การพัฒนาทักษะการทำงานสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (“Work Skill Development for Individuals with Intellectual Disabilities”)

สังคมโลกปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับคนพิการ (disability) โดยมิได้มองว่าคนพิการเป็นผู้ป่วยที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือจากสังคม แต่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองและเป็นที่ยอมรับของสังคม รวมทั้งให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพ (occupation) ตามศักยภาพที่มี เพื่อให้คนพิการอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ไม่ตกเป็นภาระของสังคมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้องค์การระหว่างประเทศต่างบัญญัติให้รัฐที่เป็นภาคีสมาชิกให้ความสำคัญกับคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คนพิการมีสิทธิประกอบอาชีพตามความถนัดหรือตามความต้องการ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Discrimination) ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกขององค์การดังกล่าว ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีงานทำสำหรับผู้พิการ เห็นได้จากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มีที่มีเจตนาให้คนพิการมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถในการมีงานทำเพื่อหารายได้และพึ่งพาตนเอง ลดภาระของครอบครัวและสังคม
(ดารณี ศักดิ์ศิริผล และ บัณฑิตา ลิขสิทธิ์, 2561)

ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจัดเป็นผู้พิการประเภทหนึ่งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คือ ผู้ระดับความสามารถทางสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญ คือระดับเชาว์ปัญญา 70-75 หรือต่ำกว่า และมีความสามารถการปรับตัวซึ่งเป็นการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน
การดำรงชีวิตอิสระและการทำงาน โดยต้องมีข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ด้านจาก 10 ด้าน ต่อไปนี้
คือ 1) การสื่อความหมาย 2) การดูแลตนเอง 3) การทำกิจวัตรประจำวันภายในบ้าน 4) ทักษะทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 5) การใช้บริการสาธารณะหรือทรัพยากรชุมชน 6) การควบคุมหรือการชี้นำตนเอง 7) สุขอนามัยและความปลอดภัย 8) ทักษะในการนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน 9) การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และ 10) การทำงาน  โดยข้อจำกัดดังกล่าวจะเกิดขึ้น ในระยะพัฒนาการคือก่อนอายุ 18 ปี (Special Olympic, 2020) ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญามีข้อจำกัดที่สามารถสังเกตได้
เช่น การสูญเสียความสามารถด้านสติปัญญา (Intellectually Impaired) ที่ส่งผลให้เกิดความล่าช้า
ด้านพัฒนาการมีปัญหาด้านความจำ มีความยากลำบากในการทำตามกฎ กติกา มีความยากลำบาก
ในการเข้าใจลำดับก่อนหลังของการทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีความยากลำบากในการคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ นอกจากนี้ภาวะความบกพร่องทางสติปัญญา ยังส่งผลต่อความสามารถในการให้เหตุผล การวางแผน
การคิดเชิงนามธรรม การตัดสิน การตัดสินเชิงวิชาการ หรือ ประสบการณ์การเรียนรู้ (National Down Syndrome Society (ndss), 2020)

   การพัฒนาทักษะสำหรับการทำงานเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน
ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประชากรโลกทุกคน ร่วมไปถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะสำหรับการทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานซึ่งตัวชี้วัดหนึ่ง
ของความสำเร็จในการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างแท้จริง (UNESCO, 2012) นอกจากนี้งานวิจัยต่าง ๆ ยืนยันว่า การสอนและการสนับสนุนที่ถูกต้องและเพียงพอ จะสามารถเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถประสบความสำเร็จในการฝึกอาชีพ (Foreman, 2009; Friedman and Rizzolo, 2017) และการพัฒนาทักษะอาชีพเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนไปสู่วัยของการทำงาน (Lindsay, 2011) สำหรับรูปแบบการสอนและการพัฒนาทักษะสำหรับผู้ที่มี
ความบกพร่องทางสติปัญญา มีหลักการเบื้องต้นที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกเป้าหมายหรือทักษะที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ (1) ควรเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันหรืออนาคต (2) ควรเป็นทักษะที่ช่วยคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น (3) ควรเป็นเป้าหมายหรือทักษะที่เหมาะสมกับอายุ (4) ควรเป็นเป้าหมายหรือทักษะที่ได้รับ
การยอมรับหรือมีคุณค่ากับสังคม (5) ควรเป็นทักษะที่ช่วยให้เกิดประโยชน์กับชุมชนหรือสังคม
(6) ควรเป้าหมายที่ผู้เรียนสนใจหรือช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน (Brown et al., 1979)
ในการพัฒนาทักษะการทำงานที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีรูปแบบวิธีการในการพัฒนาทักษะการทำงานสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ดังนี้

