การประพฤติผิดวินัยของพระสงฆ์สะท้อนภาพความเสื่อมทรามของจริยธรรมในสังคมไทย

บทนำ

          ประเทศไทยประกอบด้วยกลุ่มชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน แต่มีวัฒนธรรมกระแสหลักในสังคมคือวัฒนธรรมพุทธซึ่งได้ทำหน้าที่หล่อหลอมคนในสังคมให้หลอมรวมอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมลงตัวมาตั้งแต่อดีต โดยมีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม เนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่ยอมรับและได้รับเคารพนับถือจากคนทุกกลุ่มในสังคม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระสงฆ์มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสแก่ผู้ที่พบเห็นและผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิด ท่านดำรงสมณเพศด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดพร้อมทั้งดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่กลับทำหน้าที่อนุเคราะห์สังคมได้อย่างกว้างขวาง เช่น การสอนหนังสือ การถ่ายทอดศิลปะ การประสานรอยร้าวทางการเมืองในบางครั้งบางคราว ทำหน้าที่ตักเตือนสังคมให้ฉุกคิดอย่างมีเหตุมีผล ให้คำแนะนำการดำเนินชีวิต ตั้งเมตตาในคนทุกกลุ่มแม้แต่กลุ่มคนที่มีความเชื่อที่แตกต่าง ดังนั้น ความแตกต่างจึงไม่เป็นอุปสรรคของการอยู่ร่วมกันของคนไทย

พระสงฆ์คือใคร?

          พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือพระสงฆ์ตามความหมายทางธรรรม สงฆ์ประเภทนี้ได้แก่ ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งมีทั้งผู้ที่ดำรงตนเป็นผู้ครองเรือนและอุปสมบทเป็นพระภิกษุแบ่งออกเป็น ๘ ประเภท คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกิทาคามิมรรค           พระสกิทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหันตมรรค และพระอรหันตผล เฉพาะผู้บรรลุพระอรหันต์ขึ้นไปจะดำรงเพศเป็นพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น อีกประเภทหนึ่ง คือพระสงฆ์ตามความหมายของพระวินัย พระสงฆ์ประเภทนี้ต้องผ่านขั้นตอนการอุปสมบทตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เท่านั้นจึงจะมีสถานภาพความเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ ผู้ไม่ผ่านขั้นตอนตามพุทธบัญญัติย่อมไม่อาจจะได้รับสถานภาพนี้ได้ ในการนำเสนอบทความนี้มุ่งเอาพระสงฆ์ตามความหมายของพระวินัยเป็นแนวทางของการวิเคราะห์

พระสงฆ์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

          พระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือกว่า 2600 กว่าปีมาแล้ว ท่านชื่อว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรกโดยพระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นก็มีกุลบุตรกุลธิดาที่มีศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาอุปสมบทสืบต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุมาจากหลากหลายชนชั้นตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ไปจนถึงทาส

 

 

 

วินัยสงฆ์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

          ในช่วงแรกของพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติวินัยสำหรับพระภิกษุเนื่องจากผู้ที่เป็นพระภิกษุทุกรูปล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่อมามีผู้ศรัทธาเลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบทมากขึ้น บางคนไม่ได้บรรลุธรรมใด ๆ แต่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้าประสงค์จะบรรพชาอุปสมบท และเมื่อได้รับการบรรพชาอุปสมบทแล้วได้มีพระภิกษุบางรูปมีพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มบัญญัติพระวินัยขึ้นด้วยทรงเห็นประโยชน์จากการบัญญัติ 10 ประการ ได้แก่ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้ออยาก เพื่อความผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม และเพื่อเอื้อเฟื้อวินัย (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกเล่มที่ 1, 2539, หน้า 28) ด้วยการปฏิบัติตามวินัยร่วมกันของหมู่ภิกษุก็จะสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขและส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย   

