การยับยั้ง Pythium aphanidermatum สาเหตุของโรคแง่งเน่าในขิงด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ Inhibition of Pythium aphanidermatum Causing Rhizome Rot in Ginger by Antagonistic Bacteria

     โรคแง่งเน่าที่มีสาเหตุมาจากราก่อโรคส่งผลเสียต่อผลผลิตของขิง การใช้จุลินทรีย์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคนี้เป็นวิธีที่น่าสนใจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแยกราสาเหตุโรคแง่งเน่าในขิง และเพื่อคัดเลือกแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพใน การยับยั้งราที่ก่อโรครุนแรงที่สุดจากราที่แยกได้ในการศึกษานี้แยกราสาเหตุโรคแง่งเน่าจากชิ้นส่วนของขิงที่เป็นโรคได้ 5 ไอโซเลต คือ ZP1, ZP2, ZP3, ZP4 และ ZP5 จากการทดสอบการก่อโรคในขิง พบว่าไอโซเลตที่ก่อโรคได้รุนแรงที่สุด คือ ไอโซเลต ZP4 เมื่อใช้วิธีการทางสัณฐานวิทยาและทางอณูพันธุศาสตร์สามารถจัดจำแนกราไอโซเลต ZP4 ได้เป็น Pythium aphanidermatum จากการคัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์จากดินรอบ ๆ ต้นขิง พบว่าจากแบคทีเรียจำนวน 78 ไอโซเลตที่คัดแยกมา มีเพียง 11 ไอโซเลตที่ ยับยั้ง P. aphanidermatum ZP4 ด้วยวิธี dual culture technique โดยมี 5 ไอโซเลตที่ผลิตแบคเทอริโอซินในการยับยั้ง P. aphanidermatum ZP4 แบคทีเรียปฏิปักษ์ที่มีความสามารถในการยับยั้งราก่อโรค P. aphanidermatum ZP4 ได้สูงที่สุด คือ ไอโซเลต CP-8f และ CP-13e ซึ่งสามารถจัดจำแนกด้วยวิธี 16S rDNA sequence analysis ได้เป็น Bacillus velezensis และ Bacillus subtilis ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าแบคทีเรียทั้งสองไอโซเลตนี้ผลิตเอนไซม์โปรติเอส แอลฟาอะไมเลส เซลลูเลส และ เพคติเนส การศึกษานี้บ่งชี้ว่า Bacillus velezensis CP-8f และ Bacillus subtilis CP-13e มีศักยภาพที่จะใช้เป็นตัวควบคุมทาง ชีวภาพที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการควบคุมราสาเหตุโรคแง่งเน่าในขิง