การปรับตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

บทนำ

        จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีระยะเวลาการแพร่ระบาดที่ยาวนานต่อเนื่องกว่า 3 ปี ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไมซ์ และการโรงแรม ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะด้วยมาตรการ          การควบคุมการแพร่เชื้อโควิด ทำให้มีกฎห้ามจัดงาน การประชุม นิทรรศการ หรือ อิเวนต์ ที่เป็นการทำให้คนมารวมตัวกัน จนเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคโควิด-19  ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ รวมไปถึงการหาแนวทางและรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

 

การจัดงานในรูปแบบ Virtual (เสมือนจริง)
เรามาทำความรู้จักกับ Virtual Event ซึ่งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมของงานอิเวนต์ที่จัดขึ้นจริง แล้วย้ายขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยอาจเป็นส่วนขยายของอิเวนต์ที่เกิดขึ้นจริง หรือจัดขึ้นเป็นแบบอิเวนต์เดี่ยว ๆ Virtual Event ถูกพัฒนามาจากรูปแบบไลฟ์สตรีมที่เรียบง่าย สู่รูปแบบการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริง    ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ เหมาะทั้งการจัดงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ร่วมงานจากหลายประเทศ หรืองานขนาดเล็กที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่จริงในการจัดงาน

ด้วยข้อดีของ Virtual Event ที่เห็นได้ชัดคือช่วยประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะค่าสถานที่ ในขณะที่      ยังสามารถดึงคนเข้างานได้จำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก  การปรับเปลี่ยนรูปแบบทำได้อย่างรวดเร็ว และ     ยังสามารถออกแบบเชื่อมโยงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อสร้างยอดขายได้ทันที  ที่สำคัญการจัดงานในลักษณะนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการทุกระดับมีศักยภาพสามารถจัดงานแสดงสินค้าของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องบริษัทขนาดใหญ่เนื่องจากต้นทุนการจัดถูกกว่าออฟไลน์มาก

ในปัจจุบันการจัดงานในรูปแบบ Virtual ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยมีสถานการณ์              การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยเกื้อหนุน การจัดงานประชุม การจัดแสดงสินค้า และการจัด  งานอิเวนต์ ที่มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ตอบโจทย์ของพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานเนื่องจาก มีความเสี่ยง    ในการแพร่กระจายของเชื้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่วนใหญ่คุ้นชินกับงานในรูปแบบ Virtual Event ไปแล้ว แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ที่ยังคงต้องการสัมผัสและต้องการประสบการณ์จริงในการเข้าร่วมชมงาน หรือบางธุรกิจอาจพิสูจน์แล้วว่าการเข้าถึงคนในรูปแบบออนไลน์อาจไม่ตอบโจทย์ในทั้งหมด ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์และอิเวนต์ ได้มีการปรับให้มีการจัดงานในรูปแบบ Hybrid คือ เป็นการจัดงานแบบ Onsite พร้อมกับ การพัฒนารูปแบบการจัดงานแบบ Virtual ให้ทันต่อสังคมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะแนวโน้มของ Metaverse ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลต่าง ๆ อาทิ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR)   ที่สามารถช่วยรองรับผู้เข้าร่วมงานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น  จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม

เมื่อพูดถึง VR ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยข้อจำกัดที่เราต้องใช้ชีวิตแบบ Social Distancing  การแสดงสินค้าและการจัดอิเวนต์ ในโลกจริงจึงไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลากหลายธุรกิจจึงต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนมาจัดงานในรูปแบบ Virtual Event แทนเกือบทั้งหมด                                 ข้อมูลจาก Grand View Research บริษัทวิจัยด้านการตลาดในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าภาพรวมของตลาด Virtual Event ทั่วโลกตลอดปี 2021 จะมีมูลค่ารวมกว่า 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ โดยตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า Virtual Event ได้กลายเป็น New Normal สำหรับผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้ว 

 

 

 