          พระภิกษุที่เป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติพระวินัยรูปแรกในพระพุทธศาสนาชื่อว่า พระสุทินน์ ท่านได้เสพเมถุนกับภรรยาเก่า พฤติกรรมนี้ของท่านเป็นที่ติเตียนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พฤติกรรมเช่นนี้ของพระสุทินเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มุ่งแนะนำสั่งสอนเพื่อคลายกำหนัด พรากจากราคะ ละกาม ละความยึดมั่นถือมั่น (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกเล่มที่ 1, 2539, หน้า 27) เหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุสงฆ์เสพเมถุน นับเป็นการเริ่มต้นของการวินัยและได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมและปรับปรุงตามความเหมาะสมตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์

          พระวินัยสำหรับพระภิกษุสงฆ์มีทั้งหมด 227 ข้อ (สิกขาบท) ประกอบด้วยปาราชิก 4 ข้อ สังฆาทิเสส 13 ข้อ อนิยต 2 ข้อ นิสสัคคียปาจิตย์ 30 ข้อ ปาจิตตีย์ 92 ข้อ ปาฏิเทสนียะ 4 ข้อ เสขิยวัตร 75 ข้อ และอธิกรณสมถะ 7 ข้อ ทั้งได้ทรงบัญญัติบทลงโทษแก่พระภิกษุผู้ปฏิบัติผิดพระวินัยหนักเบาแตกต่างกันไป บางอย่างเมื่อปฏิบัติผิดโดยตั้งใจจะหมดสถานะของความเป็นภิกษุทันที บางอย่างต้องประพฤติวัตรปฏิบัติตามที่กำหนดจึงจะได้สถานะความเป็นภิกษุที่สมบูรณ์กลับมา เป็นต้น

วินัยสงฆ์คืออะไร?

          พระวินัยหรือวินัยของพระสงฆ์ ชาวทั่วไปเรียกว่า ศีล คำว่า วินัย มาจาก วิ แปลว่า วิเศษ แจ้ง ต่าง กับ นี ธาตุ แปลว่า นำไป ดังนั้น วินัย แปลว่า นำไปดี นำไปให้วิเศษ หมายถึง ความมีวินัยทำให้สามารถบรรลุหรือทำสิ่งที่ตั้งไว้ได้สะดวกรวดเร็ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต, ออนไลน์) กล่าวว่า “วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ เป็นการจัดตั้งตามสมมติ ได้แก่การจัดระเบียบความเป็นอยู่และการจัดระบบสังคม…เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า ศีล… แต่เมื่อแยกเป็นข้อๆ แต่ละข้อ เรียกว่า สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา หรือข้อฝึกหัด” จากคำอธิบายนี้ย่อมมองเห็นได้ว่า วินัย เป็นหลักสำหรับฝึกฝนพัฒนาตนให้ละเว้นข้อที่ทรงบัญญัติห้าม ครั้นเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติหรือฝืนทนปฏิบัติ ความเป็นผู้มีศีลก็จะเกิดขึ้น ในกรณีนี้ “ศีล” จะหมายถึง ความเป็นปกติ คือมีการปฏิบัติตาม      พระวินัยเป็นปกติ การบัญญัติพระวินัยก็เพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรกุลธิดาผู้ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบท เพราะ บางคนไม่ได้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลก่อนบวช แต่เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วต้องมาอยู่ร่วมกับภิกษุผู้เป็นพระอริยบุคคล จึงต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดเกิดข้อครหานินทาแก่คณะสงฆ์ตามมา

วินัยกับความเป็นพระสงฆ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร? 

          การบรรพชาอุปสมบทไม่ใช่เพียงแค่นำผ้าเหลืองมานุ่งห่มห่อกายแล้วจะกลายเป็นพระภิกษุได้เลย แต่การบรรพชาอุปสมบทต้องทำตามขั้นตอนที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ให้ตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป เพราะจะทำให้การบรรพชาอุปสมบทนั้นเป็นโมฆะ พระวินัยจึงทำหน้าที่ยกสถานะสามัญชนทั่วไปให้กลายเป็นพระภิกษุที่ได้รับความเคารพนับถือของประชาชนทั่วไป หากไม่ผ่านขั้นตอนทางพระวินัยก็ไม่อาจจะได้รับสถานะดังกล่าวได้ พระวินัยจึงเป็นสิ่งรับรองความเป็นพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง

พระวินัยกำหนดบทลงโทษอย่างไร?

