การจัดองค์ประกอบศิลป์

การจัดองค์ประกอบศิลป์ หมายถึงการนําองค์ประกอบศิลป์มาจัดวางบนพื้นที่ทํางานเพื่อให้ ผลงานเกิดความงดงาม การจัดวาง (Compose) ต้องอาศัยหลักการออกแบบ (Principle of Design) เป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบศิลป์ในลักษณะต่าง ๆ และหลักการของการออกแบบ  จะกล่าวถึงวิธีการนําเอาองค์ประกอบศิลป์ไปใช้ตามหลักของการออกแบบ

เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในบทนี้ดียิ่งขึ้นให้พิจารณาแผนภาพการจัดองค์ประกอบศิลป์ ประกอบด้วย จากภาพที่ 1 ทางด้านซ้ายมือเป็นหัวข้อขององค์ประกอบศิลป์ ทางด้านขวามือเป็นหลักในการออกแบบ เส้นตรงทึบและเส้นประที่โยงจากทางด้านซ้ายมือไปยังขวามือ หมายถึงการนําองค์ประกอบศิลป์ในข้อนั้น ๆ ไปใช้จัดโดยอาศัยหลักในการออกแบบในหัวข้อที่ปลายลูกศรชี้ ช่องกลางระหว่างองค์ประกอบศิลป์และหลักการออกแบบ หมายถึงการจัดองค์ประกอบ ด้านล่างคือผลงานทางด้านศิลปะที่ผ่านการจัด (Compose) แล้ว ให้เข้าใจว่างานศิลปะบางชิ้นอาจใช้องค์ประกอบศิลป์เพียง 3 ตัว และใช้หลักการออกแบบเพียง 2 ตัวก็ได้สามารถทําให้ผลงานนั้น ๆ มีความงดงามได้เช่นกัน

 

ภาพที่ 1 ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบศิลป์และหลักการออกแบบ

 

จากภาพที่ 1 แสดงตัวอย่างให้เห็นว่าผลงานศิลปะชิ้นนี้ใช้องค์ประกอบศิลป์ 3 ตัวเป็นหลักในการสร้างงาน ได้แก่ เส้น สี และรูปร่างรูปทรง นําไปใช้โดยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความสมดุล ลีลา และจุดเด่น หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า จุดเด่นจะถูกสร้างโดยสี ลีลาจะถูกสร้างโดยเส้นและรูปทรง ความสมดุลถูกสร้างโดยรูปทรงและสี อย่างไรก็ตาม งานศิลปะบางชิ้นอาจใช้องค์ประกอบศิลป์ทั้ง 6 อย่าง และหลักการออกแบบทุกข้อเพื่อสร้างงานก็สามารถทําได้ แต่ศิลปินจะมีจุดเน้นให้ความ สําคัญบางอย่างลดหลั่นกันไป จะไม่เน้นทุกอย่างเท่ากันหมด

ความหมายเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบศิลป์

การจัดองค์ประกอบศิลป์ (Composition) Composition มาจากภาษาละติน = Composition แปลว่า น้ำ, ใส่, จัดเข้าด้วยกัน สงวน รอดบุญ (2516 : 32) ได้กล่าวถึงความหมายของคําว่า Composition ไว้ว่า “Composition” แปลว่า องค์ประกอบแห่งศิลป์ หมายถึงการสร้างสรรค์ศิลปะแขนง ต่าง ๆ ด้วยการนําเอาส่วนประกอบของศิลปะ (Art Elements) มาจัดผสมผสานเข้าด้วยกัน เมื่อดูแล้วจะบังเกิดความประสาน กลมกลืนกันตามความรู้สึกนึกคิด หรือประสบการณ์ภาพใน (Inner Experience)

นอกจากนี้ยังมีคํานิยามที่น่าสนใจกําหนดเฉพาะในทางวิจิตรศิลป์ว่า หมายถึงการกระทําหรือปฏิบัติให้เกิดการรวมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ ในผลงาน ส่วนประกอบทั้งหมดจะต้องกลมกลืนกัน (พจนานุกรมฉบับเวบเตอร์, 1961 : 196)

จากคํานิยามดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า ความหมายของการจัดองค์ประกอบศิลป์ หมายถึง การนําเอาองค์ประกอบศิลป์ (Elements of Art) มาจัดวางในพื้นที่สร้างงานเพื่อให้ผลงานมีความงดงามน่าสนใจ

ดังได้กล่าวแล้วว่าผลงานศิลปะแต่ละชิ้นไม่จําเป็นต้องใช้องค์ประกอบศิลป์ทุกตัวและหลักการ ออกแบบทุกข้อเสมอไป หลักการออกแบบแต่ละข้อมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ศิลปินจะเลือกลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการสร้างของตนเป็นสําคัญ เช่น เมื่อศิลปินต้องการใช้รูปทรง (Form) ศิลปินต้องใคร่ครวญว่าจะใช้รูปทรงนั้นในลักษณะใด หากวางรูปทรงทางขวามือจะทําให้ภาพเกิดความสมดุลหรือไม่ การใช้รูปทรงหลาย ๆ รูปทรงมีสีเข้มอ่อนแตกต่างกัน จะทําให้เกิดความหลากหลายให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวหรือไม่ หรืออาจใช้รูปทรงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทีละน้อยในลักษณะค่อย ๆ ลดหลั่น ซึ่งสามารถสร้างความเคลื่อนไหวได้เช่นกัน และจะดูนุ่มนวลกว่าความเคลื่อนไหวที่ได้จากความหลากหลายและจากการซ้ำ ๆ กัน ศิลปินจะต้องเลือกโดยคํานึงถึงผลลัพธ์ที่ได้ให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้ ในบางครั้งพบว่าศิลปินทํางานโดยอาศัยความชํานาญ หรือความรู้สึกเกี่ยวกับความงามที่มีอยู่ในตัวศิลปินเอง สร้างงานขึ้นโดยอัตโนมัติ คล้ายสร้างงานขึ้นโดยอาศัยสัญชาตญาณ (Instinct) (Mittler, 1986 : 30) เป็นสําคัญ แต่ความชํานาญเช่นนี้ย่อมผ่านการฝึกฝนมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

โครงสร้างหลักของศิลปะ

ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือความงาม ก็จะเห็นได้ว่าศิลปะนั้นมีองค์ประกอบที่สําคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่มนุษย์ สร้างขึ้น ซึ่งได้แก่โครงสร้างทางวัตถุที่มองเห็นได้ หรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสส่วนหนึ่ง กับส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุนั้นอีกส่วนหนึ่ง เรียกองค์ประกอบส่วนแรกว่า รูปทรง (Form) หรือ องค์ประกอบทางรูปธรรม และเรียกส่วนหลังว่า เนื้อหา (Content) หรือองค์ประกอบทางนามธรรม ดังนั้น องค์ ประกอบที่เป็นโครงสร้างหลักของศิลปะ ก็คือ รูปทรง กับ เนื้อหา