                                  ภาพที่ 1 : Volvo ทดลองขับรถยนต์ XC 90 SUV ผ่าน VR

      ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=tCv0hJGBo_I

 

          ทางด้าน Forbes สื่อด้านธุรกิจชื่อดังระดับโลกได้สรุปความเห็นจากผู้ประกอบการทั่วโลกในประโยชน์ของรูปแบบงานนี้ว่า

• ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ลดต้นทุนในการจัดงาน 

• สามารถบันทึกภาพการจัดงานได้สะดวก

• สามารถนับจำนวนผู้เข้าชมงานได้ง่าย

• มีความยืนหยุ่นกว่า สอดแทรกไอเดียใหม่ๆ ภายในงานได้

• เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างมลภาวะให้กับชุมชน

• ลดข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องประสานงานระหว่างประเทศ

 

 

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการจัด Hybrid Event มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน

1.สร้างโลกแห่งการผสมผสานเพื่อเปิดรับการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ

แม้ Virtual Event จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือคนจัดอิเวนต์ช่วยประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา        ในการจัดงาน แต่ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคให้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยผสานทั้งโลกเสมือนกับโลกความเป็นจริงไว้ได้อย่างแนบเนียน สร้างสรรค์ และสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ

2.สุขอนามัยที่ดีคือรากฐานธุรกิจอิเวนต์ยุคใหม่

ความสะอาดกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และสิ่งนี้จะยังคงอยู่ต่อไป          ในอนาคต ความสะอาดของสถานที่ การคัดกรองโรคระหว่างเข้างาน การรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน จะเป็นนโยบายสำคัญในการจัดงานทุกครั้ง

 

ภาพที่ 2  : World Expo 2020 Dubai Enters the Metaverse

ที่มา: https://www.markovate.com/news/expo-2020-dubai-enters-the-metaverse-

          World Expo 2020 Dubai เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก จัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นงานแสดงสินค้าและนิทรรศการที่มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงถึง 192 ประเทศ นอกจากจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่แบบ Onsite แล้ว ยังได้มีการร่วมมือกับบริษัท Magnopus ในการมอบประสบการณ์ในโลกเสมือนสำหรับผู้เขาร่วมงานจากระยะไกลนับล้านคนทั่วโลก  โดยการใช้ Expo Dubai Xplorer เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของการจัดงาน World Expo ในรูปแบบใหม่ ด้วยการเชื่อมต่อความคิดของผู้คนและ      การสร้างอนาคตสู่โลกเสมือนจริงแบบ Metaverse โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AR  ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถปรับแต่ง Avatar ของตัวเอง พร้อมเชื่อมต่อกับผู้อื่น แบบเรียลไทม์ทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัลได้ภายในงานจัดแสดง นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์และสื่อสารระหว่างกันผ่านการสร้างกลุ่มและการส่งข้อความ เป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี และยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การจัดงานไมซ์สไตล์ Personalization (แนวคิดประสบการณ์เฉพาะบุคคล)

Generation Y หรือ ชาว Millennials คือนักเดินทางไมซ์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองและมีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ชาว Millennials มีพฤติกรรมเข้าร่วมงานประชุมเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ         ในการขยายเครือข่ายทางสังคม โดยจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบพบปะกันต่อหน้า สนใจอิเวนต์ที่มีกิจกรรมหลายๆด้าน และเข้าร่วมงานที่มีการให้บริการโดยลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ งานที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญเป็นพิเศษ รวมถึงการให้ความสนใจในแนวคิดที่น่าดึงดูดใจ อย่างแนวคิดประสบการณ์เฉพาะบุคคล หรือ Personalization

