รูปร่าง และรูปทรง เป็นเส้นตรงทั้งแนวตั้งและแนวนอนเป็นส่วนใหญ่ สื่อถึงชีวิตที่อยู่ในกรอบ น่าเบื่อ และการทิ้งระยะของของประกอบฉากที่เหลือพื้นที่ว่างเอาไว้เยอะ โดยจัดให้ตัวละครอยู่ไกล และโดดเดี่ยว ถึงจะมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา แต่ภาพรวมของฉากนี้มีความหม่นหมอง ดังแสดงในภาพที่ 1.10
ภาพที่ 1.10 การจัดองค์ประกอบภาพสื่อถึงความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ชีวิตชีวา
หมายเหตุ: การจัดองค์ประกอบภาพสื่อถึงความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ชีวิตชีวา. จาก “Here’s the Plan” โดย Fernanda Frick, https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
สรุป
องค์ประกอบศิลป์ของ Here’s the Plan มีการใช้องค์ประกอบศิลป์ที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร โดยมุ่งเน้นที่การออกแบบตัวละครและการใช้สีที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครแต่ละตัว โดยตัวละครถูกออกแบบให้มีรูปร่างและสีที่โดดเด่น ใช้สัญลักษณ์ที่ช่วยเสริมความเข้าใจในแต่ละบุคลิกภาพ การจัดการมุมกล้องและการเคลื่อนไหวของตัวละครในแต่ละฉากทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวได้ดี ทั้งนี้การจัดองค์ประกอบภาพช่วยให้การเคลื่อนไหวมีความสมดุลและน่าสนใจ การใช้พื้นหลังและพื้นที่ว่างในการจัดองค์ประกอบยังช่วยให้ฉากดูมีมิติและความลึกซึ้ง การเลือกใช้แสงและเงาทำให้เกิดความแตกต่างและเน้นจุดสำคัญภายในฉาก ส่วนการใช้โทนสีที่อบอุ่นและเย็นช่วยสะท้อนอารมณ์ของตัวละครในแต่ละช่วงของเรื่อง การออกแบบเหล่านี้ช่วยทำให้แอนิเมชันเรื่องนี้สามารถสร้างความประทับใจจากความเข้าใจในเรื่องราว และความสวยงามได้เป็นอย่างดี
รายการอ้างอิง
Dupré, D. (2023). Character Design in Animation: Definition, Process & Challenges. https://blog.cg-wire.com/character-design-animation/
Frick, F. (2018). Here’s the Plan. https://www.youtube.com/watch?v=5Zqmt1H35fs
Karmakar, A. (2021). Investigation of artistic styles for effective storytelling in animation. NVEo, 5498. https://doi.org/10.52783/nveo.5498
National Council of Culture and Arts. (2021). Here’s the Plan. https://characterdesignreferences.com/short-picks-26/heres-the-plan