          ใครก็ตามเมื่อได้รับการบรรพชาอุปสมบทแล้วต้องถือปฏิบัติพระวินัย 227 ข้อ โดยไม่อาจปฏิเสธหรือยกตนพ้นจากบทบัญญัตินี้ได้ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่พระภิกษุผู้ที่บวชเข้ามาแล้วพึงปฏิบัติ จากการที่พระสงฆ์มีพระวินัยที่ต้องรักษามากจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาไม่ให้ขาดไม่ให้ด่างพร้อยได้ ดังนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงปรินิพพานได้ทรงมีพุทธานุญาตให้สามารถถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่พระเถระที่ประชุมกันในคราวสังคายนาครั้งแรกได้ตกลงกันว่า จะไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ จะไม่ถอนสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว ให้ภิกษุทั้งหลายสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งปวงที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกเล่มที่ 7, 2539, หน้า 382-383) ต่อมาในกาลภายหลัง เมื่อมีภิกษุประพฤติผิดพระวินัยก็มีการลงโทษตามพุทธบัญญัติ และเมื่อมีภิกษุปฏิบัติผิดพระวินัยเป็นจำนวนมากก็ได้อาศัยอำนาจทางบ้านเมืองจับสึกพระภิกษุที่ทำผิดพระวินัยในบางยุคบางสมัยด้วย

          การลงโทษทางพระวินัยยึดหลัก 2 ประการ คือ โลกวัชชะ คือชาวโลกติเตียน เป็นการลงโทษที่เกิดจากประชาชนชาวพุทธไม่อาจยอมรับการกระทำที่ภิกษุได้ทำลงไปได้ หรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศนั้น ๆ  และอีกอย่างหนึ่งคือ ปัณณัตติวัชชะ คือโทษตามพุทธบัญญัติ เป็นการลงโทษพระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ปฏิบัติผิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้แล้ว

เหตุใดพระสงฆ์จึงประพฤติผิดวินัย?      

          เมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นสังคม จำต้องมีการตั้งกฎเกณฑ์กติกาเพื่อที่จะให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ได้รับรู้ว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยต้องการให้การอยู่รวมกันก่อประโยชน์และความสุข แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาจะทำให้ทุกคนในสังคมนั้น ๆ ปฏิบัติตามได้ทุกคน เหตุที่บางคนไม่อาจทำตามได้อาจเกิดจากความไม่เข้าใจเนื้อหา วิธีการ หรือเป้าหมายของกฎเกณฑ์ และถึงแม้จะเข้าใจแต่มนุษย์ก็ยังมีความรู้สึก ความรู้นี้เองบางครั้งก็เข้ามามีส่วนต่อการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำ บางคนรู้ว่าผิดแต่ด้วยความอยากได้ มีความโลภมากก็อาจลงมือทำผิด บางคนมีความโกรธ มีอาฆาต มีความขุ่นเคือง ไม่พอใจ เมื่อสบโอกาสก็อาจจะลงมือทำร้ายผู้ที่ตนโกรธเป็นต้นได้ บางคนทำความผิดด้วยความไม่รู้ คิดว่าการกระทำนั้นถูก หรือถูกชักชวนในกระทำก็อาจทำผิดได้

          การทำผิดวินัยของพระสงฆ์โดยเฉพาะสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ด้วยไม่มีโทษร้ายแรงและมีจำนวนพระภิกษุทำผิดไม่มากประกอบกับมีกระบวนการทำให้กลับมาเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ได้ ความผิดเล็กน้อยเหล่านี้จึงไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม ยกเว้นที่เข้าไปเกี่ยวพันธ์กับกฏหมายของบ้านเมืองแม้ว่าทางพุทธบัญญัติจะมีโทษน้อย แต่ผิดกฎหมายทางอาณาจักรก็จะถูกลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย ในกรณีที่ผิดวินัยที่มีโทษร้ายแรงเป็นที่ประจักษ์ก็ย่อมมีโทษตามพุทธบัญญัติ

พระสงฆ์กลายเป็นบุคคลอุดมคติทางจริยธรรมได้อย่างไร?