ทางด้านผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการจัดงานเพื่อสร้างความประทับใจและทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ที่ดีน่าจดจำ และการสร้างความประทับใจ     แก่ทั้งผู้ร่วมงานใหม่ไปพร้อม ๆ กับรักษาฐานผู้ร่วมงานเดิม ทั้งยังส่งผลให้เกิดการบอกต่อ และการเผ้ารอในการมาร่วมงานอีก ปัจจุบันนี้พฤติกรรมมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ร่วมงานต้องการเป็น “คนพิเศษ” และ    อยากให้ผู้จัดงานนำเสนอประสบการณ์สุดแปลกใหม่ ตรงใจ โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมงานแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำกลยุทธ์การตลาดแบบ Personalization มาประยุกต์ใช้ใน    ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียนเก็บข้อมูลพื้นฐานผู้เข้าร่วมงาน ทั้งเรื่องความชอบหรือรสนิยมของผู้เข้าร่วมงาน มีการอำนวยความสะดวก ช่วยวางแผนเส้นทางสำหรับการเดินทางมาร่วมงาน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน หรือผ่านทาง Social Media (Line, Facebook, Twitter) สามารถแจ้งข้อมูลว่า พื้นที่ที่ผู้ร่วมงานอยู่นั้น     ควรขึ้นจากสถานีต้นทางใด และต้องลงที่สถานีใด ต้องใช้การขนส่งรูปแบบใดถึงจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด รวมถึงมีการเก็บข้อมูลระยะเวลาในการเข้าร่วมงาน เพื่อนำข้อมูลไปสร้างประสบการณ์ในงานแบบเฉพาะบุคคล     ปัจจุบันมีการนำแนวคิดกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Personalization มาใช้มากขึ้น เช่น  บริษัท Reed Exhibitions ได้มีการพัฒนากลยุทธ์การตลาด “Attendee Journey Mapping”หรือ ตัวช่วยวางแผนเส้นทางเข้าร่วมงาน  ที่ใช้วิธีรวบรวมและจัดการข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้าร่วมงานผ่านการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลแบบเรียลไทม์ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับเชื่อมโยงความชอบและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายกับแผนผังงานอิเวนต์ ทำให้ผู้ร่วมงานสามารถค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจ             ได้อย่างง่ายดาย ผ่านวิธีการนำเสนอเส้นทางและคำแนะนำของผู้จัดงาน เป็นการเพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีขึ้นแก่ผู้ร่วมงาน

ผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำกลยุทธ์การจัดงานแบบ Personalization มาใช้ในจุดต่างๆ ภายในงาน

ไม่ว่าจะเป็น การเก็บข้อมูลโดยวิธีการสอบถามข้อมูลจากผู้ร่วมงาน รวมถึงวิธีการง่ายๆ ที่ไมเซอร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างของลูกค้าอย่างละเอียดไว้ที่เดียวและนำเสนอ  ในแพลตฟอร์มเดียวเพื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของผู้ร่วมงาน      คนนั้นๆทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน การใช้ Machine Learning กำหนดการมองเห็นสินค้าในลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมถึงการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เป็นต้น

 

สำหรับงานอิเวนต์ในยุคนี้ การให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงาน และทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกว่าเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อผู้เข้าร่วมงานจริง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ ไมเซอร์จำเป็นต้องจัดงานในลักษณะที่หลากหลาย เปิดกว้าง มีทางเลือกต่างๆ ให้กับผู้ร่วมงาน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เสนอความคิดเห็น และกระตุ้นการมีส่วนร่วมให้เขาได้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมและรู้สึกว่าได้กำหนดทิศทางของงาน เพื่อให้ถูกใจและตรงกับความต้องการของผู้ร่วมงานมากที่สุด

เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ให้มีศักยภาพ เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ส่งเสริมให้งาน               มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อปรับใช้ร่วมกันกับแนวคิด Personalization นี้ สามารถช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างละเอียดและสมบูรณ์ และนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ เรียกความสนใจ พร้อมให้ผู้ร่วมงานได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วม สร้างประสบการณ์และความประทับใจร่วมกัน เช่น DIGITAL ART MUSEUM จัดโดย team Lab จากประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ผลงานศิลปะผสมผสานเทคโนโลยีที่มีการฉายแสงสีแนวศิลปะ พร้อมมีโซนส่งเสริมการเรียนรู้ มีการฉายภาพวาดศิลปะที่วาดเองโดยผู้ร่วมงาน นำขึ้นจอบนผนังในลักษณะ 3D หรือให้ผู้ร่วมงานมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับสิ่งของบนผลงานศิลปะได้

