การยศาสตร์

การยศาสตร์

ผศ.ดร.กฤดิธฤต  ทองสิน

คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

              จากสถิติการประสบอันตรายของพนักงานในสถานประกอบการแต่ละปี มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีพนักงานไม่กี่ร้อยคนซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้เขียนต้องการลดจำนวนผู้ประสบอันตรายให้น้อยลง หรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเลยและสิ่งหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายในขณะทำงานได้  คือ การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี  และถูกต้องในการทำงานออกแบบระบบงานตามหลักวิชาการ  กล่าวคือเมื่อมีการออกแบบเครื่องมือ  เครื่องจักร  การติดตั้ง การวางผังโรงงาน  ต้องคำนึงถึงหลักการของการยศาสตร์หรือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน   มีการจัดสภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐาน  เช่น  เสียง แสงสว่าง ความร้อน  โต๊ะ  เก้าอี้  เครื่องมือเครื่องจักร  และสภาพการทำงานอื่นๆ  อย่างเหมาะสม ปัจจัยดังกล่าวมานี้ เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานทางวิศวกรรม  เมื่อนำมาปฏิบัติจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะทำงานได้เป็นอย่างดี  แต่ทั้งนี้จะต้องใช้มาตรการอื่นๆในการจัดการร่วมด้วย  จึงจะได้ผลสมบูรณ์มากขึ้นและหัวข้อต่างๆ  ดังกล่าวซึ่งเป็นปัจจัยขั้น พื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมการทำงาน  ที่ต้องนำมาใช้ในการลดอุบัติเหตุในขณะทำงานและช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิต สามารถอธิบายรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้ดังหัวข้อต่อไปนี้

 

การยศาสตร์ในงานความปลอดภัย

              ปัจจุบันการออกแบบเครื่องมือ  เครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ได้คำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้งาน  หรือไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ  การใช้งาน เช่น การออกแบบรถยนต์  ที่ผู้ผลิตจะต้องมีการออกแบบให้สวยงามแข็งแรงและปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นๆ  อีก  เช่น  เบาะที่นั่งต้องนุ่มนั่งสบายสามารถรองรับสรีระของผู้ขับขี่ได้อย่างพอเหมาะ ทำให้ไม่เกิดความเมื่อยล้าขณะขับรถ สามารถปรับที่นั่งให้เอนเลื่อนขึ้นลงหรือขยับไปข้างหน้า ข้างหลังได้ เพื่อให้มองเห็นทัศนวิสัยภายนอกได้ชัดเจน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถยนต์ เช่น ปุ่มปรับ  ปุ่มหมุน  มาตรวัด  การปิดเปิดกระจก การปรับกระจกมองข้างกระทำได้ง่ายอยู่ใกล้ผู้ขับขี่  หรือแม้กระทั่งการเปิดฝาครอบถังน้ำมัน  ฝากระโปรงท้ายสามารถเปิดได้จากภายในรถ  การเปิดเบาะด้านหลังเพื่อหยิบสัมภาระท้ายรถทำได้ง่ายและสะดวก อีกตัวอย่างของการออกแบบเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการทำงานและความปลอดภัย  เช่น  การออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม  ควรออกแบบโรงงานให้ถูกสุขลักษณะ จัดระบบระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอมีการจัดวางเครื่องมือเครื่องจักรอย่างถูกต้องเหมาะสมกับกระบวนการผลิต  มีการออกแบบเครื่องจักรหรือระบบสายพานที่ปลอดภัย  มีเครื่องป้องกันอันตราย ปุ่มกด สวิตช์ปิดเปิดอยู่ใกล้ผู้ใช้งาน  ตลอดจนการใช้งานแล้วไม่เมื่อยล้าสามารถยืนหรือนั่งทำงานได้เป็นเวลานานๆ  ซึ่งสิ่งต่างๆ  ที่ได้กล่าวมานี้รวมเรียกว่า การยศาสตร์(ergonomics)  บางครั้งอาจรู้จักในชื่อของ  วิทยาการจัดสภาพงาน  ซึ่งคำว่า ergonomics มาจากคำในภาษากรีก 2 คำ คือ ergon  แปลว่างาน และ nomos  แปลว่า  กฎหรือระเบียบในที่นี้ ผู้เขียนจะขอใช้คำว่า  การยศาสตร์  ในการสื่อความหมายแทนคำอื่นๆ

