การจัดกิจกรรมศิลปะ (Art Activity Managements)

การจัดกิจกรรมศิลปะ คือการจัดกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะที่เชื่อมโยงไปสู่พัฒนาการทางร่างกาย สมองและสติปัญญา ด้วยกิจกรรมที่สัมผัสโดยตรงกับผู้เรียน ซึ่งใช้ทักษะในการสร้างผลงานศิลปะเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรม โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง กิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาต่างๆ ให้กับผู้เรียน โดยอาศัยประสบการณ์การลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่ การวาดภาพ การสร้างผลงานจากสี การปั้น การพิมพ์ การประดิษฐ์ได้แก่ ฉีก ปะ ตัด พับ สร้างสิ่งประดิษฐ์ ต่อเติม และการประดับตกแต่ง การจัดดอกไม้ จัดห้อง จัดสวน จัดโต๊ะ ฯลฯ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งที่เป็นงาน 2 มิติและ 3 มิติ

กุลยา ตันติผลาชีวะ (2553) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ค้นพบและได้ทดลองกับสื่ออุปกรณ์ทางศิลปะ ซึ่งช่วยให้เกิดการพัฒนาความคิดรวบยอดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากการสังเกตและประเมินภาพ ครูจึงมีบทบาทในการวางแผนเตรียมกิจกรรมต่างๆให้พร้อม ควรให้คำแนะนำเพียงเล็กน้อย ให้เด็กค้นพบกระบวนการทางศิลปะด้วยตนเอง โดยการทดลองใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้เด็กทำงานด้วยความพึงพอใจและเป็นอิสระ เสริมสร้างการเรียนรู้ทางศิลปะ และบูรณาการความรู้ที่เกี่ยวข้อง ครูควรกระตุ้นจินตนาการของเด็กพร้อมสนับสนุนให้เด็กแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยหลีกเลี่ยงให้เด็กลอกเลียน หรือวาดภาพระบายสีจากสมุดภาพ

อัญชลี ไสยวรรณ (2553) กล่าวว่า กิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง ในการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย เมื่อเด็กมีทักษะมากพอจะเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเด็กจะใช้จินตนาการของตนอย่างเต็มที่

การจัดกิจกรรมศิลปะ ควรมีเป้าหมาย หรือความเชื่อเกี่ยวกับผลงานศิลปะ 5 ประการคือ

1. เด็กจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม

2. เด็กจะเป็นผู้นำทางความคิด

3. เด็กต้องเป็นผู้มีจินตนาการกว้างขวาง

4. เด็กจะต้องมีอิสรภาพ

5. เด็กจะต้องเป็นผู้กระตือรือร้นในการรับรู้

การจัดกิจกรรมศิลปะจะช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีสำหรับชีวิตในสังคม และลักษณะนิสัยที่มุ่งหวังจะกลับมาผลักดันให้การสร้างสรรค์ศิลปะประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมศิลปะที่แสดงออก สามารถพิจารณาสรุปได้ 3 ลักษณะดังนี้

1. กิจกรรมแสดงประสบการณ์

เป็นกิจกรรมศิลปะที่เน้นการแสดงออกเป็นภาพ รูปทรง หรือเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตภายในบ้าน ชีวิตในโรงเรียน การจราจรบนถนน ภาพยนตร์ การได้ท่องเที่ยว รวมทั้งการได้พบเห็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ประสบการณ์เฉพาะตัวจะมีแรงกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดได้เป็นอย่างดี และจะแสดงออกทางศิลปะเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านี้ ตามสภาพการรับรู้ ความคิดหรือความเข้าใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการแสดงออกตามวุฒิภาวะ และพัฒนาการด้านการทำงานของแต่ละคนด้วย ซึ่งกิจรรมที่แสดงประสบการณ์ มิได้หมายความว่าเป็นการแสดงประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมอื่นๆ ไว้ด้วย