รูปทรง

รูปทรง คือ สิ่งที่มองเห็นได้ในทัศนศิลป์ เป็นส่วนที่ศิลปินสร้างขึ้นด้วยการประสานกันอย่างมีเอกภาพของทัศนธาตุ (Visual Elements) ซึ่งได้แก่ เส้นน้ำหนักอ่อนแก่ของขาว-ดํา ที่ว่าง สี และลักษณะพื้นผิว รูปทรงให้ความพอใจ ต่อความรู้สึกสัมผัส เป็นความสุขทางตา พร้อมกันนั้นก็สร้างเนื้อหาให้กับตัวรูปทรงเอง และเป็นสัญลักษณ์ให้แก่อารมณ์ ความรู้สึก หรือปัญญาความคิดที่เกิดขึ้นในจิตด้วย ถ้าจะเปรียบกับชีวิต รูปทรงคือส่วนที่เป็นกาย เนื้อหา คือส่วนที่เป็นใจ รูปทรงกับเนื้อหาจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ในงานศิลปะที่ดีทั้งสองส่วนนี้จะรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าแยกกันความเป็นเอกภาพก็ถูกทําลาย ชีวิตของศิลปะก็ไม่อาจอุบัติขึ้นได้

รูปทรงมีองค์ประกอบสําคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้างทางรูป และส่วนที่เป็นโครงสร้างทางวัตถุ ส่วนที่เป็นโครงสร้างทางรูป ได้แก่ ทัศนธาตุที่รวมตัวกันอย่างมีเอกภาพ ส่วนที่เป็นโครงสร้างทางวัตถุ ได้แก่ วัสดุที่ใช้ในการสร้างรูป เช่น สี ดินเหนียว หิน ไม้ กระดาษ ผ้า โลหะ ฯลฯ และเทคนิคที่ใช้กับวัสดุเหล่านั้น เช่น การ ระบาย การปั้น การสลัก การแกะ การตัดปะ การทอ การเชื่อมต่อ ฯลฯ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคงทนถาวร ของผลงาน และความแนบเนียนของฝีมือ

องค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างของรูปทรง ซึ่งได้แก่ การประสานกันอย่างมีเอกภาพของทัศนธาตุนี้เป็นส่วน สําคัญที่สุด เพราะเท่ากับเป็นกายของงานศิลปะ ถ้าศิลปินสร้างรูปทรงให้มีเอกภาพไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์ รูปทรงนั้นก็ขาดชีวิต ขาดเนื้อหา ไม่สามารถจะแปลหรือสื่อความหมายใด ๆ ได้

เนื้อหา

เนื้อหา คือ องค์ประกอบที่เป็นนามธรรม หรือโครงสร้างทางจิต ตรงกันข้ามกับส่วนที่เป็นรูปทรง หมายถึง ผลที่ได้รับจากงานศิลปะ ส่วนที่เป็นนามธรรมนี้นอกจากเนื้อหาแล้วยังมี เรื่อง (Subject) และแนวเรื่อง (Theme) รวมอยู่ด้วย ทั้ง 3 ส่วนนี้ต่างก็มีความเชื่อมโยงและซ้อนทับกันอยู่ เรื่องกับเนื้อหาในงานบางประเภทเกือบแยกจากกันไม่ออก แต่ในงานบางประเภทเกือบไม่เกี่ยวข้องกันเลย แนวเรื่อง คือ แนวทางของเรื่อง และเป็นต้นทางที่จะนําไปสู่เนื้อหาซึ่งเป็นผลขั้นสุดท้าย เรื่องกับแนวเรื่องบางแห่งมีความหมายต่างกันไม่มากนัก โดยทั่วไปอาจใช้แทนกันได้ แต่ในที่นี้จะขอแยกออกจากกันมาอธิบายต่างหาก เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิชาองค์ประกอบศิลป์

เรื่อง

เรื่อง หมายถึง สิ่งที่ศิลปินสรรหามาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างงานศิลปะแบบรูปธรรม เช่น คน สัตว์ ทิวทัศน์ สิ่ง ของ ศาสนา สงคราม ฯลฯ หรือหมายถึง “ภาพนี้เกี่ยวกับอะไร” “ศิลปินต้องการเขียนหรือปั้นอะไร”

ศิลปะบางแบบไม่มีเรื่อง เราเรียกศิลปะแบบนี้ว่า ศิลปะแบบนอนออบเจกตีฟ (Nonobjective Art) หมาย ถึงงานศิลปะที่ไม่แสดง หรือเป็นตัวแทนของสิ่งใด ไม่อ้างถึงหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดในธรรมชาติ ดนตรี สถาปัตยกรรม และทัศนศิลป์บางประเภท เช่น ศิลปะแบบนามธรรม ไม่มีเรื่อง แต่วรรณกรรมเป็นศิลปะที่จําเป็นต้องมี เรื่อง และเรื่องจะเป็นเนื้อหาของงานวรรณกรรมโดยตรงด้วย

งานจิตรกรรม ประติมากรรม แบบรูปธรรม ตามปกติจะมีเรื่อง เราดูรู้ว่างานชิ้นนั้นเป็นม้า เป็นคน เป็นทิวทัศน์ นอกจากนั้น เรายังแบ่งประเภทของงานจิตรกรรม ประติมากรรม ออกตามเรื่องด้วย เช่น จิตรกรรมทิวทัศน์ จิตรกรรมหุ่นนิ่ง จิตรกรรมรูปคน ประติมากรรมรูปเหมือน ประติมากรรมกลุ่มคน ฯลฯ

แต่ก็มีจิตรกรรม ประติมากรรมจํานวนมากที่ไม่มีเรื่อง ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานแบบนามธรรม หรือแบบนอน ออบเจคตีฟ ที่ศิลปินแสดงออกโดยใช้การประสานกันของรูปทรงที่มีได้อ้างอิงความจริงในธรรมชาติเป็นสําคัญ บางครั้งศิลปินอาจตั้งชื่องานของเขาเหมือนกับว่างานชิ้นนั้นมีเรื่อง แต่เรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทํางานที่ได้คลี่คลายเปลี่ยนแปรไปจนไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่เลยแล้วก็มี

 

ภาพที่ 2  เกอร์นิกา (Guernica) ปีกาสโซ ค.ศ. 1937

ที่มา: http://www.museoreinasofia.es/en/collection/artwork/guernica

 