              การยศาสตร์  หมายถึง  การเน้นความสำคัญของมนุษย์เป็นหลักหรือยึดธรรมชาติของมนุษย์เป็นเกณฑ์  สำหรับการออกแบบสร้างเครื่องมือ  เครื่องจักร  อุปกรณ์และวิธีการทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างๆ  อย่างมีเป้าหมาย

              นอกจากนี้  สสิธร  เทพตระการพร (2553, 27) จากกองอาชีวอนามัย ได้กล่าวถึง การยศาตร์ ดังนี้

              การยศาสตร์  หมายถึง  ศาสตร์ในการจัดสภาพงานหรือการทำงานให้เหมาะกับคนที่ทำงาน ตลอดจนการศึกษาคนในสิ่งแวดล้อมการทำงาน

              การยศาสตร์  หมายถึง  การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้  ในการออกแบบสภาพการทำงาน  เครื่องมือ  เครื่องจักร  อุปกรณ์เครื่องใช้  วิธีการทำงาน ท่าทางการทำงานที่เหมาะสม   ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ  ในขณะทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน  ลดความเมื่อยล้า  ลดการใช้พลังงาน  ทำงานได้สะดวกสบาย  อีกทั้งเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตได้อีกด้วย

              จากที่ได้กล่าวมาแล้วพบว่าประเทศไทยใช้ทั้งคำว่า  การยศาสตร์และวิทยาการ  จัดสภาพงาน  ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกัน  แต่ในต่างประเทศใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องและมีความหมายใกล้เคียงกับการยศาสตร์ได้หลายคำแตกต่างกันออกไป

ความสำคัญของการยศาสตร์

              ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ  เครื่องจักร ระบบการผลิต  วิธีการผลิต  ที่สัมพันธ์และสอดคล้องกับการทำงานของพนักงาน ถ้าสถานประกอบการมีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานได้เหมาะสมกับพนักงาน  ย่อมทำให้เกิดผลดีต่อผลผลิตและพนักงาน  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับสภาพแวดล้อม  และองค์ประกอบต่างๆ  ซึ่ง  ได้แก่ เครื่องมือ  เครื่องจักร  วัสดุ  ระยะเวลาการทำงานของพนักงาน  เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของงานวิธีการทำงานและกระบวนการผลิตแบบต่างๆ

              โดยปกติคนเราทุกคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านสรีระและจิตใจ  เช่น  สูง  ต่ำ  อ้วน  ผอม แข็งแรง  อ่อนแอ  เข้มแข็ง  หรือมีความอดทนไม่เท่ากัน  สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่บางครั้งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้  ดังนั้นในการออกแบบ  อุปกรณ์  เครื่องมือ เครื่องจักร ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งานของพนักงาน  การออกแบบที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ  กระบวนการทำงานช้าลง เกิดความเมื่อยล้า และอาจทำให้ประสบอันตรายจากการทำงานได้  ส่งผลกระทบให้ผลผลิตลดลงและ ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของงาน

              ด้วยเหตุนี้การยศาสตร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ในการปรับสภาพงานให้เหมาะสมกับคน  เช่น  การออกแบบระบบงาน  สถานที่ทำงาน  เครื่องจักรกล  เครื่องมืออุปกรณ์  ตลอดจนกระบวนการผลิต  ให้สัมพันธ์กับรูปร่าง  ลักษณะ  ความสามารถ  ความต้องการของบุคคลหรือของพนักงานในด้านต่างๆ  โดยนำเอาข้อจำกัดของบุคคลมาเป็นองค์ประกอบ ในการออกแบบ เช่น  สูง  ต่ำ  อ้วน  ผอม  เพศชาย   เพศหญิง  เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนนั้นเป็นความพยายามที่ยุ่งยากมาก   ถ้าปรับเปลี่ยนได้จะอยู่ในสภาพจำยอมต้องคล้อยตามระบบที่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา   กล่าวคือ   ระบบการทำงานหรือเครื่องมือ  เครื่องจักร  อุปกรณ์ต่างๆ  ถูกออกแบบและสร้างมาเพื่อใช้งานด้านอุตสาหกรรม  ส่วนมากไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้  เช่น  ความสูงของเครื่องจักร  ตำแหน่งของสวิตช์ปิดเปิด  การจัดที่นั่งขณะทำงาน  ตำแหน่งของจุดบังคับด้วยเท้า  ความสูงของชั้นวางของที่ใช้เป็นประจำ  ตำแหน่งของมาตรวัดต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่ได้กล่าวมานี้บางครั้งผลิตมาจากประเทศแถบยุโรปและอเมริกา  ในการผลิตเครื่องมือเครื่องจักรผู้ผลิตคำนึงถึงสรีระของผู้ใช้งานที่รูปร่างสูงใหญ่กว่าคนไทย   ถ้านำเครื่องมือเครื่องจักร ดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยมักจะเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากสรีระของคนไทยมีขนาดเล็กกว่าคนแถบยุโรปและอเมริกา  ทำให้ทำงานไม่สะดวก  เกิดความผิดพลาดในขณะทำงาน และส่งผลให้เกิดการประสบอุบัติเหตุตลอดจนความล่าช้าในการทำงาน ดังนั้นมาตรฐานของการออกแบบเครื่องมือ  เครื่องจักร  จึงควรคำนึงถึงสภาพการใช้งานของคนประเทศนั้นๆ  เป็นหลัก

              กล่าวโดยสรุปได้ว่า  การปรับสภาพงานให้เหมาะสมกับคน  (fit the job to the man) ถือได้ว่าเป็นความปรารถนาสูงสุดของพนักงาน ซึ่งในการดำเนินการเพื่อให้ได้ตาม วัตถุประสงค์นั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ  เหล่านี้ เพื่อจะได้ออกแบบระบบการทำงาน  เครื่องมือ เครื่องจักร ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนงาน

การนำการยศาสตร์มาใช้ในสถานประกอบการเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เจ้าของสถานประกอบการบางแห่งไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อเป็นสิ่งชี้วัดว่าท่านควรจะนำ การยศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญ  เพราะเป็นหลักการขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยเข้ามาใช้  ในสถานประกอบการหรือไม่ให้สังเกตจากเหตุการณ์  ดังต่อไปนี้

พนักงานเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

              1. พนักงานเจ็บป่วยมากขึ้น

              2. พนักงานเข้าออกงานมากขึ้น

              3. พนักงานมีการร้องทุกข์มากขึ้น

              5. ผลผลิตของโรงงานลดลง

              6. ผลผลิตมีคุณภาพลดลง

              7. พนักงานมีความเบื่อหน่ายเกิดความเมื่อยล้า

              8. พนักงานทำงานผิดพลาดมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 แสดงผลที่เกิดจากการไม่นำการยศาสตร์มาใช้

องค์ประกอบของการยศาสตร์

              สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการยศาสตร์นั้นมีหลายสาขา  และพัฒนาแนวคิดมาจากวิทยาการหลายด้าน   ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง   เช่น  สรีรวิทยา  กายวิภาคศาสตร์  จิตวิทยา  เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าการนำเอาวิชาการหลายสาขามาประยุกต์เข้าด้วยกัน  ได้แก่  ความรู้จากการศึกษาวิชาสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์  ทำให้เข้าใจถึงการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ โครงสร้างและสัดส่วนของร่างกายได้เป็นอย่างดี   ความรู้ในสาขาวิชาจิตวิทยาและ สรีรวิยารวมกัน  ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและการทำงานของสมอง  เป็นต้น

              ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล (2544, 240) ได้กล่าวถึง องค์ประกอบหลักของ การยศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จะต้องนำมาเป็นข้อกำหนดในการออกแบบเครื่องมือ เครื่องจักร สภาพการทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานขั้นต้นนั้น ควรจะต้องมีองค์ประกอบมาจากสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้

              1. กลุ่มกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่จะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

              1.1 ขนาดของมนุษย์ โดยจะพิจารณาและให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดจากขนาด รูปร่าง   ท่าทาง   หรืออิริยาบถขณะทำงานของคนเป็นหลัก

              1.2 ชีวกลศาสตร์ จะมุ่งเน้นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออกแบบหรือใช้แรงในขณะทำงานของคน    