          ความที่พระสงฆ์มีวินัยที่ต้องยึดถือและปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ทำให้พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นคนดีและมีความบริสุทธิ์เหนือกว่าบุคคลทั่วไป อนึ่ง เป้าหมายคำสอนทางพระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนบรรลุนิพพานหรือหมดกิเลสเป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป พระภิกษุสงฆ์ได้ถูกยกให้เป็นกลุ่มแรกสุดที่จะเป็นผู้ทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ พระภิกษุสงฆ์จึงต้องยึดถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด โดยภาพรวมที่ผ่านมาพระภิกษุสงฆ์โดยส่วนใหญ่ตั้งมั่นอยู่ในพระวินัย จึงทำให้พระภิกษุสงฆ์รวมไปถึงสถานบันสงฆ์ได้รับการยอมรับถึงความเป็นผู้มีจริยธรรมโดยอัตโนมัติ อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุสงฆ์เองก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาแก่บุคคลทั่วไปอยู่แล้ว บทบาทและการปฏิบัติพระภิกษุสงฆ์ดังที่กล่าวมา ได้ทำให้พระภิกษุสงฆ์มีภาพของผู้มีความเคร่งครัดต่อพระวินัยเป็นผู้มีจริยธรรมสูง ซึ่งสอดคล้องกับโลกทัศน์ของชาวตะวันออกที่เชื่อว่า ผู้สอนอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น  พูดได้ก็ต้องทำได้ ทำให้พระภิกษุสงฆ์กลายเป็นบุคคลอุดมคติทางจริยธรรมโดยปริยาย

อย่างไรเรียกว่า “ความเสื่อมทางจริยธรรม”

          ความเสื่อมคือภาวะที่เคยมีมากแล้วกลับมีน้อยลงดังที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ม.ป.ป., ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า คำว่า เสื่อม หมายถึง น้อยลง, หย่อนลง, เสีย, ค่อย ๆ ลดลง, ต่ำกว่าระดับเดิม, ดังนั้น ความเสื่อมทางจริยธรรม จึงหมายถึง ภาวะที่เคยประพฤติตามจริยธรรมอย่างเคร่งครัดกลับประพฤติหย่อนยานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ ในอีกด้านหนึ่ง ความเสื่อมทางจริยธรรมเกิดจากการที่บุคคลไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางสังคม โดยปกติเมื่อมีการรวมกันเป็นสังคมก็จะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้แต่ละบุคคล หน้าที่รับผิดชอบก็จะพ่วงมาพร้อมกับสถานภาพทางสังคม ซึ่งคนหนึ่งอาจจะมีสถานภาพหลายอย่างตามที่ตนเข้าไปสัมพันธ์กับสังคม ในแต่ละสถานภาพมีหน้าที่ที่พึงกระทำและสังคมก็หวังให้เกิดการกระทำตามสถานภาพที่แต่ละคนได้รับ เมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสังคมไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่ หรือปฏิบัติแต่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่นนี้นี้เรียกว่า ความเสื่อมได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รักษาความยุติธรรม ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวเขา องค์กร และสังคมในที่สุด                         

การทำผิดวินัยของพระสงฆ์สะท้อนภาพความเสื่อมทรามทางจริยธรรมในสังคมอย่างไร?

          ความที่พระสงฆ์เป็นบุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมในสังคมไทย ทำให้คนในสังคมมีความคาดหวังว่าพระสงฆ์จะเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านจริยธรรม พระสงฆ์ต้องเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย ไม่ปฏิบัติผิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความคาดหวังเช่นนี้เกิดกับพระสงฆ์แม้ที่บวชใหม่ซึ่งเป็นประหนึ่งว่า ผู้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ (ผู้บวช) จะกลายเป็นบุคคลอุดมคติทางจริยธรรมทันที เหตุที่ประชาชนรู้สึกเช่นนี้ก็ด้วยในกาลที่ผ่านมาพระสงฆ์ได้รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นที่ประจักษ์ในสังคม พระสงฆ์จึงได้รับการยอมรับโดยพฤตินัยว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นคนดียิ่งกว่าคนดีทั่ว ๆ ไป เป็นบุคคลต้นแบบทางจริยธรรมโดยอัตโนมัติ