ชื่อของงาน (Title) เป็นคนละส่วนกับเรื่อง แต่โดยทั่วไปแล้วจะตั้งขึ้นตามเรื่อง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่อง เช่น งานจิตรกรรมชิ้นหนึ่งของ ปิกาสโซ มีชื่อว่า เกอร์นิกา (Guernica) ซึ่งเป็นชื่อเมืองเมืองหนึ่งในสเป็นที่ ถูกทิ้งระเบิดในระหว่างสงครามกลางเมือง ทําให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนกับสงครามนั้นเสียชีวิตเป็นจํานวนมาก ศิลปินได้ใช้ เหตุการณ์การโจมตีเมืองเกอร์นิกามาเป็นเรื่อง และใช้ชื่อของเมืองที่ถูกโจมตีเป็นชื่อของงาน หรืองานจิตรกรรมที่ชื่อ ความประทับใจ (Impression) ของ โมเนท์ ก็มีเรื่องเป็นทิวทัศน์ ชื่อของงานชิ้นนี้ไม่เกี่ยวกับทิวทัศน์โดยตรง แต่เกี่ยวกับความประทับใจของศิลปินที่มีต่อทิวทัศน์ในขณะที่เขาเขียน

ชื่อของงานศิลปะแบบนามธรรม หรือแบบนอนออบเจคตีฟ ซึ่งส่วนมากจะไม่มีเรื่อง จึงอาจเป็นลําดับหมายเลข หรือข้อความที่ไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกับงานเลย หรือเป็นชื่อที่บอกถึงวิธีการสร้างสรรค์ก็ได้

แนวเรื่อง

แนวเรื่องเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางนามธรรมของงานศิลปะที่เน้นแนวความคิด (Concept) ของศิลปินที่มี ต่อเรื่องหรือรูปทรง เป็นสาระหรือแนวทางของการสร้างสรรค์มากกว่าเรื่อง เช่น งานชื่อ เกอร์นิกา (Guernica) ซึ่งแสดงการโจมตีเมืองเกอร์นิกานั้น มีแนวเรืองเป็น “ความสยดสยองของสงคราม” เน้นแนวความคิดของศิลปินเกี่ยว กับการโจมตีหรือสงคราม

แนวเรื่องในงานแบบรูปธรรม มักจะเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก หรือความหมายที่ศิลปินต้องการแสดงออก ในรูปของสัญลักษณ์หรือนามธรรม เช่น แนวเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม ความงาม ความหนักแน่นมีอํานาจของธรรม ชาติ ความเป็นอนัตตา ความประสานกันของสี ส่วนเรื่องจะเป็นลักษณะภายนอก เกี่ยวกับวัตถุ เหตุการณ์ เช่น หญิงเปลือย ทิวทัศน์ สงคราม ศาสนา และมลพิษ เป็นต้น แนวเรื่องในงานแบบนามธวิรมก็คือ ส่วนที่เกี่ยวกับ แนวความคิดของเรื่องที่ศิลปินหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการทํางานเช่นเดียวกับในงานแบบรูปธรรม แต่ศิลปินได้ พัฒนารูปทรงห่างจากความจริงในธรรมชาติไปมาก จนในที่สุดเมื่องานสําเร็จลงจะไม่เหลือเค้าของเรื่องนั้นอยู่เลย เช่น งานประติมากรรมของคอนสแตนติน บทั้งคูชิ ชื่อนกในที่ว่าง (Bird in Space)

 

ภาพที่ 3  บรังดูซิ นกในที่ว่าง (Bird in Space) ค.ศ.1925

ที่มา: https://www.guggenheim.org/artwork/669

 

ในงานแบบนอนออบเจคตีฟ แนวเรืองจะมาจากความคิดหรือรูปทรงต่าง ๆ ในธรรมชาติ หรืออาจมาจากร่อง รอยที่ศิลปินขีด-พูดด้วยดินสอ เครื่องมือ หรือสลัดสีลงไปอย่างไม่ตั้งใจ เป็นความคิดและรูปทรงที่ให้ความบันดาลใจ แก่ศิลปินที่จะสร้างและพัฒนาต่อไปจนเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์

แนวเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์นี้ ส่วนมากจะเป็นความคิดหรือรูปทรงที่มีโครงสร้างไม่สมบูรณ์เปลี่ยนแปลงได้ เปิดไว้ให้พัฒนาต่อไปอีก เป็นสิ่งที่ไม่สู้จะมีความหมายต่อจิตสํานึกเท่าไรนัก แต่จะมีความหมายโต้ตอบกับจิตไร้สํานึกของศิลปินที่จะคลี่คลายต่อไปจนถึงที่สุด แนวเรื่องจึงเปรียบเสมือนจุดหมายที่เลือนรางในการเดินทางผจญภัยของศิลปิน โดยมีเรื่องเป็นจุดเริ่มต้น และมีจิตไร้สํานึกเป็นผู้นําทาง เขาไม่รู้แน่ชัดหรือบางครั้งก็ไม่รู้เลยว่า ทางที่ไปนั้นจะพบกับอะไรบ้าง และจะไปถึงปลายทางที่ไหน เขาจะต้องผจญกับสิ่งที่น่าตื่นเต้นและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย เขาอาจต้องเปลี่ยนทิศทาง และอาจพบจุดหมายปลายทางที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยก็ได้

แนวเรื่องเป็นองค์ประกอบทางด้านนามธรรมที่สําคัญที่สุดของงานศิลปะเมื่อมองจากด้านการสร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ เพราะเป็นแนวความคิดที่เป็นโครงสร้างเบื้องต้นของงาน ถ้าแนวความคิดหรือโครงสร้างของความคิดไม่ดีเสียแล้ว จะพัฒนาอย่างไร จะเพิ่มเติมตกแต่งอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้ผลหรือเนื้อหาที่ดีได้

ในภาพเกอร์นิกา ของปิกาสโช ศิลปินได้ใช้รูปทรงของคนและสัตว์ในอาการที่ตื่นตระหนก (เรือง) และการประกอบกันของทัศนธาตุในรูปทรงที่บิดเบี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของความโหดเหี้ยมทารุณของสงคราม (แนวเรื่อง) ซึ่งให้เนื้อหาที่เป็นอารมณ์สะเทือนใจรุนแรงจากความตื่นตระหนก สยดสยอง ที่เกิดจากการทําลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่าง โหดร้ายทารุณ

ในงานศิลปะที่ดี ทั้งเรื่อง แนวเรื่อง และรูปทรง จะต้องประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพเสมอ

เนื้อหา

เนื้อหา คือ ความหมายของงานศิลปะที่แสดงออกผ่านรูปทรงทางศิลปะ (Artistic Form) เนื้อหาของงานศิลปะแบบรูปธรรม เกิดจากการประสานกันอย่างมีเอกภาพของเรื่อง แนวเรื่อง และรูปทรง เนื้อหาของงานแบบนามธรรมหรือ แบบนอนออบเจคตีฟ เกิดจากการประสานกันอย่างมีเอกภาพของรูปทรง เนื้อหาเป็นคุณลักษณะฝ่ายนามธรรมของงานศิลปะที่มองจากด้านการชื่นชมหรือจากผู้ดู

รูปทรงที่แสดงเนื้อหาหรือความหมายของงานศิลปะได้ จะต้องเป็นรูปทรงที่เป็นศิลปะเท่านั้น หมายถึง เป็นรูปทรงที่ศิลปินได้สร้างขึ้นจากทัศนธาตุต่าง ๆ อย่างมีเอกภาพ รูปทรงที่มีคุณลักษณะเช่นนี้จะให้เนื้อหาที่ประกอบ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางสุนทรียภาพ และอารมณ์อื่น ๆ ตามเรื่องที่ศิลปินได้รับความบันดาลใจมา รูปทรงธรรมดาจากธรรมชาติหรือรูปถ่าย ถึงแม้จะมีเรื่องหรือเนื้อเรื่อง (Subject Matter) ก็เป็นเพียงข้อมูลหรือข่าวสารธรรมดาที่อาจทําให้ผู้ดสร้างจินตนาการขึ้นเองตามเนื้อเรื่องนั้น แต่ไม่มีเนื้อหา เนื้อหาจะมีอยู่ในงานศิลปะเท่านั้น

เนื้อหาอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เนื้อหาภายใน หรือเนื้อหาทางรูปทรงกับเนื้อหาภายนอกหรือเนื้อ หาทางเรื่องราวหรือทางสัญลักษณ์ เนื้อหาภายในเป็นเนื้อหาที่เกิดจากการประสานกันอย่างมีเอกภาพของทัศนธาตุในรูปทรง เป็นเนื้อหาของรูปทรงโดยตรง เนื้อหาประเภทนี้จะให้อารมณ์ทางสุนทรียภาพแก่ผู้ดู เป็นอารมณ์ทางศิลปะที่บริสุทธิ์ ไม่มีอารมณ์อื่น ๆ ในประสบการณ์ของมนุษย์มาเกี่ยวข้องด้วย เป็นลักษณะจิตวิสัยของศิลปิน เป็นพลังความรู้สึกส่วนตัว เป็นบุคลิกภาพหรือแบบรูปของการแสดงออกของศิลปิน

ส่วนเนื้อหาภายนอกซึ่งมีอยู่เฉพาะในศิลปะแบบรูปธรรมที่มีเรื่อง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ หรือเหตุ การณ์นั้น เป็นเนื้อหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อหาภายใน เป็นความหมายของเรื่องและแนวเรื่องที่แปลออกมาโดยรูปทรง เมื่อเราดูงานศิลปะแบบรูปธรรมชั้นหนึ่ง สิ่งแรกที่เราได้รับรู้ ก็คือ เนื้อหาภายในของงาน เนื้อหาภายในนี้จะให้ ความรู้สึกทางสุนทรียภาพหรือทางศิลปะแก่เรา ทําให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจและพร้อมที่จะรับอารมณ์ความรู้สึกอิน ๆ ที่จะตามมา ซึ่งจะเป็นอารมณ์สะเทือนใจที่เป็นไปตามแนวทางของเรื่องและแนวเรื่อง เช่น ความรัก ความเศร้า ความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ความรักชาติมาตุภูมิ เป็นต้น ดังนั้น ในงานแบบรูปธรรมจะมีเนื้อหาทั้งภายในและภายนอก ให้อารมณ์ทั้งทางศิลปะและอารมณ์อื่น ๆ ควบคู่กันไป แต่ในงานแบบนามธรรมจะมีเนื้อหาภายในเพียงอย่างเดียว ให้อารมณ์ทางศิลปะที่บริสุทธิ์ โดยไม่มีอารมณ์ที่มนุษย์รู้จักมาก่อนเจือปน มีแต่ความเอิบอาบ ปิติ บริสุทธิ์และสูงส่ง

ความสําคัญของเรื่องที่มีต่อเนื้อหา

ในทัศนศิลป์ เนื้อหากับเรื่องจะมีความสัมพันธ์กันมากหรือน้อย หรือไม่สัมพันธ์กันเลย หรือไม่มีเรื่องเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและเจตนาในการแสดงออกของศิลปินเอง ซึ่งอาจแยกออกได้ดังต่อไปนี้

1. การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง ได้แก่ การใช้เรื่องที่ตรงกับเนื้อหา และเป็นตัวแสดงเนื้อหาของงานโดยตรง ตัว อย่างเช่น เมื่อศิลปินต้องการให้ความงามทางเนื้อหนังเป็นเนื้อหาของงาน เขาจะหาผู้หญิงเปลือยที่สวยมากมาเป็น เรื่อง รูปร่างหน้าตาของผู้หญิงสวยนั้นจะช่วยให้เกิดความงาม ความน่ารักขึ้นในภาพ เป็นความงามที่มีอยู่แล้วในเรื่อง ในกรณีเช่นนี้ ถ้าศิลปินมุ่งเน้นไปที่รูปลักษณะของเรื่อง หรือให้เรื่องเป็นตัวแสดงมากขึ้นเท่าไร คุณค่าทางรูปทรง และคุณค่าทางศิลปะจะกลับยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น ในที่สุดจะเป็นงานที่มีแต่เรื่อง ไม่มีรูปทรง หมดสภาพของศิลปะไป

2. เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างศิลปินกับเรื่อง ในกรณีนี้ศิลปินจะเสนอความเห็นส่วนตัว หรือ ผสมความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในเรื่อง เป็นการผสมกันระหว่างรูปลักษณะของเรื่องกับจินตนาการของศิลปิน หรือเป็น การแปลความหมายของเรื่องตามทัศนะของศิลปิน การสร้างงานในลักษณะนี้ รูปทรงจะทําหน้าที่เพื่อตัวมันเองพร้อม ๆ กับทําหน้าที่ให้กับเรื่องด้วย ทําให้รูปทรง เรื่องและเนื้อหามีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ขอยกตัว อย่างเนื้อหาที่เป็นความงามจากเรื่องที่เป็นผู้หญิงสวยอีก แต่คราวนี้ศิลปินได้ผสมความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเข้าไปใน เรื่องด้วย เขาจะดัดแปลงเพิ่มเติมรูปร่างของแบบให้งามไปตามทัศนะของเขา และใช้ทัศนธาตุซึ่งเป็นองค์ประกอบ ของรูปทรงให้สอดคล้องกับความงามของเรื่อง

3. เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง เมื่อศิลปินผสมจินตนาการของตนเข้าไปในงานมากขึ้น ความสําคัญของเรื่องจะลดลง ผู้หญิงสวยที่เป็นแบบอาจถูกศิลปินตัดทอนขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จนเรื่อง (ผู้หญิง) นั้นหมดความสําคัญลงอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นอิสระ การทํางานแบบนี้ศิลปินจะอาศัยเรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แล้วเดินทางห่างออกจนเรื่องหายลับไป เหลืออยู่แต่รูปทรงและตัวศิลปินเองที่เป็นเนื้อหาของงาน ในกรณีนี้เนื้อหา ภายในซึ่งหมายถึงเนื้อหาที่เกิดจากการประสานกันของรูปทรงจะมีบทบาทมากกว่าเนื้อหาภายนอก หรือบางครั้งอาจ ไม่แสดงเนื้อหาภายนอกออกมาเลย

4. เนื้อหาที่ไม่มีเรื่อง ศิลปินบางประเภทไม่มีความจําเป็นต้องใช้เรื่องเป็นจุดเริ่มต้น งานของเขาไม่มีเรื่อง มีแต่รูปทรงกับเนื้อหา โดยที่รูปทรงเป็นเนื้อหาเสียเองโดยตรง เป็นเนื้อหาภายในล้วน ๆ เป็นการแสดงความคิดอารมณ์ และบุคลิกภาพของศิลปินแท้ ๆ ลงไปในรูปทรงที่บริสุทธิ์ งานประเภทนี้จะเห็นได้ชัดในดนตรี และงานทัศนศิลป์แบบนามธรรม และแบบนอนออบเจคตีฟ

เมื่อทราบถึงสิ่งจําเป็นที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ หรือองค์ประกอบศิลปะ รวมถึงโครงสร้างของการสร้างงานศิลปะนั้น ต่อไปจะกล่าวถึงสิ่งจําเป็นอื่นนอกจาก องค์ประกอบศิลปะ คือ การจัดภาพ ซึ่งมีประโยชน์แก่งาน งานออกแบบลักษณะ 2 มิติที่อยู่บนพื้นระนาบ หรืองานประติมากรรม สื่อผสมที่อยู่บนพื้นภาพในลักษณะนูนสูงแบบ ดังนี้ 3 มิติ เพื่อความสะดวกในการศึกษาจะแยกกล่าวเป็นเรื่องๆตามลําดับ

– ส่วนประกอบของภาพ

– การวางจุดเด่น

– การเน้น

– รูปแบบของการจัดภาพ

ส่วนประกอบของภาพ

งานทัศนศิลป์และงานศิลปะประยุกต์ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย

ส่วนประธาน

ส่วนประธาน (principal) จัดเป็นส่วนสําคัญในการออกแบบ และการเขียนภาพ เพราะเป็นจุดสนใจของภาพ โดยจะอยู่ในตําแหน่ง ฉากหน้า ฉากกลาง หรือฉากหลังก็ได้ การเขียนภาพและการออกแบบให้เกิดจุดเด่นน่าสนใจนั้นต้องใช้ หลักการเน้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างเด่นชัดขึ้น ซึ่งจะกล่าวในลําดับต่อไป

 

ภาพที่ 4  ภาพอธิษฐาน (The Angelus) ศิลปิน ชอง-ฟรองซัว มีเล เทคนิค สีน้ำมัน

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Angelus

ส่วนประธานที่อยู่ในตําแหน่งฉากหน้า

ส่วนรองประธาน

ส่วนรองประธาน (subordination) มีหน้าที่เสริมให้เห็นความสําคัญของส่วนประธาน ทําให้ภาพหรือผลงานมีความสมบูรณ์ กลมกลืน มีความเป็นเอกภาพในด้านเนื้อหา ภาพผลงานที่ไม่มีพื้นหรือฉากหลังจะทําให้ภาพขาดความสมบูรณ์ ไม่มีชีวิตชีวา มีที่ว่างในภาพมาก แต่เมื่อมีพื้นหรือฉากหลังที่สัมพันธ์ กับจุดเด่นแล้วจะทําให้เกิดความเชื่อมโยง เกิดความงามที่สมบูรณ์

 

ภาพที่ 5  สรรเสริญแมรี (Hail Mary) ศิลปิน ปอล โกแกง  เทคนิค สีน้ำมัน

ที่มา: https://th.aliexpress.com/

การวางจุดเด่น

จุดเด่น (dominance) หมายถึงส่วนสําคัญที่มีความเด่น มีความ สะดุดตา มีอํานาจครอบงํา ในทางศิลปะอาจกล่าวได้ว่าจุดเด่นคือ ส่วนสําคัญและชัดเจนกว่าส่วนใดในภาพ มีความสะดุดตา เป็นสิ่งแรก ที่รับรู้ได้ด้วยการมอง และจุดเด่นอาจเกิดได้จากการเน้นหรือการส่งเสริม จากองค์ประกอบต่างๆ เช่น ขนาด สี ลักษณะผิว เป็นต้น

การวางภาพแนวตั้งหรือแนวนอน

การจะตัดสินใจวางภาพแนวตั้งหรือแนวนอนจะต้องสังเกตขนาดและโครงสร้างโดยรวมของจุดเด่นเสียก่อนว่ามีพื้นที่หรือขนาดอย่างไร เช่น โครงสร้างโดยรวมเป็นรูปด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง การวางภาพ ควรวางแนวตั้ง ถ้าโครงสร้างโดยรวมเป็นรูปด้านกว้างมากกว่าด้านสูงก็ควรจะวางภาพแนวนอน แต่ถ้ารูปด้านกว้างเท่ากับรูปด้านสูงจะวางภาพ แนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ตามความเหมาะสม

