การพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร (2)

บทความตอนที่แล้ว ได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร ในข้อแรก คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานและการสื่อสารภายในองค์กรไปแล้ว บทความนี้จะนำเสนออีก 2 แนวทางที่เหลือค่ะ

2. การสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรม (Creating an Innovation-Driven Culture)              

    การสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทดลอง การเรียนรู้จากความล้มเหลว และการทำงานร่วมกัน ทำให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมการสื่อสารที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะนวัตกรรมมีความจำเป็นสำหรับองค์กรที่อยู่ในการแข่งขันและขับเคลื่อนการเติบโต การสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้บุคลากรสามารถคิดนอกกรอบ รับความเสี่ยง และพร้อมจะปรับปรุง ด้วยการใช้กลยุทธ์ทั้ง 7 ข้อ (Ruchaneeya Leepila, 2023, ออนไลน์) ดังนี้

1) ส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ

    ความปลอดภัยทางจิตใจ คือ ความเชื่อมั่นว่าจะไม่ถูกลงโทษหรือถูกประณามจากการเสนอความคิดเห็น ถามคำถาม หรือทำผิดพลาด เมื่อบุคลากรในองค์กรรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น จะทำให้มีแนวโน้มในการมีความคิดสร้างสรรค์และยอมรับความเสี่ยง และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางจิตใจ ผู้นำควรสื่อสารอย่างเปิดเผยและโปร่งใส รับทราบข้อผิดพลาด และสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการให้และรับปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback)

2) จัดหาทรัพยากรสำหรับนวัตกรรม

    บุคลากรในองค์กรจำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยากร เวลา การฝึกอบรม และเงินทุน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงความพึงพอใจในงานและประสิทธิภาพการทำงาน  ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผู้นำควรจัดลำดับความสำคัญของการจัดหาทรัพยากรสำหรับนวัตกรรมและให้บุคลากรสามารถใช้งานทรัพยากรเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม

3) เปิดรับการทดลอง

    การทดลองเกี่ยวข้องกับการทดสอบแนวคิดและแนวทางใหม่ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม แต่การทดลองยังเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและความล้มเหลวอีกด้วย ผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมที่เปิดรับการทดลอง ส่งเสริมการเรียนรู้จากความล้มเหลว และให้รางวัลแก่การทดลองที่ประสบความสำเร็จ

4) ชื่นชมและให้รางวัลแก่นวัตกร

    การชื่นชมและให้รางวัลสามารถกระตุ้นให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อรู้ว่าความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะได้รับการชื่นชมและให้รางวัล พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์และกล้าเสี่ยงมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้นำควรสร้างระบบการชื่นชมในทุกๆ ความพยายามไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

5) ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

    การทำงานร่วมกันของบุคลากรที่มีความหลากหลายทั้งแนวคิด มุมมอง ความสนใจ ความเชี่ยวชาญ และภูมิหลัง จะเป็นตัวขับเคลื่อนของนวัตกรรม ผู้นำควรสนับสนุนการทำงานร่วมกันโดยการสร้างโอกาสสำหรับทีมงานข้ามสายงาน และส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้างและการแบ่งปันความคิดซึ่งกันและกัน

6) กำหนดเป้าหมายและตัววัดที่ชัดเจน

    การกำหนดเป้าหมายและตัววัดที่ชัดเจนสำหรับนวัตกรรมสามารถกระตุ้นความพยายามและวัดความก้าวหน้าได้ ผู้นำควรกำหนดความหมายของนวัตกรรมสำหรับองค์กรและสื่อสารให้บุคลากรได้รับทราบอย่างทั่วกัน

7) ทำเป็นแบบอย่าง

    ผู้นำควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรม โดยการทำให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีที่ต้องการเห็นในตัวบุคลากรในองค์กร ซึ่งรวมไปถึงการเปิดรับแนวคิดใหม่ ยอมรับความเสี่ยง และเปิดรับการทดลอง ผู้นำควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจ

3. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement)

    การพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารที่ยั่งยืน จำเป็นต้องรับฟังและเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไปได้ ยกตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้กำหนดรูปแบบการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่างๆ (CPALL, 2566, ออนไลน์) อาทิ

1)      ลูกค้า

1.1) การรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์  เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

1.2)             สำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์ลูกค้า

2)      สังคม ชุมชน

      2.1) การรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ ร้าน 7-Eleven ตู้รับความคิดเห็น และศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น

      2.2) การสำรวจความน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ปีละครั้ง

                    3) พนักงานและครอบครัวพนักงาน

                         3.1) การสื่อสารสองทาง อาทิ การสัมมนาพนักงานในระดับต่างๆ

      3.2) การสื่อสารทางเดียว ระบบ Intranet วารสารภายใน การแจ้งข่าวประจำวันผ่านช่องทางดิจิทัล ได้แก่ CP ALL Connect

       3.3) การรับความคิดเห็นและรับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ

       3.4) การมีส่วนร่วมผ่านเวทีการนำเสนอผลงานนวัตกรรม การประกวด การระบุ และประเมินความเสี่ยง เป็นต้น

บรรณานุกรม

CPALL. (2566). การจัดการความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย. สืบค้นจาก

https://www.cpall.co.th/sustain/social-dimension/stakeholder-engagement-management

Ruchaneeya Leepila. (2023). สร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม: กลยุทธ์สำหรับส่งเสริมความคิด

สร้างสรรค์และการทดลองในองค์กรของคุณ. สืบค้นจาก https://blog.happily.ai/th/building-a-culture-of-innovation-strategies-for-fostering-creativity-and-experimentation-in-your-organization-th/