ภาพที่ 3 : DIGITAL ART MUSEUM จัดโดย team Lab ประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: https://borderless.teamlab.art/

สิ่งสำคัญสำหรับไมเซอร์ในการทำการตลาดแบบ Personalization คือ การสังเกตและการใส่ใน ในพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอดและปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมมองหาวิธีเพิ่มมูลค่าและวิธีที่จะสร้างความประทับใจและมีประสบการณ์ที่ดีกับสินค้าและบริการของเรา เพื่อมัดใจลูกค้าให้เกิดความผูกพัน   กับงานทั้งกลุ่มเป้าหมายเดิมประกอบกับการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นส่วนช่วย         ในการเพิ่มศักยภาพในการจัดงาน สิ่งที่ต้องระวังคือ  การทำ Personalization ต้องไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากจนเกินไป ควรหาจุดสมดุลในการทำ และควรมีคำอธิบายกำกับอย่างชัดเจนว่า จะนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปทำอะไรบ้าง และจะมีการเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นอย่างดี พร้อมทั้งระบุว่าลูกค้าจำเป็นต้องอ่านเงื่อนไขก่อนเซ็น หรือมีการให้         ความยินยอมในการมอบข้อมูลทุกครั้ง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในตัวผู้จัดงานมากที่สุด

การปรับแผนและวางกลยุทธ์ธุรกิจการจัดประชุมให้ก้าวทันโลก

         อุตสาหกรรมการจัดงานประชุมสัมมนา คือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งจากคำสั่งงดจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก และมาตรการงดการเดินทาง ผู้จัดงานจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการปรับแผนธุรกิจเดิมหรือต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของพฤติกรรมผู้เข้าร่วมงานที่เปลี่ยนไป

          ศูนย์การประชุมและนิทรรศการเมลเบิร์นที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย (Melbourne Convention and Exhibition Centre: MCEC) ได้สร้างทีม Business Relaunch MCEC เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยหนึ่งในโครงการที่เปิดตัวคือ Drive In (Door) Cinema การเปลี่ยนสถานที่จัดงานประชุมระดับโลกที่ไม่ได้ใช้งานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นโรงภาพยนตร์ในร่มแบบไดรฟ์อิน โรงภาพยนตร์ Drive In (Door) Cinema เป็นโรงภาพยนตร์ในร่มแบบไดรฟ์อินแห่งแรกของออสเตรเลีย มีความพิเศษเฉพาะตัว เนื่องจากตั้งอยู่ในศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ รองรับรถยนต์ได้ถึง 174 คัน ดำเนินงานภายใต้แผน Venue Safe ของ MCEC เพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพและรับรองความปลอดภัยของผู้ชม รวมถึงการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในรถผ่านแอปพลิเคชัน อีกทั้งโรงภาพยนตร์ยังทนทานต่อทุกสภาพอากาศทั้งกลางวันและกลางคืน เหมาะสำหรับทุกกิจกรรม รองรับผู้เข้าชมทุกวัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4 : Drive In (Door) Cinema Melbourne Convention and Exhibition Centre                  ที่มา: www.timeout.com/melbourne/film/drive-in-door-cinema

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ครั้งนี้ของ MCEC นับเป็นการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างแหล่งรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น MCEC ยังได้ดำเนินการสำรวจโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนไปสู่ตลาดใหม่รองรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น

 