 

1.     ทักษะในชีวิตประจำวัน

ทักษะในชีวิตประจำวันเป็นทักษะพื้นฐานที่มีความสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมสู่
การทำงาน ทักษะในชีวิตประจำวันเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีงานวิจัยศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1  วิธีการสอนแบบทางตรง (Direct Instruction) เป็นวิธีการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง โดยมีการระบุเป้าหมายหรือทักษะที่ต้องการ สำหรับขั้นตอนการสอนที่ต้องอธิบายเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยวาจาและการเขียน สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน สอนทักษะด้วยการแสดงตัวอย่างให้ดู และให้ตัวอย่างที่หลากหลาย ถามคำถามและอธิบายหากนักเรียนไม่เข้าใจ และให้ผู้เรียนปฏิบัติขั้นตอนต่าง ๆ ของแต่ละทักษะ โดยมีผู้สอนคอยช่วยเหลือในช่วงแรก และให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติแต่ละทักษะ ๆ จากนั้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ประการสุดท้าย คือมีการประเมินผลความก้าวหน้าของทักษะ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมิน (Eratay, 2020)

1.2  การสอนซ้ำ ๆ การแสดงบทบาทสมมติ และการชี้แนะแบบมีลำดับขั้นตอน (antecedent prompting) ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การสอนที่เน้นการแสดงเป็นตัวอย่างหรือทำให้ดู การพูดและให้ปฏิบัติตาม การจับมือให้ทำ การใช้ภาพหรือการเขียนลำดับขึ้นตอนแล้วให้ตรวจสอบทีละขั้นตอน หรือการใช้วิดีโอในการสอนขั้นตอน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง (Self-prompting) งานวิจัยยืนยันว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยให้ผู้เรียนที่มี
ความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถฝึกทักษะในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้การฝึกทักษะควรมี
การสอนอย่างเป็นขั้นตอนพร้อมด้วยการแนะนำหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างและมีการให้ข้อมูลป้อนกลับทันที (Cullen and Alber-Mogan, 2015)

 

2.     ทักษะสังคม

             ทักษะสังคม เป็นทักษะสำคัญสำหรับการทำงานของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากในการทำงานนั้น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นทักษะสังคมจึงถือเป็นอีกหนึ่งทักษะในการเตรียมความพร้อมในการทำงานของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีงานวิจัยศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1     การเปิดโอกาสให้เรียนรู้งานหรือทักษะหลากหลายด้วยรูปแบบที่ยืดหยุ่น ให้อิสระและให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการและการบรรยากาศแห่งความเสมอภาค (Cavanagh et al., 2019)

2.2     การใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายและยืดหยุ่น โดยเน้นการเรียนรู้ที่มีความหมาย สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง สามารถออกแบบกิจกรรม เนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Lewis and Williams, 1994)

2.3     การให้ข้อมูลป้อนกลับและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจากนายจ้าง ซึ่งสามารถสร้างบรรยากาศ การสนับสนุน ช่วยเหลือ ที่เป็นธรรมชาติให้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญากับนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของนายจ้าง (Robinson, 2019)

2.4     การสอนโดยตรง การเรียนรู้จากเพื่อน การแสดงเป็นตัวอย่าง การใช้เรื่องเล่า (Lynch and Simson, 2010)