การตัดสินใจวางภาพแนวตั้งหรือแนวนอนนั้น ถ้าตัดสินใจถูกต้อง เหมาะสมจะทําให้ภาพมีความสมบูรณ์ ศิลปินสามารถขยายขนาดของ จุดเด่นหรือรูปทรงในภาพให้เหมาะสมกับกรอบภาพ ทําให้ภาพเหลือ ที่ว่างน้อยลง ที่ว่างที่เหลือศิลปินอาจเพิ่มเรื่องราวที่สัมพันธ์กับจุดเด่น ลงไปได้บ้างเล็กน้อยเพื่อให้เห็นจุดเด่นได้ชัดเจนขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าศิลปินตัดสินใจวางภาพผิดไปจะทําให้เหลือที่ว่างมาก จําเป็นต้อง เพิ่มเรื่องราวที่สอดคล้องกับจุดเด่นนั้นลงไปมากซึ่งอาจดึงความสนใจ ไปจากจุดเด่นที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วได้ ทําให้ภาพหรือผลงานลดความ น่าสนใจลงไป

ตําแหน่งของจุดเด่น

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะวางภาพแนวตั้งหรือแนวนอน ขั้นต่อไปต้อง คํานึงถึงตําแหน่งของจุดเด่นในภาพ ส่วนใหญ่จุดเด่นจะอยู่ใกล้กับ ตําแหน่งกึ่งกลางของภาพแต่ไม่ควรอยู่ตรงจุดกึ่งกลางพอดี และไม่นิยม ให้อยู่สูงหรือต่ำ ชิดซ้ายหรือชิดขวา หรือติดมุมภาพเกินไป

 

ภาพที่ 6  การวางจุดเด่นในมุมมองต่าง ๆ

การกําหนดตําแหน่งของจุดเด่น

วิธีการกําหนดตําแหน่งของจุดเด่นหรือจุดสนใจของภาพมีหลักการง่ายๆ คือ แบ่งด้านทั้ง 4 ด้านของภาพออกเป็นด้านละ 3 ส่วน โยงเส้นจากจุดแบ่งบนแต่ละด้านเข้าหากันจะเกิดจุดตัด 4 จุด คือ จุด A. B, C และ D การกําหนดจุดเด่นควรให้ทับจุดใดจุดหนึ่งในภาพหรือ 2 จุด 3 จุด หรือ 4 จุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

 

ภาพที่ 7  การวางตำแหน่งของจุดเด่นทั้ง 4 จุด

 

ตําแหน่งของจุดเด่นทั้ง 4 จุดของภาพนั้นยังมีระดับของการ ส่งเสริมความเด่นที่ไม่เท่ากันอีก เฮอร์มัน เอฟ. บรันดร์ (Herman F. Brand) ได้ทําการศึกษาและทดลองเรื่องตําแหน่งจุดสนใจของภาพที่ เด่นที่สุดจากการมองในกรอบสี่เหลี่ยม ดังนี้

 

ภาพที่ 8  การวางตำแหน่งของจุดเด่นทั้ง 4 จุดที่ไม่เท่ากัน

 

ในการจัดภาพ ศิลปินนิยมกําหนดจุดเด่นให้อยู่ในตําแหน่ง ใกล้กับจุดกึ่งกลางของภาพ หรืออาจมีบางส่วนของจุดเด่นทับจุดถึง กลางภาพ นอกจากนี้ ศิลปินยังสร้างจุดสนใจด้วยการกําหนดขนาด ของจุดเด่นให้ใหญ่เพื่อลดความสําคัญของรูปทรงประกอบภาพบริเวณอื่นลงไป ในกรณีที่รูปทรงของจุดเด่นมีหลายรูป มีขนาดใกล้เคียงกัน และอยู่ห่างกัน ศิลปินหรือนักออกแบบอาจแก้ปัญหาโดยการใช้ค่าความ อ่อนแก่หรือน้ำาหนักของรูปทรงที่แตกต่างกันหรือการตัดรายละเอียดของ รูปทรงที่ไม่ต้องการเน้นออกเพื่อลดความสําคัญของรูปทรงนั้นลงไปบ้าง

ภาพที่มีรูปทรงซ้ำกัน มีสี ค่าความอ่อนแก่ ขนาด และรายละเอียดใกล้เคียงกัน จะทําให้ผู้ดูไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายว่าต้องการให้ รูปทรงใดเป็นจุดเด่น ผู้ดูจะให้ความสําคัญแก่รูปทรงทั้งหมดนั้นเท่าๆกัน จากเหตุผลดังกล่าวนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อศิลปินบางคนที่ไม่ต้องการ เน้นจุดสนใจจุดใดจุดหนึ่งแต่จะให้ความสําคัญในทุกส่วนของภาพเท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและความรู้สึกที่ศิลปินต้องการแสดงออก

ขนาดของจุดเด่น

การจัดจุดสนใจของภาพ นอกจากจะวางตําแหน่งให้เหมาะสมกับ ภาพแล้วยังต้องคํานึงถึงขนาดของจุดเด่นให้มีความเหมาะสมกับกรอบภาพอีกด้วย ถ้าจุดเด่นเล็กเกินไปจะทําให้ภาพเหลือที่ว่างมาก ศิลปิน หรือนักออกแบบจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเนื้อหาอื่นๆลงไปมาก เพื่อให้สัมพันธ์กับจุดเด่นของภาพซึ่งอาจเป็นการลดความสําคัญของจุดเด่นลง จุดเด่นที่มีขนาดใหญ่เกินไปอาจทําให้เกิดความรู้สึกอึดอัดได้ การกําหนดให้จุดเด่นมีขนาดใหญ่มากจะทําให้เหลือที่ว่างที่จะบรรจุเนื้อหาประกอบจุดเด่นน้อย หรืออาจไม่มีพื้นที่เหลืออยู่เลยก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของศิลปินและนักออกแบบเป็นสําคัญ

 

ภาพที่ 9  จุดเด่นในขนาดต่างๆ

จุดเด่นมีขนาดเหมาะสม / จุดเด่นใหญ่เกินไป / จุดเด่นเล็กเกินไป

 

การเน้นในการจัดภาพ

การเน้น (emphasis) หมายถึงการทําให้ภาพผลงานเกิดความเด่นขึ้นเป็นจุดสนใจของภาพ ซึ่งโดยปกติแล้วภาพควรจะมีจุดเด่นเพียง จุดเดียว ถ้ามีจุดเด่นมากกว่า 1 จุด จะเกิดการแข่งขันกันระหว่างจุดเด่น ทําให้ลดความสําคัญของจุดเด่นลง หากมีจุดสนใจมากเกินไปจะทําให้เกิดความหลากหลายมากเกินไป นอกจากจะหาจุดเด่นไม่ได้แล้ว ยังทําให้ขาดความกลมกลืนและขาดความเป็นเอกภาพไปด้วย ในการเริ่มเขียนภาพหรือออกแบบสร้างสรรค์งานจําเป็นต้องวางแผนไว้ก่อนว่าเราจะเน้นส่วนใดของภาพหรืองานนั้นให้เป็นจุดสนใจ หรือส่วนสําคัญที่สุด และจะเน้นด้วยวิธีใด เพื่อให้เหมาะสมกับผลงานและสามารถสื่อถึงความคิดของศิลปินหรือนักออกแบบได้  

