การถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา The Inherit of the Dramatic Khon in Academy Through Technology.

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง การถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 3 ข้อ คือ

1. เพื่อถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้

เทคโนโลยีช่วยสอนในรายวิชานาฏศิลป์ให้กับนักเรียนโรงเรียนเศวตฉัตร

2.เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียในระดับ

ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6         

3. เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ การแสดงโขน และปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยให้กับ

นักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรและเยาวชนโดยรอบ

 

ผลการวิจัยพบว่า

1. การถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้

เทคโนโลยีช่วยสอนวิชานาฏศิลป์ให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตร มีกระบวนการถ่ายทอดแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 เล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคให้นักเรียนได้ทราบเรื่องราวโดยย่อ ขั้นที่ 2 แนะนำตัวละคร เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ผ่านการ์ตูนแอนนิเมชั่น ขั้นที่ 3 ฝึกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้นจำนวน 7 ท่า และฝึกท่าตัวพระ ตัวนาง
ตัวยักษ์ ตัวลิง ผ่านการ์ตูนแอนนิเมชั่น และขั้นที่ 4 แสดงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนหลังจากได้รับการถ่ายทอดโดยใช้เทคโนโลยี

2. การจัดการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จัดการเรียนการสอนให้กับระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยใช้สื่อการสอนมัลติมิเดีย เรื่องการฝึกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้น 7 ท่า เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ส่วนที่ 2 จัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา ปีที่ 4-6 โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย เรื่องการฝึกปฏิบัติ ท่าโขนเบื้องต้นจำนวน 7 ท่า และ
การฝึกท่าตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง มุ่งพัฒนาทักษะทางสติปัญญา ได้แก่ ความรู้ และความจำ

3. เมื่อนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรและเยาวชนโดยรอบ ได้รับการฝึกหัดการแสดงโขน

เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ของกรมศิลปากร โดยใช้เทคโนโลยีช่วยสอนวิชานาฏศิลป์แล้วทำให้นักเรียนได้รับความรู้และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ การแสดงโขนและปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากการแสดงผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น ผลการตอบแบบสอบถามก่อนและหลังได้รับการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยี พบว่า คะแนนหลังได้รับการถ่ายทอดสูงกว่าคะแนนก่อนได้รับการถ่ายทอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลของแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน หัวข้อ การแสดงโขน ตัวละคร บทบาทหน้าที่ ปรัชญาแนวคิด และคุณค่าในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย อยู่ในระดับดีมาก (  = 4.35, S.D. = 0.42) และผลของแบบสอบถามความคิดเห็นของอาจารย์หัวข้อ การแสดงโขน ตัวละคร บทบาทหน้าที่ ปรัชญาแนวคิด และคุณค่า ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย อยู่ในระดับดีมาก (  = 4.23 , S.D. = 0.87)

 

คำสำคัญ: การถ่ายทอด, เทคโนโลยี, นาฏกรรมโขน, สถานศึกษา

 

ABSTRACT

The research called The Inherit of the Dramatic Khon in Academy Through

Technology. There are 3 objectives of this research, including

1. To pass on the knowledge and practicing of Khon for Ramayana, Nang Loy

in the version of Fine Arts Department by using technology in teaching performing arts subject in Sawettachat School

2. To prepare class materials for performing arts subject by using multimedia

for prathomsuksa 1-6

3. To support, preserve, spread and create the pride of being Thai to student

in Sawettachat School and surrounding young people

 

The result of the research found out that

1. The passing on of the knowledge and practicing of Khon for Ramayana,

Nang Loy in the version of Fine Arts Department by using technology in teaching performing arts subject in Sawettachat School has divided the process into 4 steps, as follows Step 1 tell story of Ramayana, Nang Loy through electronic media for students to know the concept of the story Step 2 introduce the characters of Ramayana, Nang Loy via animation Step 3 train to do 7 basic Khon postures and practice to do the postures of hero, heroine, giant and monkey in animation Step 4 show the accomplishment of students by using technology

2. preparing class materials for performing arts subject by using multimedia

for prathomsuksa 1-6 is divided into 2 parts, which are 1) preparing class materials for performing arts subject for prathomsuksa 1-3 by using multimedia about training to do 7 basic Khon postures and practice to do the postures in order to develop the physical, mental and emotional skills 2) preparing class materials for performing arts subject for prathomsuksa 4-6 by using multimedia about training to do 7 basic Khon postures and practice to do the postures emphasized in developing intelligence qualities, which are knowledge and memorizing. 