2.5   การให้ตัวอย่าง (Model) เป็นวิธีการสำคัญในการให้สอนทักษะสังคมให้แก่ผู้ที่มี
ความบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถใช้วิดีโอเป็นแบบสำหรับการสอนทักษะสังคม เช่น การร้องขอความช่วยเหลือ ตอบสนองอย่างเหมาะสมหลังจากได้รับข้อมูลป้อนกลับ
และการสอบถามข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจในงาน (Park, Bouck, & Duenas, 2020)

2.6     การทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (สถานประกอบการ) และ องค์กรไม่แสวงหากำไร โดยใช้เครือข่ายของศิษย์เก่าที่มีความรู้ เล่าประสบการณ์ มาทำกิจกรรมร่วมกัน และมี
การเชิญนายจ้างมาร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับปัญหาที่นายจ้างได้รับจากลูกจ้างที่เป็นผู้พิการและการสนับสนุนที่ต้องการ (British Council, 2020)

 

3.     ทักษะอาชีพและวิชาชีพ

ทักษะอาชีพหรือทักษะวิชาเป็นทักษะที่มีความสำคัญสำหรับการทำงานของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในการพัฒนาทักษะอาชีพนั้น มีการศึกษาวิจัยถึงเทคนิค วิธิการที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1  การชี้แนะด้วยวิดิโอและพัฒนาซอฟแวร์ที่ใช้ในเกม dance pads งานวิจัยพบว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยในการสอนทักษะ สามารถพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและสามารถเพิ่มแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Lin, Ching, Shih, and Li, 2018)

2.2  การสอนแบบตรง ( Explicit ) การสอนแบบตัวต่อตัว การกระตุ้นเตือนที่เหมาะสม การใช้สื่อที่มองเห็นชัด และการเสริมแรงด้วยการชมหรือให้รางวัล (Boden, Joivette, and Alberto, 2018)

2.3  การเปิดมีโอกาสให้ผู้เรียนเลือกบทบาทหรือหน้าที่ของตนเอง การใช้ระบบ Buddy ในการสอนหรือชี้แนะวิธีการทำงาน การสนับสนุนจากผู้ให้คำปรึกษา การจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และการสอนงานและให้ฝึกฝนการทำงานซ้ำ ๆ จนเกิดความชำนาญก่อนการปฏิบัติงานจริง โดยอาศัยหลักการยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน (Cavanagh et al., 2019)

 

4.     ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจจะเป็นการประกอบอาชีพร่วมกับผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาส่วนหนึ่งจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด  ดังนั้นการประกอบอาชีพร่วมกับผู้ปกครองจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะทางเลือกในการทำงานของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีการศึกษาวิจัยถึงเทคนิค วิธิการที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

4.1  การทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (สถานประกอบการ) และ องค์กรไม่แสวงหากำไร การทำงานตัวต่อตัวกับนายจ้าง การจัดตลาดแรกพบแรงงาน (job fair) และข้อมูลจากหุ้นส่วนทางธุรกิจ (British Council, 2020)

4.2  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว (one-to-one mentoring) จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ในการสอนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการเงิน การตลาด  (Hustedde, 2018)

           จะเห็นได้ว่า การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หากมีแนวทางและวิธีการที่เหมาะสม จะเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง โดยการพัฒนาทักษะเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้าง
ความเข้าใจและการยอมรับจากสังคมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมทักษะในการทำงาในแต่ละทักษะ ทั้งนี้การพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย อาทิ การสอนด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เช่น การฝึกฝนที่เป็นลำดับขั้น การใช้เทคโนโลยีช่วยในการเรียนรู้ รวมถึงการเสริมสร้างทักษะทางสังคมและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาสในการทำงานและการมีชีวิตที่มีคุณค่า นอกจากนี้ การมีเครือข่ายความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ ยังสามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง

 

 

 

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

ดารณี ศักดิ์ศิริผล, & บัณฑิตา ลิขสิทธิ์. (2561). การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าสู่อาชีพ. วารสารวิชาการอุตสาหกรรมศึกษา, 12(2), 25-33.

