บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์สาธุการในพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ด้วยวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิชาการและข้อมูลภาคสนาม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณโดยการสังเกต การฝึกปฏิบัติ และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและนำเสนอข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ประกอบภาพถ่าย
ผลการวิจัยพบว่าเพลงหน้าพาทย์สาธุการมีความสำคัญ มีความหมายในการนอบน้อมบูชาพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่วงทำนองของเพลงก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเคารพ ปิติ ยินดี และเป็นสิริมงคล ผู้ฟังจึงฟังอย่างตั้งใจ สงบ สำรวม ทั้งกาย วาจา และใจ สะท้อนความเชื่อความศรัทธาของผู้ฟัง โดยถูกกำหนดให้เป็น 1) เพลงลำดับที่ 1 ในเพลงหน้าพาทย์ชุดโหมโรง 8 ประเภท
2) เพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีกรรมทั้งพิธีราษฎร์และพิธีหลวง และ 3) เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงทางนาฏศิลป์ไทย
การรำเพลงหน้าพาทย์สาธุการ คือ การรำเพลงชั้นสูงที่ผู้รำต้องฝึกฝนฝีมือจนเกิดความเชี่ยวชาญ สามารถถ่ายทอดลีลาการแสดงได้ตรงกับทำนองเพลงและมีความแม่นยำในท่ารำ ผู้รำต้องถือกฎเกณฑ์ อารมณ์ การแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง อากัปกิริยาทั้งปวงให้สอดคล้องกับบทเพลง ต้องรำให้มีทีท่าเข้ากับทำนอง และจังหวะต้องมีความสั้นยาวพอดีกับเพลง จะต้องยึดถือจังหวะทำนองเพลง หน้าทับ และไม้กลองของเพลงเป็นสิ่งสำคัญ กระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์สาธุการในพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชเป็นการรำประกอบการบรรเลงที่สื่อการน้อมบูชา และขอให้เกิดสวัสดิมงคลด้วยกระบวนท่ารำเพียงอย่างเดียว ไม่มีความหมายเกี่ยวกับการตีบทหรือแสดงอารมณ์ใด ๆ การรำขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับหน้าทับตะโพน
คำสำคัญ: เพลงหน้าพาทย์สาธุการ กระบวนท่ารำ พระราชพิธีบวงสรวง พระสยามเทวาธิราช