กลุยทธ์การจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา

ภายใต้หารเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโลกศตวรรษที่ 21 นำไปสู่กระบวนการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนที่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้มุ่งเน้นที่การสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียนผ่านการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ การจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา จึงต้องปรับกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษาใหม่ ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรรถนะที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองโลก ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษาที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในสังปัจจุบัน ประกอบด้วย พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา และพหุศิลปศึกษาเชิงหลังสมัยใหม่ ดังนี้

พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา (Multiple – Intelligent Arts Education)

พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา คือการบูรณาการแนวคิดจากทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gradner) และการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยเลือกสื่อแสดงออกที่หลากหลาย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สี วัสดุ ร่างกาย เสียง ภาษา เป็นการแสดงออกจากสภาพการรู้คิดและจินตนาการ เพื่อสะท้อนสุนทรียภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนาธรรม

ศิลปศึกษาในกรอบความคิดแบบพหุปัญญาของ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ถือว่าศิลปะเป็นเรื่องของปัญญาทางด้านมิติ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความสามารถทางด้านปัญญา 1 ใน 8 ด้านของมนุษย์ สัมพันธ์กับสมองซีกขวาที่มีความสามารถทางด้านทัศนมิติสัมพันธ์

นอกจากนั้น พหุศิลปศึกษาในความหมายดังกล่าว ยังได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์กับสื่อทางร่างกาย เช่น การแสดงนาฏศิลป์ที่เป็นปัญญาทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว กับสื่อเสียงที่เป็นปัญญาทางด้านดนตรี กับสื่อภาษาที่เป็นปัญญาทางด้านภาษา นอกจากนั้นแล้ว พหุศิลปศึกษายังนำไปสู่การเข้าใจตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ ตระหนักต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาในเชิงเหตุผลด้วย

พหุศิลปศึกษาในเชิงพหุปัญญาเป็นทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับจิตวิทยา ศักยภาพของสมองและปัญญา เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายในการพัฒนาภูมิปัญญา ทัศนคติ สุนทรียะ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ รวมทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมบูรณาการ และการคิดแบบองค์รวม แม้จะมีความชัดเจนขององค์ความรู้ แต่หากขาดกิจกรรมรับรองทฤษฎี การพัฒนาพหุศิลปศึกษาก็มิอาจเป็นจริงได้ดังนั้น กิจกรรมภายใต้พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา จึงควรมีแนวทางที่คลอบคลุมในประเด็นต่อไปนี้

1. เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

2. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและบูรณาการทางปัญญาในทุกด้าน

3. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการใช้สื่อแสดงออกที่หลากหลายแบบศิลปะจินตทัศน์

4. เป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงความแจกจ่าง คำนึงถึงพัฒนาการเรียนรู้ และให้ความสำคัญใน

กระบวนการสร้างทัศนคติที่ดี พัฒนาประสบการณ์ทางสุนทรียะ รสนิยม และจินตนาการ

5. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการพัฒนาความเป็นคนที่สมดุล

6. เป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่มีลักษณะร่วม คำนึงถึงชุมชน สังคมภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้ศิลปศึกษา มีบทบาทร่วมในการพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นจริงและยั่งยืน

พหุศิลปศึกษาเชิงหลังสมัยใหม่ (Post – Modern Arts Education)

พหุศิลปศึกษาเป็นรูปแบบของศิลปะตามแนวคิดของกลุ่มหลังสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความคิดในการสร้างงานศิลปะด้วยสื่อที่หลากหลาย ปราศจากกำแพงกั้นระหว่างประเภทของศิลปะตามความคิดแบบเก่า หรือข้อกำจัดเรื่องการใช้สื่อในการแสดงออก การรับรู้ และจินตภาพในรูปแบบงานที่ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นชนิดหรือประเภทใด กลุ่มหลังสมัยใหม่มีแนวโน้มที่ให้อิสระในการใช้สื่อ ให้เสรีภาพในการจินตนาการ การใช้เทคนิคที่หลากหลาย ตลอดจนการให้เสรีภาพในการเลือกใช้แรงดลใจจากแหล่งที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของแนวคิดพหุศิลปศึกษาเชิงหลังสมัยใหม่ได้ดังนี้

1. ศิลปะแบบหลังสมัยใหม่ ความหมายในผลงานศิลปะเกิดจากการรับรู้ของผู้เสพ ผู้เสพงานศิลปะเป็นผู้ให้ความหมายงานนั้น จากเหตุผลและความเชื่อของกลุ่มหลังสมัยใหม่ ผลงานศิลปะมิได้มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง หากแต่คุณค่าของผลงานศิลปะ ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของผู้เสพที่มีต่อผลงานนั้นๆ

2. ศิลปะแบบหลังสมันใหม่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม บริบททางสังคมและวัฒนธรรมจึงนับเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างสรรค์และเรียนรู้ศิลปะ ศิลปะทั้งหลาย มิอาจจะอยู่ตามลำพังได้ นอกจากนี้ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลังสมัยใหม่มักจะมีประเด็นสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยของตน และมักจะมีสร้างผลงานที่เป็นศิลปะต่อต้าน ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสังคมและการเมือง

3. ศิลปะแบบหลังสมัยใหม่จะเป็นปฏิปักษ์กับระบบความคิดแบบศิลปะสมัยใหม่ และจะเป็นกลุ่มวิพากษ์ศิลปะสมัยใหม่ โดยหยิบยกสาระจากอดีต และนำเอาสาระเก่านั้นมาใส่ในบริบทใหม่ นอกจากนี้ นักทฤษฎี และนักวิจารณ์หลังสมัยใหม่จะให้การยอมรับกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะ และรูปแบบงานศิลปะที่ หลากหลาย ไม่จำกัดขอบเขตใดๆ ซึ่งต่างกับนักวิจารณ์และนักคิดกลุ่มสมัยใหม่ ที่ปฏิเสธผลงานของศิลปินที่มิได้เป็นไปตามทฤษฎีความเชื่อของลัทธิสมัยใหม่

4. กลุ่มความคิดแบบหลังสมัยใหม่ ไม่เชื่อในเรืองความเป็นไปได้ของการสื่อสารอันเป็นสากล เชื่อในเรื่องลักษณะเฉพาะตนที่แตกต่าง ให้ความสำคัญกับ เชื้อชาติ ชนชั้น เพศพฤติกรรมทางเพศ ธรรมชาติ พื้นถิ่น ดินแดนต่างๆซึ่งแตกต่างกัน

ศิลปศึกษาหลังยุคสมัยใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ศิลปะไม่ใช่การนำเสนอที่เหมือนจริงอีกต่อไป และพยายามสอนเกี่ยวกับศิลปะนอกเหนือจากวัสดุดั้งเดิม ชั้นเรียนไม่ได้จำกัดเพียงแค่การวาดภาพระบายสี แต่เป็นวิชาร่วมสมัยและเทคโนโลยี ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ภาพถ่าย งานศิลปะมักเป็นการสาธิตการถ่ายภาพเกี่ยวกับเนื้อหา และหลังจากภาพถ่ายแล้วความต้องการความสมจริงนั้นก็หายไป ศิลปะสามารถยืนอยู่คนเดียวและเป็นอะไรบางอย่างในตัวเองไม่ใช่แค่ภาพ

วิธีการและการสอนใหม่ ๆ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของนามธรรมหลังสมัยใหม่ และปรับให้เข้ากับโลกศิลปะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยเทคโนโลยีและการแพร่กระจายความคิดอย่างรวดเร็วการเคลื่อนไหวทางศิลปะสามารถเกิดขึ้นก่อนที่เราจะรู้ตัวว่ามีอยู่จริง ในอดีตศิลปศึกษามุ่งเน้นไปที่การสร้างทักษะในลักษณะเดียวกัน แต่หลังจากยุคหลังสมัยใหม่โรงเรียนศิลปะได้ตระหนักว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทันกับยุคสมัย หลักสูตรถูกสร้างขึ้นเพื่ออยู่ร่วมกับศิลปะสมัยใหม่และเข้ากับการเคลื่อนไหวของศิลปะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แผนการสอนศิลปศึกษามีมากกว่าการฝึกขั้นพื้นฐาน รวมถึงบริบทอื่น ๆ ศิลปศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะหลังสมัยใหม่และพยายามให้นักเรียนเข้าใจถึงความสำคัญของความหมายและบริบทของงาน ศิลปศึกษามุ่งมั่นที่จะรวมศิลปะทุกรูปแบบและทำให้ศิลปะทุกแขนงมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีศิลปะรูปแบบใดที่ถือว่าถูกต้องหรือมีความสำคัญน้อยไปกว่ารูปแบบอื่น ตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพไม่ถือว่าเป็นรูปแบบศิลปะที่สำคัญน้อยกว่าหรือถูกต้องน้อยกว่าการวาดภาพ การชื่นชมศิลปะทุกแขนงและการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกันเป็นประเด็นสำคัญ

สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบพหุศิลปศึกษาเชิงหลังสมัยใหม่ (Post – Modern Arts Education) มุ้งเน้นรูปแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบ เนื้อหา หรือความสำคัญของศาสตร์นั้นๆ แต่อาศัยสาระสำคุญของศาสตร์ต่างๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ต่างๆ ให้ความสำคัญกับการค้นพบเพื่อการสร้างสรรค์ รูปแบบการเรียนการสอนไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน ในพื้นที่ของสถานศึกษา แต่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว มุ่งเน้นให้เกิดการรับรู้ ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

วิรุณ ตั้งเจริญ. (2545). การปฏิรูปการศึกษา : พหุศิลปศึกษา. (รายงานวิชาการ). หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน. สถาบันพระปกเกล้า

Dowlin, B. (2015). ART EDUCATION IN THE POSTMODERN ERA. From https://baileyd718.wordpress.com/2015/03/27/art-education-in-the-postmodern-era/