ลักษณะของการเน้น โดยทั่วไปสามารถแบ่งการเน้นได้เป็น 9 วิธีดังต่อไปนี้

1. การเน้นด้วยการตัดกัน การตัดกันหรือความแตกต่างเป็นองค์ประกอบหลักที่สําคัญที่สุดในการส่งเสริมให้เกิดความเด่นหรือจุดสนใจขึ้น เช่น คนผิวขาวไปอยู่ท่ามกลางคนผิวดํา ผ้าสีแดงไปตากรวมกับผ้าสีเขียวจํานวนมาก เป็นต้น

ศิลปินและนักออกแบบได้นําหลักของความแตกต่างมาใช้ในการส่งเสริมความเด่น เช่น ความแตกต่างของเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ค่าความอ่อนแก่ ลักษณะผิว เป็นต้น ให้มีปริมาณไม่เท่ากัน ส่วนใด ของภาพที่มีปริมาณขององค์ประกอบแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ อย่างชัดเจน ส่วนนั้นจะเกิดเป็นจุดเด่นขึ้นมา

2. การเน้นด้วยขนาด ขนาดหมายถึงความใหญ่เล็กของรูปร่าง รูปทรง ตามปกติ มนุษย์จะมองเห็นและรับรู้รูปทรงที่มีขนาดใหญ่ก่อนรูปทรงที่มีขนาดเล็ก ศิลปินและนักออกแบบจึงได้นําความรู้นี้มาใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์ ให้เกิดจุดเด่น

3. การเน้นด้วยความผิดส่วนสัดจากความจริง หากผลงานศิลปะหรืองานออกแบบใดที่จุดเด่นและพื้นหลังมีขนาดส่วนสัดขัดกับความเป็นจริงในธรรมชาติ จะช่วยดึงดูดความสนใจ ของผู้พบเห็นได้

4. การเน้นด้วยจุดลับสายตา จุดลับสายตาหรือจุดรวมสายตา (Vanishing point) หมายถึง จุดจุดหนึ่งบนเส้นระดับสายตา ซึ่งแสดงถึงตําแหน่งที่อยู่ไกลที่สุดในภาพ วิธีการเน้นกระทําโดยกําหนดรูปทรง ที่ต้องการเน้นให้อยู่ห่างออกไปเกือบถึงจุดลับสายตาแล้วอาศัยเส้นที่เกิดขึ้นจริงหรือเส้นเชิงนัยเป็นตัวโยงหรือ นําสายตาให้เคลื่อนเข้าไปหาจุดเด่น ในบางครั้งศิลปินอาจใช้หลักการเน้น ด้วยจุดลับสายตาร่วมกับการเน้น ด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเด่น ให้มากขึ้น

5. การเน้นด้วยกรอบ ในการเขียนภาพหรือถ่ายภาพ หากให้มีจุดเด่นอยู่บนพื้น อย่างเดียวคงจะรู้สึกธรรมดา ศิลปินจึงอาจนําเนื้อหาที่กลมกลืนกับจุด เด่นนั้นมาทําเป็นกรอบเพื่อให้จุดเด่นน่าสนใจมากขึ้น เช่น ภาพเขียน สัตว์ป่าที่มีจุดเด่นอยู่ในระยะกลาง อาจเขียนภาพหมู่ไม้หรือตอไม้ใน ระยะใกล้ให้มีลักษณะเป็นกรอบธรรมชาติโดยไม่ต้องเน้นสีหรือราย ละเอียดมากนัก การถ่ายภาพก็เช่นเดียวกัน หากถ่ายภาพบุคคลผ่านกรอบ ธรรมชาติหรือหน้าต่าง หรือผ่านคน สัตว์ สิ่งของอื่นที่มีลักษณะเป็นกรอบ โดยปรับระยะชัดไปที่บุคคลหรือจุดสนใจนั้นๆจะทําให้จุดเด่นน่าสนใจ มากขึ้น

6. การเน้นด้วยรูปทรงที่อยู่นอกกรอบ ศิลปินและนักออกแบบบางท่านเกรงว่าถ้าจัดรูปทรงของจุดเด่น ไว้ในกรอบแล้วจะทําให้ผู้ดูรู้สึกว่า จุดเด่นอยู่ห่างเกินไป จึงพยายามคิดออกแบบให้จุดเด่นล้นหรือพุ่ง หรือยื่นออกมานอกกรอบเพื่อให้รู้สึกว่าจุดเด่นอยู่ใกล้ผู้ดูและน่าสนใจมากขึ้น

การเน้นด้วยวิธีนี้นิยม ใช้กันมากในงานพาณิชยศิลป์ เช่น ภาพโฆษณา หรือป้ายโฆษณา บางครั้งจะพบเห็นว่านักออกแบบ จัดภาพให้จุดเด่นพุ่งออกมานอกกรอบหรือพุ่งออกมาจากพื้นระนาบ จนกลายเป็นงานที่มีลักษณะ 3 มิติ สามารถสร้างความสนใจให้แก่ผู้ดูได้อย่างดี

7. การเน้นด้วยวิธีผันแปร การแปรหรือจังหวะแปร หมายถึงการจัดองค์ประกอบพื้นฐานที่มีลักษณะต่างกันมาเรียงลําดับไว้ด้วยกันแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น อ่อนไปหาเข้ม เล็กไปหาใหญ่ เรียบไปหาขรุขระ ละเอียดไปสู่หยาบ สีเย็นไปสู่สีร้อน เป็นต้น เป็นการนําสายตาผู้ดูไปสู่จุดเด่นได้อีกวิธีหนึ่ง

8. การเน้นด้วยการแยกตัวออกจากกลุ่ม เป็นการเน้นโดยการทําให้ส่วนประกอบบางส่วนของภาพแยก ตัวออกมาจากส่วนประกอบส่วนใหญ่ เพื่อให้ส่วนประกอบส่วนนั้นเด่นชัดและเกิดความน่าสนใจกว่าส่วนอื่น ๆ การเน้นโดยวิธีนี้นิยมนําไปใช้ทั้งในงานทัศนศิลป์และงานพาณิชยศิลป์

9. การไม่ปรากฏจุดเด่น หมายถึงการไม่เน้นส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพหรือผลงานให้เป็น จุดเด่นอย่างชัดเจน แต่จะให้ความสําคัญแก่รูปทรงทั้งหมดของภาพ หรือผลงานนั้น ๆ เช่น ภาพ หุ่นนิ่ง ของทวี เกษางาม ซึ่งให้ความสําคัญ แก่ผลไม้และวัตถุอื่นภายในภาพเท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ความพอใจ และเหตุผลของศิลปินและนักออกแบบเป็นสําคัญ