2. กิจกรรมเสนอจินตนาการ

ผลงานศิลปะทุกชิ้นย่อมแสดงจินตนาการไว้ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นท่าที่ของเรื่องราว รูปทรง เส้น สี ฯลฯ นอกจากเด็กจะสร้างสรรค์ศิลปะในแง่ของการแสดงออกซึ่งประสบการณ์ตรงอย่างเด่นชัดแล้ว บ่อยครั้งที่จะเสนอจินตนาการส่วนตัวเป็นจุดเด่นที่สุด แม้จินตนาการนั้นจะมาจากพื้นฐานประสบการณ์ก็ตาม “จินตนาการ” ทั้งจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องราว รูปทรง หรือบรรยากาศบนพื้นภาพ ซึ่งจินตนาการอาจจะเป็นเรื่องความเพ้อฝัน การคาดหวังอนาคต หรือการรวมพลังความคิดไปสู่ดินแดน หรือสิ่งของต่างๆ ที่มองไม่เห็น เช่น เรื่องราวใต้ดิน ในท้องทะเล บนท้องฟ้า บนดวงจันทร์ ซึ่งจินตนาการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี เพราะเป็นความคิดที่ไม่มีกรอบ หรือข้อแม้ใดตามกฏระเบียบที่ตั้งไว้

3. กิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบ

ในที่นี้เจาะจงเฉพาะผลงานศิลปะ ที่เน้นการริเริ่มสร้างสรรค์รูปแบบโดยตรง ซึ่งการสร้างสรรค์รูปแบบคือ การริเริ่มสร้างสรรค์รูปทรง วัสดุที่ใช้การผสมผสาน 2 และ 3 มิติ โครงสร้างและพื้นที่ว่าง โครงสร้างและการเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเราอาจจะพบได้ทั้งงานภาพเขียน ภาพปะติด ประติมากรรม และงานสื่อประสม ซึ่งจะต้องอาศัยการแนะนำจากครูผู้สอน อาจยกตัวอย่างด้วยผลงานตัวอย่างในรูปแบบต่างๆ พยายามชี้ชวนให้คิดสิ่งใหม่ท่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการออกแบบกระบวนการ กิจกรรม และเตรียมความพร้อมต่างๆ แล้วสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสำคัญคือ พัฒนาทางการทางศิลปะของแต่ละช่วงวัย ความปลอดภัย และความสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรม เพื่อการสร้างประสบกรณ์ทางสนุทรียะที่ดีให้กับผู้ร่วมกิจกรรม และควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ผลงานศิลปะของเด็ก

เพราะจะมีผลกระทบต่อจิตใจเกินกว่าจะคาดคิด คำพูดที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการยับยั้งความสามารถของเด็ก และอาจทำให้เกิดการสร้างงานซ้ำซาก เพราะคิดว่าครูชอบ การให้เด็กอธิบายผลงานเมื่อยังไม่พร้อม เด็กอาจบอกไปเพื่อให้ครูพอใจ แต่อาจไม่สอดคล้องกับผลงานที่ทำ จึงควรจัดสถานที่ให้เด็กแสดงผลงาน เป็นการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เด็กทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

          อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมศิลปะ ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ออกแบบและจัดกิจกรรม ซึ่งสามารถทำได้ทั้งใน และนอกระบบการศึกษา โดยการบูรณาการกิจกรรมศิลปะในศาสตร์ หรือองค์ความรู้ต่างๆได้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสดงศักยภาพ และค้นพบความสามารถในด้านต่างๆ ของตนเอง ซึ่งจะทำให้การจัดกิจกรรมศิลปะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างสรรค์ จินตนาการ และประสบการณ์สุนทรียะที่จะได้รับจากกิจกรรมมากกว่าผลงานศิลปะที่มีความสมบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

ขนิษฐา บุนนาค. (2562). การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัย. สืบค้น 18 สิงหาคม 2563 .

เข้าถึงได้จาก https://www.youngciety.com

วิสูตร โพธิ์เงิน. (2556). กิจกรรมศิลปะสำหรับเด็ก. เอกสารคำสอนรายวิชา 471205 ศิลปะสหรับเด็ก (Art for Children) สาขาวิชาการประถมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

George Szekely ,Julie Alsip Bucknam. (2012). Art Teaching: Elementary through Middle School. New York, United States of America. : Edwards Brother, Inc.