ภาษาอังกฤษ

Boden, L. J., Jolivette, K., & Alberto, P. A. (2018). The Effects of Check-in, Check-up, Check-out for Students with Moderate Intellectual Disability During On- and Off-Site Vocational Training. Journal of Classroom Interaction, 53(1), 4-21.

British Council. (2020). Enhancing Employability Skills for People with Disabilities in Azerbaijan. Retrieved from https://www.britishcouncil.org/education/skills-employability/success-stories/enhancing-employability-skills-people-disabilities-azerbaijan

Brown, L., Branston, M. B., Hamre-Nietupski, S., Pumpian, I., Certo, N., & Gruenewald, L. (1979). A strategy for developing chronological-age-appropriate and functional curricular content for severely handicapped adolescents and young adults. The Journal of Special Education, 13(1), 81-90.

Cavanagh, J., Meacham, n., Cabrera, P. P., & Bartram, T. (2019). Vocational learning for workers with intellectual disability: interventions at two case study sites. JOURNAL OF VOCATIONAL EDUCATION & TRAINING, 71(3), 350-367.

Cullen, J. M., & Alber-Morgan, S. R. (2015). Technology mediated self-prompting of daily living skills for adolescents and adults with disabilities: A review of the literature. Education and Training in Autism and Developmental Disabilities, 50(1), 43-55.

Eratay, E. (2020). Effectiveness of the Direct Instruction Method in Teaching Leisure Skills to Young Individuals with Intellectual Disabilities: Abstract, Instroduction, Method, Results, Discussion, Conclusion, References. International Electronic Journal of Elementary Education, 12(5), 439-451.

Foreman, P. (2009). Education of students with an intellectual disability: Research and practice. the United States of America: IAP.

Friedman, C., & Rizzolo, M. C. (2017). “Get us real jobs:” Supported employment services for people with intellectual and developmental disabilities in Medicaid Home and Community Based Services waivers. Journal of Vocational Rehabilitation, 46(1), 107-116.

Hustedde, R. J. (2018). Entrepreneurship and Economic Development in Rural America. In D. A. Harley, N. A. Ysasi, M. L. Bishop, & A. R. Fleming (Eds.), Disability and Vocational Rehabilitation in Rural Settings (pp. 1-16). USA: Springer International Publishing AG.

Lewis, L. H., & Williams, C. J. (1994). Experiential learning: Past and Present. In L. Jackson & R. S. Caffarella (Eds.), Experiential Learning: A New Approach (pp. 5-16). San Francisco, USA: JOSSEY-BASS.

Lin, M.-L., Chiang, M.-S., Shih, C.-H., & Li, M.-F. (2018). Improving the occupational skills of students with intellectual disability by applying video prompting combined with dance

Lynch, S. A., & Simpson, C. G. (2010). Social skills: Laying the foundation for success. Dimensions of early childhood, 38(2), 3-12.

National Down Syndrome Society (ndss). (2020). What is an Intellectual Disability. Retrieved from https://www.ndss.org/resources/what-is-an-intellectual-disability/

Park, J., Bouck, E. C., & Duenas, A. (2020). Using video modeling to teach social skills for employment to youth with intellectual disability. Career Development and Transition for Exceptional Individuals, 43(1), 40-52.

Robinson, O. P. (2019). Check-in/check-out: facilitating performance feedback during vocational training for youth with intellectual disabilities. (The degree of Doctor of Philosophy). The University of Alabama, ALABAMA.

Special Olympics. (2020). What is Intellectual Disability? Retrieved from https://www.specialolympics.org/about/intellectual-disabilities/what-is-intellectual-disability

UNESCO. (2012). Youth and Skills: Putting education to work. France: The United National Educational, Scientific and Cultural Organization.