              2. กลุ่มสรีรวิทยา (physiology) แบ่งออกเป็น

                   2.1 สรีรวิทยาการทำงาน โดยมุ่งเน้นถึงการใช้พลังงานในขณะทำงาน เช่น ถ้าหากงานนั้นเป็นงานหนัก คนงานจะต้องใช้พลังงานมากตามไปด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพของพนักงาน เป็นต้น

                   2.2 สรีรวิทยาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ความร้อน แสงสว่าง เสียง เป็นต้น

              3. กลุ่มจิตวิทยา (psychology) แบ่งเป็นการศึกษาวิชาในสาขาต่างๆ ดังนี้

                   3.1 ความชำนาญ ได้แก่ ความเข้าใจในลักษณะงานของบุคคล ทำให้ทราบว่าตนเองควรทำงานอะไร ทำอย่างไร ตลอดจนการตัดสินใจในขณะทำงานนั้นๆ เนื่องจาก อาจเป็นผลทำให้เกิดการทำงานผิดพลาดและเกิดอุบัติเหตุได้

                   3.2 จิตวิทยาการทำงาน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัญหาด้านจิตวิทยาสังคม ของบุคคลที่เกิดจากการทำงานหรือเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เช่น สภาวะด้านเวลาและสภาวะทางสังคมของบุคคลตลอดจนการให้การฝึกอบรม และการศึกษาถึงข้อแตกต่างระหว่างบุคคล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจัยที่ต้องนำมาแก้ปัญหาด้านการยศาสตร์

              เนื่องจากการยศาสตร์เป็นการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและยึดคนเป็นหลัก ดังนั้น จึงเป็นการสะดวกที่จะจำแนกลักษณะของปัญหา โดยพิจารณาสภาวะกลไกการทำงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นเกณฑ์ การจำแนกลักษณะของปัญหาที่ชัดเจนจะช่วยในการวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการยศาสตร์ สามารถแบ่งเป็นลักษณะได้ดังนี้

              1. ความแตกต่างของสัดส่วนรูปร่างของคน (physical size) ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการวัดขนาดรูปร่างและสัดส่วนต่างๆ ของมนุษย์ชนชาติต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าการที่คนเรามีรูปร่างและสัดส่วนของอวัยวะภายนอกในท่าทางต่างๆ ที่แตกต่างกันนั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลกับสถานที่ปฏิบัติงาน ไม่มีส่วนประกอบของสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใดที่จะเหมาะสมในลักษณะที่ดีที่สุดกับพนักงานทุกคนได้ ทั้งนี้เนื่องจากความสูงของร่างกาย ความยาวของแขนขาในลักษณะท่าทางการทำงานต่างๆ หรือระดับสายตาในการมองเห็น สิ่งเหล่านี้มีความแตกต่างกัน

              2. ระดับความทนทานและความอดทนของร่างกายที่มีต่องาน (endurance) ความเค้นจากงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีผลต่อระบบหัวใจและการหมุนเวียนโลหิตของพนักงาน ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการตอบสนองต่องานที่ปฏิบัติ ความเค้นนี้อาจเกิดจากลักษณะงานที่หนักเกินไป หรือสภาพอากาศในสถานที่ปฏิบัติงานที่ค่อนข้างร้อนเป็นผลทำให้ร่างกายมีความต้องการปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้นเพื่อเผาผลาญเพิ่มพลังงานในกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ การจัดระบบการทำงานที่ไม่เอาหลักการยศาสตร์มาใช้ เช่น ช่วงระยะเวลาทำงานที่ยาวเกินไป หรือการจัดช่วงเวลาทำงานและพักที่ไม่เหมาะสมปัจจัยนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านความทนทานและความอดทนของร่างกายที่มีต่อการทำงานได้ซึ่งแต่ละคนจะมีความอดทนแตกต่างกัน

              3. ความแข็งแรงของร่างกายในการปฏิบัติงาน (body strength) ปัญหาเรื่องความแข็งแรงของร่างกาย พบได้เมื่อพนักงานต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ซึ่งงานในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะส่วนหลัง การปฏิบัติงานในลักษณะนี้ได้แก่ การยก การเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แนวความรู้ด้านชีวกลศาสตร์ (biomechanics) มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยสอนให้พนักงานใช้ความแข็งแรงที่มีอยู่ได้เหมาะสม ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