3. When Sawettachat School students and surrounding young people have

been trained to play Khon in Ramayana, Nang Loy in the version of Fine Arts Department by using technology in teaching performing, hence students become a part of supporting, preserving, spreading and comprehend in creating the pride of being Thai. It can be seen from the better result and be able to answer questionnaire after getting trained and acknowledged by technology, found out that score after being passed on the knowledge is higher than beforehand, which means a lot to the statistic at the level of .05 and the result of students’ opinion questionnaire towards playing Khon. Characters, their roles, philosophic thoughts and value of Ramayana, arts and culture of Khon which is on the high level (= 4.35, S.D.= 0.42) and the result of Teacher’ opinion questionnaire towards playing Khon. Characters, their roles, philosophic thoughts and value of Ramayana, arts and culture of Khon which is on the high level ( = 4.23, S.D.= 0.87)

 

Keywords: Inherit, Technology, Dramatic Khon, Academy.

 

 

 

บทนำ

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นรากฐานในการนำพามนุษย์

ให้มีความรู้ความสามารถอันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ แต่ในสภาพปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้มีความทันสมัย
ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาของภาครัฐตามนโยบายการขับเคลื่อน การดำเนินงานขององค์กรหลักและหน่วยงานทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สอดคล้องและขยายผลตามแนวนโยบายเรื่องการนำระบบ ICT เข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางขึ้น โดยใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียนสร้างแรงจูงใจ อีกทั้งผู้เรียนได้ทักษะชีวิตสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดนอย่างมีคุณภาพ

          ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้เข้ามามีส่วนในการทำงานแบบทุกด้านตั้งแต่งานด้านบันเทิงจนไปถึงงานด้านวิชาการ ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาที่ได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำสื่อการสอน โดยใช้ประโยชน์จากความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการแสดงผลของข้อความ เสียง และภาพ รวมไปถึงภาพเคลื่อนไหวได้ มารวมอยู่ในรูปแบบมัลติมีเดีย โดยคอมพิวเตอร์นำเอาข้อความ ภาพ และเสียงในรูปแบบต่างๆมาบันทึกไว้ในรูปข้อมูลดิจิทัล แล้วนำข้อมูลนั้นมาแปลงกลับแสดงผลเป็นข้อความและภาพทางจอภาพ เสียงทางลำโพง ผสมผสานกัน พร้อมกับควบคุมการแสดงผลของสื่อเหล่านั้น โดยซอฟท์แวร์ (Software) หรือโปรแกรมสั่งงานคอมพิวเตอร์ (Program) ทำให้สื่อเหล่านั้นมีลักษณะพิเศษขึ้น มีพลังในการสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อื่นๆ (พรพิไล เลิศวิชา, 2544 : 21)

          การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่รวมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สามารถทำได้หลากหลายวิธี การแสดงศิลปวัฒนธรรมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาทักษะชีวิตของมนุษย์มีความสมบูรณ์และสมดุล

โขนเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของไทยที่มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเครื่องราชูปโภคส่วนพระองค์อย่างหนึ่งและจัดเป็นมหรสพหลวงในการเล่นต้องห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปจัดเล่นจัดแสดง กำหนดให้จัดแสดงเฉพาะราชสำนักในงานพระราชพิธีหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้ทรงอนุญาตให้เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีการฝึกหัดโขนขึ้น ซึ่งได้ครูละครหลวงจากสมัยอยุธยาส่งผ่านมายังกรุงธนบุรี และมาถึงต้นรัชกาลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน รัชสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2  บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่พระมหากษัตริย์จะต้องบำรุงขวัญกำลังใจประชาชนและเป็นการรวบรวมเอกสาร ด้านวรรณกรรมที่ใช้ในการแสดงโขนละคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงรับสั่งให้กวีใน
ราชสำนักรวบรวมบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่สูญหายไปในครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 มาเพื่อรวบรวมให้เรื่องรามเกียรติ์ที่ใช้เล่นโขนละครมีความสมบูรณ์ครบ รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดมหรสพต่างๆ ทรงเห็นว่าเป็นการละเล่นที่เป็นเรื่องไร้สาระไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่สอดคล้องกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาถือเป็นการบำรุงบำเรอตนเองโขนหลวงจึงซบเซาลง รัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร)
ได้เข้าบัญชาการกรมมหรสพได้ทำการฟื้นฟูโขนหลวงขึ้นใหม่ โดยให้ครูละครในและนางในที่ยังเหลืออยู่มาเป็นครูผู้ฝึกหัดส่งผลให้ละครในเข้ามามีบทบาทในการแสดงโขน กล่าวคือ การรำใช้บทตามบทร้อง รำเพลงช้าเพลงเร็วเช่นเดียวกับบทละครในและมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้แสดงที่เป็นเทพบุตรเทพธิดา มนุษย์ชาย-หญิง สวมเครื่องประดับศีรษะไม่ต้องใส่หัวโขนปิดหน้า ตลอดจนมีการใช้ผู้หญิงเข้าร่วมแสดงโขนด้วย นอกจากนี้ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้โดยมีการพากย์-เจรจา และขับร้องแทนผู้เล่นยกเว้นตัวฤาษีและตัวตลกจะเป็นบทผู้เจรจาเอง (ธนิต
อยู่โพธิ์, 2534 : 74-75 )

การจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระศิลปะ วิชานาฏศิลป์ ตามหลักสูตรการศึกษา
ขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีบทบาทในกิจกรรมที่ผู้สอนได้ออกแบบขึ้นทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน โดยผู้วิจัยได้ออกแบบและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีช่วยสอน ซึ่งในการพัฒนาผู้เรียนวิชานาฏศิลป์ในปัจจุบันนี้ จำเป็นต้องสร้างแบบเรียนในการถ่ายทอดเนื้อหาการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนโดยใช้สื่อมีเดีย ดังนั้นการนำนาฏกรรมโขนอันเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยมาถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอย ให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรและเยาวชนโดยรอบ ซึ่งในการถ่ายทอดความรู้
ครั้งนี้ นำเนื้อหาของการฝึกหัดโขนเบื้องต้นในรูปแบบบทเรียนมัลติมีเดียการ์ตูนแอนนิเมชั่น เน้นฝึกทักษะทางร่างกาย ทักษะทางอารมณ์จิตใจและสติปัญญา นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความอดทน ระเบียบวินัย บทบาทหน้าที่และความสามัคคีในหมู่คณะ ส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชนได้หันกลับมาสนใจฝึกโขนและร่วมแสดง ทำให้โขนเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมยุคแห่งเทคโนโลยีได้อย่างกลมกลืน สามารถสืบต่อให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักและสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้เทคโนโลยี   ช่วยสอนในรายวิชานาฏศิลป์ให้กับนักเรียนโรงเรียนเศวตฉัตร

2. เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6

3. เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่การแสดงโขนและปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรและเยาวชนโดยรอบ

 

วิธีดำเนินการวิจัย

1. อุปกรณ์ / เครื่องมือ 

          งานวิจัยนี้ใช้อุปกรณ์โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม (Questionnaire) และการลงพื้นที่ภาคสนามโดยการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาจัดสร้างบทเรียนเทคโนโลยีมัลติมีเดียถ่ายทอดให้กับนักเรียนโรงเรียนเศวตฉัตร ซึ่งการวิจัยนี้มีประชากรในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนเศวตฉัตร จำนวน 120 คน และได้เพิ่มกลุ่มประชากร คือ นิสิตนักศึกษาสาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ทำการวิจัยในประเด็นการสืบทอดการฝึกหัดโขนโดยได้บรรจุเป็นรายวิชาโขนในสถานศึกษาในหลักสูตรนาฏยศิลป์ศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) สำหรับการผลิตบัณฑิตสายครูนาฏศิลป์        

2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

            เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง จำนวน
2 ฉบับ คือ แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนและแบบสอบถามความคิดเห็นของอาจารย์โรงเรียนเศวตฉัตร ซึ่งในแบบสอบถามแต่ละฉบับ แบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้

                   ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

                   ตอนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ตอบที่มีต่อการฝึกหัดแสดงโขน ตัวละคร บทบาทหน้าที่และปรัชญาแนวคิด คุณค่า ในเรื่องรามเกียรติ์ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ตามแบบของไลเคิร์ท (Likert’s scale) โดยเกณฑ์กำหนดค่าน้ำหนักของแบบสอบถาม มีดังนี้

                             5 หมายถึง มากที่สุด

                             4 หมายถึง มาก

                             3 หมายถึง ปานกลาง

2 หมายถึง น้อย

1 หมายถึง น้อยที่สุด

                   ตอนที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ตอบ มีต่อศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist)  และมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ตามแบบของไลเคิร์ท (Likert’s scale) โดยเกณฑ์กำหนดค่าน้ำหนักของแบบสอบถาม มีดังนี้

5 หมายถึง มากที่สุด

                             4 หมายถึง มาก

                             3 หมายถึง ปานกลาง

2 หมายถึง น้อย

1 หมายถึง น้อยที่สุด

3. ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือ

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งเป็นแบบสอบถามจำนวน 2 ฉบับ คือ

-แบบสอบถามความคิดเห็นของนิสิต 

-แบบสอบถามความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา

โดยมีขั้นตอนการสร้างเครื่องมือดังนี้

1) ศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวกับการแสดงโขน ตัวละคร บทบาทหน้าที่และปรัชญาแนวคิด คุณค่าในเรื่องรามเกียรติ์

2) สร้างแบบสอบถามความคิดเห็นในส่วนของศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน

3) นำเครื่องมือที่สร้างไปตรวจสอบความเที่ยง (Validity) ของแบบสอบถาม โดยให้ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยตรวจสอบ และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและครอบคลุมเนื้อหาของข้อคำถาม

4. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้

-ส่วนที่เก็บจากนักเรียนและอาจารย์โรงเรียนเศวตฉัตร ผู้วิจัยเป็นผู้แจกแบบสอบถามและขอรับคืนด้วยตนเอง

5. การวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัยจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีทางสถิติ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS

(Statistical Package for the Social Science for Windows) และวิเคราะห์โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากการการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Group Interview) จากนิสิตนักศึกษา สาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 5 คน ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น ดังนี้  

                   1) การวิเคราะห์ข้อมูล ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม วิเคราะห์โดยการหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย () และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)

                   2) การวิเคราะห์ข้อมูล ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 โดยการหาค่าเฉลี่ย () ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการจัดลำดับความสำคัญ (PNI Modified) รายข้อ

3) การวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นการสืบทอดโขนโดยได้บรรจุเป็นรายวิชาโขน

ในสถานศึกษาในหลักสูตรนาฏยศิลป์ศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) สำหรับการผลิตบัณฑิตสายครูนาฏศิลป์

การนำเสนอผลการวิเคราะห์จะอยู่ในรูปแบบตารางแสดงค่าทางสถิติ และอธิบายสรุปผลการวิเคราะห์การเขียนแบบเชิงพรรณนา

6. นำเสนอผลการวิเคราะห์

ผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้มาจัดทำในรูปแบบเอกสาร ดังนี้

1) รูปเล่มงานวิจัย

2) บทเรียนรูปแบบมัลติมีเดีย เวลา 1 ชั่วโมง

3) กระบวนการถ่ายทอดนาฏกรรมโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอย

โดยใช้เทคโนโลยีให้กับนักเรียน โรงเรียนเศวตฉัตร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน
120 คน

         4) การสืบทอดโขนโดยได้บรรจุเป็นรายวิชาโขนในสถานศึกษาในหลักสูตรนาฏยศิลป์ศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)

 

ผลการวิจัย  

            ผลการวิจัยเรื่อง การถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา ผู้วิจัยได้สรุปผลการวิจัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ดังนี้

            1. เพื่อถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้เทคโนโลยีช่วยสอนในรายวิชานาฏศิลป์ให้กับนักเรียนโรงเรียนเศวตฉัตร มีกระบวนการถ่ายทอดแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การถ่ายทอดโดยการเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ด้วยการใช้

สื่ออิเล็กทรอนิคที่จัดทำขึ้นให้นักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตร เพื่อให้นักเรียนได้ทราบเรื่องราวโดยย่อของรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ว่ามีความเป็นมาเป็นอย่างไร ซึ่งจากที่นักเรียนได้ดูเรื่องราวโดยย่อของรามเกียรติ์ ตอน นางลอย แล้ว พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องราวและรู้จักการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย มากขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 การถ่ายทอดโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิคแนะนำตัวละครในเรื่อง

รามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิคในรูปแบบการ์ตูนแอนนิเมชั่น โดยมีตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ได้แก่ พระราม นางสีดา ทศกัณฑ์ และหนุมาน เพื่อให้นักเรียนรู้จักตัวละครในรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ว่ามีตัวละครใดบ้าง และมีความเป็นมาเป็นอย่างไร ซึ่งจากที่นักเรียนได้ดูเรื่องราวโดยย่อของรามเกียรติ์ ตอน นางลอย แล้ว พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจและรู้จักตัวละครที่แสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ทุกตัวละคร และมีความสนใจที่อยากจะแสดงเป็นตัวละครดังกล่าวอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3 การถ่ายทอดโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิคที่จัดทำในรูปแบบการ์ตูน   

แอนนิเมชั่นมาเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน ให้กับนักเรียน โดยสื่ออิเล็กทรอนิคในส่วนนี้จะประกอบไปด้วยท่าการฝีกปฏิบัติโขนเบื้องต้น จำนวน 7 ท่า ได้แก่ ตบเข่า, ถองสะเอว,
เต้นเสา, ถีบเหลี่ยม, ฉีกขา, หักข้อมือ และดัดมือ รวมถึงการฝึกท่าตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง ซึ่งจากที่นักเรียนได้รับการถ่ายทอดการฝีกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้นแล้ว พบว่า นักเรียนสามารถปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้น จำนวน 7 ท่า และฝึกท่าตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง
ได้ถูกต้องตามแบบแผนและมีความสุข สนุกสนาน จากการดูสื่ออิเล็กทรอนิคที่จัดทำในรูปแบบการ์ตูนแอนนิเมชั่นด้วย

ขั้นตอนที่ 4 หลังจากที่นักเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดง

โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้เทคโนโลยีด้านมัลติมีเดียช่วยในการถ่ายทอด ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1, ขั้นตอนที่ 2 และขั้นตอนที่ 3 แล้วทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้นทั้ง 7 ท่า ได้ ซึ่งในขั้นตอนที่ 4 นี้จะเป็นการแสดงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้การฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ชุด จับนาง

