แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอตนเอง
การนำเสนอตนเอง (Self-presentation) หมายถึงกระบวนการที่บุคคลแสดงภาพลักษณ์ของตนเองต่อสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่บุคคลเลือกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง และการสื่อสาร เพื่อให้ตรงกับภาพลักษณ์ที่ตนเองต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ (Goffman, 1959) การนำเสนอตนเองเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยา และการสื่อสาร เนื่องจากมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสร้างภาพลักษณ์ในที่สาธารณะ ทฤษฎีการนำเสนอตนเองถูกสร้างขึ้นในปี 1959 โดย Erving Goffman ซื่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการ
รูปแบบของการนำเสนอตนเอง
Goffman (1959) เชื่อว่าการนำเสนอตนเองเป็นกระบวนการที่บุคคลพยายามจัดการการรับรู้ของผู้อื่น การนำเสนอตนเองสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่:
การนำเสนอตนเองแบบเชิงบวก (Positive self-presentation) เป็นการแสดงออกในลักษณะที่ทำให้ตนเองดูดี หรือเป็นที่ชื่นชอบในสายตาผู้อื่น
การนำเสนอตนเองแบบเชิงลบ (Negative self-presentation) เป็นการแสดงออกในลักษณะที่หลีกเลี่ยงความสนใจหรือป้องกันการตัดสินทางลบจากสังคม
อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ถูกพัฒนามาจากการศึกษาภายหลังเกี่ยวกับการนำเสนอตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งนักวิจัยบางคนได้นำแนวคิดของ Goffman ไปขยายเพื่ออธิบายระดับของการควบคุมและการจัดการภาพลักษณ์ที่บุคคลแสดงออก ซึ่งแบ่งตามระดับของการควบคุมพฤติกรรมที่บุคคลใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ต่อหน้าผู้อื่น ดังนี้
การนำเสนอตนเองระดับสูง (High self-presentation) หมายถึงบุคคลที่มีการจัดการและควบคุมการแสดงออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าภาพลักษณ์ของตนเองสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นคาดหวังหรือต้องการเห็น โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันสูง เช่น การสัมภาษณ์งาน การพูดในที่สาธารณะ หรือการพบปะผู้คนที่มีอำนาจ ซึ่งบุคคลอาจใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจ เช่น การพูดจาอย่างมั่นใจ การแต่งกายอย่างเหมาะสม และการแสดงพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ เป็นต้น ในขณะที่ การนำเสนอตนเองระดับต่ำ (Low self-presentation) จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลไม่ให้ความสำคัญหรือไม่พยายามควบคุมภาพลักษณ์ของตนเองมากนัก โดยบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองระดับต่ำ อาจแสดงพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และไม่กังวลเกี่ยวกับการตอบสนองของผู้อื่นในระดับเดียวกับบุคคลที่ใช้ การนำเสนอตนเองระดับสูง ซึ่งสถานการณ์นี้มักเกิดขึ้นในบริบทที่ไม่เป็นทางการ เช่น การอยู่กับเพื่อนสนิทหรือครอบครัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ
การนำเสนอตนเองกับพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียล
ในยุคดิจิทัลปัจจุบัน การใช้สื่อโซเชียลได้กลายเป็นช่องทางหลักในการแสดงออกถึงตนเองและสร้างภาพลักษณ์ที่ต้องการ การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลระหว่างบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองสูง (High Self-Presentation) และบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองต่ำ (Low Self-Presentation) ช่วยให้เราเข้าใจถึงความแตกต่างในวิธีการใช้สื่อโซเชียลและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของบุคคลทั้ง 2 ประเภท
บุคคลการนำเสนอตนเองสูง (High Self-Presentation)
บุคคลที่มีการนำเสนอตนเองสูงมักมีความตั้งใจในการควบคุมภาพลักษณ์ของตนเองอย่างรอบคอบบนสื่อโซเชียล พวกเขามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ต้องการ และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จหรือคุณลักษณะที่ดีของตนเอง โดยบุคคลประเภทนี้จะทำการเลือกสรรเนื้อหาของโพสต์ให้ดูน่าดึงดูด และเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้อื่น เช่น ภาพถ่ายที่มีการจัดแสงดี หรือการโพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมที่ดูโดดเด่น เป็นที่น่าอิจฉา กำลังเป็นที่สนใจหรือนิยมในสังคม หรือภาพสะท้อนถึงความสำเร็จหรือความเป็นเลิศ เช่น ภาพจากการเข้าร่วมงานสังคมระดับสูง การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหรู หรือภาพที่แสดงถึงความสำเร็จในงานหรือชีวิตส่วนตัว เป็นต้น หรือแม้แต่การใช้แอพพลิเคชันในการตกแต่งและแก้ไขภาพเพื่อทำให้ภาพดูดีขึ้นหรือสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ต้องการ (Smith & Duggan, 2013 ; Marwick & boyd, 2011) นอกจากนี้ พวกเขายังให้ความสำคัญกลับการตอบกลับหรือคอมเม้นต์ในโพสต์ของตนเอง และพยายามตอบกลับอย่างสร้างสรรค์เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ต้องการ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเองอีกด้วย (Goffman, 1959)