รูปแบบของการจัดภาพ

การจัดภาพโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 7 รูปแบบดังนี้

1.   การจัดภาพแนวนอน การจัดภาพในรูปแบบนี้ภาพจะประกอบด้วยเส้นนอนเป็นเส้นหลัก ภาพแนวนอนจะให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มักใช้กับภาพทิวทัศน์ และภาพอื่นๆที่มีรูปทรงโดยรวมของจุดเด่นเป็นแนวนอน

                – ภาพในแนวนอนให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย

 

ภาพที่ 10  การจัดภาพแนวนอน

ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Jean-Marc_Nattier.jpg

2.   การจัดภาพแนวตั้ง เป็นการจัดภาพที่ให้ความรู้สึกแข็งแรง มั่นคง ภาพจะประกอบด้วย เส้นตั้งฉาก หรือเกือบตั้งฉาก หรือมีรูปทรงโดยรวมของจุดเด่นเป็นแนวตั้ง

 

ภาพที่ 11  การจัดภาพแนวตั้ง

ที่มา: https://www.britannica.com/topic/Book-of-Judith

 

3.   การจัดภาพลักษณะนําสายตา การจัดภาพลักษณะนี้เป็นการนําเส้นนําสายตามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการนําสายตาผู้ดูไปสู่จุดสนใจของภาพได้

 

ภาพที่ 12  การจัดภาพลักษณะนําสายตา

ที่มา: https://afremov.com/

4.   การจัดภาพลักษณะซ้ำ เป็นการจัดภาพโดยให้รูปทรงหรือองค์ประกอบพื้นฐานอื่นปรากฏ ซ้ำ ๆ กันเป็นจังหวะ บางครั้งอาจดูมีลักษณะคล้ายลวดลาย ถ้าหาก ศิลปินหรือนักออกแบบจัดให้องค์ประกอบต่างๆซ้ำกันมากเกินไปจะทํา ให้เกิดความน่าเบื่อ อาจแก้ปัญหาด้วยการสลับกัน ลดหลั่นกันบ้างเพื่อให้ลดความน่าเบื่อลงไปได้บ้าง

 

ภาพที่ 13  การจัดภาพลักษณะซ้ำ

ทีมา: http://www.freejupiter.com/

 

5.   การจัดภาพลักษณะสามเหลี่ยม เป็นการจัดภาพที่ให้เนื้อหาของภาพบรรจุอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยม หรือด้วยการโยงเส้นรอบรูปของรูปทรงทั้งหมดด้วยสายตาเป็นรูป สามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกมั่นคง สง่างาม

 

ภาพที่ 14  การจัดภาพลักษณะสามเหลี่ยม

ที่มา: http://historylink101.com/n/egypt_1/pic_wall_paintings_7.htm

6.   การจัดภาพลักษณะวงกลม เป็นการจัดภาพที่ให้รูปทรงและเนื้อหาของภาพอยู่ในลักษณะวงกลม หรือวงรี ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน เคลื่อนไหวไม่รู้จบ

 

ภาพที่ 15  การจัดภาพลักษณะวงกลม

ที่มา: https://pxhere.com/th/photo/1000124

           – การจัดภาพลักษณะหมุนวนทําให้รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว

 

7. การจัดภาพลักษณะกระจายเป็นรัศมี เป็นการจัดภาพโดยให้รูปทรงต่างๆ กระจายออกจากจุดศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงพลังอํานาจ การรวมกลุ่ม หรือพลังเคลื่อนไหว

 

ภาพที่ 16  การจัดภาพลักษณะกระจายเป็นรัศมี

ที่มา: https://wallhere.com/th/wallpaper/510525

 

การจัดภาพมีความสําคัญอย่างยิ่งในการเขียนภาพและงานออกแบบ บางครั้งจุดเด่นอย่างเดียวกันแต่จัดภาพต่างกันก็อาจทําให้ความรู้สึก และความงามของภาพแตกต่างกันได้

บทสรุป

องค์ประกอบศิลป์ทุกตัวสามารถสร้างตามหลักการออกแบบได้ทุกข้อ บางครั้งพบว่า การทําตามหลักการออกแบบเพื่อให้ได้ลักษณะใดลักษณะหนึ่งอาจได้ลักษณะอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น การใช้สีให้เกิดความกลมกลืนจะเกิดลีลาและเอกภาพได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ได้ กล่าวถึงสาระสําคัญ 3 ประการ กล่าวคือ อะไรคือองค์ประกอบศิลป์ อะไรคือหลักการออกแบบ และการนําไปใช้ทําได้อย่างไร ซึ่งสามารถนําหลักการดังกล่าวเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการทํางานศิลปะด้านอื่น ๆ ได้

 

รายการอ้างอิง

กัลยา กลอมวิทย. (2531). เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และผลิตสิ่งโฆษณา. (พิมพ์ครั้งที่ 2) หน่วยที่ 10, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ชลูด นิ่มเสมอ. (2544). องค์ประกอบของศิลปะ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
เทียนชัย ตั้งพรประเสริฐ. (2547). เอกสารประกอบการสอนวิชาองค์ประกอบศิลป์ 1. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.
ธนิศ ภูศิริ. (2531). เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และผลิตสิ่งโฆษณา, (พิมพ์ครั้งที่ 2). หน่วยที่ 12, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ปิยะกุล เลาวัณย์ศิริ. (2531). เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และผลิตสิ่งโฆษณา. (พิมพ์ครั้งที่ 2) หน่วยที่ 11, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พยุงศักดิ์ ประจุศิลป. (2539). การออกแบบสําหรับนิทรรศการ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจํากัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์.
ยุบล เบญจรงค์กิจ. (2531). เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และผลิตสิ่งโฆษณา. (พิมพ์ครั้งที่ 2) หน่วยที่ 3 ,มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
วรพงศ์ วรชาติอุดมพงศ์. (2535). ออกแบบกราฟิค. กรุงเทพฯ : ศิลปะบรรณาคาร.
วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2527). การออกแบบ. กรุงเทพฯ : ปรารถนา.
วันชัย ศิริชนะ. (2536). ความรู้เรื่องการพิมพ์สําหรับคนไทย. หนังสืออนุสรณ์ครบครอบ 42 ปี สมาคมการพิมพ์ไทย. กรุงเทพฯ : กรุงศิลป์การพิมพ์.