            หลังจากที่นักเรียนได้ชมสื่อการสอนมัลติมีเดีย ตามกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องราว ตอนนางลอย และรู้จักตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์เป็นอย่างดี โดยดูได้จากการตอบแบบสอบถามหลังการใช้สื่อมัลติมีเดีย

2. เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่   1-6 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 การจัดการเรียนการสอนวิชานาฏยศิลป์โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียที่

จัดทำขึ้นในเรื่องการฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ให้นักเรียนโรงเรียน
วัดเศวตฉัตร โดยผู้วิจัยได้ใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียมาจัดการเรียนการสอนเรื่องการฝึกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้น จำนวน 7 ท่า ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยมุ่งพัฒนาทักษะทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ในการฝึกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้นนี้ ประกอบด้วย การตบเข่า การ
ถองสะเอว การเต้นเสา การถีบเหลี่ยม การฉีกขา การหักข้อมือ และการดัดมือ ซึ่งการฝึกหัดในแต่ละส่วน ผู้ฝึกหัดจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาร่างกาย อารมณ์และจิตใจ

ส่วนที่ 2 การจัดการเรียนการสอนวิชานาฏยศิลป์โดยใช้สื่อการสอนมัลติมีเดียที่

จัดทำขึ้นในเรื่องการฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ให้นักเรียนโรงเรียน      

วัดเศวตฉัตร โดยผู้วิจัยได้ใช้สื่อการสอนมัลติมิเดียมาจัดการเรียนการสอนในเรื่องการฝึกปฏิบัติท่าโขนเบื้องต้น จำนวน 7 ท่า และการฝึกแม่ท่าของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อเน้นพัฒนาทักษะสติปัญญา ได้แก่ ความรู้และความจำ ในการฝึกแม่ท่าของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง มีความแตกต่างกัน โดยการฝึกจะแบ่งฝึกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นการฝึกท่าของตัวพระและตัวนาง ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกันในเรื่องท่ารำที่เป็นแม่ท่า ท่าตีบท และท่านาฏยศัพท์ มีความแตกต่างกันเฉพาะระดับของมือและแขน ทิศทาง การเอียง การย่อ และเหลี่ยมขา กลุ่มที่ 2 เป็นการฝึกท่าของตัวยักษ์และตัวลิงในแม่ท่าโขน ซึ่งท่าจะถ่ายทอดลักษณะนิสัยของตัวละคร เช่น ตัวยักษ์ ต้องดุดันมีกำลังท่าทางต้องดูยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม ไม่กลัวใคร และท่าตัวลิง จะโลนแล่นไปมา ไม่อยู่นิ่ง สามารถตีลังกา กระโดด กลิ้งม้วนตัวได้ คล่องแคล่วว่องไว การปฏิบัติแม่ท่าโขนเน้นการเต้นออกท่าทางโขนและการรำตีบทตามคำพากย์-เจรจา และเนื้อร้อง ซึ่งท่าของตัวยักษ์และตัวลิงมีท่ารำน้อยกว่าท่าตัวพระและตัวนาง ด้วยท่ารำตัวพระและตัวนางนั้นมาจากระบำเรื่องและละครใน แม่ท่าและท่ารำมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อนำท่ารำของตัวพระและตัวนางมาผสมในการเล่นโขนทำให้เกิดความงามตามแบบละครหลวง การฝึกปฏิบัติแม่ท่าโขนเบื้องต้นนี้ ประกอบด้วย แม่ท่าโขนและภาษาท่าโขนของตัวยักษ์และตัวลิง และท่ารำเพลงช้าเพลงเร็วของตัวพระและตัวนาง การฝึกหัดในส่วนนี้ ผู้ฝึกจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาทักษะทางสติปัญญา

3. เมื่อนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตรและเยาวชนโดยรอบ ได้รับการฝึกหัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย โดยใช้เทคโนโลยีช่วยสอนในรายวิชานาฏศิลป์แล้ว ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ความเข้าใจการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ การแสดงโขนและปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากการแสดงผลสัมฤทธิ์ของผู้เข้าร่วมโครงการที่ดีขึ้นและการเปรียบเทียบผลการตอบแบบสอบถามก่อนและหลังได้รับการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีมัลติมิเดีย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

            ส่วนที่ 1 แบบสอบถามสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6  ก่อนและหลังการใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย

ตาราง 5.1 แบบสอบถามสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6  ก่อนและหลัง การใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย

 

แบบสอบถามสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 
 

N

S.D.
ระดับความคิดเห็น
ก่อนการใช้สื่อการสอนมัลติมิเดีย
120
3.07
0.48
ปานกลาง
หลังการใช้สื่อการสอนมัลติมิเดีย
120
4.35
0.42
มาก
         

