การจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณค่าระหว่างความแตกต่างของผู้เรียน

การจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณค่าระหว่างความแตกต่างของผู้เรียน คือ การจัดกิจกรรม การเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างของผู้เรียนรายบุคคลภายในห้องเรียนเดียวกัน ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจในความต้องการที่แตกต่างกันนำไปสู่การจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือจัดกลุ่มตามความสามารถ ความสนใจ และความพร้อมของผู้เรียน การสอนทักษะ การจัดเนื้อหาให้มีความสอดคล้องกับผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม หรือการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล (บุญยฤทธิ์ ปิยะศรี และมาเรียม นิลพันธุ์, 2558; มาเรียม นิลพันธุ์ และคณะ, 2555; มาเรียม นิลพันธุ์ และคณะ, 2556; ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย, 2559; อติยศ สรรคบุรานุรักษ์ และศศิณัฎฐ์ สรรคบุรานุรักษ์, 2558; Parsons et al., 2013; Pham, 2012; Levy, 2008; Sternberg & Zhang, 2005; Tomlinson, 1999; Valiandes et al., 2018; Watts-Taffe et al., 2013) ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณค่าระหว่างความแตกต่างของผู้เรียนควรมีลักษณะบูรณาการวิธีการสอนมากกว่าการเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อให้การวัดและประเมินผลผู้เรียนที่มี ความแตกต่างกันมีความเหมาะสม (Davis & Autin, 2020; Ismajli et al., 2018; Pettig, 2000; Pham, 2012; Valiandes et al., 2018)

การจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณค่าระหว่างความแตกต่างของผู้เรียน ถือเป็นความท้าทายให้กับครูผู้สอนในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อการสอน และการประเมินผล เพื่อตอบสนอง ความต้องการ ความสามารถ และความพร้อมของผู้เรียนทุกคนในห้องเรียนนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึง การพัฒนาผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันให้เกิดการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน (Davis & Autin, 2020; Gaitas & Martins, 2017; Sternberg & Zhang, 2005; Tomlinson, 1999; Valiandes et al., 2018) ซึ่งผลการจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณค่าระหว่างความแตกต่างของผู้เรียนจะส่งผลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อีกทั้ง ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่มีการสะท้อนคิดและการทำงานร่วมกับผู้อื่น (ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย, 2559; Pham, 2012; Smale-Jacobes et al., 2019) นอกจากนี้ จากงานวิจัยของบุญยฤทธิ์ ปิยะศรี และ มาเรียม นิลพันธุ์ (2558) ได้กล่าวว่า การพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล จะนำไปสู่สมรรถนะการสอนใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ผู้เรียน 2) กลยุทธิการออกแบบการเรียนการสอน 3) การพัฒนา การเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล 4) การวัดผล ประเมินผล และ 5) การทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย