การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ : แนวคิด แนวทางและข้อค้นพบ
ศาสตราจารย์ ดร.บังอร เสรีรัตน์
เกริ่นนำ
หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ร่างกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….(ระดับประถมศึกษา) ที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะโดยได้กำหนดสมรรถนะหลัก และกำหนดสมรรถนะเฉพาะตลอดจนผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 อีกทั้งกำหนดรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะที่มีความเหมาะสมกับบริบทของตนเอง(กระทรวงศึกษาธิการ, 2565)
ลักษณะและองค์ประกอบของหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
จากการประกาศใช้ร่างกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….(ระดับประถมศึกษา) นั้นสถานศึกษาที่สมัครเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมจำนวนหนึ่งได้มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะสำหรับสถานศึกษาของตน ที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบท พื้นที่ และจุดเน้นของสถานศึกษา โดยหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะมีลักษณะสำคัญดังนี้ 1) เป็นหลักสูตรแบบเน้นผลลัพธ์ ที่มุ่งให้ผู้เรียนทำอะไรได้ตามมาตรฐานสมรรถนะที่กำหนด 2) จุดเน้นอยู่ที่การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติและคุณลักษณะ ในการปฏิบัติงานและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหมายต่อผู้เรียน 3) จุดเน้นอยู่ที่การปฏิบัติ /การกระทำเน้นที่สมรรถนะซึ่งเป็นผลผลิต 4) มีพันธรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมายของผู้เรียนทุกคนอย่างชัดเจน โดยการจัดระบบสนับสนุนผู้เรียนจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย 5) เอื้อและส่งเสริมการสอนแบบองค์รวม ที่มุ่งให้เกิดสมรรถนะ 6) สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ ในงานอย่างเป็นองค์รวมเน้นที่สมรรถนะ 7) การเรียนการสอนสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล (differentiated instruction) 8) ผู้เรียนใช้เวลาเรียนมาก – น้อย ได้ตามความถนัดและความสามารถของตน 9) การเรียนรู้มีลักษณะเป็น Mastery learning คือผู้เรียนจะต้องประสบผลสำเร็จในแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป 10) ครูมีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ ผู้ฝึก/ผู้อำนวยความสะดวก ติดตาม ให้ข้อมูลป้อนกลับ และประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน 11) ให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) 12)ให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) 13 ) และเน้นการประเมินผลลัพธ์ที่เป็นองค์รวม ไม่เน้นการประเมินตามตัวชี้วัด (ทิศนา แขมมณี , 2565 )
หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมมีองค์ประกอบสำคัญ 7 ด้านดังนี้
ด้านที่ 1 แนวคิด ข้อมูลพื้นฐาน และกระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ความเป็นมา แนวคิด หลักการ เหตุผล ของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
วิสัยทัศน์แนวคิดของผู้บริหาร แรงจูงใจ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง และต้นทุนของสถานศึกษา ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทระดับโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่ จังหวัด ประเทศและโลก กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ความมุ่งมั่น และความคิดสร้างสรรค์
ด้านที่ 2 เป้าหมายและพันธกิจของสถานศึกษา มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ปรัชญา หรือหลักการ หรือแนวคิด ที่สถานศึกษา มี/เลือก/ใช้ แนวคิดหลัก (School concept) /เอกลักษณ์/อัตลักษณ์ อันแสดงถึงจุดเน้นของการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท วิสัยทัศน์ที่กำหนดสะท้อนภาพอนาคตของสถานศึกษาที่พึงประสงค์ พันธกิจที่เป็นแนวทางหรือวิธีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนด
ด้านที่ 3 แบบแผนของหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ มีรายละเอียดเกี่ยวกับ จุดหมายของหลักสูตรกำหนดสมรรถนะและคุณลักษณะ/ค่านิยมที่เป็นเป้าหมายปลายทางในการพัฒนาผู้เรียน คุณลักษณะของผู้เรียนสะท้อนลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน สมรรถนะหลัก คำอธิบายสมรรถนะ ระดับสมรรถนะ และพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะ สาระการเรียนรู้ ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้น การจัดสาระการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ โครงสร้างเวลาเรียน คำอธิบายรายสาระการเรียน
ด้านที่ 4 แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ มีรายละเอียดเกี่ยวกับ การจัดการเรียนรู้ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามศาสตร์ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก การส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำตนเอง กำกับการเรียนรู้ของตนเอง และสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองสู่ความเชี่ยวชาญตามความสนใจ/ความถนัด มีแนวทางการประเมินเพื่อพัฒนา มีนวัตกรรมการเรียนรู้
ด้านที่ 5 แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ฐานสมรรถนะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการวัดและประเมินผลสมรรถนะ ที่ครอบคลุมการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative assessment) และการประเมินเพื่อตัดสิน (Summative assessment)เกณฑ์การจบการศึกษาแต่ละระดับ วิธีการรายงานผลการเรียน