จากตารางที่ 5.1 ผลการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการแสดงโขน  ตัวละคร  บทบาทหน้าที่  และปรัชญาแนวคิดคุณค่าในเรื่องรามเกียรติ์ และการได้รับการถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอยแล้ว พบว่า คะแนนหลังการได้รับการถ่ายทอดสูงกว่าคะแนนก่อนได้รับการถ่ายทอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  และผลของแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนอยู่ในระดับดีมาก ( = 4.35 , S.D.= 0.42)

 

            ส่วนที่ 2 แบบสอบถามสำหรับอาจารย์ ก่อนและหลัง การใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย

 

ตาราง 5.2 แบบสอบถามสำหรับอาจารย์ ก่อนและหลัง การใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย

 

แบบสอบถามสำหรับอาจารย์
 

N

S.D.
ระดับความคิดเห็น
ก่อนการใช้สื่อการสอนมัลติมิเดีย
6
2.65
1.57
ปานกลาง
หลังการใช้สื่อการสอนมัลติมีเดีย
6
4.23
0.87
มาก
 

จากตารางที่ 5.2 ผลการศึกษาความคิดเห็นของอาจารย์ที่มีต่อการแสดงโขน  ตัวละคร  บทบาทหน้าที่  และปรัชญาแนวคิดคุณค่าในเรื่องรามเกียรติ์ และการได้รับการถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีสู่สถานศึกษา เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอยแล้ว พบว่า คะแนนหลังการได้รับการถ่ายทอดสูงกว่าคะแนนก่อนได้รับการถ่ายทอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  และผลของแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนอยู่ในระดับดีมาก (  = 4.23 , S.D.= 0.87)

นอกจากผลการวิจัยที่ได้จากการดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีทางสถิติ โดยใช้

โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science for Windows) ตามผลการวิจัยข้างต้นแล้ว ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เพิ่มเติมวิธีดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Group Interview) จากนิสิตนักศึกษา สาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 5 คน และเพิ่มการวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นการสืบทอดโขนโดยได้บรรจุเป็นรายวิชาโขนในสถานศึกษาในหลักสูตรนาฏยศิลป์ศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) สำหรับการผลิตบัณฑิตสายครูนาฏศิลป์ ผลสรุปได้ว่า การสืบทอดโขนมีการปรับปรุงหลักสูตรนาฏยศิลป์ศึกษา พ.ศ. 2560 โดยพัฒนารายวิชาโขนในสถานศึกษาขึ้น เพื่อจัดการเรียนการสอนสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้บัณฑิตที่จบไปสามารถนำความรู้ในรายวิชาไปถ่ายทอดการฝึกปฏิบัติการแสดงโขนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ตลาดต้องการ จากการเก็บข้อมูลจากโรงเรียนวัดเศตวฉัตรสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาของสาขาวิชา จำนวน 5 คน ชั้นปีที่ 1-5 พบว่า นิสิตนักศึกษามีความรู้เรื่องโขนและสามารถนำความรู้ในรายวิชาไปถ่ายทอดในชุดการแสดงสั้นๆ ได้อาทิ จับนาง พระรามตามกวาง ลักสีดา และยกรบ เป็นต้น นอกจากนี้ นิสิตนักศึกษาที่เรียนในรายวิชาโขนในสถานศึกษา สามารถเป็นวิทยากรร่วมถ่ายทอดนาฏกรรมโขนผ่านเทคโนโลยีให้กับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-6 ของโรงเรียนวัดเศวตฉัตร ทำการฝึกหัดโขนเบื้องต้นและสามารถการจัดการเรียนการสอนรายวิชานาฏศิลป์ตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี ทำให้ตรงตามที่กลุ่มเป้าหมายและความต้องการของตลาด นิสิตนักศึกษาที่เรียนในรายวิชาโขนในสถานศึกษาสามารถถ่ายทอด การฝึกหัดโขนให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยแบ่งออกเป็น ดังนี้ 

-การตบเข่า เป็นการฝึกเรื่องจังหวะ ทำให้ผู้ฝึกรู้จักจังหวะ สามารถควบคุมจังหวะของ

ร่างกายได้คงที่ เป็นการฝึกให้กำลังให้แขน มือ หัวไหล่ หลัง เอว และทำให้กล้ามเนื้อด้านข้าง ด้านหน้าของลำตัวและต้นขามีความแข็งแรง เมื่อฝึกการตบเข่าไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะเรียนรู้ในส่วน
การรับรู้ของระบบประสาทเรื่อง ความสัมพันธ์ของร่างกายในการเคลื่อนไหวเป็นการฝึกการจดจำจังหวะ และยังทำให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย จิตนิ่งเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกการนับจังหวะท่าโขนต่อไป

