การดูแลเด็กปฐมวัยให้ห่างไกลโควิด 19

สถานการณ์ปัจจุบันได้เกิดสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19) โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการแพร่ะระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งเด็กปฐมวัย

มีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโครโรน่า 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยด้านต่างๆ เช่น การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งผลกระทบจะเกิดกับตัวเด็กเองที่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และการพัฒนาหลายๆด้านที่ไม่ได้รับการพัฒนาจากการไม่ได้ไปโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ผู้ปกครองยังคงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยได้ทำการศึกษาผลกระทบดังกล่าว เช่น กลุ่ม  wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ได้ทำการสอบถามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ กับผู้ปกครองเด็กระดับปฐมวัย อายุ 2.5-6 ปี จำนวน 302 ตัวอย่าง ที่มีบุตรหลานอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระหว่างเดือนเม.ย.-พฤษภาคม 2564  พบว่า

สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลใจ  ลำดับแรก คือ การที่เด็กๆ ไม่ได้เล่นกับเพื่อน เพราะกลัวติดเชื้อ กังวลเรื่องการเข้าสร้างความสัมพันธ์ของเด็ก  เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ไม่สามารถไปเล่นหรือทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่ได้เล่นกับเพื่อน หรือเล่นน้อยลง ทำให้เด็กมีความรู้สึกคิดถึงเพื่อน อยากเล่นกับเพื่อน ส่วนใหญ่แล้วเด็กมีความเข้าใจในสถานการณ์จากการอธิบายของผู้ปกครอง 

รองลงมาเป็นกังวลเรื่องเด็กไม่คุ้นเคยกับการใส่หน้ากากอนามัย ไม่ยอมใส่ ชอบถอดในกรณีนี้จะเน้นการเล่นกับเด็กๆ ที่มีเป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้กัน เด็กๆ จะมาเล่นด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพราะเด็กมักจะมีปัญหากับการใส่หน้ากากอนามัยเวลานานและหายใจลำบากในขณะเล่นหรือทำกิจกรรม ผู้ปกครองจึงปรับเปลี่ยนโดยการล้างมือและจัดสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้เล่นอย่างปลอดภัย แต่ในกรณีนี้จะทำได้เฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ออกนอกหมูบ้าน อยู่ในหมู่บ้านตลอดและไม่พบปะผู้คนเป็นกลุ่มใหญ่ 

อีกปัจจัยคือความกังวลเรื่อง พัฒนาการด้านการเรียนรู้  และการไม่ได้ไปเรียน ทำให้การเรียนรู้ล่าช้า   และความยุ่งยาก ลำบากที่จะต้องหากิจกรรม หรือเป็นเพื่อนเล่นกับเด็ก อีกทั้ง ไม่มีวิธีการจัดการกับเด็กตอนอยู่บ้าน  ไม่รู้จะชวนเด็กทำอะไร   ด้วยว่า พ่อ แม่หลายคนยังไม่มีความพร้อมในการปรับบทบาทของตัวเองมาเป็นครูสอนเด็กในการฝึกทักษะทางด้านการเรียนรู้  สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองถนัด ในการส่งเสริมเด็กจะเรื่องการใช้ประสบการณ์ชีวิต ยังไม่มีความถนัดเรื่องการส่งเสริมประสบการณ์ของเด็กด้านอื่นๆ โดยกิจกรรมที่ผู้ปกครองจัดให้กับเด็กในช่วงเวลาของการกักตัว นั้นจะเป็นการชวนให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน พ่อ แม่ทำอะไรก็ให้ลูกทำด้วย เช่น ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงสัตว์  และปล่อยเด็กเล่นอิสระในบ้าน หรือบริเวณบ้าน  และมีชวนเด็กทำแบบฝึกหัด เช่น อ่าน เขียน สะกดคำ

ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการ คือการ มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก และครอบครัว เข้าไปเล่น ได้ โดยมีการเฝ้าระวัง หรือมีมาตรการที่มั่นใจได้ว่าเด็กจะไม่ติดเชื้อ  อันดับต่อมาคือการ อบรม สอนให้ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการ  สอน อบรม วิธีการจัดกิจกรรม หรือการเล่นกับลูก สนับสนุนการฝึกวินัยในเด็กให้ พ่อแม่สามารถทำได้เวลาเด็กไม่ได้ไปเรียน  และการมีชุดสื่อ ของเล่น นำมาเล่นกับลูกได้ก็เป็นสิ่งที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ ((https://www.thaihealth.or.th/Content/54720 )

จากสถานการณ์และผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมาตรการหลักที่สำคัญเพื่อมุ่งเน้น ในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 4 ด้าน “4D” ได้แก่

D ที่ 1 คือ Diet หรือ ด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต มุ่งเน้นการจัดทำเมนูอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่เหมาะสม

D ที่ 2 คือ Development & play หรือด้านพัฒนาการและการเล่น มุ่งเน้นให้ครูผู้ดูแลเด็กสามารถเฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการเด็กด้วยเครื่องมือ DSPM ได้ พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการเป็น อิสระ (3F : Family free Fun)

D ที่ 3 คือ Dental หรือด้านสุขภาพฟัน มุ่งเน้นให้เด็กปฐมวัยทุกคนต้อง แปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และมีกิจกรรมตรวจฟัน

D ที่ 4 คือ Diseases หรือด้านการป้องกันโรค มุ่งเน้นให้ครูผู้ดูแลเด็กดูแลสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดเหมาะสม เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการสอนให้เด็กรู้จักล้างมือ สวมหน้ากาก และจัดกิจกรรมแบบ small group เพื่อลดการสัมผัสโรค (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946716)

การส่งเสริมสุขภาพเด็ก สามารถเริ่มได้จากการดูแลเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมกับความต้องการของเด็ก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง มีการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กจากการเล่น และมีการตรวจสอบพัฒนาการโดยใช้แบบวัดพัฒนาการโดยใช้แบบบันทึกและเฝ้าระวังพัฒนาการของเด็กปฐมวัย(DSPM) ซึ่งเป็นแบบสังเกตพัฒนาการตามช่วงอายุแต่ละวัยด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเคลื่อนไหว Gross Motor(GM) ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญาFine Motor (FM) ด้านการเข้าใจภาษา Receptive Language (RL) ด้านการใช้ภาษา Expressive Language (EL) และด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคมPersonal and Social ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ส่วนด้านการป้องกันโรค นอกจากจะมุ่งเน้นให้ครูหรือผู้ดูแลเด็กสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดเหมาะสม ฝึกด้านการรักษาอนามัยเพื่อลดการสัมผัสโรคแล้ว ครูยังสามารถจัดกิจกรรมให้มีลักษณะ New normal ได้อีกด้วย

รศ.ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู (https://www.starfishlabz.com/blog/207) ได้กล่าวถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเผชิญสถานการณ์อย่างเหมาะสม และทำให้เด็กสามารถเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ โควิด-19 โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและสุขภาวะของเด็กปฐมวัย  เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เด็กต้องการการดูแลและการให้แนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องมีการฝึกให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง หรือในสถานการณ์ที่ต้องมีการใช้พื้นที่หรือสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น  ควรสวมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรือสวมในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีที่สามารถบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้หรือสามารถดึงหน้ากากออกมาได้เอง การใช้ภาชนะหรือของใช้หรือของเล่นส่วนบุคคลไม่ปะปนกับผู้อื่น เข่น ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ เสื้อผ้า ตุ๊กตา ไม้บล็อค ของเล่นจำลอง หนังสือภาพ  ในส่วนสุขภาวะของเด็กปฐมวัยที่ต้องอยู่บ้านเป็นหลัก จะต้องมีการคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา  เด็กต้องการเวลาสำหรับการพักผ่อนและการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เด็กต้องการการดูแลด้านอารมณ์จิตใจที่อาจมีความเครียด ความเบื่อหน่ายในการอยู่บ้านในสถานการณ์ที่ต่างไปจากเดิม เด็กต้องการเพื่อนและการเรียนรู้จากผู้อื่นซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระยะนี้ คือ การพูดคุยกับเพื่อนและญาติ ทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายผ่าน VDO call  นอกจากนี้การพัฒนาสติปัญญาควรต้องมีการคำนึงถึงวิถีชีวิตประจำวันกับกิจกรรมการเรียนรู้จากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เปิดโอกาสให้เด็กมีเวลาที่เล่นอย่างอิสระและกำหนดเวลาของการเรียนรู้อย่างมีจุดมุ่งหมาย  โดยเมื่อใดก็ตามที่เด็กมาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องมีแนวปฏิบัติในการตรวจคัดกรอง ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การล้างเจลแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัย การสวมเครื่องแต่งกาย การใส่รองเท้าที่ป้องกันการแพร่เชื้อ และการมีพื้นที่ส่วนบุคคลตลอดจนของเล่นของใช้ส่วนบุคคลที่เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม

2. การเว้นระยะห่างทางสังคม  ช่วงวัยของเด็กปฐมวัยจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดู และชอบเล่นร่วมกันกับเพื่อนพี่น้อง  ทำให้จะต้องคิดหาวิธีการที่เหมาะสมในการเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กมีความจำเป็นต้องไปอยู่ที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กที่บ้านได้ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีการเตรียมการโดยการคำนึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการจัดพื้นที่การเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคนให้มีขอบเขตแสดงชัดเจน โดยมีสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้เฉพาะบุคคล เช่น หนังสือภาพ สื่ออุปกรณ์ของเล่นสำหรับการเล่นคนเดียว รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยในการมองเห็นระยะไกล เช่น Big Book สื่อขนาดใหญ่ ทำให้การเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ รวมทั้งการมีอุปกรณ์ช่วยการเว้นระยะห่างโดยไม่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น หมวก เสื้อผ้า อุปกรณ์เว้นระยะห่างที่คิดค้นใหม่อื่น ๆ  นอกจากนี้ยังต้องมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และเว้นพักการใช้งานเพื่อทำความสะอาด เช่น พื้นที่ หรือ หนังสือภาพสำหรับ หรือ สื่ออุปกรณ์ของเล่นที่สามารถยืมจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยไปใช้ รวมทั้งควรมีการจัดการพื้นที่ที่เด็กต้องใช้ร่วมกัน เช่น สนามเด็กเล่น ห้องเรียนและมุมต่าง ๆ ภายในชั้นเรียน ห้องน้ำ พื้นที่ในการรับประทานอาหาร ห้องสมุด และที่สำคัญควรมีการเตรียมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และการเล่นที่เป็นการเล่นคนเดียวหรือมีการเว้นระยะห่าง  เด็กปฐมวัยอาจจะต้องมีการเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นรายบุคคลเพิ่มมากขึ้น

3. การเรียนรู้ที่บ้าน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดมาตรการในการปิดเมือง งดการเดินทางเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งมีแนวปฏิบัติในการทำงานที่บ้านและปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทำให้การเรียนรู้ที่มีบ้านมีความจำเป็น โดยประเทศต่าง ๆ มีการใช้คำศัพท์ของการเรียนรู้ที่บ้านต่างกันออกไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียก remote learning ประเทศสิงค์โปร์ เรียก home based learning ในส่วนชองประเทศไทย เรียก learn from home โดยทางสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองทางออนไลน์ในสถานการณ์ต่าง ๆ จัดส่งตารางกิจกรรม สื่ออุปกรณ์ของเล่น หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือมีการเชิญผู้ปกครองมารับ หรือการเยี่ยมบ้าน โดยเน้นการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในครอบครัวและมีความสมดุลย์ ให้เด็กมีโอกาสช่วยทำงานบ้าน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การเล่นอิสระ การเล่านิทานรวมทั้งกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา โดยเฉพาะการฟังและการพูดที่นำไปสู่การพัฒนาการอ่านและการเขียน รวมทั้งการทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการจัดตารางกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมประจำวันที่มีความสม่ำเสมอสำหรับเด็กที่บ้าน

4. การมีส่วนร่วม และบทบาทของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง ในช่วงสถานการณ์โควิดความร่วมมือระหว่างสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยอาจต้องมีแนวทางที่เหมาะสมกับลักษณะความพร้อมของครอบครัวที่หลากหลายทั้งครอบครัวที่มีเทคโนโลยีในระดับสูง ระดับปานกลางถึงต่ำ และไม่มีเทคโนโลยีรวมทั้งยากจน ในการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความพร้อมต่างกันอาจมีแนวทางของการมีส่วนร่วม ดังนี้