ด้านที่ 6 แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีรายละเอียดเกี่ยวกับ วิธีการจัดชั้นเรียน จัดสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ วิธีการจัดการเรียนการสอน การใช้สื่ออุปกรณ์ภายในห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา แผนงาน วิธีการพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของสถานศึกษา แผนงาน เพื่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง แผนงาน วิธีการดำเนินงาน ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ นวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษา
ด้านที่ 7 หลักสูตรระดับชั้นเรียน มีรายละเอียดเกี่ยวกับ โครงสร้างรายวิชา/สาระ แผนการจัดการเรียนรู้ สถานการณ์ ประสบการณ์ งานและกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและแนวทางที่สถานศึกษากำหนด และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สถานศึกษาเลือกใช้
ข้อค้นพบสำคัญ
จากการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะดังกล่าว พบข้อมูลสำคัญดังนี้
1. สถานศึกษายังมีความเข้าใจที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนในมโนทัศน์ (Concept) ของคำสำคัญๆ ที่ใช้ใน
หลักสูตรอย่างเช่นคำว่า ปรัชญา หลักการ แนวคิดหลักของสถานศึกษาหรือ (School Concept) วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) คุณลักษณะ ซึ่งความความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนนี้ ส่งผลทำให้การเขียนหรือการกำหนดรายละเอียดของคำดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งเกิดความไม่ชัดเจนในจุดที่ป็นประเด็นสำคัญ
2. หลักสูตรส่วนใหญ่ยังขาดความสัมพันธ์ เชื่อมโยง และความสอดคล้องกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตร ซึ่งในภาษาวิชาการเรียกว่า Curriculum Alignment คือ การที่องค์ประกอบทั้งหลายของหลักสูตรยังไม่สัมพันธ์สอดคล้องกันตลอดสายตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง พบว่าจุดเน้นและบริบทต่างๆที่ระบุไว้ข้างต้นจะค่อยๆ หายไป จนไม่ปรากฏให้เห็นในปลายทาง
3. คำอธิบายรายวิชายังไม่ชัดเจน แนวคิดหลัก หรือจุดเน้นของสถานศึกษา หรือคุณลักษณะของผู้เรียน ที่สถานศึกษากล่าวไว้ในตอนต้นของหลักสูตร ยังไม่สะท้อนมาถึงคำอธิบายรายวิชา การเขียนคำอธิบายรายวิชายังไม่สะท้อนสมรรถนะที่ชัดเจน แนวทางพัฒนาและประเมินสมรรถนะ ส่วนใหญ่ใช้คำอธิบายรายวิชาในหลักสูตรเดิม
4. การออกแบบการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ยังไม่สะท้อนหลักการของหลักสูตร รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงกับจุดเน้น บริบท สมรรถนะ และคุณลักษณะของผู้เรียนที่พึงประสงค์ ที่ได้ระบุไว้ในตัวหลักสูตร
5. การวัดและประเมินผล พบว่ายังมีข้อมูลในหลักสูตรค่อนข้างน้อย สถานศึกษายังไม่ได้ระบุวิธีการ/เครื่องมือ ที่ชัดเจนในการดำเนินการ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ข้อมูลส่วนกลางที่ให้เป็นหลักการและแนวทางกว้างๆ โดยสถานศึกษายังไม่ได้กำหนดวิถีของตนเองในการดำเนินการ
6. การบริหารจัดการหลักสูตร ยังมีข้อมูลในหลักสูตรค่อนข้างน้อย และไม่ครอบคลุมด้าน/ประเด็นต่าง ๆ ในการบริหารจัดการหลักสูตรอีกทั้งไม่สอดคล้องกับพันธกิจและบริบทของสถานศึกษา
7.ปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
7.1 ผู้บริหารเป็นผู้นำทางวิชาการ : ยุยง ส่งเสริม เติมความรู้ อยู่หน้างาน สานเชื่อมเครือข่าย ให้แนวทางที่ชัดเจน
7.2 นักวิชาการภายนอกที่มี 4 ใจ : ได้ใจ ใส่ใจ เข้าใจ ให้กำลังใจ( ยามท้อแท้)
7.3 มีการเรียนรู้แนวคิด แนวทาง และเกณฑ์การตรวจสอบ 7 ด้านอย่างชัดเจน ใช้เป็นกรอบในการพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรฐานสมรรถนะ และตรวจสอบเป็นระยะ
7.4 มีการจัดระบบการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรในโรงเรียน และเครือข่ายการทำงาน
7.5 มีการจัดทีมงานที่เข้าใจงานอย่างชัดเจนทั้งกระบวนการพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการใช้และปรับปรุงหลักสูตร
7.6 มีคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา ที่เข้าใจแนวคิด แนวทาง และเกณฑ์การตรวจสอบ 7 ด้าน
7.7 มีฐานข้อมูลที่ครบถ้วน สกัดแก่นสารสนเทศพร้อมใช้ : ต้นทุนโรงเรียน/นวัตกรรม
การสอน การบริหารและอื่นๆ บริบท และต้นทุนชุมชนความรู้แนวคิดสมรรถนะ เอกสาร/สื่อเสริมความรู้สำคัญของครูและผู้บริหาร
สรุปสาระ ขยายความคิด
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นการก้าวเดินของการศึกษาไทยที่ก้าวต่อไปจากการใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานสู่การอิงหลักสูตรฐานสมรรถนะที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และได้ก้าวเดินไปก่อนประเทศไทยมานานหลายก้าวแล้ว การดำเนินการดังกล่าวแม้จะพบว่ายังมีความสับสน มีปัญหา และความเข้าใจผิดอยู่บ้างแต่ก็เป็นองค์ความรู้สำคญที่จะเป็นฐานในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ.(256๕)ร่างกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….(ระดับประถมศึกษา)
[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม๒๕๖๘, จาก https://www. https://cbethailand.com/
ทิศนา แขมมณี ,(2565), หลักสูตรฐานสมรรถนะ : แนวคิด แนวทางการพัฒนา เอกสารอัดสำเนา
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2567) รายงานการศึกษากระบวนการและผลการพัฒนาหลักสูตร
สถานศึกษาฐานสมรรถนะ [ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม๒๕๖๘,จาก extension://
efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://backoffice.onec.go.th/uploads/Book
/2076-file.pdf