          ครั้นเมื่อมีการทำผิดวินัยของพระสงฆ์บางรูปที่ถึงแม้มีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกหดหู่เกิดความรู้สึกสะเทือนใจต่อพฤติกรรมการทำผิดวินัยของพระสงฆ์อย่างมาก บางคนเปลี่ยนจากอารมณ์หดหู่เป็นโกรธเกลียดหรือหมดศรัทธาต่อพระสงฆ์ก็มี ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากสังคมมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า พระสงฆ์เป็นบุคคลอุดมคติทางจริยธรรม จะไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแน่นอน แต่เมื่อมีการประพฤติผิดวินัยของพระสงฆ์เกิดขึ้นและโดยเฉพาะเป็นพระสงฆ์ที่ศรัทธาเลื่อมใสอย่างหมดหัวใจว่า เป็นผู้มีความบริสุทธิ์หรือเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยแล้ว ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านจริยธรรมของคนในสังคมเป็นวงกว้าง ผู้คนจะรู้สึกเคว้งคว้างทางจริยธรรมเนื่องจากแหล่งจริยธรรมที่ตนเคยเชื่อมั่นและยึดถือเป็นแบบในการดำเนินชีวิตได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อมั่น ผลด้านลบที่เกิดตามมาจากกรณีนี้ คือเกิดทัศนคติที่เชื่อว่า ความดีและคนดีไม่มีอยู่จริง ซึ่งจะทำให้ถอยห่างจากความดี ไม่รับคำตักเตือน ไม่รับคำสั่งสอน ไม่รับคำแนะนำ และไม่ศึกษาเกี่ยวกับความดี หากประจวบเหมาะมีผลประโยชน์บางอย่างเกิดขึ้นก็อาจหันไปรับเอาผลประโยชน์นั้นแม้รู้ว่ามีแหล่งที่มาไม่สุจริต หรือประพฤติผิดจริยธรรมด้วยตัณหาความต้องการ เพราะคิดว่าอย่างไรเสียความดีก็ไม่ได้มีอยู่จริง ทัศนคติในลักษณะนี้มีอยู่ในหมู่คนไทยไม่ใช่น้อยในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นภาพของผู้ประพฤติผิดจริยธรรมเพิ่มขึ้นมากขึ้นในสังคม

 

          สรุปว่า สถานภาพความเป็นพระภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นได้เพราะพระวินัยหรือศีล ด้วยพระวินัยซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของพระสงฆ์นี้ประชาชนจึงยกย่องให้พระภิกษุสงฆ์เป็นบุคคลอุดมคติทางจริยธรรม คือเป็นบุคคลต้นแบบทางจริยธรรมสูงสุดในสังคม โดยมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระภิกษุสงฆ์จะไม่มีทางประพฤติผิดพระวินัย แต่เมื่อเกิดกรณีตรงกันข้าม บางคนถึงกับไม่หันหลังกับความดี ไม่เชื่อในความดีว่ามีอยู่จริง จึงนำไปสู่การประพฤติผิดจริยธรรมได้โดยง่าย เพราะไม่มีใครที่จะแนะนำหรือห้ามได้ เมื่อคนเหล่านี้โดยเฉพาะเพศชายที่ต้องบวชเป็นภิกษุสงฆ์ตามประเพณีก็จะหย่อนยานไม่พากเพียรในการปฏิบัติตามพุทธบัญญัติเนื่องจากไม่มีความเชื่อในความดีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนบวชแล้วเห็นว่ามีความเป็นอยู่ที่สบายเห็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จึงไม่ย่อมสึก พระศาสนาก็จะได้คนไม่ดีมาเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมไม่ดีเป็นทุนเดิมเข้ามาสู่พระศาสนามากขึ้นก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นได้สังคมมีคนไร้จริยธรรมอยู่มากจนไปปรากฏแม้ในวงของผู้ที่เป็นอุดมคติทางจริยธรรมของสังคม

เอกสารอ้างอิง

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          เล่มที่ 1, 7. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (ม.ป.ป.). วินัย : เรื่องใหญ่กว่าที่คิด. ค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน  

          2567. จาก https://www.watnyanaves.net/en/book-full-text/405.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.(ม.ป.ป.). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ค้นเมื่อวันที่ 22

          เมษายน 2567. จาก https://dictionary.orst.go.th/index.php.