-การถองสะเอว  เป็นการฝึกเรื่องการใช้ลำตัว ทำให้ผู้ฝึกรู้จักกล้ามเนื้อด้านข้าง และ

ด้านหน้าของลำตัว เป็นการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ข้อมือ แขน ไหล่ คอ ศีรษะ และลำตัว ให้สามารถเคลื่อนไหวสัมพันธ์กัน เมื่อฝึกการถองสะเอวไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะรู้จัก
การยักเยื้องลำตัว ยักคอ ยักไหล่ สามารถใช้ช่วงเอวให้เอนเอียงอ่อนไหวไปตามจังหวะเพลงได้เป็นอย่างดี รำได้ตรงตามจังหวะเกิดสวยงามเป็นธรรมชาติ และยังทำให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคงไม่อ่อนไหวง่าย จิตนิ่งเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกท่าลักคอต่อไป

-การเต้นเสา เป็นการฝึกเรื่องกำลังและเหลี่ยมขา ทำให้ผู้ฝึกรู้จักการยกขาให้เป็นฉากให้

เป็นเหลี่ยมโขนและสามารถวางลงพื้นได้อย่างมั่นคง ซึ่งในการฝึกท่านี้ เป็นการสร้างกำลังให้ขาเพื่อใช้เต้นโขนได้นานไม่เหนื่อยง่าย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมให้ปฏิบัติท่ากระโดดโลดเต้นได้คล่องแคล่วและยืนค้างท่าได้อย่างสวยงามในท่านิ่ง (Posture) และท่าเดิน ท่าวิ่ง ของยักษ์และลิงในท่าเคลื่อนไหว (Gesture) ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ฝึกเต้นโขนแข็งแรงสวยงามตามแบบการแสดงโขนที่แท้จริง ท่าเต้นเสานี้ ทำให้ผู้ฝึกสามารถเคลื่อนที่ช้าเร็วได้ดีอีกด้วย เมื่อฝึกการเต้นเสาไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การยืน การเดิน การเต้นมั่นคงและมีเหลี่ยมขาชัดเจนสวยงาม และยังทำให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย จิตนิ่งเข้มแข็ง ฝึกความอดทนพัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกท่าตะลึกตึกต่อไป

-การถีบเหลี่ยม เป็นการฝึกเรื่องการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นขา ทำให้ผู้ฝึกรู้จักการ

อดทน ทำให้เส้นเอ็นยืดได้มากกว่าปกติ เข่าสามารถแบะออกตั้งขาเป็นเหลี่ยมได้ ซึ่งเข่าที่แบะออกจะเป็นเส้นขนาน 180 องศา ด้วยการฝึกท่านี้ต้องใช้เวลาในการฝึกมากและต้องฝึกตั้งแต่ยังเยาว์วัยผู้ฝึกจึงจะสามารถถีบเหลี่ยมตรงตามแบบแผนการแสดงโขนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้ผู้ฝึกรู้จักการคลายเส้น เมื่อฝึกการถีบเหลี่ยมไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นขาที่ยืดหยุ่น ขามีความมั่นคงในการทรงตัวและมีเหลี่ยมขาสวยงาม และยังทำให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคง เป็นคนมีความอดทนสูง พัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกท่าแม่ท่ายักษ์และลิงต่อไป

-การฉีกขา ใช้เฉพาะกับโขนลิง เป็นการฝึกเรื่องการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อขาและเส้นเอ็น

เช่นเดียวกับท่าถีบเหลี่ยม ทำให้ผู้ฝึกรู้จักการอดทน ทำให้เส้นเอ็นยืดได้มากกว่าปกติ
เข่าสามารถแบะออกตั้งขาเป็นเหลี่ยมได้ ซึ่งเข่าที่แบะออกจะเป็นเส้นขนาน 180 องศา ด้วยการฝึกท่านี้ต้องใช้เวลาในการฝึกมากและต้องฝึกตั้งแต่ยังเยาว์วัยผู้ฝึกจึงจะสามารถถีบเหลี่ยมตรงตามแบบแผนการแสดงโขนได้ นอกจากนี้  ยังเป็นการช่วยให้ผู้ฝึกรู้จักการคลายเส้น เมื่อฝึกการถีบเหลี่ยมไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นขาที่ยืดหยุ่น ขามีความมั่นคงในการทรงตัวและมีเหลี่ยมขาสวยงาม และยังทำให้ผู้ฝึกมีอารมณ์มั่นคง เป็นคนมีความอดทนสูง พัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกท่าแม่ท่ายักษ์และลิงต่อไป

-การหักข้อมือ เป็นการฝึกหัดที่ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้หักข้อมือให้กับศิษย์ด้วยตนเอง