สำหรับผลกระทบต่อความรู้สึกและพฤติกรรม บุคคลที่มีการนำเสนอตนเองสูงจะรู้สึกถึงความสำเร็จ และเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อได้รับการตอบรับและการยอมรับจากผู้อื่น สามารถเสริมสร้างความรู้สึกของความสำเร็จในตนเอง ในขณะเดียวกันความเครียดจากการพยายามรักษาภาพลักษณ์ของตนเองให้ดูดีตลอดเวลา และอาจเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติเมื่อภาพลักษณ์ที่ต้องการไม่ตรงกับความจริงที่ตนเองเป็น (Smith & Duggan, 2013) นอกจากนี้ การโพสต์ภาพที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีอาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกถึงการเปรียบเทียบทางสังคม ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นในด้านลบได้เช่นกัน (Vogel et al., 2014)
บุคคลการนำเสนอตนเองต่ำ (Low Self-Presentation)
บุคคลที่มีการนำเสนอตนเองต่ำ มักมีแนวโน้มในการโพสต์เนื้อหาที่เป็นธรรมชาติ และไม่พยายามควบคุมภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งบุคคลประเภทนี้มักจะใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือในการแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริง และรู้สึกสบายใจในการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงต่อผู้อื่น โดยเนื้อหาหรือรูปที่โพสต์นั้น มักจะไม่มีการคัดเลือกหรือแก้ไขใดๆ โดยโพสต์ไปตามความเป็นจริง หรือเป็นธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองต่ำ มักเปิดเผยข้อมูลที่เป็นส่วนตัว และความรู้สึกจริงๆ โดยไม่กังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่สังคมจะมองเห็น (Nardi, 2010) เช่น การแชร์ประสบการณ์ประจำวัน หรือความคิดเห็นที่เป็นส่วนตัว (Ellison et al., 2007)
สำหรับผลกระทบต่อความรู้สึกและพฤติกรรมนั้น เนื่องจากการเปิดเผยตนเองอย่างแท้จริง และการไม่พยายามรักษาภาพลักษณ์ที่สวยงามอาจทำให้บุคคลประเภทนี้รู้สึกสบายใจ และเป็นธรรมชาติมากขึ้น (Goleman, 1995) ในขณะเดียวกันการเปิดเผยตนเองอย่างแท้จริง อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับการตัดสินหรือการวิจารณ์จากผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของตนเองได้เช่นกัน (Leary et al., 2001)
สรุป
การนำเสนอตนเองเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ในสังคม การทำความเข้าใจกลไกการนำเสนอตนเองและปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการนี้จะช่วยให้เราสามารถรับรู้และปรับตัวในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ โดยการนำเสนอตนเองผ่านสื่อโซเชียลนั้น มีความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองสูง และบุคคลที่มีการนำเสนอตนเองต่ำ การเข้าใจพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลในแต่ละประเภทช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อความรู้สึกและพฤติกรรม รวมทั้งกลยุทธ์ในการแสดงออกของบุคคลแต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น
บรรณานุกรม
Baumeister, R. F., & Hutton, D. G. (1987). Self-presentation theory: Self-construction and audience pleasing. In B. Mullen & G. R. Goethals (Eds.), Theories of Group Behavior (pp. 71-87). New York: Springer-Verlag.
Boyd, D. M., & Ellison, N. B. (2007). Social network sites: Definition, history, and scholarship. Journal of Computer-Mediated Communication, 13(1), 210-230.
Ellison, N. B., Steinfield, C., & Lampe, C. (2007). The benefits of Facebook “friends:” Social capital and college students’ use of online social network sites. Journal of Computer-Mediated Communication, 12(4), 1143-1168.
Goffman, E. (1959). The Presentation of Self in Everyday Life. New York: Doubleday.
Jones, E. E., & Pittman, T. S. (1982). Toward a general theory of strategic self-presentation. In J. Suls (Ed.), Psychological Perspectives on the Self. 1, 231-262.
Marwick, A. E. (2013). Status update: Celebrity, publicity, and self-esteem. Yale University Press.
Marwick, A. E., & boyd, d. (2011). To see and be seen: Celebrity practice on Twitter. Convergence: The International Journal of Research into New Media Technologies, 17(2), 139-158.
Smith, A., & Duggan, M. (2013). Online dating & relationships. Pew Research Center.
Vogel, E. A., Rose, J. P., Roberts, L. R., & Eckles, K. (2014). Social comparison, social media, and self-esteem. Psychology of Popular Media Culture, 3(4), 206-222.