              4. ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในสัญญาณ สัญลักษณ์และสื่อต่างๆ (cognitive) พนักงานแต่ละคนมีพื้นฐาน และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไม่มากก็น้อย  ถ้าคนละเชื้อชาติ ศาสนา และมีการดำเนินชีวิตตามลักษณะประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแล้ว ความแตกต่างและความสามารถที่ไม่เท่ากันในการรับรู้ นึกคิดและเข้าใจในสื่อต่างๆ ที่ได้รับย่อมเกิดขึ้นได้กับสถานที่ปฏิบัติงาน ระบบการสื่อความหมาย การควบคุมเครื่องจักรกล สัญญาณต่างๆ ที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักการยศาสตร์ และพื้นฐานของกลุ่มพนักงานอาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการรับรู้และเข้าใจในสัญญาณต่างๆ ได้

 

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบการสื่อความหมายของสีระหว่างชาวจีนกับชาวอเมริกัน

            จากตาราง จะเห็นว่าสีที่แสดงถึงความหมายว่าระวัง ไป หยุด นั้น ประชาชนชาวจีนมีการรับรู้ที่ไม่แน่นอนชัดเจนคือร้อยละ 44.8  44.7 และ 48.5 ต่างจากชาวอเมริกันคือร้อยละ 81.1  99.2 และ 100 สีแดงที่แสดงถึงอันตรายหรือความร้อนในความรู้สึกของชาวอเมริกันนั้น สำหรับชาวจีนส่วนใหญ่ถือเป็นสีแห่งความสุขสนุกสนานและความมั่นคง เป็นต้น

              5. สิ่งแวดล้อมในการทำงาน (workplace environment) สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ เช่น ฝุ่นละออง ไอระเหยของสารเคมี รังสี ความร้อน ความเย็น ระดับความเข้มของแสงสว่าง ระดับความดังของเสียง หรือการสั่นสะเทือนจากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆนั้น   มีผลกระทบต่อผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในสถานที่นั้นๆ การจัดสภาพงานโดยคำนึงถึงภาวะต่างๆ ที่อยู่โดยรอบตัวพนักงาน มีความสำคัญต้องพิจารณาควบคู่ไปกับปัจจัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวพนักงานด้วยเช่นกัน

                  6. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร (man-machine interaction) การเรียนรู้ความสัมพันธ์

ในรูปของปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งกันและกันระหว่างคนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรต่างๆ และการทราบถึงจุดเด่น ข้อได้เปรียบหรือแตกต่างกันระหว่างคนกับเครื่องจักรนั้น เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการดำเนินงานด้านการยศาสตร์

              ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร หมายถึง การที่คนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติงาน มีปฏิกิริยาโต้ตอบ สื่อสารซึ่งกันและกันเพื่อให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนนั้นๆ ได้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่  3 แสดงรูปแบบอย่างง่ายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร

 

              จากภาพ จะเห็นว่ามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรอยู่ 2 จุด ซึ่งอยู่ในลักษณะดังนี้คือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากอุปกรณ์ จอแสดงผลการทำงานของระบบการผลิตกับการควบคุมสั่งการผ่านเครื่องมือและระบบควบคุม

              นอกจากการเรียนรู้ถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรแล้ว นักการยศาสตร์ยังจะต้องทราบถึงจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ด้วย ทั้งนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่างานในลักษณะใด ควรจะใช้คนหรือเครื่องจักรทำหน้าที่ควบคุมหรือปฏิบัติและจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบสำหรับการปฏิบัติงานซึ่งดำเนินการโดยคนและเครื่องจักรมีดังต่อไปนี้

              6.1 จุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของคนในการปฏิบัติงาน ได้แก่

                        1) มีความสามารถในการรับรู้และไวต่อปฏิกิริยาจากสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ต่างๆ

                        2) มีความสามารถในการตอบสนองและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดหรือมีโอกาสเกิดน้อยมาก

                        3) มีความสามารถในการวิเคราะห์ ตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์หรือภาวะที่ไม่สามารถกำหนดให้เห็นเป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น

                   6.2 จุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของเครื่องจักรในการปฏิบัติงาน