เพื่อกันการหักข้อมือไม่ถูกต้อง ด้วยกระดูกข้อมือมีส่วนประกอบของกระดูกชิ้นเล็กๆ เป็นจำนวนมาก หากหักข้อมือไม่ถูกวิธีอาจทำให้ข้อมือผิดรูปบาดเจ็บได้ เป็นการฝึกความอ่อนของกระดูกและเส้นเอ็นของข้อมือ ทำให้ผู้ฝึกรู้จักวิธีการหักข้อมือที่ถูกต้อง ในการฝึกท่านี้ เป็นการยืดหยุ่นเส้นเอ็นข้อมือและแขนให้โค้งอ่อนเส้นไม่ตึงการหักข้อมือช่วยสนับสนุนให้นิ้วมือมีความอ่อนมากขึ้นสังเกตจากการหักข้อมือให้โค้งให้ได้มากที่สุด ในการร่ายรำท่วงท่าและการปฏิบัติท่านาฏยศัพท์ในท่าต่างๆ ได้แก่ การตั้งวง การจีบมือ การคลายมือ การม้วนมือ เป็นต้น ข้อมือที่ถูกหักจะโค้งไปตามนิ้วมือมีความอ่อนช้อยงดงาม เมื่อฝึกการหักข้อมือไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะมีเส้นเอ็นที่ยืดหยุ่นกระดูกข้อมือและกล้ามเนื้อฝามือแข็งแรง ทำให้ผู้ฝึกมีความอดทนสูง อารมณ์มั่นคง
ไม่อ่อนไหวง่าย จิตนิ่งเข้มแข็ง ช่วยพัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกการรำแม่ท่าและท่ารำตีบทต่อไป

-การดัดมือ เป็นการฝึกเรื่องความอ่อนของกระดูกและเส้นเอ็นนิ้วมือ ทำให้ผู้ฝึกรู้จัก

วิธีการดัดมือที่ถูกต้อง ในการฝึกท่านี้ เป็นการดัดกระดูกนิ้วให้โค้งอ่อน การดัดมือจะฝึกควบคู่ไปกับการหักข้อมือ ทำให้นิ้วมือมีความอ่อน ในการดัดมือให้โค้งมากจนปลายนิ้วมือจรดแขนเป็นการฝึกที่ต้องใช้เวลาและเป็นขั้น  ฝึกที่ยากสำหรับผู้เรียน ในการปฏิบัติท่ารำนาฏศิลป์ไทยในแม่ท่า ท่าตีบทและท่านาฏยศัพท์ นิ้วมือเป็นส่วนสำคัญที่แสดงความหมายและทำให้รูสึกถึงความอ่อนหวานอ่อนช้อยเกิดความงาม เมื่อฝึกการดัดมือไปเรื่อยๆ  ผู้ฝึกจะมีกระดูกนิ้วมือที่อ่อน เส้นเอ็นยืดหยุ่นและกล้ามเนื้อนิ้วมือที่แข็งแรง และทำให้ผู้ฝึกมีความอดทนสูง อารมณ์มั่นคงไม่อ่อนไหว  จิตนิ่งเข้มแข็ง ช่วยพัฒนาศักยภาพการรับรู้ของระบบประสาท ฝึกการแยกประสาทเพื่อนำไปใช้ฝึกการรำแม่ท่าและท่ารำตีบทต่อไป

 

อภิปรายผลการวิจัย

            ผลจากการวิจัยนี้ ทำให้ทราบถึงการจัดการเรียนการสอนนาฏศิลป์ในสถานศึกษาควรคำนึงถึงการใช้สื่อการสอนที่มีคุณภาพและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้ ทำให้การจัดการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไม่น่าเบื่อ มีความสนุกสนาน ผู้เรียนมีความตื่นเต้น สนใจอยากจะเรียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเรียนการสอนนาฏศิลป์ในยุคปัจจุบันนี้จึงต้องอาศัยสื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน และทำให้ผู้สอนมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถจัดเตรียมแผนการสอนและการสอนสอนโดยเฉพาะในการปฏิบัติสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รองรับกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21

 

ข้อเสนอแนะการวิจัย

            นอกจากการใช้สื่ออิเล็กทรอนิคสำหรับการจัดการเรียนการสอนรายวิชานาฏศิลป์ ในเรื่องของการถ่ายทอดนาฏกรรมโขนแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนรายวิชานาฏศิลป์สำหรับเรื่องอื่นๆได้อีกด้วย โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นวัยที่มีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีในรูปแบบการ์ตูนแอนนิเมชั่น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับบุคลากรทางการศึกษา  ที่สนใจในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี

 

เอกสารอ้างอิง

ธนิต อยู่โพธิ์. (2534). โขน. กรุงเทพมหานคร : สถาบันไทยคดีศึกษา.

พรพิไล เลิศวิชา. (2544). การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียเรื่องความรู้เบื้องต้น

              เกี่ยวกับดนตรีตะวันตก กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สําหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3.

            ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัย

            ศรีนครินทรวิโรฒ.