    4.1 การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ของเด็กโดยผู้ปกครอง เด็กที่ครอบครัวมีความพร้อมสูง อาจเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกวิธีการดูแลเด็กที่บ้านด้วยตนเองที่บ้าน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอาจเป็นผู้ให้คำปรึกษา

    4.2 การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ออนไลน์ เป็นการจัดตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนรายการสื่ออุปกรณ์ของเล่นเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ผู้ปกครองได้มีบทบาทหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้านจากความสนับสนุนของครู

    4.3 การจัดโปรแกรมการเรียนรู้กึ่งออนไลน์ โดยจัดตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางออนไลน์ และจัดสื่อการเรียนรู้ส่งที่บ้านหรือให้ผู้ปกครองมารับ หรือมีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กทั้งที่บ้านและที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเป็นการจัดที่เน้นการมีพื้นที่ของเด็กแต่ละคนตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม

    4.4 การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ออฟไลน์ โดยมีการเยี่ยมบ้าน จัดเตรียมตารางกิจกรรม รายละเอียดและวิธีการจัดกิจกรรม และจัดสื่อการเรียนรู้ให้แก่เด็ก 1-2 สัปดาห์ต่อครั้งที่ผู้ปกครองเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน หรือ เป็นการให้เด็กในครอบครัวที่ขาดความพร้อม สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรรับเด็กมาดูแลและส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ แต่ยังคงยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อและการรักษามาตรฐานการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

ในส่วนของบทบาทนั้น ครูควรเปลี่ยนเป็นนักออกแบบกิจกรรม ในการออกแบบโปรแกรมที่มีความยืดหยุ่นสูง และสร้างสรรค์ เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยแต่ละคน สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง มีการเปลี่ยนบทบาทเป็นพ่อครู แม่ครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน นอกจากนี้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายหรือผู้ใหญ่อื่น ๆ ในครอบครัวสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นกัน โดยเน้นความสัมพันธ์กับกิจวัตรประจำวันและความยืดหยุ่นที่เหมาะกับความพร้อมของแต่ละครอบครัว

5. การใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัย แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร การทำงาน และสามารถใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย แต่สำหรับเด็กแล้วเวลาส่วนใหญ่ไม่ใช่เวลาที่หน้าจอ โดยเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปีไม่ควรใช้ และสำหรับเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปไม่ควรใช้เกิน 15 นาทีต่อหนึ่งครั้งและไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ในการใช้นั้นให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างมีจุดมุ่งหมาย ควรมีการกำหนดข้อตกลงในการใช้ร่วมกันกับเด็กจะได้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม สำหรับเทคโนโลยีที่เลือกใช้สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง การประชุมออนไลน์ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ออนไลน์ที่ส่งต่อกิจกรรมให้ผู้ปกครองทำร่วมกับเด็ก การให้เด็กได้พบได้พูดคุยกับเพื่อนและครู การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และการจัดชั้นเรียนออนไลน์

การดูแลเด็กปฐมวัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย โดยปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ที่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่และผู้ปกครองจะมีโอกาสเรียนรู้กแนวการจัดกิจกรรมและใกล้ชิดเด็กเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันครูก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้วางแผนการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกันในยุคปัจจุบัน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และเด็กสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติที่โรงเรียนได้ตามเดิม

รายการอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข.2564. ส่องแนวทาง ‘4 D’ ยกระดับสถานพัฒนา ‘เด็กปฐมวัย’ คุมเข้มโควิด-19. (online).

        Available from https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946716 . Posted By

        กรุงเทพธุรกิจ | 02 กรกฎาคม 2564.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมกองทุนสุขภาพ.2564. การพัฒนาเด็กปฐมวัย กับการแพร่ระบาดของโรค

        โควิด-19. (online). Available from https://www.thaihealth.or.th/Content/54720 .      

        Posted By Panjawara Boonsrangsom  | 07 มิถุนายน 2564.

อรพรรณ บุตรกตัญญู. 2564. New normal สำหรับเด็กปฐมวัยจากสถานการณ์โควิด-19. (online).

        Available from https://www.starfishlabz.com/blog/207. Posted By Starfish Academy |

        18 สิงหาคม 2563.