                        1) เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานที่จำเจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกหรืองานที่ต้องใช้ความแน่นอนและแม่นยำสูง

                        2) เหมาะสำหรับการปฏิบัติงานที่ต้องใช้แรงหรือพลังงานอย่างมากตลอดเวลา   การทำงาน

                        3) มีความสามารถในการทำงานหรือควบคุมงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน

                        4) เหมาะสำหรับใช้ในสถานที่ปฏิบัติงานที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของคน

                        5) มีความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ติดต่อกัน

 

ความเมื่อยล้าจากการปฏิบัติงานของพนักงาน

              ความเมื่อยล้า (fatigue) เป็นตัวชี้วัดที่แสดงว่ามีสภาวะสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ถูกหลักการยศาสตร์ และเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงาน ซึ่งบางครั้งพนักงานอาจจะไม่ได้คำนึงถึง เพราะความไม่รู้ แต่หากเป็นผู้บริหารจะต้องรับรู้และเข้าใจ รวมทั้งหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเมื่อยล้ากับพนักงานซึ่งมีสิ่งที่จะต้องรับรู้ดังต่อไปนี้

 

              1. ความหมายและประเภทของความเมื่อยล้า  มีดังนี้

              ความเมื่อยล้า หมายถึง สภาวะของร่างกายที่มีความรู้สึกเหนื่อยและเพลีย (weariness) ความรู้สึกเหนื่อยและเพลียนี้เป็นกลไกปกป้องร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้ร่างกายใช้พลังงานมากเกินขีดจำกัด  ในกรณีที่พนักงานสามารถพักเพื่อผ่อนคลายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  ความรู้สึกเหนื่อยและเพลียนี้สามารถหายไปหรือเบาบางลง ในทางตรงกันข้ามซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของการยศาสตร์ คือ การที่พนักงานต้องทำงานที่หนักภายใต้สภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เครียดในช่วงระยะเวลาที่ยาว และมีการจัดช่วงหยุดพักที่ไม่เหมาะสม ในกรณีนี้ ความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจะคงค้างอยู่ และเกิดการสะสมในวันต่อๆ ไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของพนักงาน  ความเมื่อยล้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

                   1.1 ความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ (muscular fatigue)

                   1.2 ความเมื่อยล้าทั่วๆ ไป (general fatigue) ซึ่งได้แก่

              2. สภาวะของร่างกาย  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ความเมื่อยล้า คือการที่ร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีความรู้สึกเหนื่อยและเพลีย ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นเพียงสภาวะหนึ่งของร่างกาย

 

 
 
นอนหลับสนิท
นอนหลับ

ครึ่งหลับครึ่งตื่น
เหนื่อยและเพลีย
ปกติ

สบายตัว
สดชื่น แจ่มใส
สดชื่นมากตื่นตัว
ตกใจตื่นตัวมาก
 

   ภาพที่ 4   แสดงสภาวะต่างๆ ของร่างกาย

 

จากภาพ จะเห็นว่าสภาวะต่างๆ โดยทั่วไปของร่างกายแบ่งออกเป็นเจ็ดสภาวะโดยมีสภาวะปกติของร่างกายที่มีความสบายตัว (relaxed and resting) อยู่กึ่งกลาง ความเมื่อยล้าหรือสภาวะที่มีความรู้สึกเหนื่อยและเพลียอยู่ถัดไปทางซ้าย ติดกับสภาวะที่นอนหลับหรือครึ่งหลับครึ่งตื่น เมื่อนำเอารูปแบบของสภาวะต่างๆ ของร่างกายมาพิจารณาร่วมกับแนวทางการจัดสภาพงาน สามารถอธิบายได้ดังนี้

              การออกแบบหรือจัดสภาพงาน หรือปรับปรุงสภาวะและสิ่งแวดล้อมในการทำงานตามหลักการยศาสตร์ จะช่วยให้พนักงานมีความสดชื่น แจ่มใส ที่จะมาปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยสภาวะปกติ หรือมีความรู้สึกเหนื่อยและเพลียน้อย พนักงานที่เริ่มงานด้วยสภาวะที่สดชื่นแจ่มใสนี้จะปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากกว่าพนักงานที่เริ่มต้นงานด้วยสภาวะของร่างกายปกติหรือมีความรู้สึกเหนื่อยและเพลียอยู่

