การประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยใช้รูปแบบซิปป์(CIPP Model) ในด้านบริบท(Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) ด้านกระบวนการ(Process Evaluation) และด้านผลผลิต(Product Evaluation) และเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยใช้การสอบถามและสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย อาจารย์สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 15 คน นิสิตหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 337 คน และผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งเป็นครูพี่เลี้ยงในสถานศึกษาที่นิสิตหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ในภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 56 คน แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยใช้รูปแบบซิปป์(CIPP Model) ในภาพรวม พบว่า อาจารย์ นิสิต และผู้ใช้บัณฑิตมีความคิดเห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
1.1 ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การกำหนดวิชาเอกเป็น “วิชาเอกดนตรีไทย” และ “วิชาเอกดนตรีตะวันตก” มีความเหมาะสม
1.2 ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ อาจารย์มีความรู้ความสามารถในเนื้อหาวิชาที่สอน
1.3 ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การวัดและประเมินผลมีความเหมาะสมกับเนื้อหาวิชา
1.4 ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผลการปฏิบัติงานของบัณฑิต/ผู้เรียนมีคุณภาพ
2. ผลการศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีดังนี้
2.1 ด้านบริบท พบว่า จำนวนหน่วยกิตในหลักสูตรมีมากเกินไป รายวิชาบางรายวิชามีการกำหนดรายวิชา จำนวนวิชา เนื้อหาวิชาไม่เหมาะสม การกำหนดแผนการศึกษา
ไม่เหมาะสม จึงควรปรับลดจำนวนหน่วยกิต และพัฒนา/ปรับปรุงรายวิชา รวมทั้งแผนการศึกษาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า เครื่องดนตรีมีไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิต ห้องซ้อมและห้องปฏิบัติการดนตรีมีไม่เพียงพอ อาจารย์ผู้สอนควรมีความเฉพาะทางและหลากหลาย เพื่อการเรียนปฏิบัติแบบตัวต่อตัว จึงควรมีการสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยการดนตรี เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งในส่วนของเครื่องดนตรี ห้องซ้อม ห้องปฏิบัติการดนตรี และอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจัดซื้อจัดหาเครื่องดนตรีให้มีความเพียงพอต่อจำนวนนิสิต รวมทั้งจัดจ้างอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากรที่มีความเฉพาะทางเพิ่มขึ้น
2.3 ด้านกระบวนการ พบว่า การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูไม่เป็นระบบ ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงควรมีการกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติของนิสิตที่จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู รวมทั้งชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานให้นิสิตทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การปฏิบัติ
2.4 ด้านผลผลิต พบว่า นิสิตไม่สำเร็จการศึกษาตามกำหนดเวลา จึงควรมีการจัดแผนการศึกษา และชี้แจงแนวทางการศึกษาให้แก่นิสิตทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมแก่นิสิต รวมทั้งควรมีการศึกษาปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิสิตไม่สำเร็จการศึกษาตามกำหนดเวลา เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด