การมีความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อบุคคลและสังคมโดยรวม ทั้งผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับต่าง ๆ ผู้ที่ปฏิบัติงานในองค์กรทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่เป็นนักศึกษาก็ต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการเรียน และหากจบการศึกษาไปเข้าสู่โลกของการทำงานจริง องค์กรที่เข้าไปทำงานก็ต้องการบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาการทำงานของตัวพนักงานเอง และเพื่อพัฒนาองค์กรในอนาคตต่อไป การพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ในบทความนี้ จะกล่าวถึงคุณลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และแนวทางส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามลำดับ
คุณลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์
คำว่าการคิดสร้างสรรค์ตามพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตสถาน (2553) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง กระบวนการคิดที่นำไปสู่นวัตกรรมการแก้ปัญหาหรือการสังเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ส่วนนักทฤษฎีก็มีการให้นิยามไว้ที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันมักสนใจในแง่ที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะ “ความคิดแบบอเนกนัย” (Divergent Thinking) คือการคิดหลาย ๆ แง่ หลาย ๆ ทาง หรือคิดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการมองปัญหาในแนวกว้างเหมือนกับแสงของดวงอาทิตย์ที่แผ่รัศมีออกรอบด้าน ซึ่งคุณลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเป็นคนที่มีคุณลักษณะการคิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ด้าน (Torrance, 1974) ดังนี้
1. มีความคิดริเริ่ม (Originality) คือ มีความคิดที่แปลกใหม่ต่างจากความคิดเดิม หรือ ความคิดธรรมดาของคนทั่วไป หรือเป็นการคิดดัดแปลงเป็นการคิดใหม่
2. มีความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) คือ มีความสามารถในการคิดอย่างอิสระ คิดได้หลากหลาย หาคำตอบได้หลายทิศทางหลายแง่หลายมุม
3. มีความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) คือ สามารถคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว และได้คำตอบมากที่สุดในเวลาที่จำกัด
4. มีความคิดละเอียดลออ (Elaboration) คือ การคิดได้ในรายละเอียดเพื่อขยายหรือตกแต่งความคิดหลักให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
เมื่อได้ทราบคุณลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว จะมาพิจารณาถึง “กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งในที่นี้คือวิธีคิดหรือกระบวนการทำงานของสมองที่มีขั้นตอนต่าง ๆ ในการคิด ที่มีผู้นำเสนอไว้หลายแนวคิดด้วยกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างของ Wallas (1926) และ Hutchinson (1949) ดังนี้
กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของ Wallas
Wallas (1926) ได้เสนอว่า กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการคิดสิ่งใหม่ ๆ โดยการลองผิดลองถูก ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
1. ขั้นเตรียมการ คือ การหาข้อมูล หรือระบุปัญหา
2. ขั้นความคิดกำลังฟักตัว คือ การที่ความคิดอยู่ในความสับสนวุ่นวายของข้อมูลที่ได้มา
3. ขั้นความคิดกระจ่างชัด คือ ขั้นที่ความคิดสับสนได้รับการเรียบเรียงและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นภาพรวมของความคิด
4. ขั้นทดสอบความคิดและพิสูจน์ให้เห็นจริง คือ ขั้นที่รับความคิดเห็นจากสามขั้นแรกข้างต้นมาพิสูจน์ว่าจริงหรือถูกต้องหรือไม่
กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของ Hutchinson