              3. ลักษณะอาการของพนักงานที่มีความเมื่อยล้า ลักษณะของร่างกายและจิตใจที่ได้กล่าวมาเป็นอาการของผู้ที่มีความเมื่อยล้าทั่วไป ยังมีความเมื่อยล้าอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะพบมากในการปฏิบัติงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพนักงานต้องประสบกับสภาวะและสิ่งแวดล้อมที่มีความเครียดเป็นเวลานานพอควร ความเมื่อยล้าลักษณะนี้เรียกว่า ความเมื่อยล้าแบบเรื้อรัง ลักษณะอาการของความเมื่อยล้าชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะเกิดในช่วงเวลาปฏิบัติงานหรือหลังจากเลิกงานเท่านั้น แต่ยังคงค้างอยู่และจะเกิดในช่วงเวลาอื่นด้วย เช่น ช่วงเวลาตื่นนอนตอนเช้าก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ลักษณะอาการของพนักงานที่มีปัญหาความเมื่อยล้าแบบเรื้อรัง

 

 
 
              4. ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดความเมื่อยล้า สาเหตุของการเกิดความเมื่อยล้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านรูปแบบของงาน สภาวะและสิ่งแวดล้อมในการทำงานระยะและช่วงเวลาปฏิบัติงาน  ความรับผิดชอบ ความกังวล ความขัดแย้งในงาน การเจ็บป่วย ภาวะทางโภชนาการและวงจรการดำเนินชีวิตใน 24 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระดับของความเมื่อยล้า
 
 

 

 

           ภาพที่ 5 แสดงปัจจัยด้านต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดความเมื่อยล้า

 

              จากภาพ อธิบายได้ว่าระดับน้ำในถังแสดงถึงระดับความเมื่อยล้าที่มีผลมาจากความเครียดด้านต่างๆ และน้ำที่ไหลออกจากถังแสดงถึงความเมื่อยล้าที่จะหายไปจากร่างกายของพนักงานเมื่อได้พักผ่อน เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความปลอดภัย สุขภาพอนามัยที่ดีและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ช่วงเวลาในการพักผ่อนนอนหลับ และการหยุดพักระหว่างปฏิบัติงาน ต้องมีความเหมาะสมเพียงพอและมีความสมดุลกับผลรวมของความเค้นต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าระดับของความเมื่อยล้าไม่สูงเกินระดับสูงสุดที่ร่างกายจะรับได้คือน้ำไม่ล้นออกมานอกถัง

              5. ความเมื่อยล้าก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติงาน  นอกจากความเมื่อยล้าแล้ว นักการยศาสตร์ยังให้ความสนใจถึงเรื่องความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เนื่องจากความเบื่อหน่ายส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานและผลผลิตของสถานประกอบการ

              สรุป สภาวะที่พนักงานมีความเบื่อหน่าย พบได้โดยทั่วไปในสถานประกอบการประเภทอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ที่มีสภาวะการทำงานจำเจ ตัวอย่างของงานที่มีลักษณะจำเจและน่าเบื่อหน่าย ได้แก่ งานพิมพ์ฉลากปิดลงบนผลิตภัณฑ์หรืองานประกอบชิ้นส่วนวัสดุใดวัสดุหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการประกอบผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราหมุนเวียนคงที่ ทั้งนี้ต้องปฏิบัติงานในลักษณะนั้นทุกวันทุกเดือนและทำเป็นระยะเวลานานเป็นปีๆ

 

เอกสารอ้างอิง

ปรียาวดี   ผลเอนก (2556)  การจัดการคุณภาพ.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรืองวิทย์  เกษสุวรรณ. (2550). การจัดการคุณภาพ.กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์ จำกัด

วีรพจน์  จงประสิทธิสกุล (2542). TQM living handbook. An executive Summary.

           พิมพ์ครั้งที่ 2 บริษัท บีพีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด.

Artzt, E.L. Quality Progress (QPR) Vol.25. Issue 10, Oct, 1992. pp.25-27.ANSI/ISO/ASQCC.

           A8402-1994.  Quality management and quality assurance   vocabulary.