New Black Studio ผู้ให้บริการจัดงานประชุมสัมมนาแบบครบวงจร ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ยกระดับการจัดงานอิเวนต์ Onsite สู่ Virtual ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยปรับธุรกิจจากผู้ให้บริการจัดงานอีเว้นท์ เป็นผู้ผลิตและส่งกล่องกิจกรรม “Bespoke Events in a Box” เพื่อสร้างประสบการณ์เข้าร่วมงานเสมือนจริงให้กับผู้เข้าร่วมงาน

บริษัทฯ ได้นำเสนอกล่องกิจกรรม “Bespoke Events in a Box” โดยผู้จัดงานสามารถเลือกกิจกรรมภายในกล่องเพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ของการจัดงานได้ เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม พิธีมอบรางวัล การกล่าวปาฐกถา ดนตรีประกอบ ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม ในแต่ละกล่องจะมี QR Code ให้ผู้เข้าร่วมงานสแกนเข้าสู่กิจกรรมในรูปแบบ Virtual ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าร่วมงานเพื่อดื่มไวน์กับเพื่อนผู้เข้าร่วมงานท่านอื่นได้ เรียกว่าเป็นกล่องกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ต้องเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาหรืองานอิเวนต์เสมือนจริง

ทั้งนี้ ทีมงานของ New Black Studio ต้องปรับแผนการดำเนินงานและเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ ตั้งแต่ตารางการประชุม สื่อการเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท รวมไปถึงขั้นตอนวิธีการจัดส่ง การออกใบอนุญาตแอลกอฮอล์ กลยุทธ์การกำหนดราคา และอื่น ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

 

 

ภาพที่ 5 : Events in a Box

ที่มา : http://thenewblackstudio.co.uk/event-in-a-box/

 

 

 

 

 

 

 

บทสรุป

          การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวใน ยุค New Normal มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อุตสาหกรรมไมซ์และอิเวนต์รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการปรับตัวโดย             การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เช่น การจัดงานในรูปแบบ Virtual มาเป็นตัวช่วยในการเพิ่มศักยภาพ           ในการจัดงาน รวมไปถึงการจัดงานแนวคิดประสบการณ์เฉพาะบุคคล หรือ Personalization มาใช้ในการจัดงานเพื่อสร้างความประทับใจและทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเป็น   การสร้างรายได้นอกเหนือจากการเป็นสถานที่จัดงานประชุมและนิทรรศการ

 

 

บรรณานุกรม

KBenZ.(2564). Virtual Event จำเป็นในยุค New Normal ให้ทุกคนท่องอิเวนต์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี.

           สืบค้น สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.techhub.in.th/virtual-event-in-new-normal-v2/

MICE Intelligence Team. (2565).Beyond Virtual Exhibitions สร้างประสบการณ์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าให้ 

           เหนือระดับกว่าเดิม. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2565,  จาก https://intelligence.businesseventsthailand.com

Andrew Graham. Expo 2020 Dubai Enters The Metaverse World Connecting Millions Across

            The Physical & Digital Globally. Retrieved 18 February 2022, from https://newsdirect.com/news/

            /expo-2020-dubai-enters-the-metaverse-world-connecting-millions-across-the-physical-and-digital-globally-652848762

Danica Tormohlen.(2021). The Challenge of Virtualizing Trade Shows and Exhibit Halls.    

           Retrieved 18 February 2022, from https://www.pcma.org/challenge-virtual-trade-shows-exhibit-halls/

Debarshi Chaudhury. How Hybrid Events Capture The Benefits Of Virtual And In-Person Events.

              Retrieved 18 February 2022, from https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2021/08/06/

Juan Fajardo. (2021). Web Summit Will Be the Official Event Software Provider for CES 2022.
           Retrieved 18 February 2022, from https://gritdaily.com/web-summit-to-be-the-official-event-software-provider-for-ces-2022/

Kyle Burbank. (2021). #FinCon21 Recap: My Virtual Experience .Retrieved 18 February 2022, from

           https://moneyat30.com/fincon21-recap-my-virtual-experience/