Hutchinson (1949) มีความคิดคล้าย ๆ กับ Wallas ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาใหม่ ที่คิดใช้เวลาการคิดเพียงสั้น ๆ อย่างรวดเร็ว หรือยาวนานก็อาจเป็นไปได้ โดยมีลำดับการคิดดังนี้ คือ
1. ขั้นเตรียม เป็นการรวบรวมประสบการณ์ มีการลองผิดลองถูกและตั้งสมมุติฐานเพื่อแก้ปัญหา
2. ขั้นครุ่นคิดขัดข้องใจ เป็นระยะที่มีอารมณ์เครียด อันสืบเนื่องจากการครุ่นคิด แต่ยังคิดไม่ออก
3. ขั้นของการเกิดความคิด เป็นระยะที่เกิดความคิดในสมอง เป็นการมองเห็นวิธีแก้ปัญหาหรือพบคำตอบ
4. ขั้นพิสูจน์ เป็นระยะการตรวจสอบประเมินผลโดยใช้เกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อดูคำตอบที่คิดออกมานั้น ว่าเป็นจริงหรือไม่
แนวทางส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
กระบวนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สามารถเริ่มจาก…
1. ขั้นเตรียมการ โดยใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น Mind Map, Fishbone Diagram, การสืบค้นข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ จากบุคคล จากเอกสาร ฯลฯ ในการเตรียมคิดสร้างสรรค์
2. ขั้นความคิดกำลังฟักตัว สามารถใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น Mind Map, 5W 1H, การฝึกคิดแบบต่าง ๆ เช่น คิดคล่อง คิดละเอียดลออ คิดยืดหยุ่น คิดริเริ่ม ในการเริ่มก่อตัวความคิดสร้างสรรค์ และให้ได้ไอเดียที่มีความหลากหลาย
3. ขั้นความคิดกระจ่างชัด สามารถใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น Concept Map, Tree Diagram, Causal Loop หรือ เครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้ความคิดมีความกระจ่างชัดยิ่งขึ้น ควรฝึกจัดลำดับความคิดที่ยังสับสน เพื่อให้มีการเรียบเรียง และเชื่อมโยงความคิดเข้าด้วยกัน รวมทั้งฝึกให้เห็นภาพรวมของความคิด และแนวคำตอบที่จะเลือกใช้
4. ขั้นทดสอบความคิดและพิสูจน์ให้เห็นจริง สามารถใช้วิธีการทำวิจัย และ การสร้างเกณฑ์ประเมินผล เพื่อดูว่าคำตอบที่คิดออกมานั้นเป็นจริงได้หรือไม่ มีการนำความคิดเห็นจากสามขั้นแรกข้างต้นมาพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ หรือถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ายังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ ก็เปลี่ยนปัจจัยหรือตัวแปรต่าง ๆ ใหม่ และวนรอบใหม่ของกระบวนการคิดสร้างสรรค์
สรุป
ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่สังคมและองค์กรทั่วไปต้องการ แต่การจะพัฒนาบุคคลให้มีความคิดสร้างสรรค์อาจทำได้หลายวิธี ในบทความนี้นำเสนอ คุณลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ว่ามีลักษณะอย่างไร กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของ Wallas และ Hutchinson ที่ได้นำเสนอไว้ ซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน คือ เริ่มจาก 1. การเตรียมการ ด้วยการหาข้อมูลประกอบการคิด การรวบรวมประสบการณ์ และตั้งสมมติฐาน 2. การที่ความคิดกำลังฟักตัว หรือการครุ่นคิด ซึ่งนำมาสู่ 3. ความคิดเริ่มกระจ่างชัด หรือเริ่มเห็นวิธีการที่จะทำจริงบ้างแล้ว และ 4. นำความคิดที่ได้ไปทดสอบ หรือพิสูจน์ให้เห็นจริง ว่าสิ่งที่คิดนั้นสามารถเป็นจริงได้หรือไม่/อย่างไร โดยเลือกใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และฝึกใช้แนวทางส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนเองและผู้อื่นได้ต่อไป
อ้างอิง
Hutchinson, E. D. (1949). How to think creatively. Tennessee: Abingdon-Cokesbury Press.
Torrance, E.P. (1974). Torrance tests of creative thinking. Bensenville, IL: Scholastic Testing Service, Inc.
Wallas, G. (1926). The art of thought. London: Jonathan Cape.