ศิลปะเป็นผลงานที่เกิดความฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด และประสบการณ์ต่างๆ ศิลปินให้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร การพยายามตีความ หรือแปลความหมายของงานศิลปะ จึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความรู้ และประสบการณ์ โดยเฉพาะกับงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากเทคนิค วิธีการ เหตุการณ์ และแนวคิดในปัจจุบัน เพราะศิลปะร่วมสมัยไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ต้องอาศัยการตีความจากภาพ หรือสัญลักษณ์ที่ปรากฏ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากต้องการรู้ว่าศิลปินพยายามสื่อสารอะไรกับผู้ชมกันแน่ ในฐานะครูศิลปะ จึงขอเสนอแนวทางการสร้างการรับรู้ความหมายของงานศิลปะร่วมสมัย ดังนี้
1. Look คือ การมองเห็นกายภาพของผลงานศิลปะ เช่น เป็นภาพอะไร ทำจากวัสดุอะไร ใช้สีอย่างไร
2. See คือ การมองเห็นนัยยะที่แฝงไว้ในการงานศิลปะ เช่น งานให้ความรู้สึกอย่างไร มีภาพสัญลักษณ์อะไรบ้าง สีแต่สีมีความหมายหรือไม่อย่างไร
3. Explore คือ การพิจารณาจากสิ่งที่มองเห็นกับรับรู้จากความรู้สึก โดยพิจารณาถึงเนื้อหาสาระที่ศิลปินต้องการสื่อสารมาถึงผู้ชม เช่น เป็นงานที่แสดงถึงความเหงา เป็นงานที่สื่อสารเรื่องการเมือง เป็นงานที่แสดงความสัมพันธ์ หรือสะท้อนเหตุการณ์ทางสังคม
4. Evaluate คือ การประเมินว่าผลงานชิ้นนี้ความรู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และส่งผลต่อผู้ชมให้เกิดความรับรู้เรื่องอะไรบ้าง เช่น รับรู้ถึงอารมณ์ในงาน รับรู้ถึงความรู้สึกสวยงาม หรือรับรู้ถึงแนวคิด และเนื้อหาที่ศิลปินพยายามสื่อสาร
การรับรู้ความหมายในงานศิลปะร่วมสมัยของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสุนทรียเจตคติ (Aesthetic Attitude) หรือ เจตคติเชิงสุนทรียภาพที่เกิดจากประสบการณ์ การศึกษา บริบทต่าง ๆ ในทางวิชาการหมายถึง เจตคติในการตัดสิน หรือความชอบ ความพึงพอใจของบุคคลหนึ่ง มีต่อสุนทรียภาพของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะงานศิลปะ (กำจร สุนพงษ์ศรี, 2559 : 13)
จากกระบวนการรับรู้ความหมายของศิลปะร่วมสมัย ที่นำเสนอเป็นเพียงรูปแบบการเรียนรู้หนึ่งเท่านั้น ที่อาจเหมาะสมสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจศิลปะร่วมสมัยในเบื้องต้น แต่หากฝึกเรียนรู้จากการกระบวนนี้แล้ว จะช่วยให้สามารถตีความและรับรู้ความหมายของศิลปะได้อย่างลึกซึ่ง จนเกิดเป็นสุนทรียเจตคติได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เอกสารอ้างอิง :
กำจร สุนพงษ์ศรี. (2559). พจนานุกรมศัพท์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย